'พิสิฐ' ชำแหละดิจิทัลวอลเล็ตชี้ตำน้ำพริกละลายแม่น้ำ

'พิสิฐ' เสียดาย 5.6 แสนล้าน ตำน้ำพริกละลายแม่น้ำแจกเงินดิจิทัล ชี้หากช่วยแค่คนจนก่อนยังพอรับได้ เตือนรัฐบาลอย่าริอ่านใช้เงินออมสินเด็กมาผลาญเล่น ไม่อยากเชื่อรัฐบาลเอาอนาคตมาเสี่ยงอย่างนี้

18 ต.ค.2566 - นายพิสิฐ ลี้อาธรรม อดีต สส.บัญชีรายชื่อ และประธานนโยบายพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวแสดงความเห็นต่อนโยบายดิจิทัลวอลเล็ต 10,000 บาท ของรัฐบาล ว่า ในช่วงการหาเสียงเลือกตั้ง พยายามละเว้นจะวิจารณ์นโยบายของพรรคการเมืองคู่แข่ง แต่ในเมื่อรัฐบาลจะเอาจริงเอาจังกับเรื่องนี้ จึงขอตั้งข้อสังเกตไว้ว่า รู้สึกเสียดายเงิน 5.6 แสนล้านบาท เงินจำนวนดังกล่าวหากนำมาแจกคนยากจน ประมาณ 10 ล้านคน เป็นจำนวน 1 แสนล้านบาท ยังพอรับได้ แต่หากนำมาแจกให้พวกเศรษฐี ชนชั้นกลางด้วย ซึ่งใช้เงินไม่กี่วันก็หมด มองว่าเป็นการตำน้ำพริกละลายแม่น้ำโดยใช่เหตุ

“เรานำเงินจำนวนนี้ไปทำประโยชน์ให้กับประเทศได้อีกมากมาย โดยเฉพาะอย่างยิ่งเราสามารถสร้างรถไฟฟ้าความเร็วสูงจากกรุงเทพฯ ไปเชียงใหม่ ด้วยเงินเพียงกว่า 4 แสนล้านบาท จะสามารถอยู่ได้เป็นสิบๆ ร้อยๆ ปี เทียบกับที่เราเอามาใช้หมดเปลืองในเวลาเพียงไม่กี่วัน ด้วยเหตุผลว่าได้หาเสียงไว้แล้ว”นายพิสิฐ กล่าว

นายพิสิฐ กล่าวต่อว่าว่า เห็นด้วยกับนักวิชาการที่ออกมาคัดค้าน อีกทั้งเงินดิจิทัลฯ ยังไม่มีรัฐบาลอื่นใดในโลกทำ จึงถูกจับตามองอย่างเป็นข้อกังขาว่าเหตุใดรัฐบาลมาแตะต้องเรื่องนี้ รวมถึงกฎหมายของธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.)ก็ระบุไว้ชัดว่า การพิมพ์ธนบัตรและออกเงินตราเป็นหน้าที่ของ ธปท. จริงอยู่ที่กฎหมายอนุญาตว่า เว้นแต่ได้รับอนุญาตจากรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง แต่เชื่อว่าตำแหน่งดังกล่าวก็ใช่ว่ามีความรู้ก็มาเซ็นอนุมัติ แต่ต้องมีเหตุผล เพราะหากมีการพิมพ์ธนบัตรดิจิทัลปลอมขึ้นมา ใครจะติดตามรับผิดชอบ เพราะยังไม่มีโครงสร้างพื้นฐานเพื่อรับผิดชอบเรื่องนี้ ทำไมจึงใช้ช่องว่างของกฎหมายให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคลังดำเนินการได้

นายพิสิฐ กล่าวด้วยว่า สำหรับการชดเชยการขาดดุลก็ยังไม่ชัดเจน แต่เท่าที่ฟังจากรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลังชี้แจง เห็นว่าจะนำมาจากงบประมาณที่รัฐเก็บได้สูงเกินเป้าหมาย แต่ความจริงเงินจำนวนดังกล่าวถือเป็นเงินคงคลัง ซึ่งวิธีดังกล่าวจึงเป็นการเบียดบังเงินคงคลังโดยใช่เหตุ หากจะนำเงินของธนาคารออมสินมาใช้ เงินดังกล่าวส่วนใหญ่เป็นของนักเรียนที่ส่งเสริมให้เด็กออมเงิน แปลว่ารัฐบาลนี้ทำตัวอย่างที่ไม่ดี คือนำเงินมาแจกให้บริโภค ซึ่งเป็นเรื่องย้อนแย้งกัน

“ธนาคารออมสินก่อตั้งโดยรัชกาลที่ 6 และมีคำว่าออมอยู่ในชื่อ แต่กลายเป็นว่ารัฐบาลนี้ริอ่านจะนำเงินนี้มาผลาญเล่น ซึ่งจะกลายเป็นหนี้สาธารณะ ที่อนาคตเราก็ต้องมาเก็บภาษีคืนให้ ซึ่งก็ไม่ถูกต้อง”นายพิสิฐ กล่าว

นายพิสิฐ กล่าวด้วยว่า ไม่เชื่อว่างบประมาณของนโยบายดังกล่าวจะมาจากงบประมาณปี 2567 เพราะต้องใช้เป็นรายจ่าย หากเอาเงินนอกงบประมาณมาใช้ผลาญเล่นก็จะเกิดผลกระทบกับระบบการเงิน จึงไม่อยากเชื่อว่าจะนำอนาคตมาเสี่ยงอย่างที่หลายคนเตือน และทั้งคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) และสำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน(สตง.)ก็ตั้งแท่นศึกษาแล้วว่า จะเป็นการทุจริตครั้งใหญ่หรือไม่ ส่วนกรณีหุ้นตกนั้นก็เป็นปัจจัยหนึ่งที่สะท้อนความรู้สึกของนักลงทุน ว่าไม่มั่นใจกับโครงการนี้

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

'พิชัย' เซ็ง 'แบงก์ชาติ' ไม่ลดดอกเบี้ยถามสังคมแบบนี้ควรมีอิสระไหม!

'พิชัย' ผิดหวัง 'แบงก์ชาติ' ไม่ลดดอกเบี้ย ทั้งที่ภาพรวมเศรษฐกิจแย่ แต่กลับไม่เดือดร้อน ชี้ไม่ใช่หน้าที่แบงก์ชาติมากำหนดอัตราการเติบโต แนะอย่าอ้างว่าต้องอิสระบนความเดือนร้อนของประชาชน

'ออมสิน' จับมือตำรวจร่วมแก้ไขหนี้นอกระบบ

นางจันทนา พุทธชัยยงค์ ผู้อำนวยการธนาคารออมสินภาค 2 นำทีมธนาคารออมสินในพื้นที่ร่วมออกบูธในกิจกรรม "ตลาดนัดแก้หนี้ กองบังคับการตำรวจนครบาล 5"

นายกฯ แขวะ 'ธปท.' ชมคนพูดลดดอกเบี้ยจิตใต้สำนึกดี

'เศรษฐา' แขวะ 'แบงก์ชาติ' ไม่ยอมหั่นดอกเบี้ย ชมเปาะเหล่าทัพ-หน่วยงานรัฐ มีจิตสำนึกดีอยากให้ลด ขอบคุณเห็นความลำบากประชาชน ย้ำเรื่องหนี้สารตั้งต้นหายนะประเทศ