กรมพัฒนาธุรกิจการค้าเผยตัวเลขการลงทุนของคนต่างชาติในไทยช่วง 5 เดือนปี 67 มีจำนวน 317 ราย เพิ่มขึ้น 16% นำเงินเข้า 71,702 ล้านบาท เพิ่ม 58% จ้างงานคนไทย 1,212 คน ลด 60% ญี่ปุ่นยังคงครองแชมป์ลงทุนสูงสุด ตามด้วยสิงคโปร์ สหรัฐฯ จีน ฮ่องกง ส่วนการลงทุนใน EEC มีจำนวน 99 ราย เพิ่ม 106% มูลค่าลงทุน 18,224 ล้านบาท เพิ่ม 93% ญี่ปุ่นนำ ตามด้วจีนและฮ่องกง
24 มิ.ย. 2567 – นางอรมน ทรัพย์ทวีธรรม อธิบดีกรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า ในช่วง 5 เดือนของปี 2567 (ม.ค.-พ.ค.) มีการอนุญาตให้คนต่างชาติเข้ามาลงทุนประกอบธุรกิจในไทย ภายใต้ พ.ร.บ.การประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว พ.ศ.2542 จำนวน 317 ราย เพิ่มขึ้น 16% เป็นการลงทุนผ่านช่องทางการขอรับใบอนุญาตประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว จำนวน 85 ราย และการขอหนังสือรับรองการประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว (ผ่านช่องทางการลงทุนตามกฎหมายว่าด้วยการส่งเสริมการลงทุน หรือได้รับอนุญาตตามกฎหมายว่าด้วยการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย และการใช้สิทธิตามสนธิสัญญาหรือความตกลงระหว่างประเทศ) จำนวน 232 ราย มีเม็ดเงินลงทุนรวมทั้งสิ้น 71,702 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 58% และมีการจ้างงานคนไทย 1,212 คน ลดลง 60%
โดยชาวต่างชาติที่เข้ามาลงทุน 5 อันดับแรก ได้แก่ 1.ญี่ปุ่น จำนวน 84 ราย คิดเป็น 26% ของจำนวนธุรกิจต่างชาติในไทย เงินลงทุนรวม 40,214 ล้านบาท โดยลงทุนในธุรกิจเกี่ยวกับธุรกิจโฆษณา ธุรกิจบริการวิจัยและพัฒนาเกี่ยวกับการผลิตคอมพาวด์ โพลิเมอร์ ธุรกิจบริการเคลือบผิว (Surface Treatment) ธุรกิจบริการพัฒนาซอฟต์แวร์เพื่อจำหน่าย และ/หรือ ให้บริการ เช่น ระบบควบคุมการผลิตในโรงงาน และระบบจัดการคลังสินค้า เป็นต้น ธุรกิจบริการรับจ้างผลิตสินค้า (ชุดเกียร์สำหรับยานพาหนะและชิ้นส่วนชุดเกียร์ / Air Compressor/ ชิ้นส่วนพลาสติกสำหรับผลิตภัณฑ์อิเล็กทรอนิกส์และยานพาหนะ)
2.สิงคโปร์ จำนวน 51 ราย คิดเป็น 16% ของจำนวนธุรกิจต่างชาติในไทย มีเงินลงทุน 5,189 ล้านบาท ลงทุนในธุรกิจ เช่น ธุรกิจบริการทางวิศวกรรมและเทคนิค เช่น การให้คำปรึกษาแนะนำในการปรับเปลี่ยนเครื่องจักรและซอฟต์แวร์ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการผลิต การให้บริการติดตั้งเครื่องจักร และการแก้ไขปัญหา เพื่อลดการขัดข้องของเครื่องจักร เป็นต้น ธุรกิจโฆษณา โดยการให้ใช้พื้นที่บนเว็บไซต์ ธุรกิจบริการด้านการออกแบบและพัฒนาโปรแกรมซอฟต์แวร์ (Software) ที่ใช้สำหรับจัดการและวิเคราะห์ข้อมูลทางธุรกิจ ธุรกิจบริการพัฒนาซอฟต์แวร์ ซึ่งเป็นการพัฒนาซอฟต์แวร์เพื่อจำหน่าย, และ/หรือ ให้บริการ เช่น ซอฟต์แวร์จัดการร้านอาหารและสั่งอาหาร เป็นต้น ธุรกิจบริการรับจ้างผลิตสินค้า (เครื่องใช้ไฟฟ้า/ ชิ้นส่วนยานพาหนะ/ แม่พิมพ์)
3.สหรัฐฯ จำนวน 50 ราย คิดเป็น 16% ของจำนวนธุรกิจต่างชาติ มีเงินลงทุน 1,196 ล้านบาท ลงทุนในธุรกิจ เช่น ธุรกิจบริการทางวิศวกรรม ธุรกิจค้าปลีกสินค้า (เสื้อผ้า เครื่องแต่งกาย/ เครื่องมือแพทย์/ เครื่องจักรที่ใช้ในงานอุตสาหกรรม) ธุรกิจโฆษณา ธุรกิจบริการให้คำปรึกษาและแนะนำในการประกอบธุรกิจ เช่น การบริหารจัดการธุรกิจ, การบริหารทรัพยากรบุคคล และการจัดการด้านเทคโนโลยีสารสนเทศ เป็นต้น ธุรกิจบริการรับจ้างผลิตสินค้า (พวงมาลัยรถยนต์/ Drum Brake Assembly)
4.จีน จำนวน 38 ราย คิดเป็น 12% ของจำนวนธุรกิจต่างชาติ มีเงินลงทุน 5,485 ล้านบาท ลงทุนในธุรกิจ เช่น ธุรกิจบริการที่ให้แก่บริษัทในเครือ หรือบริษัทในกลุ่ม (บริการให้เช่าพื้นที่อาคารโรงงาน) ธุรกิจการจัดหาจัดซื้อ วัตถุดิบ ชิ้นส่วนและส่วนประกอบสำหรับอุตสาหกรรมต่างๆ เช่นอุตสาหกรรมเหล็กหรืออุตสาหกรรมที่ใช้เหล็กเป็นส่วนประกอบเพื่อค้าส่งในประเทศ เป็นต้น ธุรกิจบริการพัฒนาซอฟต์แวร์เพื่อจำหน่าย และ/หรือให้บริการเช่น ระบบวิเคราะห์ข้อมูลจากการสนทนา ระบบตอบกลับสนทนาอัตโนมัติ เป็นต้น ธุรกิจบริการรับจ้างผลิตสินค้า (โฟมสำหรับยานพาหนะ/ โลหะหล่อขึ้นรูป/ ชิ้นส่วนพลาสติกสำหรับอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์) ธุรกิจบริการให้ใช้ช่วงสิทธิแฟรนไชส์ (Franchising) เพื่อประกอบธุรกิจการขายอาหารและเครื่องดื่ม
5.ฮ่องกง จำนวน 28 ราย คิดเป็น 9% ของจำนวนธุรกิจต่างชาติในไทย มีเงินลงทุน 12,048 ล้านบาท ลงทุนในธุรกิจ เช่น ธุรกิจค้าปลีกสินค้า (เครื่องฉีดขึ้นรูป/ ฟิล์มไวแสง) ธุรกิจบริการระบบซอฟต์แวร์ฐาน (Software Platform) ซึ่งเป็นการให้บริการแพลตฟอร์มกลางในการจัดการและเชื่อมโยงข้อมูลผลิตภัณฑ์ท่องเที่ยว ธุรกิจบริการออกแบบทางวิศวกรรม ก่อสร้าง ติดตั้ง ทดสอบการใช้งานระบบ การซ่อมแซม บำรุงรักษาแผงโซล่าเซลล์และอุปกรณ์ต่างๆ เกี่ยวกับระบบผลิตกระแสไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ ธุรกิจบริการรับจ้างผลิตสินค้า (แม่พิมพ์/ เลนส์ เลนส์สัมผัส (Contact Lens) กรอบแว่นตา แว่นตา/ ชิ้นส่วนสำหรับผลิตภัณฑ์อิเล็กทรอนิกส์) ธุรกิจบริการ Cloud Services โดยเป็นการให้บริการในด้านโครงสร้างพื้นฐานด้านเทคโนโลยีสารสนเทศ (Infrastructure-AS-A-Service)
ทั้งนี้ การเข้ามาประกอบธุรกิจของชาวต่างชาติในไทย มีส่วนช่วยในการถ่ายทอดเทคโนโลยีและทักษะการทำงานขั้นสูงให้กับแรงงานไทย ซึ่งเป็นองค์ความรู้เฉพาะด้านจากประเทศที่เข้ามาลงทุน ไม่ว่าจะเป็นองค์ความรู้เกี่ยวกับการใช้ระบบบริหารจัดการทรัพยากรทางการเงิน องค์ความรู้เกี่ยวกับการทำการตลาดผ่านสื่อดิจิทัลรูปแบบใหม่ องค์ความรู้เกี่ยวกับการบริหารจัดการ Hybrid Cloud และ Multi Cloud รวมไปถึงองค์ความรู้เกี่ยวกับเทคโนโลยีควบคุมอุณหภูมิของเครื่องทำความเย็นที่ใช้ติดตั้งกับรถขนส่งขนาดเล็ก เป็นต้น
นางอรมนกล่าวว่า สำหรับการลงทุนในพื้นที่ EEC ของนักลงทุนชาวต่างชาติในช่วง 5 เดือนของปี 2567 มีชาวต่างชาติสนใจลงทุนในพื้นที่ EEC จำนวน 99 ราย คิดเป็น 31% ของจำนวนนักลงทุนต่างชาติในไทย เพิ่มขึ้น 106% และมีมูลค่าการลงทุนในพื้นที่ EEC จำนวน 18,224 ล้านบาท คิดเป็น 25% ของเงินลงทุนทั้งหมด เพิ่มขึ้น 93%โดยเป็นนักลงทุนจากญี่ปุ่น 31 ราย ลงทุน 3,523 ล้านบาท จีน 19 ราย ลงทุน 1,803 ล้านบาท ฮ่องกง 11 ราย ลงทุน 5,005 ล้านบาท และประเทศอื่น ๆ 38 ราย ลงทุน 7,893 ล้านบาท
โดยธุรกิจที่ลงทุน เช่น 1.ธุรกิจบริการทางวิศวกรรม โดยเป็นการออกแบบทางวิศวกรรมสำหรับระบบต่างๆ ภายในโรงงานอุตสาหกรรม เช่น ระบบไฟฟ้า ระบบทำน้ำเย็น และระบบปรับอากาศ เป็นต้น 2.ธุรกิจบริการออกแบบชิ้นส่วนยานยนต์ประเภทเข็มขัดนิรภัย ถุงลมนิรภัย 3.ธุรกิจบริการให้ใช้แอปพลิเคชันสำหรับเชื่อมต่อกับระบบบริการชำระเงินผ่านบัตรเครดิตและเดบิตของผู้ให้บริการทางการเงิน 4.ธุรกิจบริการรับจ้างผลิตสินค้า (ชุดเกียร์สำหรับยานพาหนะและชิ้นส่วนชุดเกียร์, ชิ้นส่วนพลาสติกสำหรับอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์, ชิ้นส่วนโลหะ เป็นต้น) 5.ธุรกิจบริการพัฒนาซอฟต์แวร์เพื่อจำหน่าย และ/หรือให้บริการ เช่น ระบบควบคุมการผลิตในโรงงาน และระบบจัดการคลังสินค้า เป็นต้น
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
'พิชัย' ชวนสมาชิกหอการค้าอเมริกันลงทุนไทยเพิ่ม
“พิชัย” ชวนสมาชิกหอการค้าอเมริกัน AMCHAM ลงทุนไทยเพิ่ม เร่งใช้แต้มต่อ FTA ไทย ผลักดัน ศก. ไทยเติบโตรวดเร็ว หลังเตรียมเยือนดาวอส ประกาศความสำเร็จ FTA ไทย-เอฟตา ฉบับแรกกับยุโรป