ราชกิจจาฯ เผยแพร่ระเบียบค่าใช้จ่ายเดินทาง 'ประธาน-กก. ป.ป.ช.'

8 ก.ค. 2565 – เมื่อวันที่ 6 กรกฎาคม 2565 เว็บไซต์ราชกิจจานุเบกษา เผยแพร่ระเบียบคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติว่าด้วยค่าใช้จ่ายในการเดินทางของประธานกรรมการและกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ พ.ศ. 2565

โดยที่เป็นการสมควรให้มีระเบียบคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติว่าด้วยค่าใช้จ่ายในการเดินทางของประธานกรรมการและกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ อาศัยอํานาจตามความในมาตรา 9 แห่งพระราชบัญญัติเงินเดือน เงินประจําตําแหน่ง และประโยชน์ตอบแทนอื่นของประธานกรรมการและกรรมการในองค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2561 คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติจึงออกระเบียบไว้ ดังต่อไปนี้

ข้อ 1 ระเบียบนี้เรียกว่า “ระเบียบคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติว่าด้วยค่าใช้จ่ายในการเดินทางของประธานกรรมการและกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ พ.ศ. 2565”

ข้อ 2 ระเบียบนี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันถัดจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป

ข้อ 3 ให้ยกเลิกระเบียบคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติว่าด้วยประโยชน์ตอบแทนอื่นในส่วนที่เกี่ยวกับค่าใช้จ่ายในการเดินทางของประธานกรรมการและกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ พ.ศ. 2542

ข้อ 4 ในระเบียบนี้

“ประธานกรรมการ” หมายความว่า ประธานกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ

“กรรมการ” หมายความว่า กรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ

“สํานักงาน” หมายความว่า สํานักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ

“การเดินทาง” หมายความว่า การเดินทางไปราชการ ไม่ว่าจะเป็นการเดินทางภายในประเทศ หรือต่างประเทศ และให้หมายความรวมถึงการเดินทางไปเยือน ประชุม ศึกษาดูงาน อบรม สัมมนาและกิจกรรมอื่นเพื่อเกียรติแห่งประธานกรรมการหรือกรรมการ หรือเพื่อการปฏิบัติภารกิจของคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ ประธานกรรมการ กรรมการ หรือสํานักงาน

ข้อ 5 อัตราค่าใช้จ่ายในการเดินทางของประธานกรรมการและกรรมการ ให้เบิกได้ตามระเบียบนี้ ส่วนหลักเกณฑ์การเบิกค่าใช้จ่ายในการเดินทาง ให้นําระเบียบคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติว่าด้วยค่าใช้จ่ายในการเดินทางไปราชการ มาใช้บังคับโดยอนุโลม

ข้อ 6 การเดินทางของประธานกรรมการทุกกรณี ให้อยู่ในดุลพินิจของประธานกรรมการ

การเดินทางภายในประเทศของกรรมการ ให้อยู่ในดุลพินิจของกรรมการ แต่ให้รายงานประธานกรรมการเพื่อทราบก่อนการเดินทางด้วย

การเดินทางไปต่างประเทศของกรรมการ ให้ประธานกรรมการเป็นผู้มีอํานาจอนุมัติ

ข้อ 7 ให้สํานักงานจัดให้มีบัตรโดยสารรถไฟ รถยนต์ประจําทาง และเครื่องบิน ให้แก่ประธานกรรมการและกรรมการ เพื่อใช้ในการเดินทาง

ข้อ 8 การเดินทางโดยเครื่องบินในประเทศ ให้สํานักงานจัดให้ประธานกรรมการและกรรมการเดินทางโดยชั้นธุรกิจ

การเดินทางโดยเครื่องบินจากประเทศไทยไปต่างประเทศ หรือจากต่างประเทศกลับประเทศไทย หรือการเดินทางในต่างประเทศ ให้สํานักงานจัดให้ประธานกรรมการและกรรมการ เดินทางโดยชั้นหนึ่ง

ข้อ 9 ค่าใช้จ่ายสําหรับการเดินทางภายในประเทศ ให้เบิกได้ตามรายการและอัตรา ดังนี้

(1) เบี้ยเลี้ยงเดินทาง เหมาจ่ายวันละ 800 บาท

(2) ค่าเช่าที่พัก ให้เบิกเท่าที่จ่ายจริงตามความจําเป็น และเหมาะสม

(3) ค่าพาหนะ รวมถึงค่าเช่ายานพาหนะ ค่าเชื้อเพลิงหรือพลังงานสําหรับยานพาหนะ ค่าระวางบรรทุก ค่าจ้างคนแบกหาม และอื่นๆ ทํานองเดียวกัน ให้เบิกเท่าที่จ่ายจริงโดยประหยัด ในกรณีใช้ยานพาหนะส่วนตัวในการเดินทางให้เบิกเงินชดเชยค่าเชื้อเพลิงได้ในอัตรากิโลเมตรละ 5 บาท

(4) ค่าใช้จ่ายอื่นที่จําเป็นต้องจ่ายเนื่องในการเดินทาง ให้เบิกเท่าที่จ่ายจริง

ข้อ 10 ค่าใช้จ่ายสําหรับการเดินทางไปต่างประเทศ ให้เบิกได้ตามรายการและอัตรา ดังนี้

(1) เบี้ยเลี้ยงเดินทาง เหมาจ่ายวันละ 3,100 บาท

(2) ค่าเช่าที่พัก ให้เบิกเท่าที่จ่ายจริงตามความจําเป็น และเหมาะสม

(3) ค่าพาหนะรวมถึงค่าเช่ายานพาหนะ ค่าเชื้อเพลิงหรือพลังงานสําหรับยานพาหนะ ค่าระวางบรรทุก ค่าจ้างคนแบกหาม และอื่นๆ ทํานองเดียวกัน ให้เบิกเท่าที่จ่ายจริงโดยประหยัด

(4) ค่าใช้จ่ายอื่นที่จําเป็นต้องจ่ายเนื่องในการเดินทาง ให้เบิกเท่าที่จ่ายจริง

(5) ค่าเครื่องแต่งตัว เหมาจ่ายครั้งละ 9,000 บาท โดยมีระยะห่างจากการเดินทางไปต่างประเทศครั้งสุดท้ายที่ได้รับค่าเครื่องแต่งตัวเกินกว่าสองปีนับแต่วันที่เดินทางออกจากประเทศไทย และต้องมิใช่ประเทศที่มีบัญชีแสดงรายชื่อประเทศที่ไม่สามารถเบิกค่าเครื่องแต่งตัวได้ของทางราชการ

ข้อ 11 การใดที่ได้ดําเนินการหรืออยู่ระหว่างดําเนินการก่อนประกาศใช้ระเบียบนี้ ให้ถือปฏิบัติตามระเบียบที่ใช้บังคับอยู่เดิมจนกว่าจะดําเนินการแล้วเสร็จ

ข้อ 12 ให้ประธานกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติเป็นผู้รักษาการตามระเบียบนี้

ในกรณีที่มีปัญหาเกี่ยวกับการบังคับใช้หรือการปฏิบัติตามระเบียบนี้ ให้คณะกรรมการ ป.ป.ช. มีอํานาจตีความและวินิจฉัยชี้ขาด คําวินิจฉัยของคณะกรรมการ ป.ป.ช. ให้เป็นที่สุด

ประกาศ ณ วันที่ 21 มิถุนายน พ.ศ. 2565
พลตํารวจเอก วัชรพล ประสารราชกิจ
ประธานกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ราชกิจจาฯ ประกาศกลาโหม การกระทำของอากาศยานอันอาจป็นภัยต่อความมั่นคงฯ

ราชกิจจานุเบกษา เผยแพร่ประกาศประกาศกระทรวงกลาโหมเรื่อง การกระทำของอากาศยานอันอาจป็นภัยต่อความมั่นคงแห่งราชอาณาจักรหรืออาจเป็นภัยต่อสาธารณะพ.ศ. ๒๕๖๗

มีคนติดคุกแน่! แนะ ป.ป.ช. สอบ 12 ประเด็น 'หมอวาโย' วินิจฉัยโรค 'ทักษิณ'

นายเทพไท เสนพงศ์ อดีต สส.นครศรีธรรมราช พรรคประชาธิปัตย์ โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กว่า แนะคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) นำ 12 ประเด็น