บอร์ดอีวี ตั้งทีมวางมาตรฐานยานยนต์ไฟฟ้าดัดแปลง

บอร์ด EV ไฟเขียวให้กระทรวงอุตสาหกรรมแต่งตั้งคณะอนุกรรมการขับเคลื่อนการดำเนินงานยานยนต์ไฟฟ้าดัดแปลง (EV Conversion) ดึง 29 หน่วยงานที่เกี่ยวข้องร่วมกำหนดแนวทางในการพัฒนาอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้าดัดแปลงในประเทศให้แข่งขันได้อย่างยั่งยืน

21 ก.พ. 2566 – นายณัฐพล รังสิตพล ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม ในฐานะกรรมการและเลขานุการคณะกรรมการนโยบายยานยนต์ไฟฟ้าแห่งชาติ (บอร์ด EV) เปิดเผยว่า จากการประชุมคณะกรรมการนโยบายยานยนต์ไฟฟ้าแห่งชาติ ครั้งที่ 1/2566 เมื่อวันที่ 2 ก.พ. 2566 ที่ผ่านมา ได้มีการพิจารณามาตรการขับเคลื่อนการผลิตรถยนต์เครื่องยนต์สันดาปภายใน ซึ่งเป็นรถยนต์กลุ่มใหญ่ของประเทศ ให้สามารถเปลี่ยนผ่านไปสู่การผลิตรถยนต์ที่ขับเคลื่อนด้วยพลังงานไฟฟ้า(อีวี)ได้ โดยได้มีมติให้กระทรวงอุตสาหกรรมแต่งตั้งคณะอนุกรรมการขับเคลื่อนการดำเนินงานยานยนต์ไฟฟ้าดัดแปลง (EV Conversion) ภายใต้บอร์ด EV ซึ่งประกอบไปด้วย 29 หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง

โดยมีสำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (สมอ.) เป็นเลขานุการในคณะอนุกรรมการฯ ดังกล่าว โดยมีอำนาจหน้าที่ในการกำหนดแนวทางในการพัฒนาอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้าดัดแปลง ได้แก่ รถยนต์ รถกระบะ รถจักรยานยนต์ รถสามล้อ รถโดยสาร รถบรรทุก เรือ รถไฟไฟฟ้า และชิ้นส่วนยานยนต์ไฟฟ้าที่ผลิตในประเทศให้แข่งขันได้อย่างยั่งยืน จัดทำมาตรการพัฒนาอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้าดัดแปลง เพื่อเตรียมการเปลี่ยนผ่านการพัฒนาประเทศไทยให้เป็นศูนย์กลางอุตสาหกรรมการผลิตยานยนต์ไฟฟ้าในภูมิภาคอาเซียน

รวมถึงการบริหารและการพัฒนาแรงงานที่มีทักษะเพื่อรองรับอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้าดัดแปลงและชิ้นส่วน หรือภารกิจอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องตามที่คณะกรรมการฯ มอบหมาย โดยหลังจากนี้จะดำเนินการเสนอรายชื่อคณะอนุกรรมการฯ แก่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรมเพื่อลงนามคำสั่งแต่งตั้ง และจะดำเนินการวางแผนงานกำหนดแนวทางในการพัฒนาอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้าดัดแปลงร่วมกับคณะอนุกรรมการฯ ทั้ง 29 หน่วยงานต่อไป

ด้าน นายบรรจง สุกรีฑา เลขาธิการ สมอ. กล่าวเพิ่มเติมว่า สมอ. ได้จัดทำมาตรฐานยานยนต์ไฟฟ้าและมาตรฐานที่เกี่ยวข้องยานยนต์ไฟฟ้าออกมาอย่างต่อเนื่อง โดยดำเนินการจัดทำมาตรฐาน ซึ่งมีทั้งที่อยู่ระหว่างการจัดทำและประกาศใช้แล้ว รวมจำนวน 138 มาตรฐาน เช่น สถานีชาร์จ รถยนต์ไฟฟ้า จักรยานยนต์ไฟฟ้า รถตุ๊กตุ๊กไฟฟ้า ระบบการสื่อสารระหว่างรถยนต์ไฟฟ้ากับโครงข่ายไฟฟ้า เป็นต้น และล่าสุดมี 3 มาตรฐานที่อยู่ระหว่างดำเนินการเป็นมาตรฐานบังคับ ได้แก่ สถานีชาร์จ แบตเตอรี่สำหรับยานยนต์ไฟฟ้า และการป้องกันผู้โดยสารเมื่อเกิดการชนจากด้านหน้าและด้านข้าง

“ขณะนี้ สมอ. อยู่ระหว่างดำเนินการจัดทำมาตรฐานที่เกี่ยวข้องกับยานยนต์ไฟฟ้าดัดแปลง ได้แก่ ชุดชิ้นส่วนสำหรับรถจักรยานยนต์ไฟฟ้าดัดแปลง นอกจากนี้ ยังได้จัดทำมาตรฐานอุตสาหกรรมเอสสำหรับผู้ประกอบการ SMEs จำนวน 2 มาตรฐาน ได้แก่ การบริการดัดแปลงรถยนต์ไฟฟ้า มอก. เอส 221-2566 มีผู้ประกอบการยื่นขอการรับรองแล้ว จำนวน 3 ราย และการบริการดัดแปลงรถจักรยานยนต์ไฟฟ้า มอก. เอส 222-2566 มีผู้ประกอบการยื่นขอการรับรองแล้ว จำนวน 1 รายซึ่งการดำเนินงานด้านการมาตรฐานของ สมอ. จะเป็นส่วนหนึ่งเพื่อร่วมขับเคลื่อนอุตสาหกรรมยานยนต์ไทยให้สามารถเปลี่ยนผ่านไปสู่การเป็นฐานการผลิตยานยนต์ไฟฟ้าที่สำคัญของโลกต่อไป”นายบรรจง กล่าว

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ไทย-ลาว จับมือพัฒนาอุตสาหกรรมร่วมกัน เล็งพื้นที่นิคมฯ ทั่วประเทศ

ดร.ณัฐพล รังสิตพล ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยภายหลังให้การต้อนรับ นายมะไลทอง กมมะสิด รัฐมนตรีกระทรวงอุตสาหกรรมและการค้า

สำนึกบุญคุณข้าว  เดินหน้าสู้เหมืองแร่ เดิมพันที่ต้องปกป้องจนชีวิตจะหาไม่

ชาวบ้านกลุ่มอนุรักษ์อุดรธานี จัดบุญกุ้มข้าวใหญ่ครั้งที่ 21  ระดมทุนสู้เหมืองแร่มากว่าสองทศวรรษ   เดินหน้าสู้จนชีวิตหาไม่  ชี้เป็นเรื่องสำคัญที่ต้องปกป้องในบุญคุณของข้าว กับ เหมืองแร่โครงการที่ยังไม่สมควรเกิดขึ้นในพื้นที่ 

นายกฯ หนุน 'รัฐ-เอกชน' สร้างเครือข่ายธุรกิจ 'ไทย-ญี่ปุ่น' ต่อยอดการค้าการลงทุน

โฆษกรัฐบาลเผย นายกฯ พร้อมส่งเสริมอุตสาหกรรมและเทคโนโลยี ผลักดันความร่วมมือไทย – ญี่ปุ่น ต่อยอดการค้าการลงทุนทั้งในระดับท้องถิ่นถึงนิคมอุตสาหกรรม

‘สุริยะ’ นำทัพบุกญี่ปุ่นดึงนักลงทุน

‘สุริยะ’ นำทัพบุกญี่ปุ่น มุ่งพัฒนาอุตสาหกรรมระหว่างประเทศ พร้อมเอ็มโอยูร่วม อิชิกาวะ ดัน กนอ. ดึงนักลงทุนญี่ปุ่น คาดสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจโตกว่า 1 หมื่นล้านบาท