ความเสี่ยงพลังงาน บนความขัดแย้งภูมิรัฐศาสตร์ ต้องพร้อมรับมือก่อนสถานการณ์บานปลาย

นับตั้งแต่ต้นเดือนสิงหาคมจนถึงตอนนี้ ทุกสายตาทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน ภาคการเมือง และประชาชน ต่างโฟกัสไปที่เรื่องการเมือง เพราะเหตุการณ์สำคัญที่เกิดขึ้นในเดือนนี้ ล้วนส่งผลกระทบต่อการขับเคลื่อนประเทศในหลายๆ ด้าน เริ่มตั้งแต่การยุบพรรคก้าวไกล การถอดถอนนายกรัฐมนตรีคนที่ 30 ซึ่งมีผลให้คณะรัฐมนตรีพ้นสภาพไปด้วย และนำไปสู่การลงมติรับรองนายกรัฐมนตรีคนใหม่ รวมไปถึงการจัดตั้งคณะรัฐมนตรีชุดใหม่หน้าเก่าที่จะเกิดขึ้นในเร็ววันนี้  

19 ส.ค. 2567 – แต่ในขณะที่เราเฝ้าติดตามสถานการณ์ทางการเมืองและการเปลี่ยนแปลงในประเทศไทย ก็ต้องไม่ลืมว่า สถานการณ์ที่เกิดขึ้นในหลายๆ ประเทศทั่วโลก ก็เกิดเปลี่ยนแปลงด้วยเช่นกัน โดยเฉพาะสถานการณ์ความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ระหว่างยูเครนกับรัสเซีย และความขัดแย้งในพื้นที่ตะวันออกกลาง ระหว่างอิหร่านกับอิสราเอล ซึ่งทั้งสองกรณีมีความเกี่ยวข้องโดยตรงต่อผลกระทบราคาน้ำมันและราคาก๊าซธรรมชาติในตลาดโลก และอาจก่อให้เกิดผลกระทบต่อราคาพลังงานในบ้านเรา เพราะประเทศไทยต้องพึ่งพาการนำเข้าน้ำมัน และก๊าซธรรมชาติเป็นหลัก

โดยสถานการณ์ภายหลังจากที่ยูเครนได้บุก และยึดครองพื้นที่รัสเซีย 1,000 ตารางกิโลเมตร แม้จะยังไม่กระทบต่อราคาน้ำมันในทันที แต่คาดว่าราคาน้ำมันมีแนวโน้มจะเพิ่มสูงขึ้น หากรัสเซียลงมือปฏิบัติการตอบโต้ครั้งใหญ่ ซึ่งมีโอกาสเป็นไปได้สูงมาก เพราะนักวิเคราะห์ได้ระบุว่า ยูเครนได้รับอาวุธใหม่จากชาติตะวันตก และมีความจำเป็นต้องเร่งรัดให้เกิดข้อยุติสงคราม ก่อนที่จะมีการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐคนใหม่ และนายโจ ไบเดน ประธานาธิบดีสหรัฐฯ คนปัจจุบันจะพ้นวาระ และอาจมีการเปลี่ยนแปลงนโยบายต่างประเทศและกระทบต่อการสนับสนุนยูเครนในการรบกับรัสเซีย ซึ่งนั่นจึงทำให้ยูเครนต้องเร่งรุกหนัก และรัสเซียก็จะตอบโต้อย่างรุนแรง ผลกระทบที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ก็คือ ราคาน้ำมัน และก๊าซธรรมชาติจะเพิ่มสูงขึ้น

ในขณะที่ความขัดแย้งระหว่างอิหร่านกับอิสราเอล กลับมีแนวโน้มที่อาจบานปลายเป็นสงครามระหว่างภูมิภาค และอาจสร้างผลกระทบยิ่งกว่าความขัดแย้งระหว่าง รัสเซียกับยูเครน โดยล่าสุด สหรัฐอเมริกาได้เสริมกำลังทหารเข้าสู่ตะวันออกกลางเพื่อปกป้องอิสราเอลจากการโจมตีของอิหร่าน รวมทั้งได้แจ้งเตือนด้วยว่า ภัยคุกคามใดๆ ที่มีกับอิสราเอล จะต้องเจอกับการตอบโต้อย่างหนักหน่วงจากสหรัฐฯ

ขณะเดียวกัน การที่ผู้นำสูงสุดของอิหร่านออกมาระบุว่า หากไม่มีการแก้แค้นเหตุระเบิดลอบสังหารผู้นำฮามาส ที่เกิดขึ้นในเตหะราน โดยมีอิสราเอลกับสหรัฐอเมริกาอยู่เบื้องหลัง จะเป็นการแสดงความอ่อนแอของอิหร่าน ซึ่งนั่นยิ่งทำให้สหรัฐฯ มีความกังวลถึงความเป็นไปได้ที่อิหร่านจะร่วมมือกับกลุ่มต่างๆ ในตะวันออกกลางและชาติพันธมิตรของอิหร่าน ซึ่งรวมถึงรัสเซีย ที่มีความร่วมมือด้านการทหารกันเป็นอย่างดี

ในขณะที่ท่านผู้อ่านกำลังอ่านเรื่องนี้ สถานการณ์ความขัดแย้งดังกล่าว อาจก้าวไปสู่สถานการณ์ที่รุนแรงไปแล้ว หรืออาจจะยังไม่เกิดขึ้นก็ได้ แต่ภายใต้สถานการณ์ที่อาจก่อให้เกิดผลกระทบต่อราคาพลังงานทั่วโลก และอาจกระทบต่อประเทศไทยอย่างรุนแรง กลับยังไม่มีหน่วยงานใดในภาคพลังงานของประเทศไทย ออกมาสร้างความมั่นใจ และสร้างความเข้าใจแก่ประชาชน เพื่อให้พร้อมรับมือและเผชิญหน้ากับสถานการณ์ราคาพลังงานที่อาจเกิดขึ้นอย่างรุนแรง

และถึงแม้ว่า รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานจะกลายเป็นรักษาการรัฐมนตรี แต่ก็ยังมีอำนาจในการบริหารจัดการต่างๆ อยู่ อย่างน้อยที่สุด ก็สามารถสั่งการให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ติดตามและประเมินสถานการณ์อย่างใกล้ชิด รวมทั้งมีการสื่อสารออกมาให้ประชาชนได้รับรู้และเข้าใจถึงสิ่งที่อาจจะเกิดขึ้น และรับทราบถึงแผนการรับมือของกระทรวงพลังงาน ซึ่งน่าจะเป็นผลดีต่อภาพลักษณ์ของกระทรวงพลังงานด้วยซ้ำ ที่ออกมาแจ้งเตือนให้ประชาชนเกิดความตระหนักแบบไม่ตระหนก และเห็นภาพการเตรียมรับมือของกระทรวงฯ เพื่อช่วยลดผลกระทบจากราคาพลังงานที่อาจเกิดขึ้นต่อประชาชนในอนาคต

และทันทีที่เจ้ากระทรวงพลังงานได้กลับมาดำรงตำแหน่งเดิมอีกครั้งในคณะรัฐมนตรีชุดใหม่ ภายใต้การนำของนายกรัฐมนตรีหญิงคนที่ 2 ของประเทศไทย ก็ขอให้เร่งรัดผลักดัน โครงการระบบสำรองน้ำมันและก๊าซเพื่อความมั่นคงทางยุทธศาสตร์ของประเทศไทย หรือ SPR (Strategic Petroleum Reserve) เพื่อสร้างเสถียรภาพและความมั่นคงทางพลังงานของไทย ท่ามกลางสถานการณ์ความขัดแย้งในโลกที่พร้อมจะเกิดขึ้นได้ทุกเมื่อ และเพื่อช่วยรักษาระดับราคาน้ำมันเชื้อเพลิงและก๊าซธรรมชาติ ในช่วงที่ราคาพลังงานเกิดความผันผวนอย่างรุนแรง เพราะราคาพลังงานกระทบต่อทุกชีวิต ทุกธุรกิจ ดังนั้น การสร้างความมั่นคงทางพลังงานเป็นเรื่องที่ต้องทำทันที มิใช่ทำตอนที่เกิดปัญหาแล้วค่อยมาตามแก้เหมือนที่ผ่านมา และอีกสิ่งที่อยากให้คำนึงถึงคือหนี้เงินกู้ของกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงที่ยังมีมากกว่าแสนล้านบาทซึ่งจะต้องเริ่มใช้หนี้ในเดือนพฤศจิกายนนนี้จะมีวิธีการอย่างไรขอฝากไว้ให้พิจารณาด้วย

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

‘ภูมิธรรม’ ทุบฝ่ายต้านบิดเบือน MOU เกาะกูด ทำผลประโยชน์ชาติสั่นคลอน

นายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกฯรัฐมนตรีและ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม โพสต์เฟซบุ๊กเรื่อง "ผลประโยชน์ชาติสั่นคลอน เมื่อการเมืองบิดเบือน MOU เกาะกูด" ระบุว่าการจุดประเด็นทางการเมืองเรื่อง MOU 44 ในช่วงนี้ ได้สร้างความเสียหายต่อผลประโยชน์ของประเทศไทยในหลา

'วรงค์' เหนื่อยใจกับนายกฯอิ๊งค์ พูดวกวน เหมือนดีใจที่กัมพูชาลากเส้นไหล่ทวีปอ้อมเกาะกูด

นพ.วรงค์ เดชกิจวิกรม ประธานที่ปรึกษาพรรคไทยภักดี โพสต์เฟซบุ๊กเรื่อง "เหนื่อยใจกับอุ๊งอิ๊ง"