'แบงก์ชาติ' ชี้เศรษฐกิจปีหน้าฟื้นต่อเนื่อง แต่จับตาดิจิทัลวอลเล็ตเป็นปัจจัยที่มีความเสี่ยง

“แบงก์ชาติ” ชี้เศรษฐกิจไทยปี 2567 ฟื้นต่อเนื่อง เคาะจีดีพีโต 4.4% ระบุมาตรการดิจิทัลวอลเล็ต หนุนบริโภคโต ห่วงสงครามฮามาส-อิสราเอล กระทบราคาน้ำมัน แนะทบทวนมาตรการดูแลราคาน้ำมัน หวั่นเป็นภาระกองทุนน้ำมัน-ภาคการคลัง

12 ต.ค. 2566 – นายปิติ ดิษยทัต ผู้ช่วยผู้ว่าการสายนโยบายการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวว่า โจทย์หลักของนโยบายการเงินในปัจจุบัน คือ การสนับสนุนให้เศรษฐกิจสามารถขยายตัวได้อย่างยั่งยืน จึงได้มีการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายซึ่งเป็นการดำเนินการอย่างค่อยเป็นค่อยไป ถือว่าเป็นการถอนคันเร่ง เพื่อให้อัตราดอกเบี้ยนโยบายกลับเข้าสู่ระดับใกล้เคียงจุดสมดุล แต่ไม่ได้สูงกว่าจุดสมดุล ซึ่งการถอนคันเร่งนี้ ไม่ใช่การฉุดให้เศรษฐกิจลดความร้อนแรงลง แต่เป็นการสนับสนุนเพื่อให้มีการขยายตัวแบบยั่งยืน

ขณะที่การส่งผ่านนโยบายการเงินในช่วงที่ผ่านมาใกล้เคียงกับในอดีต โดยราว 60% ของการขึ้นดอกเบี้ยนโยบายได้ถูกส่งผ่านไปยังอัตราดอกเบี้ยธนาคารพาณิชย์ ซึ่งอัตราดอกเบี้ยลูกค้ารายใหญ่ชั้นดี (MLR) ปรับขึ้นไปราว 1.4% ขณะที่อัตราดอกเบี้ยลูกค้ารายย่อยชั้นดี (MRR) ปรับขึ้นราว 1% สะท้อนว่าภาพรวมอัตราดอกเบี้ยที่ขึ้นไปของไทยนั้น ถือว่าไม่สูงมากนัก เมื่อเทียบกับหลายประเทศ เช่น สหรัฐฯ และตั้งแต่เริ่มกระบวนการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย ธปท. ก็ได้มีมาตรการสนับสนุนการปรับโครงสร้างหนี้อย่างต่อเนื่อง ทำให้ภาพรวมอัตราหนี้เสียในประเทศไทยจึงไม่ได้เพิ่มขึ้นมากนัก
สำหรับประมาณการเศรษฐกิจไทยในปี 2567 มีแนวโน้มฟื้นตัวได้ดีขึ้น โดยได้มีการคำนึงถึงมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐเรียบร้อยแล้ว ซึ่งมองว่าไม่ว่าจะมีมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจรูปแบบใดออกมาก็ตาม มั่นใจว่าจะช่วยทำให้เศรษฐกิจไทย (จีดีพี) ในปีหน้าขยายตัวเกิน 4% อย่างแน่นอน แต่ผลของมาตรการกระตุ้นมีในหลายมิติ ธปท. จึงไม่อยากเจาะจง แต่พิจารณาจากภาพรวมที่อาจจะเป็นไปได้

“มาตรการดิจิทัลวอลเล็ต 1 หมื่นบาทนั้น ก็ได้มีการคำนึงถึงความไม่แน่นอนของมาตรการอยู่ โดยเรามองว่ามาตรการนี้จะเข้ามาเป็นปัจจัยที่สร้างความเสี่ยงด้านสูงมากขึ้น แต่ไม่ใช่ปัจจัยหลักในการพิจารณาของคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ในรอบที่ผ่านมา ทุกคนพยายามดูเรื่องความเสี่ยงต่าง ๆ สิ่งที่ กนง. พยายามจะทำ คือ การพิจารณาในหลากหลายมิติ และกำหนดนโยบายที่คิดว่าพัฒนาการด้านเศรษฐกิจอาจจะไม่เป็นไปตามคาด เพื่อดูว่าอัตราดอกเบี้ยจะยังเพียงพอรองรับความเสียงต่าง ๆ ได้มากน้อยน้อยแค่ไหน ให้ต้นทุนของการผิดพลาดน้อยที่สุด เพื่อให้มีความยืดหยุ่นในการปรับนโยบายที่เพียงพอ” นายปิติ กล่าว

นายปิติ กล่าวถึงสถานการณ์ความขัดแย้งระหว่างอิสราเอลกับฮามาส ว่า เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเศร้าสลดมาก สร้างความกังวลที่ไม่แน่นอนว่าสถานการณ์จะลุกลามหรือยืดเยื้อขนาดไหน เป็นเรื่องที่คาดเดาไม่ง่าย เพราะตะวันออกกลางเป็นถิ่นที่มีประวัติศาสตร์ สิ่งที่เป็นห่วง คือ หากราคาน้ำมันเพิ่มสูงขึ้นในระยะหนึ่ง ประกอบกับค่าเงินดอลล่าร์แข็งค่าขึ้น จะทำให้ค่าเงินบาทและค่าเงินประเทศอื่น ๆ อ่อนลง ต้นทุนการนำเข้าพลังงานจะสูงขึ้น และในช่วงที่ราคาพลังงานในประเทศไทยยังถูกกำหนดด้วยมาตรการบางอย่าง ต้นทุนในส่วนนี้จะโป่งขึ้นและเป็นภาระของกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงและภาคการคลัง ดังนั้นจึงต้องจับตาดูการปรับมาตรการในประเทศไทยเพื่อให้สอดรับกับสถานการณ์ที่เกิดขึ้นในโลก โดยอาจต้องทบทวนราคาน้ำมันในประเทศ

นายสักกะภพ พันธ์ยานุกูล ผู้อำนวยการอาวุโสฝ่ายตลาดการเงิน ธปท. กล่าวว่า ได้ปรับลดคาดการณ์จีดีพีในปีนี้ลงเหลือ 2.8% ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากเศรษฐกิจในไตรมาส 2/2566 ที่ 1.8% ถือว่าต่ำกว่าที่ตลาดคาดการณ์ค่อนข้างเยอะ แม้ว่าอุปสงค์ในประเทศจะขยายตัวได้ดีถึง 7.8% ขณะที่การส่งออกไม่ต่างจากที่ ธปท.คาดการณ์ไว้ แต่ตัวที่ต่ำกว่าคาดการณ์และทำให้ตัวเลขในไตรมาส 2 ต่ำกว่าคาดมาก คือหมวดบริการ จากฝั่งการผลิตเป็นสำคัญ โดยเฉพาะหมวดโรงแรมที่ปรับลดลงค่อนข้างเยอะ ทำให้ตัวเลขการผลิตหมวดบริการปรับลดลงเป็นสำคัญ แต่เชื่อว่าจากจำนวนนักท่องเที่ยว อัตราการพักแรม การจ้างงานที่ยังมีแนวโน้มเป็นบวก เมื่อมองไปข้างหน้า คิดว่ากิจกรรมการบริการน่าจะยังฟื้นตัวได้ต่อเนื่อง
ขณะที่ปี 2567 คาดว่าจีดีพีจะขยายตัวที่ 4.4% เป็นตัวเลขที่รวมผลของมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจภาครัฐเรียบร้อยแล้ว โดยเครื่องยนต์เศรษฐกิจจะกลับมาพร้อมกันหลายตัว อย่างมาตรการดิจิทัลวอลเล็ต 1 หมื่นบาท ซึ่งเป็นในรูปเงินโอน จะมีผลกับเรื่องการบริโภคภาคเอกชนทำให้คาดว่าจะขยายตัวได้ถึง 4.6% การลงทุนภาคเอกชนที่คาดว่าจะฟื้นตัวขึ้น ขณะที่การส่งออกจะกลับมาเป็นบวกได้ โดยคาดว่าจะขยายตัวได้ 4.2% จากปีนี้ที่ ติดลบ 1.7% ซึ่งการฟื้นตัวของส่งออกยังเป็นไปอย่างช้า ๆ ในช่วงต้นปี 2567 จากคาดการณ์เดิมในไตรมาส 4/2566 โดยกลุ่มเครื่องใช้ไฟฟ้า ยานยนต์และเครื่องจักรน่าจะฟื้นตัวได้ดี ขณะที่สินค้าเกษตรและสินค้าเกษตรแปรรูป อาจชะลอลงจากสถานการณ์เอลนีโญที่มีผลกับผลผลิตภาคเกษตร รวมถึงการฟื้นตัวช้าในกลุ่มสินค้าอิเล็กทรอนิกส์

“โดยรวมความเสี่ยงจะเป็นความเสี่ยงขาสูงในปีหน้า แม้จะรวมมาตรการเข้าไปแล้ว ผลของมาตรการอาจจะมากกว่าคาด ขณะที่ความเสี่ยงด้านต่ำจะมาจากเศรษฐกิจโลกที่ฟื้นตัวได้ช้ากว่าคาด ส่วนเรื่องค่าเงินบาท ยังมีความไม่แน่นอนสูง ผันผวน หลัก ๆ มาจากปัจจัยภายนอก ซึ่งเราไม่ได้โดนคนเดียว นอกจากนี้ยังเป็นผลจากราคาน้ำมันและราคาทองด้วย โดยในภาพรวมเรายังใกล้เคียงภูมิภาค ผลกระทบก็ยังไม่ แต่ไม่มากเท่า” นายสักกะภพ กล่าว

นายสุรัช แทนบุญ ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายนโยบายการเงิน ธปท. กล่าวว่า ในปี 2567 เงินเฟ้อของไทยมีแนวโน้มปรับตัวสูงขึ้น โดยบางไตรมาสอาจจะเกิน 3% และในปี 2568 จะกลับเข้าสู่กรอบเป้าหมาย ซึ่งโดยรวมมีเสถียรภาพ แต่ยังต้องติดตามความเสี่ยงด้านสูง เพราะมีปัจจัยด้านอุปทาน คือผลของเอลนีโญที่มีต่อต้นทุนราคาอาหาร รวมทั้งติดตามแรงกดดันด้านอุปสงค์ คือเศรษฐกิจที่ฟื้นตัวดี ส่วนประมาณการเงินเฟ้อในระยะปานกลางมีแนวโน้มเครื่องไหวอยู่ในกรอบเป้าหมาย โดยมีความเสี่ยงด้านสูง ซึ่งต้องติดตามใกล้ชิดต่อไป ยังไว้วางใจไม่ได้

นายภูริชัย รุ่งเจริญกิจกุล ผู้อำนวยการนโยบายฝ่ายการเงิน ธปท. กล่าวว่า การดำเนินนโยบายการเงินเป็นไปตามที่ได้วางแผนไว้ โดยการนำอัตราดอกเบี้ยกลับเข้าสู่ระดับที่เหมาะสมกับการขยายตัวที่มีศักยภาพในระยะยาว การตัดสินใจของ กนง. ล่าสุดคือมองว่าเศรษฐกิจไทยถึงจุดที่อัตราดอกเบี้ยเหมาะสมกับการขยายตัวในระดับศักยภาพในระยะยาว ซึ่งนโยบายการเงินต้องใช้เวลาในการดำเนินการ จึงต้องมองภาพรวมข้างหน้า มองลักษระการเคลื่อนไหวของเศรษฐกิจ ไม่มองเป็นจุด แม้ว่าไตรมาส 2 จะชะลอลง แต่ภาพรวมยังเชื่อว่าไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลง กนง. จึงพิจารณาเรื่องราวภายใต้ตัวเลข 2.8%

“สถานการณ์เศรษฐกิจในปัจจุบันมีความจำเป็นน้อยลงในการใช้นโยบายการเงินในการช่วยขับเคลื่อน ดอกเบี้ยต่ำเป็นพิเศษมันช่วยอะไรมากไม่ได้ ซึ่งอัตราดอกเบี้ย 2.5% นั้น ไม่ใช่ตัวรั้งเศรษฐกิจ แต่เป็นระดับของการถอนคันเร่ง เศรษฐกิจมีศักยภาพที่เติบโตได้ ไม่ต้องอาศัยการสนับสนุนพิเศษจากนโยบายการเงิน และการใช้ดอกเบี้ยนโยบายขับเคลื่อนเศรษฐกิจ ก็ไม่ใช่เรื่องฟรี การใช้ดอกเบี้ยต่ำเวลานานก็มีต้นทุน การใช้กลไกนี้ต่อเนื่องอาจไม่เป็นผลดีกับเสถียรภาพระบบการเงิน ระดับหนี้ภาคเอกชนปัจจุบันค่อนข้างสูงแล้ว การกระตุ้นให้กู้ยืมเพิ่มขึ้นอีกจะสร้างปัญหาในระยะยาว และอัตราดอกเบี้ยที่ตำเป็นเวลานาน อาจนำไปสู่ความเปราะบางในหายมิติ” นายภูมิชัย กล่าว

อย่างไรก็ดี ปัจจัยเสี่ยงที่ต้องติดตาม คือ แรงส่งจากนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจภาครัฐ ผลกระทบเงินเฟ้อจากนโยบายรัฐอื่น ๆ ความต่อเนื่องของการฟื้นตัวของอุปสงค์ต่างประเทศ และความผันผวนในตลาดการเงิน

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

'สมาคมธนาคารไทย' ลดดอกเบี้ยตอกย้ำความขัดแย้งนายกฯกับผู้ว่าฯธปท.

'อดีตรมว.คลัง' ชี้สมาคมธนาคารไทยลดดอกเบี้ย ตอกย้ำความขัดแย้งระหว่างนายกฯ กับผู้ว่าฯแบงค์ชาติ กลยุทธ์ที่นายกฯ งัดมาใช้นั้นไม่สำเร็จ ไม่มีผลต่อการลงทุนภาคเอกชนเพราะเป็นเพียงระยะสั้น