'นักวิทยาศาสตร์ข้อมูล'อาชีพมาแรงมากที่สุด ตลาดต้องการ 3หมื่นราย ไทยมีไม่ถึง 1 พันคน

iBOTNOI จุฬาฯจับมือกับ xLab Digital บริษัทในกลุ่ม บริษัท อนันดา ดีเวลลอปเม้นท์  เปิดหลักสูตร  The Data Master สร้าง”นักวิทยาศาสตร์ข้อมูล “อาชีพที่มาแรง ตลาดแรงงาน ต้องการมากที่สุดไม่ต่ำกว่า 30,000 ราย แต่ในประเทศไทยมีไม่ถึง 1,000 คน นำร่องปีแรกจะมีคนจบหลักสูตรประมาณ 100 คน ใช้เวลาเรียนประมาณ 14 สัปดาห์  

อาชีพนักวิทยาศาสตร์ข้อมูล หรือ Data Scientists คือ การนำข้อมูลขนาดใหญ่(Big Data) มาใช้ให้เกิดประโยชน์ โดยผ่านกระบวนการทางเทคนิคไม่ว่าจะเป็น Artificial Intelligence (AI) วิธีการคิดทางคณิตศาสตร์ การเขียนโปรแกรม การวิเคราะห์ข้อมูลที่จะเน้นในเชิงธุรกิจทุกรูปแบบที่มีคลังข้อมูลมหาศาล เพื่อทำนายเหตุการณ์หรือผลลัพธ์ในอนาคต เช่น การต่อยอดพัฒนาผลิตภัณฑ์ เข้าใจกลุ่มลูกค้าเป้าหมาย เป็นต้น

โดยสำนักสถิติแรงงานสหรัฐฯ คาดว่าจำนวนนักวิทยาศาสตร์ข้อมูลมีแนวโน้มที่จะโตถึง 31% ในช่วงทศวรรษนี้ และจะมีการเติบโตมากกว่าสาขาอาชีพอื่นๆ ในช่วงปี 2565-2572  เพราะในปัจจุบันทุกองค์กรมีข้อมูลมหาศาล ที่อาจจะยังไม่ได้ถูกดึงมาใช้ประโยชน์ได้อย่างเต็มที่

ด้านประเทศไทย นักวิทยาศาสตร์ข้อมูล ถือว่ายังเป็นที่รู้จักในวงแคบ ซึ่งในปัจจุบันมีนักวิทยาศาสตร์ข้อมูลรองรับความต้องการของตลาดไม่ถึง 10%  ซึ่งถือว่าเป็นอาชีพที่ตลาดต้องการสูงสุดอาชีพหนึ่งในประเทศไทย เพราะหลายองค์กรต้องการตัวเพื่อเข้ามาทำให้ข้อมูลต่างๆเกิดโยชน์ต่อกลุ่มลูกค้าและผลิตภัณฑ์ ในหลักสูตรการศึกษาอาชีพนี้เรียกได้ว่าเปิดกว้าง สามารถลื่นไหลประยุกต์เข้ากับได้ทุกสาขาๆ ซึ่งหลายมหาลัยในตอนนี้ก็เริ่มมีการพัฒนาหลักสูตรนักวิทยาศาสตร์ข้อมูลซึ่งภาครัฐและเอกชนในไทยคาดว่าจะมีบุคลากรด้านนี้เพิ่มขึ้นไม่ต่ำกว่า 30,000 คน ภายในปี 2570

ล่าสุด iBOTNOI จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ร่วมมือกับ xLab Digital บริษัทในกลุ่ม บริษัท อนันดา ดีเวลลอปเม้นท์ จำกัด (มหาชน) ร่วมมือกันเปิดหลักสูตร “The Data Master” คอร์สนำร่องของ The Master Academy  เป็นหลักสูตรที่ถูกดีไซน์ให้เป็นการเรียนการสอนแบบบูรณาการแบบเข้มข้น เพื่อมุ่งพัฒนานักวิทยาศาสตร์ข้อมูลเพื่อช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจในอุตสาหกรรมด้านต่างๆ ที่กำลังเติบโตในประเทศไทย และเพื่อรองรับความต้องการของตลาดโลกในปัจจุบัน โดยคลาสเรียนมีระยะเวลา14 สัปดาห์ หลังจากนั้นจะได้เข้าฝึกงานกับบริษัทเอกชนเป็นระยะเวลา 3 เดือน

ดร.วินน์ วรวุฒิคุณชัย ผู้ก่อตั้งและประธานเจ้าหน้าที่บริหาร iBOTNOI Group กล่าวว่า นักวิทยาศาสตร์ข้อมูล เริ่มเป็นที่รู้ในวงกว้างเมื่อประมาณปี ค.ค. 2014 ก็ราวๆ  7-8 ปีผ่านมาแล้ว ถือเป็นอาชีพใหม่ ที่คนอาจจะยังรู้จักไม่มาก เพราะในมหาวิทยาลัยของไทย ยังไม่มีหลักสูตรเกี่ยวกับสายอาชีพนี้ ส่วนตนนั้นจบทางด้านเอไอ จากประประเทศฝรั่งเศส เทคโนโลยีเอไอนี้ ทำให้เราสามารถมองเห็นภาพที่มนุษย์เห็นเพียง 3 มิติ เป็น 100-1,000 มิติได้เลย แต่จุดเริ่มต้นของการทำอาชีพนี้ของตนคือการเป็น AI Engineer คือการนำ AI มาใช้พัฒนาธุรกิจ แต่ในวันที่เราเป็นนักวิทยาศาสตร์ข้อมูลแบบเต็มตัว คือการนำข้อมูลลูกค้ามาผสมกับเทคนิคทางเอไอ ที่จะไม่ใช่การมองภาพ แต่จะเป็นการประมวลผลข้อมูลที่องค์กรมีออกมาเป็น Business Use Case ได้

ดร.วินน์  อธิบายเพิ่มเติมว่า นักวิทยาศาสตร์ข้อมูล  แตกต่างจากนักวิเคราะห์ข้อมูล ซึ่งเป็นอาชีพที่เกิดขึ้นมาก่อน โดยมีการนำข้อมูลขององค์กรมาวิเคราะห์และพล็อตกราฟ หรือการทำสถิติต่างๆ มาผนวกกับความรู้ทางด้านธุรกิจของตนเอง เช่น นักวิเคราะห์หุ้น เป็นการนำเอาข้อมูลส่วนตัวประกอบร่างกับธุรกิจ หรือเทรนด์ แสดงผลเป็นพล็อตกราฟที่อธิบายให้ผู้อื่นเข้าใจได้ แต่นักวิทยาศาสตร์ข้อมูล จะไม่ค่อยนำความคิดของตนเองมาใส่ในการวิเคราะห์มากเท่านักวิเคราะห์ข้อมูล ส่วนใหญ่จะเป็นการนำเอาข้อมูล มาผสมกับเทคนิคทางด้านเอไอ เพื่อทำนายเหตุการณ์หรือพฤติกรรมของบุคคล ที่มีประโยชน์ทางด้านผลิตภัณฑ์ของธุรกิจนั้นๆ ที่จะสามารถมุ่งเป้าไปหาลูกค้าได้ถูกกลุ่มเป้าหมาย หรือการค้นพบยาตัวใหม่ การรักษาใหม่ เป็นต้น และในส่วนผลตอบแทนของอาชีพนี้ต่อเดือนก็จะได้ราวๆ 1 แสนบาท

“ในประเทศไทยมีคนที่ประกอบอาชีพนักวิทยาศาสตร์ข้อมูล มุมมองส่วนตัวนั้นคิดว่าอาจจะมีไม่ถึง 1,000 คน จึงเป็นที่ต้องการในตลาด ซึ่งในต่างประเทศก็ยังไม่ได้มีจำนวนมากนัก สาเหตุเพราะต้องอาศัยความรู้พื้นฐาน เช่น การเขียนโปรแกรม หรือความรู้ทางด้านเอไอ การวิเคราะห์ธุรกิจ แต่สิ่งที่ยากกว่า คือ การมีประสบการณ์ในภาคธุรกิจ เพราะสิ่งเหล่านี้ต้องนำมาประยุกต์ใช้ตั้งแต่การแปลงโจทย์ทางธุรกิจ นำเอาเอไอเข้าวิเคราะห์และสร้างโมเดลในการทำนายเหตุการณ์ที่จะเกิดขึ้น จนในขั้นตอนสุดท้ายนำผลลัพธ์ที่ได้มาอธิบายให้ผู้บริหารฟัง ซึ่งในแต่ละธุรกิจก็จะมีความหลากหลายและผลลัพธ์ที่แตกต่างกัน” ดร.วินน์ กล่าว

ดร.วินน์ วรวุฒิคุณชั

หลักสูตร The Data Master  ถือว่าเป็นบันไดก้าวแรกในระบบการศึกษา ผลิตนักวิทยาศาสตร์ข้อมูลสู่ตลาด ดร.วินน์  บอกว่า หลักสูตรนี้ได้ถูกออกแบบมาอย่างเข้มข้นในระยะเวลา 14 สัปดาห์ จากผู้เชี่ยวชาญในสายงาน หลักจากเรียนจบก็จะเข้าสู่การฝึกงานอีก 3 เดือน มีรูปแบบการเรียนที่เน้นสร้างการมีส่วนร่วมระหว่างผู้สอนและผู้เรียน ผ่านการทำโปรเจคและเวิร์คช็อปทั้งออฟไลน์และออนไลน์ โดยเบื้องต้นจะเริ่มตั้งแต่ปูพื้นฐานภาษา Python เรียนรู้หลักสถิติและตัวชี้วัดในทาง Data Science การทำนายแนวโน้มของรายได้ รายจ่าย หรือจำนวนลูกค้า การหาสิ่งที่ผิดแปลกปลอมในข้อมูล เป็นหนึ่งในงานที่จำเป็นสำหรับการป้องกันความเสียหายของบริษัทและลูกค้าของบริษัท เป็นต้น ซึ่งได้ตั้งเป้านำร่องผลิตนักวิทยาศาสตร์ข้อมูลที่ 100 คน ซึ่งถือว่าเป็นจำนวนที่น้อยหรือคิดเป็นเพียง 0.3% ของความต้องการบุคลากรด้านนี้ ที่มีประมาณ  30,000 คน  ดังนั้น 100 คนนี้จะเป็นกำลังสำคัญในการขับเคลื่อนให้เกิดนักวิทยาศาสตร์ข้อมูลเพิ่มขึ้น

มหาลัยนับว่าเป็นตัวแปรสำคัญ สำหรับการปั้นนักวิทยาศาสตร์ข้อมูล ดร.วินน์ ให้มุมมองว่า การเรียนการสอนในมหาวิทยาลัยจะมีหลักสูตรเจาะจงตามความสนใจของผู้เรียนในคณะต่างๆเช่น คณะวิทยาศาสตร์ คณะวิศวกรรมศาสตร์ คณะบัญชี คณะแพทยศาสตร์ และอีกมากมาย แต่นักวิทยาศาสตร์ข้อมูลยังไม่มีหลักสูตรที่เจาะจงหรือบังคับตายตัว ทำให้สามารถที่จะสอดแทรกเข้าอยู่ได้ทุกบทเรียน ซึ่งถ้ามหาลัยร่วมมือกับเอกชนที่สามารถนำข้อมูลขององค์กรมาร่วมเป็นเรียนให้นักศึกษาได้ฝึกประมวล วิเคราะห์ ก็อาจจะทำให้เกิดเป็นหลักสูตรได้อย่างจริงจัง

ด้านศ.ดร.บัณฑิต เอื้ออาภรณ์ อธิการบดี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า ในการเปิดหลักสูตร The Data Master ครั้งนี้  เป็นการผลักดันในด้าน Digital University ที่มีเป้าชัดในการนำเทคโนโลยีมาใช้จริงให้เกิดประโยชน์กับนิสิตและบุคลากร ในการร่วมมือกับเอกชนจะช่วยเอาประสบการณ์จริงในโลกธุรกิจมาเชื่อมกับความรู้ทางวิชาการจากจุฬาฯ แล้วพัฒนาเป็นหลักสูตรเพื่อผลิต Data Scientists ที่ช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจและรองรับความต้องการของตลาดไทยและตลาดโลกได้จริง ในอนาคตจุฬาฯ จะเปิดโอกาสให้ทุกคนที่สนใจเพิ่มพูนความรู้และทักษะ ได้โอกาสเรียนรู้ร่วมกับอาจารย์จุฬาฯ พร้อมทั้งได้เข้ามาใช้ประโยชน์จากหลักสูตรและแพลตฟอร์มการเรียนรู้ที่จะพัฒนาออกมาอย่างต่อเนื่อง

นายชานนท์ เรืองกฤตยา ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร  xLab Digital Company Limited กล่าวว่า ได้เล็งเห็นถึงความสำคัญของบุคคลากรด้านนักวิทยาศาตร์ข้อมูล ที่มีบทบาทสำคัญมากต่อภาคธุรกิจโดยเฉพาะอย่างยิ่งในการพิจารณาและการตัดสินใจ เพื่อสร้างข้อได้เปรียบในการพัฒนาธุรกิจ สินค้า และการบริการต่างๆ รวมทั้ง การแสดงแนวโน้มและการคาดการณ์ต่างๆ  โดยการสรุปข้อมูล ที่มีประโยชน์เหล่านั้นจะสามารถช่วยให้ผู้ประกอบนำผลลัพธ์ไปใช้อย่างมีประสิทธิภาพ นอกจากนี้ในปัจจุบัน นักวิทยาศาสตร์ข้อมูลกำลังเป็นที่ต้องการในตลาดโลก แต่ในขณะที่หลาย ๆ ภาคอุตสาหกรรมไทยยังประสบปัญหาการขาดแคลนบุคลากรในด้านนี้เป็นอย่างมาก ซึ่งส่งผลกระทบโดยตรงต่อการขับเคลื่อนเศรษฐกิจในประเทศไทย

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

จุฬาฯ ปักธงยุทธศาสตร์ปี 68 ดันสยาม-บรรทัดทอง สู่พื้นที่สร้างโอกาสให้คนไทยทุกคน

ถ้าใครมีโอกาสแวะมาเดิน Siam Square ในช่วงไม่กี่เดือนที่ผ่านมานี้ อาจจะแปลกใจ ที่สยามสแควร์ไม่ใช่เป็นเพียงพื้นที่สำหรับนักช็อป หรือวัยรุ่นที่มาเปิดหมวกร้องเพลงเท่านั้น

จุฬาฯ จับมือกรม Climate Change และเครือข่ายพันธมิตรภาคเอกชน เปิดตัวหลักสูตร “TOP Green” หลักสูตรผู้บริหารระดับสูงด้าน Sustainability

จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ร่วมกับกรมการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อม หอการค้าไทย และสภาหอการค้าไทย สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย และ UN Global Compact Network Thailand

จุฬาฯ “เปิดแพลตฟอร์ม ฝ่าพิบัติ: Digital War Room” นวัตกรรมเตือนพื้นที่น้ำท่วมและแนวดินถล่มจากอุทกภัย

จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยจัดงานเสวนาวิชาการ Chula the Impact ครั้งที่ 25 เรื่อง “แพลตฟอร์มจุฬาฯ ฝ่าพิบัติ: Digital War Room” เพื่อนำเสนอนวัตกรรมจากคณาจารย์นักวิจัยจุฬาฯ