นวัตกรรมใหม่ ตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูกด้วยตัวเอง ไม่ต้องขึ้นขาหยั่ง โดย'วิธี เอชพีวี ดีเอ็นเอ (HPV DNA)' เริ่มใช้ในสถานพยาบาลไทยปีนี้

ไม้ตรวจมะเร็งปากมดลูกด้วยตัวเอง

7 ก.ย. 2565 — บริษัท โรช ไดแอกโนสติกส์ (ประเทศไทย) จำกัด ร่วมกับสถาบันมะเร็งแห่งชาติ สำนักงานหลักประกันสุขภาพ (สปสช.) และโรงพยาบาลมะเร็งชลบุรี จัดงานเสวนาเชิงวิชาการออนไลน์ในหัวข้อ “ผู้หญิงต้องรู้! ทางเลือกใหม่ ตรวจมะเร็งปากมดลูกด้วยวิธี HPV DNA แบบเก็บตัวอย่างด้วยตัวเอง ไม่ต้องขึ้นขาหยั่ง” เพื่อให้ความรู้ และข้อมูลความสำคัญของการตรวจคัดกรองโรคมะเร็งปากมดลูกด้วยวิธีเอชพีวี ดีเอ็นเอ แก่ประชาชน โดยเฉพาะสตรีกลุ่มเป้าหมาย ซึ่งปัจจุบัน สามารถเก็บตัวอย่างด้วยตัวเองได้ในโรงพยาบาล หวังเพิ่มทางเลือกใหม่ในการตรวจฯ ลดปัญหาความกังวลใจด้านต่าง ๆ อาทิ กลัวเจ็บ อายแพทย์ ตลอดจนความกังวลใจเรื่องค่าใช้จ่าย ยืนยันสิทธิ์หลักประกันสุขภาพครอบคลุมการตรวจ รักษา มั่นใจแนวคิดตรวจพบ (เชื้อเอชพีวี) เร็ว สามารถลดความเสี่ยงในการเป็นมะเร็งปากมดลูกและเสียชีวิตได้ ผ่านช่องทางยูทูป ไลฟ์ https://www.youtube.com/watch?v=jU0tvmPRpgE Roche Diagnostics Thailand ของบริษัทฯ

นพ.ปิยวัฒน์ เลาวหุตานนท์ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลมะเร็งชลบุรีและแพทย์ผู้เชี่ยวชาญสาขามะเร็งวิทยานรีเวช เผยว่า แม้มะเร็งปากมดลูกเป็นมะเร็งที่พบมากในเพศหญิงตั้งแต่วัยสาวถึงวัยชรา และพบมากเป็นอันดับ 5 ของมะเร็งในผู้หญิงไทยรองจากมะเร็งเต้านม มะเร็งลำไส้ใหญ่ มะเร็งตับ และมะเร็งปอด แต่เป็นหนึ่งในไม่กี่มะเร็งที่ป้องกันได้ หากได้รับการตรวจคัดกรองฯ อย่างถูกต้อง และสม่ำเสมอ โดยมะเร็งปากมดลูกมีสาเหตุมาจากการติดเชื้อไวรัสเอชพีวี และมีระยะเวลาการดำเนินโรค 10 ปี ตั้งแต่ได้รับเชื้อและมีการเปลี่ยนแปลงของเซลส์ จนกระทั่งพัฒนาเป็นมะเร็ง

นพ.ปิยวัฒน์ กล่าวว่า ปัจจุบัน ในประเทศไทยมีผู้ป่วยมะเร็งปากมดลูกจากการคาดการณ์จำนวน 5,422 ราย ในปี 2017 และลดลงเล็กน้อยต่อเนื่อง 5,320 ราย ในปี 2020 ปัจจุบัน อุบัติการณ์การเกิดมะเร็งปากมดลูกอยู่ที่ 11.1 ต่อประชากร 100,000 คน แต่องค์การอนามัยโลก ต้องการให้ทุกประเทศลดอุบัติการณ์การเกิดมะเร็งปากมดลูกเป็น 4 ต่อ 100,000 คน ดังนั้น ประเทศไทยยังคงต้องดำเนินการตรวจคัดกรองมะเร็งอย่างเข้มข้น รวมกับการฉีดวัคซีนให้เด็กนักเรียน ซึ่งมีหลายปัจจัยที่ทำให้ผู้หญิงละเลย ไม่เข้ารับการตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูก อาทิ ไม่รู้ว่ามะเร็งปากมดลูก ซึ่งเกิดจากเชื้อเอชพีวีสายพันธุ์เสี่ยงสูง (สายพันธุ์ 16 และสายพันธุ์ 18) หากตรวจพบเชื้อเร็วก็สามารถเข้ารับการวินิจฉัยและรักษาตั้งแต่เนิ่น ๆ ก่อนที่เชื้อดังกล่าวจะทำให้เซลส์ผิดปกติ และพัฒนาเป็นมะเร็งปากมดลูกได้

นพ.ปิยวัฒน์ เลาวหุตานนท์ แสดงชุดตรวจมะเร็งปากมดลูกด้วยตัวเอง

นอกจากนั้น ยังเกิดจากเหตุผลส่วนตัว เช่น กลัวการขึ้นขาหยั่ง กลัวเจ็บ อายแพทย์ และกังวลเรื่องค่าใช้จ่ายในการตรวจ และรักษาหากพบว่าเป็นมะเร็ง เป็นต้น ทำให้หลายคนเข้ารับการตรวจเมื่อมีอาการ และพบว่าเป็นมะเร็งปากมดลูกแล้ว ซึ่งน่าเสียดายหากผู้ป่วยเข้ารับการตรวจคัดกรองหาเชื้อเอชพีวีอย่างสม่ำเสมอ ก็จะสามารถลดความเสี่ยงในการเป็นมะเร็ง และลดอัตราการเสียชีวิตจากโรคนี้ได้ในที่สุด


“การมีทางเลือกในการตรวจเพิ่มขึ้น ให้กับประชาชนกลุ่มเสี่ยง ด้วยการเปิดโอกาสให้สามารถเลือกเก็บตัวอย่างด้วยตนเองได้ เป็นการตรวจหาเชื้อเอชพีวี ที่เป็นสาเหตุหลักในการทำให้เกิดโรคมะเร็งปากมดลูก ซึ่งต่างจากการตรวจแบบ แปปสเมียร์ ที่เป็นการตรวจหาความผิดปกติของเซลล์ ซึ่งต้องรอให้เซลล์ผิดปกติไปแล้วจึงจะตรวจพบ ก็เชื่อว่าน่าจะช่วยเพิ่มความสบายใจในการเข้ารับการตรวจให้แก่ผู้ป่วยได้ และจะสามารถวางแผนการรักษาได้อย่างทันท่วงที”นพ.ปิยวัฒน์กล่าว

ดร.ศุลีพร แสงกระจ่าง

ด้าน ดร.ศุลีพร แสงกระจ่าง รองผู้อำนวยการด้านการพัฒนาระบบสุขภาพ สถาบันมะเร็งแห่งชาติ กล่าวว่าประเทศไทยมีนโยบายและการวางแผน การให้บริการและรักษา ตลอดจนระบบสุขภาพ และการสนับสนุนการรักษาโรคมะเร็งจากรัฐบาลดีอยู่ในระดับต้น ๆ ของโลก การนำนวัตกรรมการตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูกด้วยวิธี เอชพีวี ดีเอ็นเอ เทสต์ ถือเป็นหนึ่งใจความตั้งใจพยายามผลักดันให้ประชาชนตระหนัก และเกิดความเข้าใจที่ถูกต้อง ตลอดจนเห็นความสำคัญของการเข้ารับการตรวจคัดกรอง รวมถึง สิทธิการรักษาที่เหมาะสม ซึ่งเป็นยุทธศาสตร์ระยะยาวของสถาบันฯ พร้อมกล่าวถึงแนวทางการวินิจฉัยในห้องปฏิบัติการว่า มุ่งเน้นการตรวจ เอชพีวี ดีเอ็นเอ เทสต์ ทั่วประเทศ

สำหรับการตรวจวินิจฉัยเชื้อดร.ศุลีพร กล่าวว่า ยังต้องดำเนินการโดยนักเทคนิกการแพทย์ตามแนวเวชปฏิบัติ ในห้องปฏิบัติการหรือห้องแล็บเท่านั้น แต่จะเป็นการเพิ่มทางเลือกให้ประชาชนในการเลือกให้แพทย์เป็นผู้เก็บตัวอย่างให้เช่นเคย หรือจะเลือกเก็บตัวอย่างเองก็ได้ ซึ่งต้องทำในสถานพยาบาลเท่านั้น โดยเจ้าหน้าที่พยาบาลจะเป็นผู้แนะนำวิธีการเก็บตัวอย่างตามคู่มือการใช้งานอย่างละเอียดและถูกต้อง โดยให้ผู้ป่วยทำการสว็อบตัวอย่างทางช่องคลอดด้วยไม้สว็อบ ตามคำแนะนำในห้องน้ำ ก่อนจะนำผลที่ได้ใส่ในกล่องเก็บสิ่งส่งตรวจให้เจ้าหน้าที่ทำการวิเคราะห์ผลตรวจในห้องปฏิบัติการต่อไป อย่างไรก็ดี เมื่อทราบผลการตรวจคัดกรองฯ จากแพทย์ หากพบเชื้อเอชพีวี ผู้ป่วยสามารถวางแผนการรักษาที่เหมาะสมกับแพทย์ได้แต่เนิ่น ๆ ในขณะที่หากผลตรวจออกมาไม่พบเชื้อ เอชพีวี ผู้ป่วยก็สามารถวางแผนการเข้ารับการตรวจคัดกรองฯ ใหม่อีกครั้งในอีก 5 ปี ไม่ต้องจำเป็นต้องตรวจทุกปี ซึ่งถือว่าเป็นอีกหนึ่งข้อดี ที่แตกต่างจากการตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูกแบบเดิม


“การตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูกแบบ เอชพีวี ดีเอ็นเอ เทสต์ ณ ขณะนี้ ยังไม่สามารถหาซื้อได้ตามร้านขายยาทั่วไป แต่เป็นทางเลือกใหม่ที่มีให้บริการในโรงพยาบาลรัฐบาล และเอกชน ซึ่งผู้ป่วยสามารถสอบถามเจ้าหน้าที่ และเลือกดำเนินการตามความต้องการและตามสิทธิ์การรักษาพยาบาลของตนเองได้”ดร.ศุลีพรกล่าว

ทพ.อรรถพร ลิ้มปัญญาเลิศ

ด้าน ทพ.อรรถพร ลิ้มปัญญาเลิศ รองเลขาธิการ สปสช. กล่าวถึงเป้าหมาย นโยบาย และยุทธศาสตร์ของ สปสช. ในการกำจัดมะเร็งปากมดลูกให้หมดสิ้นในปัจจุบัน และในอนาคต รวมถึงสิทธิประโยชน์ในการตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูก ความครอบคลุม และกลุ่มประชาชน ตั้งแต่การตรวจคัดกรอง ตลอดจนหากพบผู้ป่วย และมีการรักษา ว่า ปัจจุบัน สปสช. มีการบูรณาการโครงการรณรงค์การตรวจ คัดกรองมะเร็ง ปากมดลูกด้วยวิธี เอชพีวี ดีเอ็นเอ เทสต์ ให้กับผู้หญิงไทยอายุ 30-60 ปี ครอบคลุมทุกสิทธิ์ทั่วประเทศฟรี ซึ่งจัดโดยสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดและเครือข่ายหน่วยบริการในพื้นที่ จากที่เคยใช้การตรวจด้วยเทคนิคแปปสเมียร์ (Pap smear) แต่ในปีนี้ก็ได้มีการปรับวิธีการตรวจใหม่โดยใช้เทคนิค เอชพีวี ดีเอ็นเอ เทสต์ หรือการตรวจด้วยวิธีเจาะลึกระดับดีเอ็นเอเพื่อตรวจหาเชื้อเอชพีวี เป็นการตรวจรหัสพันธุกรรมที่มีความแม่นยำและมีความไวที่สูงกว่า

รวมทั้งทางเลือกใหม่ล่าสุดคือการตรวจแบบ เอชพีวี ดีเอ็นเอ แบบเก็บตัวอย่างด้วยตัวเอง จะสามารถทราบผลได้ภายใน 1 เดือน ซึ่งในปีที่ผ่านมาได้มีการตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูกในกลุ่มสตรีอายุ 30-60 ปีทั้งสิ้นกว่า 822,301 ราย โดยมะเร็งปากมดลูกมีโอกาสรักษาได้หากรับการดูแลในระยะเริ่มต้น ดังนั้น เพื่อเพิ่มประสิทธิผลการตรวจคัดกรองและเป็นไปตามแนวทาง (Guideline) ฉบับปรับปรุงเดือนกันยายน 2561 ของราชวิทยาลัยสูตินรีแพทย์แห่งประเทศไทย บอร์ด สปสช. จึงมีมติให้เพิ่ม “สิทธิประโยชน์การตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูกด้วยวิธี เอชพีวี ดีเอ็นเอ เทสต์” เพื่อทดแทนวิธีแปป สเมียร์ (Pap smear) ทุก 5 ปี โดย สปสช. สนับสนุนงบประมาณรูปแบบจ่ายตามรายการบริการ (Fee schedule)

“การตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูกด้วยเทคนิคเอชพีวี ดีเอ็นเอ เทสต์ นั้นใช้งบประมาณเทียบเท่ากับการตรวจด้วยเทคนิคเดิม แต่ความยาก คือ จะทำอย่างไรให้กลุ่มเป้าหมายมาตรวจกันมากๆ ฉะนั้น ทางเลือกในการตรวจคัดกรองแบบเก็บตัวอย่างด้วยตัวเองที่เพิ่มเข้ามานี้ รวมทั้ง การจัดให้มีหน่วยออกตรวจประชาชนในพื้นที่ และสิทธิ์หลักประกันสุขภาพ จึงเป็นอีกหนึ่งกลไกในการเพิ่มการเข้ารับการตรวจคัดกรองฯ ของประชาชน “รองเลขาสปสช.กล่าว

ทั้งนี้ สามารถสอบถามเพิ่มเติมการใช้สิทธิบัตรทอง ได้ที่ สายด่วน สปสช. 1330 หรือช่องทางระบบออนไลน์ ทั้งไลน์ สปสช. (ไลน์ไอดี @nhso หรือคลิก https://lin.ee/zzn3pU6 และ Facebook: สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ https://www.facebook.com/NHSO.Thailand) และบริการกระเป๋าสุขภาพผ่านทางแอปพลิเคชั่น เป๋าตังค์ หรือเว็บไซต์

พิเชษฐพงษ์ ศรีสุวรรณกุล

ด้านนายพิเชษฐพงษ์ ศรีสุวรรณกุล กรรมการผู้จัดการ บริษัท โรช ไดแอกโนสติกส์ (ประเทศไทย) กล่าวว่า วงการสาธารณสุข และเฮลธ์แคร์ทั้งภาครัฐ และเอกชนทั่วโลก ต่างมีโจทย์ใหญ่ในการกำจัดโรคมะเร็งปากมดลูกให้หมดไป และทำอย่างไรที่จะลดความกังวลของผู้หญิง และเพิ่มการเข้าถึงการตรวจคัดกรองฯ ด้วยเหตุนี้ จึงมีการพัฒนามานวัตกรรมการตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูก ด้วยวิธี เอชพีวี ดีเอ็นเอ แบบเก็บสิ่งส่งตรวจ หรือเก็บตัวอย่างได้ด้วยตัวเองขึ้น ซึ่งเป็นการตรวจหาเชื้อเอชพีวี ที่เป็นสาเหตุหลักของมะเร็งปากมดลูก


“โรช ไดแอกโนสติกส์ (ประเทศไทย) เองในฐานะผู้พัฒนาเครื่องมือตรวจวิเคราะห์ในห้องปฏิบัติการ และผู้สนับสนุนงานเสวนาในวันนี้ ให้ความสำคัญกับการพัฒนาองค์ความรู้เพื่อส่งเสริมให้ประชาชน ตลอดจนบุคลากรทางการแพทย์มีความรอบรู้ด้านสุขภาพ ควบคู่กับการพัฒนานวัตกรรมเครื่องมือตรวจวิเคราะห์ เพื่อตอบโจทย์การตรวจวินิจฉัย รักษา และป้องกัน ให้ประชาชนสามารถดูแลสุขภาพตนเองได้อย่างถูกต้อง และมีประสิทธิภาพ หวังว่าข้อมูลการตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูกด้วยวิธี เอชพีวี ดีเอ็นเอ แบบเก็บตัวอย่างด้วยตัวเอง ไม่ต้องขึ้นขายั่ง เป็นเป็นอีกทางเลือกหนึ่งให้สุภาพสตรีทั้งหลาย เข้ารับการตรวจคัดกรองฯ มากขึ้น เพื่อตัวท่านเอง และคนที่ท่านรัก” นายพิเชษฐพงษ์ กล่าวปิดท้าย

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

นายกฯ สั่ง 'สปสช.-สปส.' ร่วมยกระดับหลักประกันสุขภาพ

นายกฯ สั่งการเดินหน้าบูรณาการการทำงาน สปสช.- สปส. ร่วมมือการทำงาน เริ่ม 1 เม.ย.2567 ยกระดับหลักประกันสุขภาพตรวจสุขภาพเพิ่มเติมตามกลุ่มช่วงอายุ โดยไม่มีค่าใช้จ่าย

สปสช.ยังค้างจ่ายเงินโรงเรียนแพทย์ร่วม 1,000 ล้านบาท แจงยิบติดค้างรพ.ละเท่าไหร่

รศ.นพ.สุรศักดิ์ ลีลาอุดมลิปิ ประธานคณะกรรมการอำนวยการเครือข่ายโรงพยาบาลกลุ่มสถาบันแพทยศาสตร์แห่งประเทศไทย (UHosNet) กล่าวถึงกรณี รองเลขาฯ สปสช.ชี้แจงค้างจ่ายเงินโรงพยาบาลโรงเรียนแพทย์ ที่ไม่สามารถเรียกเก็บได้ รวม 369 ล้านบาท ว่าเกิดจากการเรียกเก็บค่าชดเชย ที่ติดรหัส C และติดรหัส DENY นั้น ไม่ครบถ้วน