บวท.ทุ่ม 4.2 พันล้านลุยติดตั้งระบบการจราจรทางอากาศ 39 สนามบิน

“วิทยุการบินฯ” เตรียมทุ่ม 4.2 พันล้านในปี 67-70 วางระบบการจราจรทางอากาศ 39 สนามบิน “ติดตั้งระบบ Backup & สร้างหอบังคับการบินอู่ตะเภา” รับ 2 ล้านไฟล์ทบินๆ-ผู้โดยสาร 50 ล้านคนในปี 80 พร้อมเร่งเจรจา 3 ประเทศ “ไทย-สปป.ลาว-จีน เพิ่มความจุเส้นทางบิน 2 เท่า

18 ส.ค. 2566 – นายณพศิษฏ์ จักรพิทักษ์ กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท วิทยุการบินแห่งประเทศไทย จำกัด (บวท.) เปิดเผยว่าบวท. เตรียมทุ่มงบประมาณ 4,200 ล้านบาท (งบประมาณผูกพันระยะ 4 ปี หรือตั้งแต่ปี 2567-2570) เพื่อนำมาดำเนินการวางระบบการบริหารจัดการจราจรทางอากาศใหม่ในสนามบินของประเทศไทยรวมกว่า 39 แห่ง ให้สอดรับกับภารกิจสำคัญของ บวท. ในการรองรับปริมาณเที่ยวบินจากในปัจจุบัน 1 ล้านเที่ยวบินต่อปี ขึ้นเป็น 2 ล้านเที่ยวบินต่อปีในปี 2580

ทั้งนี้ การลงทุนดังกล่าว แบ่งการดำเนินการออกเป็น 2 ส่วน ประกอบด้วย 1.การวางระบบสำรองข้อมูล (Backup) พร้อมติดตั้งอุปกรณ์ใหม่ วงเงินประมาณ 3,000 ล้านบาท ซึ่งผ่านการอนุมัติของที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เป็นที่เรียบร้อยแล้ว คาดว่า จะสามารถเริ่มเบิกจ่ายงบประมาณในปี 2567 ก่อนจะเริ่มออกแบบ ก่อสร้าง โดยจะแล้วเสร็จในปี 2570 ซึ่งคาดการณ์ว่า จะรองรับเที่ยวบินกว่า 1.5 ล้านเที่ยวบินต่อปี และ 2.การก่อสร้างหอบังคับการบินท่าอากาศยานอู่ตะเภา วงเงิน 1,200 ล้านบาท คาดว่า จะเปิดให้บริการในปี 2570 สามารถรองรับผู้โดยสารได้ 2 ล้านคนต่อปี และเพิ่มเป็น 50 ล้านคนต่อปีภายในปี 2580

นายณพศิษฏ์ กล่าวต่อว่า บวท. อยู่ระหว่างการหารือร่วม 3 ประเทศ คือ ไทย สปป.ลาว และจีน เพื่อขยายความจุ(Capacity) เส้นทางการบินบนน่านฟ้าระหว่างไทย-จีน เป็น 2 เท่า ตามที่บรรจุแผนเข้าไปยังองค์การสหประชาชาติ(UN) แล้ว จากแนวโน้มการบินในเส้นทางดังกล่าวที่มีการเดินทางเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง กล่าวคือ จากเดิมที่สามารถรองรับเที่ยวบินในเส้นทางนี้ 200,000-300,000 เที่ยวบินต่อปี เพิ่มขึ้นเป็น 600,000 เที่ยวบินต่อปี อีกทั้งยังสามารถเพิ่มรายได้ให้กับ บวท. จากที่ในปี 2562 มีรายได้ในเส้นทางไทย-จีน ปีละประมาณ 3,000 ล้านบาท เพิ่มเป็นปีละ 6,000 ล้านบาท

สำหรับกระบวนการหลังจากนี้ บวท. จะต้องเจรจาร่วมกับทหาร เพื่อพิจารณาด้านความมั่นคงให้สอดคล้องกับแนวทางของแต่บะประเทศ พร้อมทั้งหารือ 3 ฝ่ายถึงเรื่องการลงทุนว่า จะร่วมลงทุนกันอย่างไรบ้าง เนื่องจากจะต้องมีการติดตั้งอุปกรณ์ด้านความปลอดภัย เรดาร์การบิน ฯลฯ อย่างไรก็ตาม คาดว่า จะเริ่มทยอยดำเนินการในปี 2567 ซึ่งจะช่วยเพิ่มการรองรับปริมาณเที่ยวบินอย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น นำไปสู่เป้าหมายของ บวท. ก้าวเป็นศูนย์กลางการบินในภูมิภาค หรือติด 1 ใน 3 ของภมิภาคเอเชีย ได้แก่ ไทย สิงคโปร์ และฮ่องกง

นายณพศิษฏ์ กล่าวอีกว่า ขณะเดียวกัน บวท. ยังได้ดำเนินการออกแบบเส้นทางบินและห้วงอากาศใหม่ หรือที่เรียกว่าโครงการ Metroplex ซึ่งจะจัดทำเส้นทางบินเพื่อเชื่อมต่อ และเพิ่มขีดความสามารถในการรองรับของสนามบินต่างๆแบ่งออกเป็น 3 กลุ่ม ประกอบด้วย กลุ่มที่ 1 สนามบินสุวรรณภูมิ ดอนเมือง อู่ตะเภา, กลุ่มที่ 2 เชียงใหม่ แม่ฟ้าหลวงเชียงราย บ้านธิ ลำปาง และกลุ่มที่ 3 ภูเก็ต พังงา กระบี่

ทั้งนี้ จะดำเนินการควบรวมห้วงอากาศ คำนวณเส้นทางบินที่เหมาะสม ลดจุดตัดทางการบิน เพื่อให้ทำการบินได้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น อีกทั้งการพัฒนาระบบอุปกรณ์และเทคโนโลยี รวมถึงการออกแบบเส้นทางบินและห้วงอากาศใหม่จะทำให้สามารถรองรับการเติบโตได้เป็นอย่างดี สนับสนุนการพัฒนาอุตสาหกรรมการบินให้สอดคล้องกับมาตรฐานสากล และขับเคลื่อนการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศอีกด้วย ซึ่ง บวท. ได้เตรียมความพร้อม ทั้งด้านบุคลากร และอุปกรณ์เรียบร้อยแล้ว

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

วิทยุการบินฯ สนับสนุนแอร์โชว์สร้างแรงบันดาลใจให้เด็กที่สนใจการบิน

วิทยุการบินฯ กำหนดมาตรการบริหารจราจรทางอากาศ เตรียมพร้อมรองรับการแสดงการบินของกองทัพอากาศในงานวันเด็กแห่งชาติ ประจำปี 2567 ณ โรงเรียนการบินกำแพงแสน

‘วิทยุการบิน’ เผยเที่ยวบินจากจีน ช่วงตรุษจีน รวม 240 เที่ยวบิน คาดเพิ่มขึ้นต่อเนื่องช่วงครึ่งปีหลัง

วิทยุการบินฯ พร้อมรับมือปริมาณเที่ยวบินที่เพิ่มขึ้นช่วงตรุษจีน คาดว่าทั้งปี จะมีเที่ยวบินจากจีน รวม 36,896ไฟลท์ เพิ่มจากปีก่อน 227.6%ช่วงตรุษจีน เข้า-ออก รวม 240ไฟลท์ และมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง โดยเฉพาะในช่วงครึ่งปีหลัง 20 ม.ค. 2566 - นายณพศิษฏ์ จักรพิทักษ์ กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท วิทยุการบินแห่งประเทศไทย จำกัด เปิดเผยว่านายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รมว.คมนาคมได้มอบหมายให้ทุกหน่วยงานในสังกัด เตรียมความพร้อมรองรับนักท่องเที่ยวในช่วงเทศกาลตรุษจีนระหว่างวันที่ 19 - 25 มกราคม 2566 ซึ่งจะมีนักท่องเที่ยวชาวจีนเดินทางเข้ามาในประเทศไทยเพิ่มมากขึ้น ประกอบกับสาธารณรัฐประชาชนจีนมีนโยบายเปิดประเทศเช่นกัน จึงส่งผลให้ปริมาณเที่ยวบินในช่วงเวลาดังกล่าวเพิ่มขึ้นตามไปด้วย ทั้งนี้โดยคาดว่าจะมีปริมาณเที่ยวบินจากจีน ช่วงตรุษจีน รวม 240 เที่ยวบิน หรือเฉลี่ยวันละ 34 เที่ยวบิน แบ่งเป็นเที่ยวบินเข้า-ออก ตามตารางการบินปกติ เฉลี่ยวันละ 18 เที่ยวบิน และเที่ยวบินขอเพิ่มพิเศษ เฉลี่ยวันละ 16 เที่ยวบิน (ไม่รวมเที่ยวบินขนส่งสินค้า) โดยแบ่งเป็น 4 ท่าอากาศยานหลัก ได้แก่ ท่าอากาศยาน สุวรรณภูมิ มีเที่ยวบินรวม 75 เที่ยวบิน เฉลี่ยวันละ 11 เที่ยวบิน ท่าอากาศยานดอนเมือง มีเที่ยวบินรวม 52 เที่ยวบิน เฉลี่ยวันละ 7 เที่ยวบิน ท่าอากาศยานภูเก็ต มีเที่ยวบินรวม 78 เที่ยวบิน เฉลี่ยวันละ 11 เที่ยวบิน และท่าอากาศยานเชียงใหม่ มีเที่ยวบินรวม 35 เที่ยวบิน เฉลี่ยวันละ 5 เที่ยวบิน นายณพศิษฏ์ กล่าวเพิ่มเติมว่า สำหรับเที่ยวบินจากจีนเมื่อเปรียบเทียบ ก่อนการระบาดของโควิด 19 เดือนมกราคม 2562 มีเที่ยวบินรวม 12,209 เที่ยวบิน เฉลี่ยวันละ 394 เที่ยวบิน ในขณะที่เดือนมกราคม 2566 วิทยุการบินฯ ประมาณการเที่ยวบินรวมทั้งเดือน อยู่ที่ 1,160 เที่ยวบิน หรือ เฉลี่ยวันละ 37 เที่ยวบินต่อวัน ซึ่งน้อยกว่าปี 2562 อยู่ 91 % โดยหลังจากจีนมีนโยบายเปิดประเทศ คาดการณ์ว่า แนวโน้มปริมาณเที่ยวบินจากจีนจะเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง และจะมากขึ้นในช่วงครึ่งปีหลัง โดยคาดว่าทั้งปี 2566 จะมีเที่ยวบินจากจีน รวม 36,896 เที่ยวบิน เพิ่มจากปี 2565 คิดเป็น 227.6 %หรือ 2 เท่าของปีที่ผ่านมา และคาดว่าจะกลับมาเท่ากับปี 2562 ในปี 2567 ทั้งนี้ วิทยุการบินฯ ได้เตรียมมาตรการบริหารจราจรทางอากาศรองรับจำนวนผู้โดยสารที่เพิ่มขึ้น โดยเข้าร่วมในคณะกรรมการจัดสรรตารางการบิน หรือ Slot Allocation ให้สอดคล้องกับค่าความสามารถ ในการรองรับ (Capacity) และปัจจัยข้อจำกัดต่าง ๆ ของท่าอากาศยาน เพื่อให้เกิดประสิทธิภาพในการรองรับปริมาณเที่ยวบินสูงสุด ขณะเดียวกันได้จัดเตรียมความพร้อมและกำหนดแนวทางวิธีปฏิบัติในการให้บริการควบคุมจราจรทางอากาศ แนวทางการบริหารจัดการความคล่องตัวการจราจรทางอากาศ (Air Traffic Flow Management) มีการประสานงานอย่างใกล้ชิดกับทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ทั้งหน่วยงานภาครัฐ ท่าอากาศยาน และสายการบินผู้ใช้บริการ เพื่อให้การบริการการเดินอากาศเป็นไปด้วยความเรียบร้อย ปลอดภัย นอกจากนี้ได้เตรียม ความพร้อมรองรับสถานการณ์ฉุกเฉินในทุก ๆ ด้าน โดยวิทยุการบินฯ ยืนยันว่าจะบริหารจัดการจราจร ทางอากาศอย่างเต็มกำลังความสามารถ เพื่ออำนวยความสะดวกให้กับทุกเที่ยวบินที่เข้ามาในน่านฟ้าไทย ให้เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพและเกิดความปลอดภัยสูงสุด เป็นการสนับสนุนการพัฒนาอุตสาหกรรมการบิน เศรษฐกิจ การท่องเที่ยวให้สอดคล้องกับยุทธศาสตร์ของประเทศ อีกทางหนึ่งด้วย