ปลื้ม ขีดความสามารถในการแข่งขันของไทยขยับขึ้น 3 อันดับ เพิ่มขึ้นทุกมิติ

สนค. แนะเร่งเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันทุกมิติ อาทิ การพัฒนาต่อยอดอุตสาหกรรมแห่งอนาคต การดึงดูดการลงทุน การส่งเสริมการส่งออกรวมถึงการกระจายตลาด และการเตรียมความพร้อมด้านแรงงาน หลัง IMD ประกาศผลการจัดอันดับปี 2566 ไทยอยู่อันดับที่ 30 ขยับเพิ่ม 3 อันดับ โดยเฉพาะด้านเศรษฐกิจขยับเพิ่มทุกปัจจัยย่อย ท่ามกลางความเสี่ยงด้านเศรษฐกิจมหภาคและประเด็นภูมิรัฐศาสตร์

28 มิ.ย. 2566 – นายพูนพงษ์ นัยนาภากรณ์ ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า IMD World Competitiveness Center ได้ทำการจัดอันดับความสามารถในการแข่งขัน ประจำปี 2566 พบว่า ผลในการจัดอันดับในปีนี้ได้รับอิทธิพลจากหลายปัจจัยที่เกี่ยวเนื่องกันที่เรียกว่า “Polycrisis” ประกอบด้วย (1) ความเสี่ยงที่จะเกิดภาวะเศรษฐกิจถดถอย (2) อัตราเงินเฟ้อ (3) ความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ และ (4) ความมั่นคงทางพลังงาน ซึ่งวิกฤตเหล่านี้มีผลต่อความสามารถในการแข่งขันของแต่ละประเทศในระดับที่แตกต่างกันไป โดยทำให้บางประเทศเลื่อนอันดับดีขึ้น ขณะที่อันดับของบางประเทศเลื่อนลง นอกจากนี้ยังระบุข้อมูลเพิ่มเติมว่า เขตเศรษฐกิจที่มีการเปิดประเทศเร็วหลังจากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ปัจจุบันมีเศรษฐกิจเติบโตชะลอลง ขณะที่เขตเศรษฐกิจที่เพิ่งเปิดประเทศภายหลัง จะเห็นการฟื้นตัวของเศรษฐกิจอย่างชัดเจน

ผลการจัดอันดับขีดความสามารถในการแข่งขันทั้งสิ้น 64 เขตเศรษฐกิจ พบว่า เขตเศรษฐกิจที่ถูกจัดอันดับขีดความสามารถในการแข่งขันใน 3 อันดับแรก ได้แก่ เดนมาร์ก ไอร์แลนด์ และสวิตเซอร์แลนด์ โดย IMD ให้ข้อมูลว่า เขตเศรษฐกิจที่อยู่อันดับต้นของโลกส่วนใหญ่เป็นเขตเศรษฐกิจขนาดเล็ก ที่ใช้ประโยชน์จากการเข้าถึงตลาดและคู่ค้า มีความสามารถในการปรับตัว และสามารถปรับเปลี่ยนนโยบายตามภาวะเศรษฐกิจในปัจจุบันได้ทันท่วงที ขณะที่ ขีดความสามารถในการแข่งขันของเขตเศรษฐกิจสำคัญในเอเชีย อาทิ จีน เกาหลีใต้ ญี่ปุ่น และอินเดีย เลื่อนลง 7 1 1 และ 3 อันดับจากปีก่อนหน้า มาอยู่อันดับที่ 21 28 35 และ 40 ตามลำดับ

ไทยอยู่ในอันดับที่ 30 จาก 64 เขตเศรษฐกิจ เลื่อนขึ้น 3 อันดับจากปีก่อนหน้า และเมื่อเปรียบเทียบ ขีดความสามารถในการแข่งขันภายในภูมิภาคอาเซียน (จำนวน 5 เขตเศรษฐกิจ ซึ่งประกอบด้วยสิงคโปร์ มาเลเซีย ไทย อินโดนีเซีย และฟิลิปปินส์) พบว่า ไทยอยู่ในอันดับที่ 3 โดยอันดับขีดความสามารถในการแข่งขันในกลุ่มประเทศอาเซียนดังกล่าวของไทยไม่เปลี่ยนแปลงจากปี 2565 โดยขีดความสามารถในการแข่งขันประกอบด้วยปัจจัยหลัก 4 ด้าน ได้แก่ สมรรถนะทางเศรษฐกิจ ประสิทธิภาพของภาครัฐ ประสิทธิภาพของภาคธุรกิจ และโครงสร้างพื้นฐาน ซึ่งอันดับของไทยดีขึ้นในทุกด้าน โดยเฉพาะด้านสมรรถนะทางเศรษฐกิจที่เลื่อนขึ้นถึง 18 อันดับ มาอยู่อันดับที่ 16 ขณะที่ด้านประสิทธิภาพของภาครัฐ เลื่อนขึ้น 7 อันดับ มาอยู่อันดับที่ 24 ประสิทธิภาพของภาคธุรกิจ เลื่อนขึ้น 7 อันดับ มาอยู่อันดับที่ 23 และโครงสร้างพื้นฐาน เลื่อนขึ้น 1 อันดับ มาอยู่อันดับที่ 43

เมื่อพิจารณาถึงปัจจัยย่อยของแต่ละด้าน มีรายละเอียด ดังนี้ (1) ด้านสมรรถนะทางเศรษฐกิจ ดีขึ้นในทุกปัจจัยย่อย โดยการลงทุนระหว่างประเทศ เลื่อนขึ้น 11 อันดับ มาอยู่ที่อันดับ 22 และการค้าระหว่างประเทศ เลื่อนขึ้น 8 อันดับ มาอยู่ที่อันดับ 29 เศรษฐกิจภายในประเทศ เลื่อนขึ้น 7 อันดับ มาอยู่ที่อันดับ 44 ระดับราคาและค่าครองชีพ เลื่อนขึ้น 4 อันดับ มาอยู่ที่อันดับ 27 และการจ้างงาน เลื่อนขึ้น 1 อันดับ มาอยู่ที่อันดับ 3 (2) ประสิทธิภาพของภาครัฐ ดีขึ้นจากปัจจัยย่อยด้านกรอบการบริหารภาครัฐ และกฎหมายธุรกิจ โดยทั้งสองปัจจัยย่อยเลื่อนขึ้น 7 อันดับ มาอยู่อันดับที่ 34 และ 31 ตามลำดับ (3) ประสิทธิภาพของภาคธุรกิจ ดีขึ้นจากปัจจัยย่อยด้านผลิตภาพและประสิทธิภาพ เลื่อนขึ้น 9 อันดับ มาอยู่ที่อันดับ 38 และ (4) โครงสร้างพื้นฐาน ดีขึ้นจากปัจจัยย่อยด้านโครงสร้างเทคโนโลยี เลื่อนขึ้น 9 อันดับ มาอยู่ที่อันดับ 25

IMD ระบุเพิ่มเติมว่า ในปี 2566 ไทยจะเผชิญกับความท้าทาย อาทิ การเพิ่มขึ้นของค่าครองชีพและการเติบโตที่ไม่สมดุล ความไม่แน่นอนทางการเมืองจากการเลือกตั้งทั่วไป ความเสี่ยงจากประเด็นภูมิรัฐศาสตร์ ความสามารถในการรับมือกับภัยคุกคามด้านความมั่นคงทางไซเบอร์ และการขาดแคลนแรงงานในภาคบริการที่ผ่านมา กระทรวงพาณิชย์ในฐานะองค์กรหลักในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจการค้าของประเทศ ได้ดำเนินการในด้านต่าง ๆ ทั้งการเสริมสร้างความแข็งแกร่งทางการค้าให้กับผู้ประกอบการ การร่วมมือกับภาคเอกชนในการส่งเสริมการส่งออก โดยในปี 2565 การส่งออกไทยขยายตัวที่ร้อยละ 5.5 แม้ว่า ในช่วง 5 เดือนแรกของปี 2566 จะหดตัวที่ร้อยละ 5.1 จากภาวะเศรษฐกิจชะลอตัวของประเทศคู่ค้า แต่ไทยยังทำได้ดีเมื่อเปรียบเทียบกับประเทศอื่น ๆ ในภูมิภาคที่การส่งออกหดตัวรุนแรงมากกว่า รวมถึงการเร่งลดภาระด้านค่าครองชีพให้กับผู้บริโภคชาวไทยผ่านมาตรการช่วยเหลือต่าง ๆ ที่มีส่วนสำคัญทำให้อัตราเงินเฟ้อลดลงสู่ระดับร้อยละ 2.96 ในช่วง 5 เดือนแรกของปี 2566 จากที่เพิ่มสูงในปี 2565 จนแตะระดับร้อยละ 6.08 เนื่องจากราคาพลังงานและสินค้าโภคภัณฑ์ที่พุ่งสูงขึ้นจากวิกฤตความขัดแย้งในยูเครน

นายพูนพงษ์ กล่าวเพิ่มเติมว่า อย่างไรก็ตาม ท่ามกลางความไม่แน่นอนของปัจจัยกดดันภายนอกประเทศดังที่ IMD ระบุไว้ รวมถึงปัญหาภาคการธนาคารของชาติตะวันตกที่เพิ่มแรงกดดันต่อความเสี่ยงที่จะเกิดภาวะถดถอยในหลายประเทศ โดยเฉพาะกับประเทศที่เป็นคู่ค้าหลักของไทย ประกอบกับเศรษฐกิจไทยเชื่อมโยงกับเศรษฐกิจโลกอย่างใกล้ชิด โดยไทยมีการส่งออกเป็นเครื่องจักรสำคัญของการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศมาอย่างต่อเนื่อง ดังนั้น ไทยจึงควรเร่งเดินหน้าพัฒนา ขีดความสามารถในการแข่งขันเพิ่มขึ้นในทุกมิติ อาทิ การพัฒนาอุตสาหกรรมแห่งอนาคต การพัฒนามาตรการส่งเสริมการลงทุนให้สอดรับกับความต้องการของนักลงทุนในสาขาที่เป็นเป้าหมายของไทย การส่งเสริมการส่งออกเชิงรุกรวมถึง

การกระจายตลาดมากขึ้น และการอัพสกิล/รีสกิลเพื่อเพิ่มทักษะและคุณภาพของแรงงาน เพื่อเตรียมความพร้อมของประเทศให้สามารถรับมือกับผลกระทบที่อาจเกิดขึ้น และช่วงชิงประโยชน์จากการเปลี่ยนแปลงต่าง ๆ โดยเฉพาะการที่โลกเข้าสู่ภาวะการกระจายตัวทางภูมิเศรษฐกิจ (Geo-economic Fragmentation) จากการที่สหรัฐฯ และชาติพันธมิตรต่างต้องการลดความเสี่ยงจากการพึ่งพาห่วงโซ่อุปทานของจีนมากเกินไป (De-risk) ซึ่งจะส่งผลต่อการเปลี่ยนภูมิทัศน์ของห่วงโซ่อุปทานโลกทั้งมิติด้านการผลิต การค้า และการลงทุน ซึ่งจะเป็นโอกาสในประเทศกำลังพัฒนา โดยเฉพาะประเทศสมาชิกอาเซียน รวมถึงไทย ที่จะได้ประโยชน์จากแนวโน้มการย้ายการลงทุนเข้ามาต่อยอดอุตสาหกรรมเดิมที่ไทยมีความแข็งแกร่ง และขยายอุตสาหกรรมเทคโนโลยีขั้นสูง เพื่อเป็นเครื่องจักรขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยต่อไปในอนาคต

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

'ภูมิธรรม' ถกรองผู้ว่าฯเหอหนาน ชวนนักธุรกิจลงทุนไทย พร้อมดันเพิ่มเที่ยวบิน เจิ้งโจว-กรุงเทพฯ

นายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยภายหลังหารือกับสมาชิกคณะกรรมการประจำมณฑลเหอหนานแห่งพรรคคอมมิวนิสต์จีน

'ภูมิธรรม' ยกทีมจีนถกผู้ว่าฯ สิบสองปันนา เพิ่มตู้ส่งผลไม้ หนุนส่งออกโค

นายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยภายหลังนำคณะผู้บริหารกระทรวงพาณิชย์ เดินทางมาปฎิบัติราชการที่สาธารณรัฐประชาชนจีน และสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว ระหว่างวันที่ 27-29 เมษายน 2567 โดยได้เข้าหารือกับนายตาว เหวิน

”ภูมิธรรม“ ประกาศสุดยอดข้าวหอมมะลิ และข้าวสารไทยแห่งปี หนุนเกษตรกรและโรงสีรักษาคุณภาพขั้นสูง ขยายตลาดทั่วโลก

นายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เป็นประธานในงานประกาศผลและพิธีมอบรางวัลการประกวดข้าวหอมมะลิของประเทศไทย ประจำปี 2566 (ครั้งที่ 41) และรางวัลการประกวดข้าวสารคุณภาพดีเด่นแห่งประเทศไทยประจำปี พ.ศ. 2566 ซึ่งจัดโดยกรมการค้าภายใน กระทรวงพาณิชย์ ในวันนี้ (24 เมษายน 2567)