'สนข.' ผุดแอปพลิเคชัน 'นำทาง' หนุนผู้ใช้บริการขนส่งสาธารณะ

“สนข”ผุดแอปพลิเคชัน "นำทาง" ใช้กับระบบขนส่งสาธารณะ อัพเดตข้อมูลแบบเรียลไทม์ เล็งประสานข้อมูลกับกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา เพื่อแนะนำสถานที่ท่องเที่ยว และจุดเช็คอินที่น่าสนใจ ขีดเส้นระบบเสร็จภายใน 4 เดือน

6 ส.ค. 2567 - นายปัญญา ชูพาณิชย์ ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) เปิดเผยว่า ขณะนี้ สนข. อยู่ระหว่างการพัฒนาแอปพลิเคชัน "นำทาง" หรือ "NAMTANG" ให้มีประสิทธิภาพสูงสุด และครอบคลุมในทุกระบบขนส่งสาธารณะ เพื่ออำนวยความสะดวกในการเดินทางของประชาชน และนักท่องเที่ยวที่ต้องการใช้ระบบขนส่งสาธารณะในพื้นที่เขตกรุงเทพมหานคร (กทม.) และปริมณฑล รวมถึงจะขยายไปในหัวเมืองใหญ่ทั่วประเทศต่อไปในอนาคต

สำหรับแอปพลิเคชั่น NAMTANG เป็นระบบนำทางการเดินทางด้วยขนส่งสาธารณะ นำเสนอข้อมูลแนะนำเส้นทางไปยังจุดหมายปลายทางต่างๆ และแนะนำวิธีการเดินทางด้วยระบบขนส่งสาธารณะว่า จะเดินทางไปได้อย่างไรบ้าง มีค่าใช้จ่ายเท่าไหร่พร้อมทั้งคำนวนระยะเวลา และอัพเดตแบบเรียลไทม์ว่า จะถึงจุดหมายปลายทางในเวลาใด หรือระบบขนส่งสาธารณะนั้นๆ จะมาถึงเมื่อไหร่ด้วยระบบ GPS และมั่นใจว่า ระบบของ NAMTANG ดีกว่า ระบบแผนที่อื่นๆ ที่เปิดให้ใช้งานอยู่

“ปัจจุบันแอปพลิเคชั่น NAMTANG สามารถดาวน์โหลดได้แล้วรองรับระบบปฏิบัติการ Windows IOS Android หรือจากแอปพลิเคชันทางรัฐ อีกทั้งรองรับภาษาไทย และภาษาอังกฤษ โดยภายในแอปฯ จะนำเสนอข้อมูลระบบขนส่งสาธารณะที่ให้บริการอยู่ ทั้งรถเมล์ ขสมก.-ไทยสมายล์บัส, รถไฟฟ้าทุกสีทุกเส้นทาง, รถไฟไทย และอยู่ระหว่างการประสานข้อมูลกับเรือด่วนเจ้าพระยา รวมถึงแนะนำร้านอาหารอร่อย พร้อมทั้งเตรียมประสานข้อมูลกับกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา เพื่อแนะนำสถานที่ท่องเที่ยว และจุดเช็คอินที่น่าสนใจ นอกจากนี้ ยังเตรียมพัฒนาแอปฯ เพื่อเพิ่มภาษาจีน และภาษาญี่ปุ่น เพื่อรองรับและประกอบการตัดสินใจในการเดินทาง อำนวยความสะดวกแก่ประชาชนและนักท่องเที่ยว อย่างไรก็ตาม คาดว่า จะพัฒนาแอปฯ สมบูรณ์แบบแล้วเสร็จภายใน 4 เดือนนับจากนี้”นายปัญญา กล่าว

นายปัญญา กล่าวต่อว่า ขณะเดียวกัน สนข. ยังได้ขยายการให้บริการแอปพลิเคชั่น NAMTANG ไปยัง จ.ระนอง และกระบี่เพิ่มเติมด้วย อีกทั้ง ยังอยู่ระหว่างการการขยายการให้บริการครอบคลุมทั่วประเทศในหัวเมืองใหญ่ เบื้องต้นจะนำร่องก่อน 11 จังหวัด ประกอบด้วย จ.เชียงใหม่ เชียงราย พิษณุโลก อุดรธานี ขอนแก่น อุบลราชธานี นครราชสีมา สุราษฎร์ธานี สงขลา ภูเก็ต และพระนครศรีอยุธยา ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างดำเนินการศึกษา คาดว่าจะแล้วเสร็จภายใน พ.ย. 2567 และสามารถเปิดให้บริการได้ภายในปี 2568 ต่อไป ส่วนล่าสุดแอปพลิเคชันนำทาง ขณะนี้มียอดดาวน์โหลดจาก iOS Android และทางรัฐ จำนวนมากกว่า 30,000 ครั้งแล้ว และมีการดาวน์โหลดเพิ่มขึ้นเฉลี่ยวันละ 500 ครั้ง

สำหรับระบบนำทาง มีข้อมูลระบบขนส่งสาธารณะทางถนน ทางรางและทางน้ำรวม 1,422 เส้นทาง มี 7,717 จุดให้บริการโดยมีพิกัดสัญญาณ GPS ของขนส่งสาธารณะเชื่อมโยงจากกรมการขนส่งทางบก กรุงเทพมหานครและบริษัทไทยสไมล์บัส จำนวนกว่า 6,000 ขนส่งสาธารณะ โดยมีเส้นทางมากกว่า 300 เส้นทางครอบคลุมมากที่สุดภายในประเทศซึ่งมีความแตกต่างกว่าการใช้ระบบนำทางจากแอปพลิเคชันอื่นๆ อีกทั้ง สามารถเชื่อมโยงกับเส้นทางรถไฟฟ้าได้เช่น รถไฟฟ้าสายสีเขียว สีน้ำเงิน สีม่วง สีทอง สีแดง สีเหลือง สีชมพู Airport rail Link และรถไฟชานเมือง

ขณะที่ ทางน้ำเชื่อมโยงในเส้นทางท่าเรือ 151 ท่าเรือ กับเรือไฟฟ้า เรือด่วนข้ามฟาก เรือคลองแสนแสบ เรือคลองภาษีเจริญและเรือคลองผดุงกรุงเกษม ส่วนเรือด่วนเจ้าพระยาอยู่ระหว่างดำเนินการให้เข้าสู่ระบบ นอกจากนี้จะมีการพัฒนาระบบวิเคราะห์การเดินทางด้วยขนส่งสาธารณะเพื่อนำมาจัดเก็บเป็นฐานข้อมูลขนาดใหญ่ประกอบการวิเคราะห์และวางแผนการขนส่งและจราจรในอนาคตด้วย

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

คาดอุโมงค์สร้าง 'ไฮสปีด' ถล่มเกิดจากน้ำซึมเข้าสู่ชั้นดินด้านบนของอุโมงค์

‘สุรพงษ์’ ลงพื้นที่ตรวจสาเหตุดินถล่มในอุโมงค์สร้างรถไฟความเร็วสูงคลองไผ่ คาดเกิดจากฝนตกต่อเนื่อง มีน้ำซึมเข้าสู่ชั้นดินบริเวณด้านบนของอุโมงค์ สั่งเร่งดำเนินการตักดินที่ถล่ม พร้อมค้นหาผู้สูญหายอย่างเต็มความสามารถ