สะท้านวงการดาราศาสตร์ หลังเจอ 'ดาวหาง' ที่มีขนาดใหญ่ที่สุดเท่าที่เคยมีการค้นพบ

ฮับเบิลยืนยัน!! ดาวหางที่มีขนาดใหญ่ที่สุดเท่าที่เคยมีการค้นพบ

26 พ.ค. 2565 – เพจ NARIT สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ รายงานว่า นักดาราศาสตร์ค้นพบดาวหางที่ใหญ่ที่สุดเท่าที่เคยค้นพบมา มีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 136 กิโลเมตร ซึ่งใหญ่กว่าดาวหางทั่ว ๆ ไปถึง 50 เท่า และคาดว่าจะมีมวลมากถึง 500 ล้านล้านตัน
จากภาพประกอบ แสดงให้เห็นนิวเคลียสของดาวหาง C/2014 UN271 (Bernardinelli-Bernstein) ภาพด้านซ้ายบน เป็นภาพถ่ายดาวหางที่ถ่ายด้วยกล้อง Wide Field Camera 3 บนกล้องโทรทรรศน์อวกาศฮับเบิล เมื่อวันที่ 8 มกราคม ค.ศ. 2022 แสดงให้เห็นลักษณะเป็นจุดสว่างบริเวณตำแหน่งของนิวเคลียส สามารถใช้จำลองโครงสร้างของดาวหาง (ส่วนของโคมา) ได้ดังภาพบนขวา หลังจากนั้นนักดาราศาสตร์ได้มีการเปรียบเทียบความสว่างของนิวเคลียส ร่วมกับการสังเกตการณ์ในช่วงคลื่นวิทยุจากกล้องโทรทรรศน์ Atacama Large Millimeter/submillimeter Array หรือ ALMA ในประเทศชิลี ทำให้ทราบเส้นผ่านศูนย์กลางของดาวหางได้ และยังสามารถวัดค่าการสะท้อนแสงของนิวเคลียส พบว่า นิวเคลียสสะท้อนแสงได้น้อย บ่งชี้ว่ามีสีดำและเข้มมาก (ต้องย้ำว่า นี่ไม่ใช่เรื่องง่ายสำหรับการวัดขนาดวัตถุที่อยู่ห่างไกลออกไปถึง 3.2 พันล้านกิโลเมตร หรือแม้แต่การแยกนิวเคลียสที่เป็นของแข็งออกจากโคมาที่ห่อหุ้มอยู่ แต่ฮับเบิลทำได้!)

ดาวหาง C/2014 UN271 (Bernardinelli-Bernstein) ค้นพบโดยบังเอิญจากนักดาราศาสตร์ 2 คน ได้แก่ Pedro Bernardinelli และ Gary Bernstein เมื่อเดือนพฤศจิกายน ค.ศ. 2010 ขณะนั้นดาวหางอยู่ห่างจากดวงอาทิตย์ 4.8 พันล้านกิโลเมตร ซึ่งใกล้เคียงกับวงโคจรดาวเนปจูน นับตั้งแต่นั้นกล้องโทรทรรศน์ภาคพื้นดินและกล้องโทรทรรศน์อวกาศก็ได้มีการสังเกตการณ์ดาวหางดวงนี้อย่างจริงจังมากขึ้น

ขณะนี้ ดาวหางอยู่ห่างจากดวงอาทิตย์ไม่ถึง 3.2 พันล้านกิโลเมตร ที่ระยะนี้ดาวหางจะมีอุณหภูมิประมาณ -176 องศาเซลเซียส แม้จะอุณหภูมิต่ำมากแต่ก็เพียงพอที่จะทำให้คาร์บอนมอนอกไซด์ระเหิดออกจากพื้นผิวจนกลายเป็นโคมาห้อมล้อมดาวหางได้ และกำลังโคจรเข้ามาใกล้ดวงอาทิตย์จากขอบของระบบสุริยะด้วยความเร็วประมาณ 35,000 กิโลเมตรต่อชั่วโมง จะเข้าใกล้ดวงอาทิตย์ที่สุดในช่วงปี ค.ศ. 2031 ซึ่งไม่ใช่เรื่องที่น่ากังวลต่อโลกของเราแต่อย่างใด เนื่องจากจุดที่ดาวหางจะเข้ามาใกล้ดวงอาทิตย์มากที่สุดนั้น อยู่ห่างออกไปประมาณ 1 พันล้านกิโลเมตร หรือแค่ประมาณวงโคจรของดาวเสาร์เพียงเท่านั้น

สำหรับสถิติเดิม ดาวหางที่มีขนาดใหญ่ที่สุด คือ ดาวหาง C/2002 VQ94 มีเส้นผ่านศูนย์กลางนิวเคลียสประมาณ 96 กิโลเมตร ค้นพบใน ปี ค.ศ. 2002 โดยโครงการ Lincoln Near-Earth Asteroid Research (LINEAR) ซึ่งเป็นโครงการวิจัยเกี่ยวกับดาวเคราะห์น้อย
แม้ว่าขณะนี้ดาวหาง C/2014 UN271 จะเป็นดาวหางที่มีขนาดใหญ่ที่สุดแล้วในปัจจุบัน แต่มีเพียงกล้องโทรทรรศน์อวกาศฮับเบิลเท่านั้นที่สามารถสังเกตการณ์ดาวหางดวงนี้ได้คมชัด และสามารถวัดขนาดนิวเคลียสได้ ในอนาคต หากเทคโนโลยีและเครื่องมือทางด้านดาราศาสตร์มีความก้าวหน้ามากขึ้น เราอาจจะค้นพบดาวหางอีกมากและมีความเป็นได้ที่จะค้นพบดาวหางที่มีขนาด ใหญ่กว่านี้
ดาวหาง C/2014 UN271 โคจรรอบวงดวงอาทิตย์เป็นวงรีที่เกือบจะตั้งฉากกับระนาบของระบบสุริยะ มีคาบการโคจรประมาณ 3 ล้านปี ตำแหน่งที่ห่างจากดวงอาทิตย์มากที่สุด อยู่ห่างออกไปประมาณครึ่งปีแสง (ประมาณ 4.5 ล้านล้านกิโลเมตร) เป็นบริเวณที่นักดาราศาสตร์เรียกว่า “เมฆออร์ต (Oort Cloud)” ซึ่งเป็นพื้นที่ทางทฤษฎีที่เสนอโดยแจน ออร์ต (Jan Oort) ในช่วงปี 1950 คาดการณ์เอาไว้ว่า ที่ระยะห่างตั้งแต่ 2,000 ถึง 200,000 เท่าของระยะห่างจากโลกถึงดวงอาทิตย์ จะเต็มไปด้วยวัตถุจำพวกน้ำแข็งขนาดเล็ก และน่าจะเป็นแหล่งกำเนิดของดาวหางจำนวนมาก

แต่จนถึงปัจจุบันนี้ เมฆออร์ตก็ยังคงเป็นทฤษฎี เนื่องจากวัตถุเหล่านี้มีขนาดเล็กและอยู่ไกลเกินกว่าจะสังเกตได้ด้วยกล้องโทรทรรศน์ อาจเรียกได้ว่าเป็นโครงสร้างที่ใหญ่ที่สุดของระบบสุริยะ แต่ก็ยังไม่มีหลักฐานการค้นพบโดยตรงเลยสักครั้ง แม้กระทั่งวอยเอเจอร์ 1 และ 2 ที่เป็นยานอวกาศที่มนุษย์ส่งไปได้ไกลที่สุด ก็จะใช้เวลาอีกไม่ต่ำกว่า 300 ปีจึงจะเข้าสู่บริเวณเมฆออร์ต และต้องใช้เวลาอีกกว่า 30,000 ปี จึงจะเคลื่อนที่ผ่านขอบนอกสุดของเมฆออร์ตไปได้ ซึ่งถือว่าเป็นขอบเขตที่ใหญ่และกว้างขวางเป็นอย่างมาก

หลักฐานจากดาวหางที่เคลื่อนที่เข้ามายังระบบสุริยะชั้นในจากทุกทิศทุกทาง ทำให้นักดาราศาสตร์คาดว่าเมฆออร์ตจะต้องมีรูปร่างเป็นทรงกลมที่ห่อหุ้มระบบสุริยะไว้ ดาวหางเหล่านี้เป็นหลักฐานสำคัญที่ช่วยให้นักดาราศาสตร์เข้าใจเกี่ยวกับองค์ประกอบของระบบสุริยะเมื่อหลายพันล้านปีก่อนได้ อย่างไรก็ตาม เมฆออร์ตก็ยังเป็นเพียงทฤษฎีที่ยังไม่เคยมีหลักฐานจากการสังเกตการณ์เลย การศึกษาดาวหางเหล่านี้ รวมถึงการศึกษาดาราศาสตร์ในหลากหลายช่วงคลื่น จะช่วยให้นักดาราศาสตร์มีความเข้าใจเกี่ยวกับโครงสร้างของระบบสุริยะได้มากยิ่งขึ้น

เรียบเรียง : ธราดล ชูแก้ว – เจ้าหน้าที่สารสนเทศดาราศาสตร์ สดร.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

สดร.เผยภาพดาวหาง ฝีมือคนไทยบันทึกจากยอดดอยอินทนนท์

สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) (สดร.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม (อว.) เปิดเผยภาพดาวหาง 12P/Pons-Brooks ที่เป็นฝีมือคนไทยบันทึกได้ช่วงหัวค่ำวันที่ 11 มีนาคม 2567 จากยอดดอยอินทนนท์ อ. จอมทอง จ. เชียงใหม่

IRPC เยี่ยมชม สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ

คุณอนุชา สมจิตรชอบ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ ศูนย์นวัตกรรม บริษัท ไออาร์พีซี จำกัด (มหาชน) หรือ IRPC พร้อมคณะ เข้าเยี่ยมชม สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ

แห่ชม 'ฝนดาวตก' คึกคัก! มากสุดถึง 120 ดวงต่อชั่วโมง

สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) (สดร.) เผยบรรยากาศและภาพกิจกรรมคืนฝนดาวตกเจมินิดส์ปีนี้มีปริมาณมากสุดถึง 120 ดวงต่อชั่วโมง

ดูฝนดาวตกเจมินิดส์ คืน 14 - รุ่งเช้า 15 ธ.ค.นี้ เฉลี่ย 120-150 ดวง/ชม. เริ่มสังเกตได้ตั้งแต่ 2 ทุ่ม มาถี่หลังเที่ยงคืน

สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ(องค์การมหาชน)แจ้งชวนประชาชนร่วมชมปรากฏการณ์ทางดาราศาสตร์บนท้องฟ้าค่ำคืนเดือนธันวาคมกับ ฝ