ค้าชายแดน/ข้ามพรมแดนภาคเหนือของไทย : ความท้าทายและการปรับตัวที่หลีกเลี่ยงไม่ได้

ปลายเดือนที่ผ่านมาได้ไปร่วมงานเสวนาจัดโดย ธนาคารแห่งประเทศไทย สำนักงานภาคเหนือ ร่วมกับ มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง ที่จังหวัดเชียงราย หัวข้อ “10 ปี การค้าชายแดนกับความสำคัญต่อพัฒนาการเศรษฐกิจภูมิภาค : อดีตที่ผ่านไปกับความท้าทายใหม่ที่กำลังจะมา” จึงขอนำความเห็นที่ได้นำเสนอเพื่อเป็นประโยชน์กับผู้เกี่ยวข้องต่อไป

ปกติปริมาณและมูลค่าการค้ากับต่างประเทศขึ้นอยู่กับปัจจัยสำคัญ ได้แก่ ราคาสินค้า รายได้ประเทศคู่ค้า อัตราแลกเปลี่ยน อัตราภาษีศุลกากร และนโยบายการค้าเป็นสำคัญ สำหรับค้าชายแดน/ค้าข้ามพรมแดนของไทยกับเพื่อนบ้าน ยังมีปัจจัยสำคัญอื่นที่มีผลต่อการค้าและรูปแบบค้าชายแดนไทยกับเพื่อนบ้าน

การค้ากับเมียนมาภาวะแวดล้อม/นโยบายบริหารเศรษฐกิจการเมืองมีอิทธิพลสำคัญมาก เป็นทั้งสนับสนุนและหักล้างต่อการค้าและรูปแบบการค้าชายแดนของไทย

ช่วงแรก ปี 2505-2531 เศรษฐกิจเมียนมาเป็นแบบสังคมนิยม เศรษฐกิจเพียงบางส่วนเปิด แต่ส่วนใหญ่เป็นตลาดมืดโดยเฉพาะการค้ากับต่างประเทศ จึงเป็นช่วงที่ผู้ประกอบการชายแดนที่เข้าถึงตลาดเมียนมาเจริญรุ่งเรืองที่สุด

ช่วงที่สอง ปี 2532-2553 เริ่มปฏิรูปเศรษฐกิจและผ่อนคลายการควบคุม พ่อค้าชายแดนไทยแข่งขันมากขึ้น ธุรกิจไม่ดีเท่าช่วงก่อน ต้องแข่งขันกับสินค้าจีนและสิงคโปร์ พ่อค้าเมียนมาซื้อสินค้าโดยตรงจากผู้ผลิตส่วนกลางของไทย

ช่วงที่ 4 ปี 2553- 2563 เมียนมาเปิดประเทศ ปฏิรูปเศรษฐกิจการเมือง เปิดเสรีมากขึ้น มีการเลือกตั้งทั่วไป กลุ่มประเทศตะวันตกยกเลิกการคว่ำบาตร มีเงินลงทุนจากต่างประเทศ ยกเลิกอัตราแลกเปลี่ยนจัต 2 อัตรา พ่อค้าชายแดนไทยปรับตัวมีคู่แข่งขันมากขึ้น

ช่วงที่ 4 ปี 2553- 2563 เมียนมาเปิดประเทศ ปฏิรูปเศรษฐกิจการเมือง เปิดเสรีมากขึ้น มีการเลือกตั้งทั่วไป กลุ่มประเทศตะวันตกยกเลิกการคว่ำบาตร มีเงินลงทุนจากต่างประเทศ ยกเลิกอัตราแลกเปลี่ยนจัต 2 อัตรา พ่อค้าชายแดนไทยปรับตัวมีคู่แข่งขันมากขึ้น

ช่วงที่ 5 ปี 2564-ปัจจุบัน หลังรัฐประหารปี 2021 เกิดความไม่สงบ ความไม่แน่นอนทางการเมืองสูง กลุ่มตะวันตกคว่ำบาตรใหม่ มีการสู้รบทางทหารระหว่างทหารพม่ากับกลุ่มชาติพันธุ์และกลุ่มต่อต้านรุนแรงขึ้น รัฐบาลกลับเป็นฝ่ายตั้งรับ เสียพื้นที่หลายแห่ง

การค้าชายแดนกับลาว และการค้าข้ามพรมแดนกับจีน เป็นผลจากรัฐบาลคู่ค้าเปลี่ยนนโยบายจากเผชิญหน้าเป็นสร้างสันติภาพ และจีนมีนโยบายผลักดันมณฑลยูนนานเป็นประตูออกสู่ทะเล โดยมณฑลยูนนานเป็นจุดยุทธศาสตร์สำคัญในโครงการ BRI (Belt and Road Initiative) อยู่ใกล้กับพม่า ลาว ไทยและเวียดนาม มีการผลักดันเรื่องเศรษฐกิจ 5 เชียง (เชียงใหม่ เชียงราย เชียงทอง เชียงรุ่ง เชียงตุง) นำไปสู่ความร่วมมือในอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง (Greater Mekong Subregion : GMS) 6 ประเทศ ได้แก่ เมียนมา เวียดนาม ลาว ไทย เขมร จีน เปิดเส้นทางค้าผ่านแม่น้ำโขง ไทย-เมียนมา-ลาว-จีน สร้างปรับปรุงท่าเรือกวนเหล่ย สบหลวย เชียงแสน สร้างถนน R3A , R3B สร้างสะพานข้ามแม่น้ำโขงแห่งที่ 4 (อ.เชียงของ-เมืองห้วยทราย ลาว) สะพานข้ามแม่น้ำโขง (เมืองเชียงลาบ รัฐฉาน – เมืองลอง แขวงหลวงน้ำทา ลาว) รถไฟความเร็วสูงจีน-ลาว เป็นต้น โดยองค์กรภาคเอกชนของจังหวัดเชียงรายและใกล้เคียงเป็นผู้ผลักดันสำคัญ ทั้งนี้การค้าชายแดน/ข้ามพรมแดนของจังหวัดเชียงรายกับเพื่อนบ้านขยายตัวเพิ่มมาก เมื่อปี 2566 เฉพาะที่ผ่านด่านฯศุลกากร มีมูลค่า 102,000 ล้านบาท ส่งออก 80,200 ล้านบาท นำเข้า 21,800 ล้านบาท หากรวมชายแดนด้านจังหวัดตาก มูลค่าการค้าชายแดนในภาคเหนือจะเพิ่มเป็น 244,000 ล้านบาท ไทยเกินดุลการค้าประมาณ 120,000 ล้านบาท

ภาวะแวดล้อมจากการค้ากับเศรษฐกิจขนาดใหญ่ เช่น จีน ส่งผลให้มีการลงทุนของภาครัฐบาลไทย เอกชนทั้งไทยและต่างประเทศมากช่วง 30 ปีที่ผ่านมา ลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน เช่น จัดตั้งมหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง ถนนวงแหวนตะวันตกเชียงราย ปรับปรุงสร้างถนนใหม่ ๆ สนามบินแม่ฟ้าหลวง สร้างท่าเรือเชียงแสน 1, 2 ท่าเรือเอกชน รถไฟทางคู่เด่นชัย-เชียงราย ทำให้เศรษฐกิจเชียงรายขยายตัวในเกณฑ์ที่ดีกว่าเฉลี่ยของจังหวัดเชียงใหม่และภาคเหนือในช่วงสองทศวรรษที่ผ่านมา

ความท้าทายและการปรับตัวที่หลีกเลี่ยงไม่ได้

1.ปัจจัยภาวะแวดล้อมทางการเมือง กระแสการเปลี่ยนแปลงในเมียนมา การสู้รบระหว่างกองทัพเมียนมากับกลุ่มชาติพันธุ์ต่าง ๆ และฝ่ายต่อต้านรุนแรงขึ้น หากสิ้นสุดรัฐบาลทหารปัจจุบันและรัฐบาลใหม่ไม่สามารถสร้างความมั่นคงและความเป็นหนึ่งเดียวภายในประเทศได้ กลุ่มชาติพันธุ์บางกลุ่ม ที่มีความเข้มแข็งทั้งทางทหารและการเมืองและได้รับการสนับสนุนจากนานาชาติ กลุ่มเหล่านี้สามารถรวมตัวกันและประกาศเอกราชหรือการปกครองตนเองได้สำเร็จ ก็มีโอกาสที่เมียนมาอาจแตกเป็นหลายประเทศย่อยได้แบบ “ยูโกสลาเวีย” การเปลี่ยนแปลงดังกล่าวโดยเฉพาะเมียนมาด้านทิศตะวันตกของไทย จะมีความสำคัญต่อทิศทางการค้าและการปรับตัวของผู้ประกอบการชายแดนเป็นอย่างยิ่ง เป็นทั้งโอกาสและความท้าทาย

ส่วนเมียนมาทางทิศเหนือของไทย รูปแบบหลังเปลี่ยนแปลงจะต่างจากเมียนมาด้านทิศตะวันตกของไทย กลุ่มชาติพันธุ์ด้านนี้มีอิทธิพลของจีนดำรงอยู่ ตลาดการค้าไทยและจีน (โดยตรง) และหัวเมืองเมียนมาในอาณาบริเวณนี้จะได้รับอิทธิพลทางการค้าจากจีนมากขึ้นในอนาคต รูปแบบการค้า (Business Models) แบบ B2C, B2B , B2B2C ผสมผสานกับการซื้อขายสินค้าผ่านแพลตฟอร์มสังคมออนไลน์ (ใช้ Influencer พูดจีน) การขายสินค้าผ่านการถ่ายทอดสดและการผสานช่องทางออนไลน์และออฟไลน์ ผู้ประกอบการค้าชายแดนไทยจำเป็นต้องปรับรูปแบบการค้า รวมถึงการพิจารณาร่วมมือกับแพลตฟอร์ม e-commerce ของจีนเพื่อให้สามารถเข้าถึงและตอบสนองความต้องการของผู้บริโภคชาวจีนได้ดียิ่งขึ้น.

2.นโยบาย Belt and Road Initiative และปัญหาภูมิรัฐศาสตร์ของจีน จะมีผลเปลี่ยนแปลงรูปแบบการขนส่งสินค้าของจีนหรือไม่ จะใช้เส้นทางไหนในการขนสินค้า เช่น ผ่านไทย เมียนมา เวียดนาม กัมพูชา เป็นต้น กระแสการเปลี่ยนแปลงนี้จะกระทบการค้าและรูปแบบการค้าชายแดนของผู้ประกอบการไทยอย่างแน่นอน การปรับตัวและใช้ประโยชน์จากการเปลี่ยนแปลงเป็นโจทย์ที่สำคัญในอนาคต

3.การริเริ่มของทางการจีนและ ลาว ที่จะสร้างทางด่วนสายเมืองห้วยทราย แขวงบ่อแก้ว – บ่อเต็น แขวงหลวงน้ำทา ลาว ระยะทาง 176 ก.ม.ใช้เวลา 90 นาที แทนถนน R3A ใช้เวลา 5 ชั่วโมงเศษ เส้นทางนี้จะเป็นประโยชน์กับไทย-ลาว-จีน เพราะทำให้โครงข่ายคมนาคมโดยเฉพาะรถไฟมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น เพราะไปเชื่อมรถไฟความเร็วสูงจีน-ลาว และรถไฟทางคู่เด่นชัย-เชียงของ ระยะทาง 323 ก.ม. เงินลงทุน 72,835 ล้านบาท (กำลังก่อสร้าง) และสามารถพัฒนาเส้นทางห้วยทราย-บ่อเต็น เป็นเส้นทางรถไฟ เพื่อรองรับปริมาณขนส่งสินค้าทางรถไฟของจีนในอนาคตและการส่งสินค้าภาคเหนือของไทยไปจำหน่ายในจีน รวมทั้งยังสามารถเชื่อมกับเส้นทางรถไฟของจีนที่มีแผนก่อสร้างในอนาคตจากจีนผ่านเมียนมา-ไทยและ-ลาว

คอลัมน์ เวทีพิจารณ์นโยบายสาธารณะ
สมศักดิ์ วงศ์ปัญญาถาวร
กลุ่มนโยบายสาธารณะเพื่อสังคมและธรรมาภิบาล


เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

เอ๊ะยังไง! 2 สัปดาห์ ชื่อ 'กิตติรัตน์' ประธานบอร์ด ธปท. ยังไม่ถึงมือขุนคลัง

'พิชัย' บอกยังไม่ได้รับรายงาน ผลการเลือก 'ประธานบอร์ดแบงก์ชาติ' คาดติดช่วงวันหยุด ชี้ช่วยค่าเกี่ยวข้าวชาวนาไร่ละ 500 บาท ขอฟังความเห็นที่ประชุม นบข.

'สิงห์ปาร์ค'ร่วมฉลองครบ10ปี 'เชียงราย โร้ด คลาสสิค 2024' กระตุ้นเศรษฐกิจ-สู่เมืองกีฬา

บริษัท บุญรอดเทรดดิ้ง จำกัด ร่วมกับ สิงห์ปาร์ค เชียงราย, จังหวัดเชียงราย, สำนักงานการกีฬาแห่งประเทศไทยจังหวัดเชียงราย และเครือข่ายชมรมจักรยาน จังหวัดเชียงราย จัดกิจกรรมปั่นจักรยาน “เชียงราย โร้ด คลาสสิค 2024” ปีที่ 10 ที่ สิงห์ปาร์ค เชียงราย