บิ๊กซี รีเทล ยื่นไฟลิ่งขายหุ้นไอพีโอ 3,730 ล้านหุ้น หวังระดมเงินขยายธุรกิจ

บิ๊กซี รีเทล ยื่นไฟลิ่งขายหุ้นไอพีโอ (“IPO”) จำนวนรวมไม่เกิน 3,730 ล้านหุ้นเปลี่ยนผ่านสู่การเติบโตในฐานะผู้นำธุรกิจค้าปลีกและค้าส่ง ของภูมิภาคอาเซียนอย่างยิ่งใหญ่และยั่งยืน

18 เม.ย. 2566 – บริษัท บิ๊กซี รีเทล คอร์ปอเรชั่น จํากัด (มหาชน) (“BRC” หรือ “บริษัทฯ”) ได้ยื่นแบบคำขออนุญาตเสนอขายหลักทรัพย์ และแบบแสดงรายการข้อมูลการเสนอขายหลักทรัพย์ และร่างหนังสือชี้ชวน (แบบไฟลิ่ง) ต่อสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (สำนักงาน ก.ล.ต.) เพื่อเสนอขายหุ้นสามัญเพิ่มทุนต่อประชาชนเป็นครั้งแรก (IPO) จำนวนรวมไม่เกิน 3,730 ล้านหุ้น (รวมจำนวนหุ้นที่ผู้จัดหาหุ้นส่วนเกิน (Over-Allotment Agent) อาจใช้สิทธิซื้อหุ้นสามัญเพิ่มทุนจากบริษัทฯ ในกรณีที่มีการจัดหาหุ้นส่วนเกิน (Over-Allotment) (ถ้ามี)) หรือคิดเป็นสัดส่วนไม่เกินร้อยละ 29.98 ของจำนวนหุ้นสามัญที่ออกและจำหน่ายได้แล้วทั้งหมดของบริษัทฯ ภายหลังการเสนอขายหุ้นสามัญและจดทะเบียนเพิ่มทุนในครั้งนี้ เพื่อระดมทุนสำหรับการขยายธุรกิจทั้งในประเทศและต่างประเทศ เพื่อชำระคืนเงินกู้ยืม และเพื่อใช้เป็นเงินทุนหมุนเวียนในการดำเนินกิจการ ซึ่งเป็นการเปลี่ยนผ่านสู่การเติบโตในฐานะผู้นำอุตสาหกรรมค้าปลีกและค้าส่งของภูมิภาคอาเซียนอย่างยิ่งใหญ่และยั่งยืน

นายอัศวิน เตชะเจริญวิกุล ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท บิ๊กซี รีเทล คอร์ปอเรชั่น จํากัด (มหาชน) หรือ BRC กล่าวว่า BRC คือบริษัทเรือธง (Flagship Company) สําหรับธุรกิจค้าปลีกสมัยใหม่ และธุรกิจค้าส่งและสนับสนุนการค้าปลีกแบบดั้งเดิมของกลุ่ม BJC และกลุ่ม TCC โดยประกอบธุรกิจโดยการถือหุ้นในบริษัทอื่น (Holding Company) ที่ดำเนินธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับการค้าปลีก การค้าส่ง การสั่งผลิต การนำเข้าและการส่งออกสินค้าอุปโภคบริโภคทั้งในประเทศและต่างประเทศ รวมทั้งการพัฒนาและการให้เช่าอสังหาริมทรัพย์อันมีส่วนเกี่ยวข้องเกื้อหนุนกับการค้าปลีก และ/หรือการค้าส่งของบริษัทฯ BRC มีประสบการณ์และความเชี่ยวชาญในการดำเนินธุรกิจมาเกือบ 30 ปี และปัจจุบันมีเครือข่ายธุรกิจค้าปลีกและค้าส่งที่ใหญ่ที่สุดแห่งหนึ่งในประเทศไทย BRC จึงมีความรู้ความเข้าใจอย่างลึกซึ้งในอุตสาหกรรมที่มีการแข่งขันสูง ในปัจจุบัน BRC สามารถนำเสนอสินค้าที่คุ้มค่าและหลากหลายเพื่อตอบสนองความต้องการและความชื่นชอบที่แตกต่างของทั้งกลุ่มลูกค้าและผู้เช่าพื้นที่ร้านค้า (Retail Venue) ของ BRC ตลอดจนมอบประสบการณ์ที่น่าพึงพอใจให้แก่ผู้บริโภคทั้งบนช่องทางการขายหน้าร้านและช่องทางออนไลน์ผ่าน Omnichannel Platform ของ BRC ได้อย่างดีเยี่ยม

BRC ประกอบธุรกิจหลักใน 3 กลุ่มธุรกิจ ได้แก่ 1.) ธุรกิจค้าปลีกสมัยใหม่ ประกอบด้วยร้านค้าขนาดใหญ่และขนาดเล็กภายใต้แบรนด์บิ๊กซี เช่น บิ๊กซี ซูเปอร์เซ็นเตอร์, บิ๊กซี เอ็กซ์ตร้า,บิ๊กซี เพลส, บิ๊กซี มาร์เก็ต, บิ๊กซี ฟู๊ดเพลส, บิ๊กซี ดีโป้, บิ๊กซี มินิ, บิ๊กซี ฟู๊ด เซอร์วิส ร้านค้าขนาดเล็กภายใต้แบรนด์ Kiwi Mart ในประเทศกัมพูชา และ B’s Mart ในประเทศเวียดนาม ตลาด Open-Air โดยแบ่งเป็นตลาดกลางคืนภายใต้แบรนด์ตลาดเดินเล่น และตลาดกลางวันภายใต้แบรนด์ตลาดครอบครัวและตลาดทิพย์นิมิตร รวมทั้งแพล็ตฟอร์ม Omnichannel คือ Big C PLUS และ Marketplace ของผู้ให้บริการภายนอก 2.) ธุรกิจค้าส่งและสนับสนุนการค้าปลีกแบบดั้งเดิม ซึ่งเป็นการทำธุรกิจแบบ B2B โดยตรงกับกลุ่มลูกค้าธุรกิจขนาดใหญ่ และการขายสินค้าให้กับร้านค้าปลีกแบบดั้งเดิมรวมถึงผู้ประกอบการภายใต้โมเดลร้านค้าโดนใจของบริษัทฯ และ 3.) ธุรกิจอื่น ๆ อันประกอบด้วยธุรกิจค้าปลีกและธุรกิจสนับสนุนอื่นหลากหลายประเภท เช่น ร้านขายยาเพรียว ร้านขายยาสิริฟาร์มา ร้านกาแฟวาวี ร้านหนังสือเอเชียบุ๊คส บริการรับชำระเงินผ่านเคาน์เตอร์ Big Service บริการให้คำปรึกษา บริการวางระบบหน้าร้านและระบบสนับสนุนด้านต่าง ๆ แก่ผู้ประกอบการร้านค้าโดนใจให้บริการวิเคราะห์ข้อมูลแก่ผู้จัดหาสินค้า และบริการให้เช่าพื้นที่โฆษณาภายในพื้นที่ร้านค้า (Retail Venue)

นอกจากนั้น BRC ยังมีจุดแข็งอันโดดเด่นด้วยรูปแบบธุรกิจที่ผสมผสานระหว่างธุรกิจค้าปลีกค้าส่ง และธุรกิจให้เช่าพื้นที่ (Town Center Business) ซึ่งช่วยเพิ่มความคล่องตัวในการดำเนินงาน สามารถวิเคราะห์และตอบสนองความต้องการของลูกค้าและปรับรูปแบบการนำเสนอสินค้า และการให้บริการให้ตรงตามลักษณะการเลือกซื้อสินค้าและความชื่นชอบของลูกค้าในแต่ละพื้นที่ รวมถึงสร้างประสบการณ์การเลือกซื้อสินค้าในสภาพแวดล้อมที่เปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา อีกทั้ง ยังมีรูปแบบร้านค้าที่หลากหลาย ครอบคลุมทั้งร้านค้าขนาดใหญ่และขนาดเล็ก รวมถึงร้านค้าที่ตอบสนองในด้านของไลฟ์สไตล์ ซึ่งเติมเต็มทุกความต้องการ พร้อมไปกับการให้บริการที่ปรับให้เข้ากับความต้องการเฉพาะตัวของแต่ละพื้นที่
สำหรับวัตถุประสงค์ของการระดมทุนในครั้งนี้ บริษัทฯ จะนำเงินไปใช้การลงทุนในการขยายธุรกิจทั้งในประเทศและต่างประเทศ การชำระคืนเงินกู้ยืม และใช้เป็นเงินทุนหมุนเวียนสำหรับการดำเนินธุรกิจ ซึ่งจะมีการเปิดเผยรายละเอียดเพิ่มเติมในภายหลังในหนังสือชี้ชวน

ปัจจุบัน BRC มีทุนจดทะเบียน 124,435.0 ล้านบาท และมีทุนที่ออกและชำระแล้ว 87,135.0ล้านบาท ทั้งนี้ ภายหลังการเสนอขายหุ้น IPO ของ BRC เสร็จสิ้น BJC จะยังคงเป็นผู้ถือหุ้นรายใหญ่โดย BJC จะถือหุ้นในสัดส่วนไม่ต่ำกว่าร้อยละ 70.02 และ BRC จะยังคงมีสถานะเป็นบริษัทย่อยของ BJC

ผลการดำเนินงานของ BRC มีรายได้จากการขายสินค้าและรายได้จากค่าเช่าและบริการในปี 2565 เท่ากับ 106,084.1 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 6.6 จากช่วงเวลาเดียวกันปี 2564 ที่ 99,480.7 ล้านบาท โดยในปี 2565 มีกำไรสำหรับปีอยู่ที่ 6,756.8 ล้านบาท
ด้านนโยบายการจ่ายเงินปันผล BRC ใช้หลักเกณฑ์ไม่ต่ำกว่าร้อยละ 50 ของกําไรสุทธิของผลประกอบการโดยรวมของกลุ่มบริษัทฯ โดยยังไม่รวมผลกำไรหรือขาดทุนจากการปรับมูลค่ายุติธรรมของอสังหาริมทรัพย์เพื่อการลงทุน และไม่รวมผลกำไรหรือขาดทุนหลังหักภาษีเงินได้นิติบุคคลและสำรองต่าง ๆ ทุกประเภทตามที่กฎหมายและข้อบังคับของบริษัทกำหนดไว้
นอกจากนั้น BRC ได้แต่งตั้งที่ปรึกษาทางการเงินสำหรับการเสนอขายหุ้น IPO และนำหุ้นเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยจำนวน 5 ราย อันประกอบด้วย ธนาคารไทยพาณิชย์ จํากัด (มหาชน) บริษัทหลักทรัพย์ กสิกรไทย จํากัด (มหาชน) บริษัทหลักทรัพย์ เกียรตินาคินภัทร จํากัด (มหาชน) บริษัทหลักทรัพย์ บัวหลวง จํากัด (มหาชน) และบริษัทหลักทรัพย์ ฟินันซ่า จำกัด

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

การซื้อขายหุ้น

การซื้อขายหุ้นหรือการเทรดหุ้นคือการซื้อและขายหุ้นของบริษัทที่มีการซื้อขายหุ้นในตลาดหลักทรัพย์ เป้าหมายของเทรดเดอร์หุ้นคือการใช้ประโยชน์จากเหตุการณ์ในตลาดระยะสั้นเพื่อขายหุ้นเพื่อหากำไรหรือซื้อ

BJC ได้ปรับอันดับเพิ่ม MSCI ESG Ratings ของกลุ่มอุตสาหกรรม Food & Staples Retailing จากระดับ A สู่ระดับ AA สูงสุดในเอเชีย

วันที่ 20 มิถุนายน 2566 - บริษัท เบอร์ลี่ ยุคเกอร์ จำกัด (มหาชน) หรือ BJC ได้รับการปรับเพิ่มอันดับความน่าเชื่อถือ MSCI ESG Ratings ของกลุ่มอุตสาหกรรม Food & Staples Retailing

ยัสปาล ยักษ์ใหญ่แฟชั่นของไทยยื่นแบบไฟลิ่ง เสนอขายหุ้น IPO 156 ล้านหุ้น

บมจ. ยัสปาล หรือ JPC ผู้ดำเนินธุรกิจค้าปลีกเสื้อผ้า สินค้าแฟชั่น และสินค้าไลฟ์สไตล์ รวมถึงธุรกิจผลิตและจำหน่ายที่นอน เครื่องนอน ของตกแต่งบ้านและเฟอร์นิเจอร์ ยื่นแบบแสดงรายการข้อมูล (ไฟลิ่ง) ต่อสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (สำนักงาน ก.ล.ต.) และตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลาดหลักทรัพย์ฯ) เพื่อเสนอขายหุ้น IPO จำนวนไม่เกิน 156 ล้านหุ้น เตรียมเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย