ออมรอน เฮลธแคร์ ร่วมรณรงค์วัดความดัน หนุนคนไทยรู้เท่าทันภัยเงียบ 'โรคความดัน

ออมรอน เฮลธแคร์ เดินหน้าขับเคลื่อนโครงการรณรงค์วัดความดันโลหิต ซึ่งเป็นเดือนแห่งการวัดความดันโลหิต  พร้อมส่งมอบเครื่องวัดความดันโลหิตให้สมาคมความดันโลหิตสูงแห่งประเทศไทย เพื่อเพิ่มความตระหนักรู้เกี่ยวกับโรคความดันโลหิตสูงด้วยการช่วยให้ผู้คนได้รับการวัดความดันโลหิตฟรี และร่วมรณรงค์ดูแลสุขภาพด้วยตัวเอง 

9 พ.ค. 2567 -นายยูซุเกะ กาโตะ กรรมการผู้จัดการ บริษัท ออมรอน เฮลธแคร์ (ประเทศไทย) จำกัด เปิดเผยว่า ในช่วงเดือนพฤษภาคมของทุกปีเป็นเดือนแห่งการวัดความดันโลหิต (May Measurement Month : MMM) ซึ่งเป็นแคมเปญตรวจคัดกรองความดันโลหิตระดับโลกที่ดำเนินการโดย International Society of Hypertension เพื่อเพิ่มความตระหนักรู้เกี่ยวกับโรคความดันโลหิตสูงด้วยการช่วยให้ผู้คนได้รับการวัดความดันโลหิตฟรี ทางออมรอนจึงได้จัดทำโครงการฯ  โดยได้บริจาคเครื่องวัดความดันโลหิตให้กับสมาคมความดันโลหิตสูงแห่งประเทศไทยอย่างต่อเนื่องเป็นปีที่ 4  เพื่อรณรงค์และช่วยให้คนไทยเข้าถึงการตรวจวัดความดันที่ถูกต้อง แม่นยำและอยากเน้นให้คนไทยได้วัดความดันทุกวันเพื่อรู้ทันโรคร้าย รวมทั้งเก็บข้อมูลผลการสำรวจนำมาวางแผนการดูแลสุขภาพของคนไทย 

ทั้งนี้ ออมรอน เฮลธแคร์ มีเป้าหมายสนับสนุนโครงการฯ  หวังเป็นหนึ่งกระบอกเสียงเพื่อช่วยผลักดันให้คนไทยได้ตระหนักต่อภัยใกล้ตัว คือ โรคความดันโลหิตสูง เพราะคนไทยส่วนใหญ่ยังคิดว่าโรคความดันโลหิตสูงเป็นโรคที่ไม่ร้ายแรง แต่ในยุคปัจจุบันจากวิถีการดำเนินชีวิต การทำงานที่เร่งรีบ ความเครียดที่มากขึ้นส่งผลให้คนไทยเป็นโรคความดันโลหิตสูงมากขึ้น และมีแนวโน้มของกลุ่มเสี่ยงมีอายุที่ลดลงกว่าที่ผ่านมา

“ในฐานะผู้พัฒนานวัตกรรมและผลิตภัณฑ์ตรวจวัดความดันโลหิต  ขอร่วมรณรงค์ให้คนไทยตรวจวัดความดันด้วยตัวเอง เพราะจะช่วยให้ติดตามสุขภาพหัวใจและหลอดเลือด เนื่องจากภาวะความดันโลหิตสูงเป็นปัจจัยเสี่ยงต่อโรคหัวใจและหลอดเลือดหลายชนิด เช่น โรคหัวใจวาย โรคหลอดเลือดสมอง และโรคไตเสื่อม การตรวจความดันโลหิตด้วยตัวเองเป็นประจำ ช่วยให้คุณทราบถึงระดับความดันโลหิตและแจ้งเตือนสัญญาณอันตรายได้เร็ว  อีกทั้งการตรวจวัดความดันโลหิตด้วยตัวเอง ช่วยให้ติดตามผลการรักษาและประสิทธิภาพของยา ช่วยให้แพทย์ผู้รักษาสามารถปรับยาและวางแผนการรักษาได้อย่างเหมาะสม ดังนั้นคนไทยควรวัดความดันโลหิตสม่ำเสมอ เพื่อรู้ทัน   โรคร้าย”  นายยูซุเกะ กล่าว

พญ. วีรนุช รอบสันติสุข  หัวหน้าสาขาวิชาความดันโลหิตสูง ภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาลและกรรมการสมาคมความดันโลหิตสูงแห่งประเทศไทย กล่าวว่า ทางสมาคมฯ ขอขอบคุณทางออมรอน เฮลธแคร์ ที่ได้จัดทำโครงการฯ ซึ่งประเทศไทยดำเนินการมาเป็นปีที่ 4  แล้วโดยครั้งแรกจัดทำขึ้นเมื่อปี 2563 ท่ามกลางการระบาดของโรคโควิด19 สมาคมฯ ได้ข้อมูลต่างๆ นำมาวางแผนเชิงระบบเพื่อให้การรักษาให้ครอบคลุมและพัฒนาจากที่ผ่านมา โดยพัฒนาการบริการให้สามารถเข้าถึงได้ง่ายขึ้น ไม่ว่าจะเป็นระบบให้บริการทางไกลสำหรับคนไข้ที่อยู่ในพื้นที่ห่างไกลและคนไข้ที่มีความเสี่ยงต่ำโดยมีพยาบาลหรือเภสัชกรให้คำปรึกษาเบื้องต้น เพื่อลดความถี่ในการพบแพทย์  ปัจจุบันการวัดความดันโลหิตด้วยตนเองที่บ้านนั้นมีความสำคัญอย่างยิ่ง โดยประชาชนทั่วไปสามารถซื้อเครื่องวัดความดันโลหิตที่ได้มาตรฐานสำหรับใช้วัดความดันโลหิตด้วยตนเองที่บ้านและวัดให้สมาชิกในครอบครัวด้วย  หลักการสำคัญ คือ ประชาชนทุกคนควรทราบระดับความดันโลหิตของตนเองและทราบว่าเมื่อใดควรไปพบแพทย์เพื่อรับการรักษา หากผลการวัดพบว่าความดันโลหิตมากกว่าหรือเท่ากับ 140/90 มม. ปรอทถือว่ามีความดันโลหิตสูง  ควรไปพบแพทย์เพื่อรับการประเมินและติดตามรับการรักษาอย่างเหมาะสม ในยุคปัจจุบันสถานพยาบาลมีการปรับกระบวนการให้ง่ายและเร็วขึ้น

สำหรับที่ผ่านมาผลสำรวจผู้ป่วยเป็นโรคความดันโลหิตสูงในประเทศไทย ช่วงปี 2547 และ 2552 จะอยู่ที่ 21%  ด้วยลักษณะสังคมเปลี่ยนสู่สังคมเมืองส่งผลให้เกิดความเครียดสูงขึ้น  การรับประทานอาหารที่มีรสชาติเค็ม ประชาชนมีภาวะอ้วนมากขึ้น ทำให้แนวโน้มประชาชนเป็นโรคความดันโลหิตสูงเพิ่มขึ้น โดยช่วงปี 2557 เพิ่มขึ้นเป็น 25% และปี 2563 เพิ่มขึ้นเป็น 25.4% แม้ตัวเลขสถิติผู้ป่วยฯ จะเพิ่มขึ้นไม่มากแต่หากเทียบกับจำนวนประชากรไทยทั้งหมด การเพิ่มขึ้น 1% เท่ากับประชากรป่วยเป็นโรคความดันโลหิตเพิ่มขึ้นราว100,000 คน เมื่อเปรียบเทียบกับ 20 ปีที่ผ่านมามีคนไทยที่เป็นโรคความดันโลหิตสูงถึง 10 ล้าน และปัจจุบันมีผู้ป่วยเพิ่มสูงขึ้นเป็น 14 ล้านคน สะท้อนแนวโน้มผู้ป่วยเพิ่มมากขึ้นทุกปี

อย่างไรก็ตาม ข้อน่ากังวลวันนี้ คือ ประชาชนขาดความตระหนักถึงความสำคัญของการวัดความดันโลหิตด้วยตนเองเป็นประจำทำให้ผู้ป่วยไม่รู้ตัวว่าป่วย จากผลสำรวจผู้ป่วยที่กล่าวมาข้างต้นจำนวน 13 ล้านคน จะมีผู้ที่รู้ตัวว่าป่วยเพียง 50% เท่านั้น และผู้ป่วยที่เข้ารับการรักษามีเพียงครึ่งหนึ่งที่สามารถควบคุมค่าความดันได้ตามเป้า  หากละเลยจะทำให้ประเทศไทยมีผู้ป่วยความดันโลหิตสูงเพิ่มขึ้นๆ ที่ส่งผลกระทบต่อสังคมและเศรษฐกิจอย่างแน่นอน เนื่องจากการรักษาโรคความดันโลหิตสูงแพทย์จะทำการนัดผู้ป่วยทุก 4-6 เดือนเพื่อรักษาอย่างต่อเนื่อง ทำให้ผู้ป่วยต้องลางานไปพบแพทย์ซึ่งอาจทำให้ธุรกิจหยุดชะงักและประชาชนมีค่าใช้จ่ายในระหว่างการรักษาทั้งค่ายา ค่าเดินทาง และอื่นๆ เกิดภาวะเครียดจากการอาการป่วย เป็นต้น

โดยโรคความดันโลหิตสูงจะเป็นโรคที่รักษาได้แต่ไม่หายขาด มีเพียง 5-10% เท่านั้นที่รักษาหายขาด  โรคความดันโลหิตสูงแม้จะไม่แสดงอาการใดๆ แต่หากปล่อยทิ้งไว้จะส่งผลต่อสุขภาพในระยะยาว ทำให้เกิดหลอดเลือดตีบเป็นสาเหตุให้เกิดโรคหลอดเลือดสมองตีบหรือโรคอัมพฤกษ์ อัมพาต มีผลต่อหลอดเลือดหัวใจทำให้เกิดโรคหลอดเลือดหัวใจและภาวะหัวใจวายเป็นหลักและส่งผลให้เกิดภาวะไตวาย สุดท้ายเมื่ออวัยวะต่างๆ ภายในร่างกายเสียหมดผู้ป่วยจะเสียชีวิต  หรือในกรณีผู้ป่วยอยู่ในระยะที่เกิดภาวะแทรกซ้อนการรักษาจะยากขึ้น และต้องเสียค่าใช้จ่ายเพิ่มมากขึ้น ส่งผลให้คุณภาพชีวิตของประชากรลดลง ซึ่งปัญหาเหล่านี้จะทำให้เกิดผลกระทบต่อสังคมและเศรษฐกิจ

นอกจากนี้ ข้อมูลจากกระทรวงสาธารณะสุขและสำนักงานสถิติแห่งชาติ ปี 2550-2562 ระบุว่าอัตราการเสียชีวิตของคนไทยที่เกิดจากภาวะไตวาย โรคหลอดเลือดหัวใจ โรคความดันโลหิตสูง หรือภาวะเลือดออกในสมอง มีจำนวนเพิ่มขึ้น  บางสาเหตุเพิ่มขึ้นถึง 100%  สำนักงานสถิติแห่งชาติรายงานว่าสาเหตุการเสียชีวิตจากโรคความดันโลหิตสูงและภาวะเลือดออกในสมองจากประมาณ 30 รายเพิ่มขึ้นเป็น 50 ราย ต่อประชาชน 100,000 ราย ซึ่งถือเป็นการเพิ่มขึ้นที่สูง ทำให้ภาพรวมเกี่ยวกับสถานการณ์โรคความดันโลหิตสูงในประเทศไทยไม่ดีนัก

อย่างไรก็ดี ทางสมาคมฯ ได้ทำงานเชิงรุกในภาคประชาชนโดยการทำงานร่วมกับภาคเอกชน มีการจัดทำเฟซบุ๊คเพจ  “เพราะความดันต้องใส่ใจ #BecauseIsayso” เพื่อให้ความรู้แก่ประชาชนที่เป็นโรคความดันโลหิตสูงทำให้ประชาชนสามารถศึกษาเพิ่มเติมด้วยตนเอง  มีการให้สัมภาษณ์หรือเขียนบทความให้ความรู้แก่ประชาชน  รวมถึงการจัดงานวันความดันโลหิตสูงโลก ซึ่งตรงกับวันที่ 17 พฤษภาคมของทุกปี มีการจัดกิจกรรมเสวนาให้ความรู้แก่ประชาชนในโรงพยาบาลต่างๆ และเวทีแลกเปลี่ยนความรู้จากผู้เชี่ยวชาญเกี่ยวกับโรคความดันโลหิตสูงในแง่มุมต่างๆ เพื่อประชาสัมพันธ์แก่ประชาชนและแพทย์ได้รับฟัง 

โดยโครงการตรวจคัดกรองความดันโลหิตสูง (May Measurement Month) ซึ่งสมาคมความดันโลหิตสูงแห่งประเทศไทยร่วมมือกับสมาพันธ์ความดันโลหิตโลกทำงานรณรงค์ร่วมกันทุกปีในเดือนพฤษภาคม ปีนี้เริ่มดำเนินการตั้งแต่เดือนพฤษภาคมถึงเดือนกรกฎาคม  ทางสมาคมฯ ขอความร่วมมือสำหรับผู้ที่มีเครื่องวัดความดันโลหิตอยู่ที่บ้าน หากมีความยินดีและสนใจให้ความร่วมมือกับทางสมาคมฯ เพื่อเก็บข้อมูลความดันโลหิตนำไปใช้ในการวิจัย สามารถ scan QR code เพื่อร่วมตอบแบบสอบถามสั้นๆ และรายงานผลความดันโลหิตของตนเองหรือสมาชิกในครอบครัว จำนวน 3 ครั้ง ซึ่งหากท่านใดวัดความดันโลหิต 3 ครั้งมีค่าเฉลี่ยมากกว่าหรือเท่ากับ 140/90 มิลลิเมตรปรอท ถือว่าท่านอยู่ในเกณฑ์ความดันโลหิตสูง ขอแนะนำให้ท่านเข้ารับการรักษา ณ สถานพยาบาลที่ท่านสะดวก  นอกจากนี้ยังขอส่งมอบความรู้และคำแนะนำสำหรับผู้ที่มีแนวโน้มจะเป็นโรคความดันโลหิตสูงก็จะแนะนำเรื่องของการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมและแนะนำเข้าสู่กระบวนการรักษาติดตามที่เหมาะสมต่อไป

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ทำความรู้จัก ‘ภาวะกล้ามเนื้อตาอ่อนแรง’ ปัญหาสุขภาพดวงตาที่ไม่ควรปล่อยทิ้งไว้!

ภาวะกล้ามเนื้อตาอ่อนแรง (Ptosis) เป็นปัญหาเกี่ยวกับสุขภาพดวงตาที่สามารถพบได้ในทุกเพศ ทุกวัย โดยเฉพาะผู้สูงอายุเพศชาย หรือผู้หญิงวัยเจริญพันธุ์ และแม้บางคนจะมีดวงตาที่มองเห็นได้ปกติ ดวงตาดูสดใสมาตลอด

'ช่อง7HD' คือครอบครัว 'เอส กันตพงศ์' อัปเดตสุขภาพผ่าน 'เที่ยงบันเทิง สด' ที่แรก

เพราะช่อง 7HD คือครอบครัว “เอส กันตพงศ์” ขอเปิดใจ ให้สัมภาษณ์สด ในรายการ “เที่ยงบันเทิง สด” ที่แรก หลังพักฟื้นฟูร่างกายเต็มที่ พร้อมอัปเดตชีวิต สุขภาพ รวมถึงแผนอนาคต ที่ตั้งใจจะเริ่มจะเดินตามฝันที่ตั้งไว้อีกครั้ง ก่อนขอบคุณแฟนช่อง 7HD ทุกคน ที่รักและเป็นห่วง ส่งกำลังใจให้อย่างอบอุ่นเสมอ

รองโฆษกรัฐบาล เผยประชาชนตอบรับโครงการบัตรประชาชนใบเดียวรักษาได้ทุกที่

นายคารม พลพรกลาง เปิดเผยว่า จากนโยบายของรัฐบาลที่มุ่งมั่นลดความเหลือมล้ำ และสนับสนุนประชาชนให้เข้าถึงบริการสาธารณสุข