
ทอท. เผยเหตุต้องมี ‘ห้องสูบบุหรี่’ ในสนามบิน ช่วยยกระดับการเดินทางสากล ป้องกันอันตรายจากระบบอัคคีภัย ไม่ลิดรอนสิทธิเสรีภาพของผู้โดยสารที่ต้องรอต่อเครื่องนาน ยันสนามบินชั้นนำทั่วโลกก็มี
7 ก.พ.2568 – นายกีรติ กิจมานะวัฒน์ กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) หรือ ทอท.เปิดเผยว่า ตามที่มีการนำเสนอข่าวกรณีที่ ทอท. เสนอขอให้พิจารณาอนุญาตให้มีการเปิดห้องสูบบุหรี่ภายในท่าอากาศยานนั้น เป็นผลมาจากมีการร้องเรียนจากผู้ใช้บริการสนามบินโดยเฉพาะผู้โดยสารต่อเครื่อง (Connecting Flight) ที่ต้องใช้เวลารอเปลี่ยนเที่ยวบินเป็นเวลานาน รวมทั้งมีการตรวจพบการลักลอบสูบบุหรี่ในเขตปลอดบุหรี่ เช่น ในห้องสุขา เป็นต้น หรือการมีผู้โดยสารที่ยินยอมเสียค่าปรับตามพระราชบัญญัติควบคุมผลิตภัณฑ์ยาสูบ พ.ศ. 2560 เพียงเพื่อที่จะสูบบุหรี่ได้ ซึ่งส่งผลต่อผู้โดยสารที่ไม่สูบบุหรี่ และกระทบกับคุณภาพอากาศโดยรวมของอาคารภายในท่าอากาศยาน รวมทั้งอาจมีเหตุระบบแจ้งเตือนเหตุเพลิงไหม้ทำงาน เนื่องจากตรวจพบควันบุหรี่ จึงมีการร้องเรียนและแจ้งความประสงค์ให้ ทอท.และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องพิจารณาจัดห้องสูบบุหรี่ให้บริการในอาคารผู้โดยสาร
ทั้งนี้ ในส่วนของ ทอท. ซึ่งบริหารท่าอากาศยานหลัก 6 แห่งของประเทศไทย ได้แก่ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ (ทสภ.) ท่าอากาศยานดอนเมือง ท่าอากาศยานเชียงใหม่ ท่าอากาศยานแม่ฟ้าหลวง เชียงราย ท่าอากาศยานภูเก็ต และท่าอากาศยานหาดใหญ่ อยู่ระหว่างการขอให้กระทรวงสาธารณสุขพิจารณาแก้ไขกฎกระทรวง ให้ท่าอากาศยานนานาชาติ สามารถจัดให้มีห้องสูบบุหรี่ภายในอาคารได้ ซึ่งจะเป็นการยกระดับประสบการณ์การเดินทางแบบสากล ลดปัญหาด้านสุขภาพของผู้โดยสารจากการสูดกลิ่นควันบุหรี่ ซึ่งมีโอกาสที่อาจทำให้เกิดความเสื่อมเสียต่อภาพลักษณ์การท่องเที่ยว
นายกีรติ กล่าวต่อว่า ขณะเดียวกัน ยังอาจเป็นการลิดรอนสิทธิเสรีภาพของผู้โดยสาร โดยเฉพาะผู้โดยสารที่เดินทางแบบ Connecting Flight ซึ่งไม่สามารถออกไปนอกอาคารของท่าอากาศยานได้เป็นเวลาหลายชั่วโมง และยังเป็นการรับประกันความปลอดภัยทางสุขภาพให้กับผู้โดยสารที่มาใช้บริการท่าอากาศยาน และลดความเสี่ยงด้านอันตรายจากอัคคีภัย โดย ทอท. ได้มีหนังสือนำเรียนอธิบดีกรมควบคุมโรค ซึ่งเป็นกรรมการและเลขานุการของคณะกรรมการควบคุมผลิตภัณฑ์ยาสูบแห่งชาติ (คผยช.) เพื่อขอแก้ไขปรับปรุงประกาศกระทรวงสาธารณสุข เรื่อง กำหนดประเภทหรือชื่อของสถานที่สาธารณะ สถานที่ทำงาน และยานพาหนะ ให้ส่วนหนึ่งส่วนใดหรือทั้งหมดของสถานที่และยานพาหนะเป็นเขตปลอดบุหรี่ หรือเขตสูบบุหรี่ในเขตปลอดบุหรี่ พ.ศ. 2561 เพื่อให้ท่าอากาศยานสามารถจัดให้มีห้องสูบบุหรี่ภายในอาคารเป็นเขตสูบบุหรี่ในเขตปลอดบุหรี่ได้
ทั้งนี้ ต่อมาคณะอนุกรรมการด้านกฎหมายฯ ของกรมควบคุมโรคได้ขอให้ ทอท. เข้าให้ข้อมูลต่อคณะอนุกรรมการด้านกฎหมายฯ เพื่อให้ได้รับทราบข้อมูลข้อเท็จจริงจากผู้ที่เกี่ยวข้องโดยตรง ซึ่ง ทอท. ได้มีการชี้แจงถึงปัญหาข้อขัดข้องจากกรณีที่ท่าอากาศยานไม่สามารถจัดให้มีห้องสูบบุหรี่ภายในอาคารให้คณะอนุกรรมการด้านกฎหมายของ คผยช. กรมควบคุมโรค โดยที่ประชุมได้รับฟังข้อมูลที่ ทอท. ชี้แจงถึงปัญหาข้อขัดข้องจากกรณีที่ท่าอากาศยานไม่สามารถจัดให้มีห้องสูบบุหรี่ภายในอาคารแล้ว และมีการพิจารณาสอบถามถึงประเด็นต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง นอกจากนี้ ผู้แทนกรมควบคุมโรคได้มีการเยี่ยมชมพื้นที่ของ ทสภ. และได้แนะนำพื้นที่ที่สามารถจัดให้เป็นห้องสูบบุหรี่ ในอาคารผู้โดยสารหลักและอาคารเทียบเครื่องบินรองหลังที่ 1 รวมทั้งรับทราบถึงปัญหาข้อขัดข้องเกี่ยวกับกรณีที่ไม่สามารถจัดให้มีห้องสูบบุหรี่ภายนอกอาคารแล้ว
ทอท. มีความมุ่งมั่นพัฒนาในการเป็นผู้ดำเนินการและจัดการท่าอากาศยานที่ดีระดับโลก และต้องการยกระดับการเป็นศูนย์กลางของการคมนาคมขนส่งทางอากาศแห่งภูมิภาคสู่ประตูการบินของโลก เพื่อกระตุ้นการขับเคลื่อนให้ท่าอากาศยานของ ทอท. ติดอันดับท่าอากาศยานที่ดีที่สุดอันดับต้นของโลก และ ทอท. มีความต้องการให้ผู้มาใช้บริการได้รับบริการที่รวดเร็ว สะดวกสบาย ตรงตามความต้องการ และมีความประทับใจในการรับบริการ
สำหรับประกาศกระทรวงสาธารณสุขฯ ดังกล่าวที่กำหนดให้ท่าอากาศยานสามารถจัดให้มีเขตสูบบุหรี่เป็นการเฉพาะได้ แต่ในพื้นที่นอกอาคารเท่านั้น อาจไม่ตอบสนองต่อความต้องการของผู้มาใช้บริการที่ท่าอากาศยานของ ทอท. ที่มีความหลากหลาย รวมทั้งไม่สอดคล้องกับการให้บริการของท่าอากาศยานชั้นนำหลายแห่งทั่วโลกที่มีการจัดให้มีห้องสูบบุหรี่ภายในอาคารของท่าอากาศยานด้วย เช่น ท่าอากาศยานชางงี สาธารณรัฐสิงคโปร์ ท่าอากาศยานอินชอน สาธารณรัฐเกาหลี ท่าอากาศยานนาริตะ และท่าอากาศยานฮาเนดะ ประเทศญี่ปุ่น ท่าอากาศยานอิสตันบูล สาธารณรัฐทูร์เคีย เป็นต้น