ปัจจัยการเมืองฉุด! เม็ดเงินโฆษณาอาจไม่โตหรือติดลบ!

สูญญากาศทางการเมือง กระทบเม็ดเงินโฆษณาแน่! มีเดียอินเทลลิเจนซ์กรุ๊ป มองตลาดอาจไม่โตหรือติดลบ หลังปัจจัยลบเพียบ! เศรษฐกิจไทยยังซึมยาว กำลังซื้อซบเซา ปัจจัยค่าครองชีพสูง รายได้หดตัว

14 ส.ค. 2567 – นายภวัต เรืองเดชวรชัย ประธานกรรมการและประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท มีเดียอินเทลลิเจนซ์กรุ๊ป จำกัด เปิดเผยว่า หนึ่งในตัวแปรสำคัญที่อาจส่งผลต่อภาพรวมเศรษฐกิจในช่วงที่เหลือของปีนี้คือปัจจัยทางการเมือง ซึ่งหากวันที่ 14 สิงหาคม ศาลรัฐธรรมนูญมีคำตัดสินเป็นคุณต่อนายกรัฐมนตรี ก็น่าจะทำให้เห็นภาพรวมเป็นไปตามที่ประเมินไว้ แต่หากศาลตัดสินไม่เป็นคุณต่อนายกรัฐมนตรีและคณะรัฐบาล จะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจในช่วงโค้งสุดท้ายของปีนี้อย่างแน่นอน เพราะสูญญากาศของตำแหน่งนายกรัฐมนตรีและครม.ทั้งคณะน่าจะกินเวลากว่า 2-3 เดือนเป็นอย่างน้อย ส่งผลต่อการขับเคลื่อนนโยบายและการใช้จ่ายงบประมาณต่างๆ ซึ่งทาง MI GROUP ได้ประเมินฉากทัศน์นี้ไว้ว่าอาจทำให้เม็ดเงินอุตสาหกรรมโฆษณาและสื่อสารการตลาดปิดปี 2567 ไม่เติบโตหรืออาจติดลบเมื่อเทียบกับปี 2566 ที่ผ่านมา

สำหรับการคาดการณ์เศรษฐกิจไทยช่วงที่เหลือของปี 2567 ผ่านเม็ดเงินโฆษณาและกิจกรรมการตลาด มองว่าแม้ EUFA Euro และ Paris Olympic 2024 ที่เพิ่งจบไปจะกระตุ้นความคึกคักของตลาดและเม็ดเงินโฆษณาได้บ้าง แต่การจับจ่ายของผู้บริโภคยังซึมยาว เหตุปัจจัยค่าครองชีพพุ่งสูง รายได้หดตัว ซ้ำเติมผู้ประกอบการจากการแข่งขันและปัจจัยลบรอบด้าน โดย Paris Olympic 2024 ที่เพิ่งจบไป ได้รับความสนใจจากผู้ติดตามชมการถ่ายทอดสด โดยเฉพาะอย่างยิ่งกีฬาสำคัญๆที่นักกีฬาของไทยได้มีโอกาสเข้าชิงเหรียญในรอบลึกๆเช่น แบดมินตัน

เทควันโด ยกน้ำหนักและมวย เป็นต้น สร้างความคึกคักจากเงินสนับสนุนถ่ายทอดโดยสปอนเซอร์ได้เกินคาด โดย MI GROUP ประเมินเม็ดเงินโฆษณาและสื่อสารการตลาดในไทยของ  Paris Olympic 2024 ไม่ต่ำกว่า 500 ล้าน โดยรวมทั้งสปอนเซอร์หลักและสปอนเซอร์รายย่อย รวมถึงแบรนด์ที่เกาะกระแส Paris Olympic 2024

ทั้งนี้ เม็ดเงินอุตสาหกรรมโฆษณาล่าสุดปีนี้ถึงเดือนกรกฏาคมอยู่ที่ 49,433 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 4.9% จากปี 2566  โดยหากคำนึงถึงปัจจัยบวกและลบต่างๆตลอดทั้งปีแล้ว รวมถึงโครงการเงินดิจิทัล 10,000 บาท

ที่รัฐบาลระบุว่าจะแจกให้กับประชาชนได้ใช้จ่ายในช่วงเดือนธันวาคมปีนี้ คาดเม็ดเงินโฆษณาทั้งปีจะปิดที่ 8,7617 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้น 3.3% จากปี 2566  โดยเติบโตจากสื่อดิจิทัลและสื่อนอกบ้าน (Out of Home Media)

ขณะเดียวกันจากสภาวะเศรษฐกิจที่ซบเซาต่อเนื่องมาตั้งแต่ปีที่ผ่านมา และดูเหมือนจะรุนแรงขึ้นในช่วงปีนี้

การจับจ่ายของผู้บริโภคยังซึม ค่าครองชีพที่ยังคงพุ่งสูง รายได้หดตัว ปัจจัยหลักส่วนหนึ่งมาจากปัญหาเศรษฐกิจเชิงโครงสร้าง ที่ผู้ประกอบการในไทย (ทั้งผู้ประกอบการไทย และผู้ประกอบการต่างชาติในไทย) ได้รับผลกระทบและการแข่งขันจากผู้ประกอบการจีน ทุนจีน ที่เข้ามาในหลากหลายอุตสาหกรรม จากนโยบายการให้สิทธิพิเศษทางการค้าและการลงทุนของภาครัฐในช่วงหลายปีที่ผ่านมา

สำหรับพฤติกรรมของผู้บริโภคชาวไทยที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างมากและต่อเนื่อง โดยเฉพาะอย่างยิ่งตั้งแต่หลังวิกฤตโควิด-19 เมื่อ 3-4 ปีที่ผ่านมา ตลาดและผู้บริโภคในประเทศไทยเข้าสู่ยุค Social-Driven Society อย่างเต็มตัว (Social-Driven Society = ยุคที่ผู้บริโภคฟังและเชื่อถือผู้บริโภคด้วยกันมากขึ้น) MI GROUP คาดการณ์มูลค่าอีคอมเมิร์ซในไทยจะแตะ 1,000,000 ล้านบาท ในช่วง 1-2 ปีนี้อย่างแน่นอน ภาพรวมบรรยากาศของตลาดในประเทศเป็นที่ชัดเจนว่า Influencer Marketing กลายเป็นเครื่องมือสำคัญของนักการตลาดและสื่อสารการตลาดในยุคที่ Influencer มีหน้าที่หลักในส่วน lower funnel เพื่อกระตุ้นให้ผู้บริโภคเกิดแอคชั่นต่อแบรนด์สินค้าและบริการนั้นๆ เพื่อเพิ่มยอดขายท่ามกลางสภาวะที่กำลังซื้อยังคงซบเซา

อย่างไรก็ดี Influencer Marketing ถูกใช้เป็นเครื่องมือหลักทางการตลาด ดันเม็ดเงินในส่วนนี้เติบโตแบบก้าวกระโดดเฉลี่ยแตะมากกว่า 30% ของงบโฆษณาในแต่ละแคมเปญ (ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับประเภทสินค้า ขนาดของแคมเปญและงบประมาณ) และมีแนวโน้มเติบโตต่อเนื่อง นี่ยังไม่นับรวม Affiliate Marketing (การตลาดแบบช่วยขาย แล้วแบ่งกำไร) ที่เป็นตัวผลักดันหลักให้จำนวน Influencers ในไทยพุ่งแตะกว่า 2 ล้านราย

เพิ่มเพื่อน