บิ๊กซี คาดขาย IPO-เข้า SET ภายในปี 2566 พร้อมลุยธุรกิจไทย-ตปท.

7 มิ.ย. 2566 – นายอัศวิน เตชะเจริญวิกุล ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บมจ.บิ๊กซีรีเทล คอร์ปอเรชั่น (BRC) เปิดเผยว่า ขณะนี้ความคืบหน้าในการเสนอขายหุ้นสามัญเพิ่มทุนให้กับประชาชนเป็นครั้งแรก (IPO) หลังจากยื่นไฟลิ่งไปแล้วในช่วงเดือน เม.ย.ที่ผ่านมานั้น ปัจจุบันอยู่นะหว่างการรอการพิจารณาไฟลิ่งจากทางสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) โดยบริษัทคาดว่าจะสามารถเสนอขาย IPO และเข้าซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์ได้ภายในปี 2566 

ทั้งนี้ BRC ได้ยื่นไฟลิ่งเสนอขาย IPO จำนวนรวมไม่เกิน 3,730 ล้านหุ้น ซึ่งมีวัตถุประสงค์ของการระดมทุนในครั้งนี้ บริษัจะนำเงินไปใช้การลงทุนในการขยายธุรกิจทั้งในประเทศและต่างประเทศ การชำระคืนเงินกู้ยืม และใช้เป็นเงินทุนหมุนเวียนสำหรับการดำเนินธุรกิจ โดยมีที่ปรึกษาทางการเงิน 5 ราย ได้แก่ บล.บัวหลวง บล.กสิกรไทย ธนาคารไทยพาณิชย์ บล.เกียรตินาคินภัทร และบล.ฟินันนซ่า 

สำหรับแนวโน้มภาพรวมของธุรกิจค้าปลีกในครึ่งปีหลังปี 2566 ยังเห็นการเติบโตอย่างต่อเนื่องในธุรกิจค้าปลีก โดยเฉพาะกำลังซื้อจากกลุ่มนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติ จะเห็นได้ว่าหลังจากการเปิดประเทศของไทยที่มีนักท่องเที่ยวเดินทางเข้ามามากขึ้น และไทยถือเป็นประเทศจุดหมายปลายทางยอดนิยมของนักท่องเที่ยวต่างชาติ ประกอบกับการจับจ่ายใช้สอยของคนในประเทศก็กลับมาคึกคักมากขึ้น เห็นจากยอดขายสาขาเดิมของบิ๊กซีที่กลับมาเติบโตขึ้นในไตรมาส 1ที่ผ่านมา และยังมีทิศทางที่ดีต่อเนื่อง 

ขณะที่งบประมาณการลงทุนในช่วง 1-2 ปีนี้จะใช้ปีละ 1 หมื่นล้านบาท เพื่อขยายธุรกิจในทุกรูปแบบทั้งในและต่างประเทศ ควบคู่ไปกับการปรับปรุงพัฒนาสาขาเดิมให้ทันสมัยมากขึ้น มีพื้นที่ในการเลือกซื้อสินค้าและบริการ เพื่อให้ลูกค้าเข้ามาใช้ชีวิตสาขา  

 นายอัศวิน กล่าวว่า โอกาสการเติบโตในต่างประเทศยังมีอีกมาก โดยเฉพาะในภูมิภาคอาเซียน เช่นลาว กัมพูชา และเวียดนาม ซึ่งบริษัทมีการไปเข้าไปขยายธุรกิจแล้วทั้ง 3 ประเทศ โดยในลาวและกัมพูชาบิ๊กซีถือเป็นผู้นำในตลาดค้าปลีก ส่วนในเวียดนามถือว่าบริษัทรายใหญ่ในธุรกิจค้าส่ง ซึ่งได้มีการถือหุ้นใน MM Mega Market เวียดนาม และในอนาคตยังมีสิทธิเข้าไปถือหุ้นเพิ่มเพื่อนำผลการดำเนินงานของMM Mega Market เข้ามารวมในผลการดำเนินงานของบริษัท โดยที่บริษัทยังคงเดินหน้ามุ่งการขยายตลาดในต่างประเทศมากขึ้น ตั้งเป้าเพิ่มสัดส่วนยอดขายในต่างประเทศเพิ่มเป็น 20-40% ของยอดขายรวม ภายใน 5-7 ปี จากปัจจุบันที่มีสัดส่วนยอดขายจากต่างประเทศ 10% ของยอดขายรวม 

นอกจากนี้ กลุ่มลูกค้าชาวจีนยังถือเป็นกลุ่มลูกค้าที่สำคัญในการเพิ่มยอดขายของบริษัท โดยเฉพาะการขายผ่านแพลตฟอร์มออนไลน์ของพันธมิตรในประเทศจีน โดยปัจจุบันบริษัทอยู่ระหว่างการพูดคุยกับพันธมิตรจากจีนในการขยายความร่วมมือในการขยายช่องทางการจำหน่ายของบิ๊กซีผ่านเครือข่ายของพันธมิตร 

สำหรับการเติบโตของผลการดำเนินงานของบริษัทยังเห็นการเติบโตต่อเนื่อง และฟื้นขึ้นมาหลังจากโควิด-19 คลี่คลาย โดยในปี 2565 ยอดขายสามารถเติบโตได้ 2.2% จากปี 2564 และในช่วงไตรมาส 1ที่ผ่านมา ยอดขายยังมีการเติบโตขึ้น 2.8% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน จากกำลังซื้อของคนในประเทศที่ฟื้นตัวขึ้น และมีนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติเริ่มทยอยเข้ามา ขณะที่ EBITDA margin มีการปรับตัวสูงขึ้นมาที่ 10.5% ในปี 2565 และเพิ่มขึ้นมาเป็น 10.9% ในไตรมาส 1 ของปีนี้ จากการบริหารจัดการต้นทุนต่างๆของบริษัท ทั้งในด้านของระบบโลจิสติกส์ และต้นทุนด้านพลังงานที่มีการใช้รถยนต์ไฟฟ้า(EV) ในการขนส่ง รวมถึงการติดตั้งแผงโซลาร์รูฟท้อปบนหลังสาขาและศูนย์กระจายสินค้าของบริษัท 

อย่างไรก็ดี บริษัทมองว่าต้นทุนค่าไฟยังถือเป็นปัจจัยที่ท้าทายต่อการบริการจัดการค่าใช้จ่ายและส่งผลกระทบต่อความสามารถในการทำกำไรของบริษัท ซึ่งปัจจุบันยอมรับว่าการที่ต้นทุนค่าไฟเพิ่มขึ้น ก็ต้องบริหารจัดการต้นทุนในส่วนนี้ให้มีประสิทธิภาพมากที่สุด  

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

"บิ๊กซี" จับมือ "ททท." สร้างประสบการณ์การท่องเที่ยวไทย ผ่าน 2 แคมเปญใหญ่

บริษัท บิ๊กซี ซูเปอร์เซ็นเตอร์ จำกัด (มหาชน) เดินหน้าส่งเสริมท่องเที่ยวไทยอย่างต่อเนื่อง ตอกย้ำความเป็นผู้นำจุดหมายของนักท่องเที่ยว