'ชัยวุฒิ' ถก 'ชัชชาติ' รื้อสายสื่อสารที่ไม่ใช้ ตั้งเป้า 800 กม. ใน 16 เขตให้สำเร็จในปีนี้

4 ก.ค.2565 - ที่อาคารเอ็นที ทาวเวอร์ ถนนเจริญกรุง กรุงเทพมหานคร นายชัยวุฒิ ธนาคมานุสรณ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม หรือดีอีเอส กล่าวหลังการประชุมเรื่องกรุงเทพมหานครเมืองอัจฉริยะ หรือ Bangkok Smart City และการบริหารจัดการท่อร้อยสายสื่อสารลงใต้ดิน ว่าเรื่องการจัดระเบียบสายเป็นเรื่องที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้มอบหมายให้กระทรวงดีอีเอสทำงานร่วมกับ กสทช. และได้ตั้งงบประมาณ ประมาณ 700 ล้านบาท จากเงินอุดหนุนของกองทุนยูโซ่ที่ใช้สำหรับระยะทาง 800 กิโลเมตร (กม.) ภายในบริเวณ 16 เขตกรุงเทพฯชั้นใน โดยจะเริ่มทำพื้นที่เร่งด่วนก่อน 350 กิโลเมตร

นายชัยวุฒิ กล่าวว่า นอกจากนี้ ได้พูดคุยเรื่องการนำสายสื่อสารลงใต้ดิน เนื่องจากท่อที่มีหลายหน่วยงานเป็นเจ้าของ และบางส่วนต้องทำใหม่ จึงเกิดการพูดคุยเพื่อหาทางออกด้านการทำงาน การประเมินงบประมาณการจัดทำ โดยได้จัดตั้งคณะทำงานระหว่างกระทรวงดีอีเอส สํานักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (สำนักงาน กสทช.) กรุงเทพมหานคร บริษัท โทรคมนาคมแห่งชาติ จำกัด (มหาชน) หรือเอ็นที และบริษัท กรุงเทพธนาคม จำกัด หรือเคที เพื่อดำเนินการต่อไป

นายชัยวุฒิ กล่าวต่อว่า เรื่องการจัดหางบประมาณในการดำเนินการทั่วกรุงเทพฯต้องใช้เงินประมาณ 20,000 ล้านบาท เป็นตัวเลขมาจากข้อมูลที่บริษัทเคทีได้ประเมินไว้ 19,000 ล้านบาท เบื้องต้นได้พูดคุยกันว่า กสทช.จะนำเรื่องเสนอต่อบอร์ด กสทช.ให้สนับสนุนงบเงินมาช่วยครึ่งหนึ่ง อาจเป็น จำนวน 10,000 ล้านบาท ซึ่งต้องใช้ระยะเวลาในการพิจารณา หากดำเนินการภายใต้บริษัทเอ็นทีเป็นผู้จัดทำในงบ 10,000 ล้านบาท อาจเพียงพอสำหรับดำเนินงาน แต่ยังไม่ได้ระบุว่าถ้าเอ็นทีเป็นผู้จัดทำทั้งหมดจะใช้งบประมาณจำนวนเท่าใด

นายชัยวุฒิ กล่าวอีกว่า ก่อนหน้านี้บริษัทเคทีได้ดำเนินการไปแล้วจะดำเนินการต่อหรือไม่ หลังจากทำท่อร้อยสายใต้ดินแล้วเสร็จ 7 กิโลเมตร แต่ยังไม่มีผู้ให้สัญญาณเครือข่ายใดสนใจมาเช่า จึงต้องมีการตั้งคณะอนุกรรมการขึ้นมาร่วมกันพิจารณาหาทางออกร่วมกันต่อไป

“การจัดระเบียบสายไฟลอยฟ้าจะเร่งทำก่อน เพราะจะทำให้สายที่พาดผ่านมีระเบียบมากขึ้น ขณะเดียวกันการนำสายลงใต้ดินจะทำเป็นช่วงๆ เนื่องจากมีค่าใช้จ่ายสูงกว่าการจัดระเบียบสายไฟฟ้าบนดินถึง 10 เท่า หากคำนวณง่ายๆ เช่น ค่าเช่าสายไฟฟ้าบนดิน 300 บาท หากลงใต้ดินค่าเช่าจะ 3,000 บาท เพราะท่อใต้ดินมีการลงทุนสูง ดังนั้น การจะทำทั่วกรุงเทพฯยังไม่สามารถดำเนินการได้ และอาจเป็นภาระต่อโอเปอเรเตอร์ รวมถึงอาจส่งผลกระทบต่อประชาชนผู้บริโภคด้วย” รมว.ดีอีเอส กล่าว

ด้าน นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร กล่าวว่า จากการประชุมโดยมีหัวข้อร่วมพูดคุยหลักๆ 2 ประเด็น 1.ต้องจัดระเบียบสายสื่อสารที่รกรุงรังก่อน แม้ยังไม่ต้องลงดินทันที แต่ก็สามารถนำสายที่ไม่ใช้ควรรื้อออกให้หมดก่อน ซึ่ง กสทช.มีแผนดำเนินการโดยใช้เงินจากกองทุนวิจัยและพัฒนากิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมเพื่อประโยชน์สาธารณะ หรือยูโซ่ (USO) เข้ามาอุดหนุน คาดว่าปี 2565 ตั้งเป้า 800 กิโลเมตร ในเขตกรุงเทพฯชั้นในที่มีประชากรอยู่เป็นจำนวนมาก และมีสายสื่อสารพาดผ่านหนาแน่น

นายชัชชาติ กล่าวว่า โดยขอความร่วมมือทุกหน่วยงานจัดทำดัชนีชี้วัดผลงานหรือความสำเร็จของงาน (KPI) แต่ละเดือนแล้วมาพิจารณาในพื้นที่ต่างๆ ว่าต้องรื้อเท่าไหร่ ซึ่งต้นทุนในการรื้อเท่าเดิม แต่เวลามีค่ามากมายมหาศาลจึงต้องเร่งทำและทำต่อเนื่องไปจนถือปี 2566

ผู้ว่าฯ กทม. กล่าวต่อว่า เรื่องที่ 2 การนำสายสื่อสารลงดิน ซึ่งในอดีตที่ผ่านมา กทม.อาจจะรู้เรื่องแค่ข้อมูลบริษัทเคที แต่อย่างน้อยก็มีเอ็นทีที่มีท่อเก่าอยู่ โดยคำนึงถึงปัจจัยสำคัญที่สุดของประชาชน ถ้าคิดค่าเช่าแพง สุดท้ายจะเป็นภาระของผู้บริโภค ซึ่ง กทม.ไม่มีปัญหา แต่ต้องคุยถึงวิธีการใดจะนำมาใช้ต่อไป สำหรับการนำสายลงดินก็มีต้นทุนทั้งสองฝ่ายทั้งผู้ทำท่อ และผู้ให้บริการเครือข่ายว่าสายที่อยู่บนดินไม่สามารถนำลงใต้ดินได้ ก็ต้องมีเรื่องการลงทุนเพิ่มเข้ามาแต่ก็ต้องทำให้เหมาะสม อย่างน้อยขั้นตอนแรกที่จัดระเบียบจะทำให้ความรกรุงรังน้อยลง และคาดว่าจะเห็นผลเป็นรูปธรรมได้ตั้งแต่ต้นเดือนหน้าเป็นต้นไป

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

'เทศกาลกีฬากรุงเทพ' ตลอดเดือนพฤษภาคม ส่งเสริมสุขภาพ-ออกกำลังกาย

กรุงเทพมหานคร จัดงาน “เทศกาลกีฬากรุงเทพ” ตลอดเดือนพฤษภาคม ชูนโยบายการส่งเสริมสุขภาพและการออกกำลังกายเพื่อให้ประชาชนทุกเพศทุกวัยมีสุขภาวะที่ดี เมื่อวันเสาร์ที่ 27 เมษายน ที่ผ่านมา เพื่อเป็นการประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนได้ทราบถึงว่าในเดือนพฤษภาคมที่จะถึงนี้