'ชัชชาติ' เผยงบกทม.ปี 66 วงเงิน 7.9 หมื่นล้าน เข้าสภากทม. 20 มิ.ย.นี้

14 มิ.ย.2565 - ที่ห้องประชุมและวางแผน ชั้น 35 อาคารธานีนพรัตน์ ศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร(ดินแดง) (กทม.) นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าฯกทม. เปิดเผยภายหลังการประชุมคณะผู้บริหารกรุงเทพมหานคร ครั้งที่ 8/2565 ว่า การประชุมในวันนี้(14 มิ.ย.) มีเรื่องสำคัญคือเรื่องการจัดทำงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2566 ทั้งหมด 79,000 ล้านบาท ซึ่งจะส่งให้สภากรุงเทพมหานคร (ส.ก.) ภายในวันที่ 20 มิ.ย.นี้ โดยจะเห็นได้ว่ามีงบประมาณหลายส่วน ที่ได้จัดทำตามโครงการที่ตั้งมาแล้ว ส่วนโครงการที่อยู่ในนโยบายของเรา ยังไม่สามารถนำเข้าไปได้ เนื่องจากต้องมีการบรรจุเข้าแผนส่วนราชการก่อน จึงจะมีการนำไปใส่งบประมาณได้ คงต้องเร่งทำในช่วงนี้และจะนำไปใส่ในวาระที่ 2 และวาระที่ 3 ในช่วงที่มีการปรับงบประมาณกับทางส.ก.อีกครั้งหนึ่ง โดยต้องให้ส.ก.พิจารณา แต่คิดว่าขั้นตอนของการแปรญัตติในวาระดังกล่าว อาจจะมีการตัดลดและผู้บริหารสามารถเสนอแผนเข้าไปได้

นายชัชชาติ กล่าวด้วยว่า ทั้งนี้ กทม.มีงบผูกพันค่อนข้างมาก โดยมีโครงการผูกพันกว่า 126 โครงการ วงเงินรวมทั้งหมด 98,710 ล้านบาท ซึ่งปี 2566 มีงบผูกพันจำนวน 14,722 ล้านบาท และปี 2567 จำนวน 24,854 ล้านบาท ดังนั้นงบลงทุนใหม่สำหรับปี 2566 มีจำนวน 1,695 ล้านบาท

"งบประมาณต้องเสนอส.ก. จะพยายามปรับเข้านโยบายเราให้ได้มากที่สุด แต่อย่าลืมว่า กทม.มีงบผูกพันของโครงการที่ทำไว้เยอะ นั่นคือข้อจำกัดอย่างหนึ่งที่อาจทำให้เราต้องหาช่องทาง ที่จะนำแผนนโยบายใส่ลงไป ส่วนเรื่องการจัดเก็บภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง เป็นเรื่องที่เรากังวลด้วย เพราะโดยที่ผ่านมารัฐบาลให้เราเก็บ 10% และปีนี้จะเป็นปีแรกที่มีการเก็บเต็มที่ ได้มีการตั้งเป้าหมายที่ 12,000 ล้านบาท แต่เขาให้สามารถขยับออกไปได้ในการจ่าย น่าจะเหลือเวลา 1-2 เดือน แต่จะทำอย่างไรให้จ่ายให้หมดภายในเดือน ต.ค.นี้ ซึ่งเป็นเรื่องสำคัญที่ต้องเร่งรัดเพราะเป็นรายได้หลักของกทม." นายชัชชาติ กล่าว

เมื่อถามถึงกรณี กลุ่มงานก่อสร้างที่ค้าง ส่วนหนึ่งค้างมาจากสัญญาเว้นให้กับผู้รับเหมาช่วงโควิด-19 จึงทำให้ผู้รับเหมาไม่ตื่นตัว และงบบานปลายนั้น นายชัชชาติ กล่าวว่า งบไม่บานปลายเพราะเราไม่ได้ให้เงินเพิ่ม แต่จะมีปัญหาเรื่องเวลา ที่ไปเบียดเบียนประชาชน ตนคิดว่าอาจจะต้องทำเสนอต่อรัฐบาล เพื่อเร่งรัดเรื่องดังกล่าว และการขยายสัญญาต้องขยายตามที่กฎหมายกำหนด ยกเว้นเป็นมาตรการที่รัฐบาลสั่งมาเรื่องโควิด-19 แต่หากเป็นแง่ของเรา หากไม่ใช่เรื่องจำเป็นจริงๆ เราจะไม่ขยายเพราะยึดประโยชน์ของประชาชนเป็นหลัก

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

‘สุริยะ’ ถกจีนเร่งผลักดันรถไฟความเร็วสูง ‘กรุงเทพ-หนองคาย’ ลุ้นเปิดปี 73

‘สุริยะ’นำคณะเยือนจีน ถกเร่งผลักดันรถไฟความเร็วสูงไทย - จีน ปักหมุดเฟส 1 ไปกรุงเทพ-โคราช เปิดปี 71 ส่วนเฟส2โคราช -หนองคายเปิดปี 73

กทม. เตือนค่าดัชนีความร้อนอยู่เกณฑ์ ‘อันตราย’ ลดเวลาทำกิจกรรมกลางแจ้ง

ค่าดัชนีความร้อน (Heat Index) อยู่ในเกณฑ์ 'อันตราย' คำแนะนำในการปฏิบัติตัว ประชาชนทั่วไป ควรลดระยะเวลาทำกิจกรรมกลางแจ้ง