'พาณิชย์' หารือบังกลาเทศ ชงเดินหน้าทำ FTA

“รองปลัดพาณิชย์” ต้อนรับรองปลัดพาณิชย์ บังกลาเทศ และคณะนักธุรกิจจากสภาหอการค้าและอุตสาหกรรมบังกลาเทศ–ไทย หารือยกระดับความสัมพันธ์ทางการค้าและการลงทุน ไทยชงเดินหน้าทำ FTA ระหว่างกันโดยเร็ว

1 ธ.ค. 2566 – นายเอกฉัตร ศีตวรรัตน์ รองปลัดกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยภายหลังการหารือกับ Mr. Md. Abdur Rahim Khan (นายโมฮัมเหม็ด อับดุล ราฮิม ข่าน) รองปลัดกระทรวงพาณิชย์ สาธารณรัฐประชาชนบังกลาเทศณ ห้องกิติยากรวรลักษณ์ สำนักงานปลัดกระทรวงพาณิชย์ ว่า กระทรวงพาณิชย์มีความยินดีที่ได้ให้การต้อนรับรองปลัดกระทรวงพาณิชย์ บังกลาเทศ และคณะผู้แทนสภาหอการค้าและอุตสาหกรรมบังกลาเทศ–ไทย (BTCCI) ในโอกาสที่เดินทางเยือนประเทศไทย และได้ใช้โอกาสนี้หารือการต่อยอดความสัมพันธ์ทางการค้าและการลงทุนระหว่างไทย-บังกลาเทศ โดยเฉพาะการการจัดทำข้อตกลงการค้าเสรี (FTA) ไทย-บังกลาเทศ การประชุมคณะกรรมการร่วมทางการค้า (JTC) ไทย-บังกลาเทศ ครั้งที่ 6 ในช่วงต้นเดือนมีนาคม 2567 และแนวทางความร่วมมือระหว่างภาครัฐและเอกชนของสองประเทศ เป็นต้น

“ได้แจ้งกับทางบังกลาเทศไปว่า แม้รัฐบาลไทยยังอยู่ในช่วงเริ่มต้นของการเข้ามารับหน้าที่บริหารประเทศ แต่มีความชัดเจนในเรื่องนโยบายด้านเศรษฐกิจ การค้าและการลงทุน โดยรัฐบาลชุดนี้ให้ความสำคัญกับการสร้างรายได้ให้กับประเทศ โดยมีนโยบายที่สำคัญ ได้แก่ การทูตเศรษฐกิจเชิงรุก การเร่งเจรจา FTA การเพิ่มความน่าสนใจของไทยในฐานะ Hub ของอุตสาหกรรมหลากหลายประเภท โดยเฉพาะอุตสาหกรรมที่ใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมขั้นสูง และอุตสาหกรรมเพื่อความยั่งยืน และเห็นว่า ไทยและบังกลาเทศมีศักยภาพที่จะขยายมูลค่าการค้าและการลงทุนระหว่างกันอีกมาก ทั้งสองฝ่ายจึงควรแสวงหาแนวทางส่งเสริมการค้าการลงทุนระหว่างกัน ซึ่งรวมถึงความเป็นไปได้ในการจัดทำความตกลง FTA ไทย-บังกลาเทศให้ได้โดยเร็ว”นายเอกฉัตร กล่าว

ทั้งนี้ ไทยได้ยืนยันว่า การจัดทำ FTA ไทย–บังกลาเทศ จะเป็นกลไกสำคัญที่จะช่วยขยายมูลค่าการค้าและการลงทุนระหว่างกัน ซึ่งที่ผ่านมา ไทยได้จัดทำการศึกษาความเป็นไปได้ในการจัดทำความตกลง FTA ไทย-บังกลาเทศ ตามผลลัพธ์การประชุม JTC ไทย-บังกลาเทศ ครั้งที่ 4 เมื่อปี 2560 และได้รายงานผลการศึกษาเบื้องต้นให้บังกลาเทศทราบในการประชุม JTC ไทย-บังกลาเทศ ครั้งที่ 5 เมื่อปี 2563 แล้ว และได้ขอทราบความคืบหน้าการดำเนินการจัดทำการศึกษาความเป็นไปได้ในการจัดทำความตกลง FTA กับไทย (Feasibility Study)

ส่วนการประชุม JTC ไทย–บังกลาเทศ ครั้งที่ 6 ระหว่างวันที่ 3-4 มีนาคม 2567 ณ กรุงธากา กระทรวงพาณิชย์อยู่ระหว่างนำเสนอรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ พิจารณาเข้าร่วมการประชุมในช่วงเวลาดังกล่าว และจะแจ้งผลให้บังกลาเทศทราบต่อไป โดยไทยเห็นว่า การประชุม JTC ไทย-บังกลาเทศ เป็นกลไกหารือ

ด้านความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจการค้าระหว่างไทยและบังกลาเทศที่สำคัญระหว่างสองประเทศ และการประชุม JTC ไทย-บังกลาเทศ ครั้งที่ 6 จะเป็นโอกาสอันดีที่ทั้งสองฝ่ายจะติดตามและแสวงหาแนวทางในการกระชับความสัมพันธ์ทางการค้า การลงทุน และความร่วมมือทางเศรษฐกิจด้านต่าง ๆ ระหว่างกัน ซึ่งรวมถึงความเป็นไปได้ในการจัดทำความตกลง FTA ไทย-บังกลาเทศ

นายเอกฉัตรกล่าวว่า ไทยได้ยืนยันว่าให้ความสำคัญกับตลาดบังกลาเทศ โดยในปี 2567 มีแผนที่จะร่วมมือกับบังกลาเทศในการขยายการค้าอย่างต่อเนื่อง เช่น การนำคณะนักธุรกิจบังกลาเทศจาก BTCCI เข้าร่วมกิจกรรมนัดหมายเจรจาการค้า และลงพื้นที่ศึกษาดูงานในประเทศไทย ระหว่างวันที่ 29 พฤศจิกายน–2 ธันวาคม 2566

โดยคาดหวังว่าจะช่วยต่อยอดการค้าระหว่างกันได้เพิ่มขึ้น และการจัดโครงการ Top Thai Brands 2024
ณ กรุงธากา ซึ่งคาดว่าจะจัดขึ้นในเดือนกรกฎาคม 2567 และงานแสดงสินค้าในไทย เช่น Bangkok Gems & Jewelry Fair, THAIFEX – HOREC ASIA, STYLE Bangkok, THAIFEX – ANUGA ASIA, TILOG – Logistix และ Bangkok RHVAC and Bangkok E&E ซึ่งจะจัดขึ้นตั้งแต่กุมภาพันธ์–กันยายน 2567 ซึ่งได้เชิญชวนให้ผู้ประกอบการบังกลาเทศเข้าร่วม และช่วยประชาสัมพันธ์ให้ผู้ซื้อ ผู้นำเข้ามาร่วมงานด้วย

ในปี 2565 การค้าระหว่างไทย-บังกลาเทศ มีมูลค่า 1,254.09 ล้านเหรียญสหรัฐ ลดลง 2.5% จากปี 2564 แบ่งเป็นการส่งออกของไทยไปยังบังกลาเทศ 1,170.95 ล้านเหรียญสหรัฐ ลดลง 4.95% และการนำเข้าของไทยจากบังกลาเทศมูลค่า 83.14 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้น 53.00% และในช่วง 10 เดือนของปี 2566 การค้าระหว่างกันมีมูลค่า 880.37 ล้านเหรียญสหรัฐ ลดลง 19.16% จากช่วงเดียวกันของปี 2565 แบ่งเป็นการส่งออกของไทยไปบังกลาเทศมูลค่า 799.42 ล้านเหรียญสหรัฐ ลดลง 21.63% และการนำเข้าของไทยจากบังกลาเทศมูลค่า 80.95 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้น 17.37%

นอกจากนี้ ที่ผ่านมา ไทยได้ดำเนินโครงการให้สิทธิพิเศษแก่ประเทศพัฒนาน้อยที่สุดโดยการยกเลิกภาษีนำเข้าและการจำกัดปริมาณนำเข้า ระยะที่ 2 (โครงการ DFQF) ตั้งแต่ปี 2564 และบังกลาเทศเป็นประเทศที่ได้รับประโยชน์จากโครงการดังกล่าวของไทย โดยปี 2565 บังกลาเทศใช้สิทธิพิเศษภายใต้โครงการ DFQF ในการส่งออกสินค้ามายังไทยมูลค่า 379,297 ดอลลาร์สหรัฐ ครอบคลุมสินค้า อาทิ เมล็ดงา ภาชนะที่ใช้ในครัวเรือนที่ทำด้วยพลาสติก และเชือกที่ทำจากปอกระเจา เป็นต้น

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

รัฐบาลตีปี๊บ ประกวด 'ข้าวหอมมะลิไทย' ช่วยยกคุณภาพชีวิตเกษตรกร

รัฐบาลหนุนเกษตรกรและโรงสี จัดประกวดข้าวหอมมะลิไทยปี 2566 เฟ้นหาและอนุรักษ์พันธุ์ข้าวไทยคุณภาพชั้นเลิศ พร้อมขยายช่องทางการจำหน่าย

รัฐบาลแนะผู้ประกอบการไทยปรับตัว ปฏิบัติตามกฎตลาดโลก

รัฐบาลเสริมความเข้มแข็งสินค้าไทย ให้เท่าทันกฎระเบียบของทุกตลาด แนะผู้ประกอบการปรับตัว หลังสเปนจ่อออกกฎใหม่ เครื่องดื่มพสาสติกต้องใช้ฝาแแบยึดกับขวด

รัฐบาลลุยต่อยอด 'ผ้าขาวม้าไทยฟีเวอร์' ขยายตลาดช่วยชุมชนโกยรายได้

รัฐบาลเดินหน้าส่งเสริมต่อยอด 'ผ้าขาวม้าไทยฟีเวอร์' เพิ่มมูลค่าขยายตลาด ช่วยผู้ประกอบการชุมชนโกยรายได้ กระตุ้นเศรษฐกิจท้องถิ่น

รัฐบาลช่วย SME ไทย เข้าถึงแหล่งเงินทุน ผ่านมหกรรมทรัพย์หลักประกันทางธุรกิจ

รัฐบาลบูรณาการความร่วมมือภาครัฐ-เอกชน ส่งเสริมการเข้าถึงแหล่งเงินทุนให้กับ SME ไทย ผ่านการจัดงานมหกรรมทรัพย์หลักประกันทางธุรกิจ