กสม.เพิ่งตื่น! แนะรัฐออกกฎหมายควบคุมการใช้กัญชา

กสม.แนะรัฐออกกฎหมายควบคุมการใช้กัญชาคุ้มครองสิทธิสุขภาพและสิทธิเด็ก หวั่นผลกระทบจากการบริโภคกัญชาที่ไม่เหมาะสม

20 ต.ค.2565 - น.ส.สุภัทรา นาคะผิว กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.)​ แถลงข่าวกรณีรัฐบาลได้ประกาศใช้พระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ (ฉบับที่ 7) พ.ศ. 2562 กำหนดให้สามารถนำกัญชาไปใช้ประโยชน์ในทางการแพทย์ได้ และต่อมามีประกาศกระทรวงสาธารณสุข เรื่อง ระบุชื่อยาเสพติดให้โทษในประเภท 5 พ.ศ. 2565 ส่งผลให้ทุกส่วนของกัญชา กัญชง ไม่เป็นยาเสพติดให้โทษประเภท 5 และไม่อยู่ภายใต้มาตรการควบคุมการใช้สารเสพติด ยกเว้นสารสกัดที่มีสารเตตราไฮโดรแคนนาบินอล (Tetrahydrocannabinol: THC) เกินร้อยละ 0.2 โดยนับแต่ประกาศฉบับดังกล่าวมีผลใช้บังคับเมื่อวันที่ 9 มิ.ย.2565 เป็นต้นมา ว่ามีรายงานการใช้กัญชานอกเหนือจากการใช้ทางการแพทย์ และรายงานผลกระทบต่อสุขภาพที่อาจเกี่ยวเนื่องจากการใช้กัญชาออกมาเป็นระยะ ทำให้หลายภาคส่วนมีความห่วงกังวลถึงผลกระทบจากการใช้กัญชา โดยเฉพาะในเด็กและเยาวชน สตรีตั้งครรภ์ และบุคคลที่มีโรคประจำตัวบางโรค เนื่องจากสาร THC ในกัญชามีผลต่อสมองเด็กและพัฒนาการของเด็กในระยะยาว รวมถึงผลกระทบในด้านอื่น ๆ เช่น ความปลอดภัยในการขับขี่ยานพาหนะหรือการทำงานเกี่ยวกับเครื่องจักรหลังการใช้กัญชาซึ่งอาจก่อให้เกิดอุบัติเหตุได้ โดยขณะนี้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องอยู่ระหว่างการจัดทำกฎหมายเพื่อคุ้มครองผู้บริโภคจากการใช้กัญชา กัญชง ที่ไม่เหมาะสมและอาจส่งผลกระทบต่อสุขภาพ

กสม. พิจารณาแล้วเห็นว่า การกำหนดให้ทุกส่วนของกัญชา กัญชง ไม่เป็นยาเสพติดให้โทษประเภท 5 ซึ่งประชาชนสามารถเข้าถึงการบริโภคกัญชาได้อย่างแพร่หลาย และมีรายงานการใช้กัญชาที่ส่งผลกระทบต่อสุขภาพอันเกี่ยวเนื่องกับสิทธิเด็ก จึงได้จัดการประชุมหารือและรับฟังความคิดเห็น เรื่องสิทธิด้านสุขภาพกับสถานการณ์การใช้กัญชาในประเทศไทยขึ้น เมื่อวันที่ 5 ส.ค. 2565 โดยมีผู้แทนจากภาคส่วนต่าง ๆ เช่น ราชวิทยาลัยกุมารแพทย์แห่งประเทศไทย, ราชวิทยาลัยจิตแพทย์แห่งประเทศไทย, ราชวิทยาลัยอายุรแพทย์แห่งประเทศไทย, ศูนย์พิษวิทยารามาธิบดี, มูลนิธิเมาไม่ขับ, สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา, สถาบันกัญชาทางการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข และกระทรวงศึกษาธิการเข้าร่วม เพื่อรับทราบข้อมูลเพิ่มเติมในประเด็นการใช้ประโยชน์จากกัญชา การใช้กัญชาในทางการแพทย์ ผลกระทบด้านสุขภาพ มาตรการควบคุมการใช้กัญชาและผลิตภัณฑ์กัญชา

เมื่อพิจารณาข้อเท็จจริงเกี่ยวกับสถานการณ์การใช้กัญชา บทบัญญัติของกฎหมายที่เกี่ยวข้องและหลักสิทธิมนุษยชนแล้ว กสม. เห็นว่า รัฐธรรมนูญ 2560 มาตรา 55 และมาตรา 61 กำหนดให้รัฐมีหน้าที่ต้องเสริมสร้างให้ประชาชนมีความรู้พื้นฐานเกี่ยวกับการส่งเสริมสุขภาพและการป้องกันโรค รวมทั้งต้องจัดให้มีมาตรการหรือกลไกที่มีประสิทธิภาพในการคุ้มครองและพิทักษ์สิทธิของผู้บริโภคด้านต่างๆ เช่น การรับรู้ข้อมูลที่เป็นจริง และความปลอดภัยในการบริโภค นอกจากนี้ อนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็กยังกำหนดให้รัฐภาคีต้องดำเนินมาตรการที่เหมาะสมในการคุ้มครองเด็กจากการใช้โดยผิดกฎหมายซึ่งยาเสพติด รวมทั้งสารที่มีพิษต่อจิตประสาทอื่น ๆ ด้วย สำหรับกรณีการคุ้มครองผู้บริโภคโดยเฉพาะเด็กเยาวชน และสตรีตั้งครรภ์ จากการใช้กัญชา นั้น กสม. เห็นว่าหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมีการกำหนดมาตรการและออกกฎหมายลำดับรองเพื่อคุ้มครองสุขภาพของประชาชนจากการใช้กัญชาหลายฉบับ แต่มาตรการส่วนใหญ่ไม่มีกลไกบังคับใช้ที่ชัดเจนและไม่ครอบคลุมเพียงพอที่จะสามารถป้องกันผลกระทบจากการใช้หรือการบริโภคกัญชาหรือผลิตภัณฑ์ที่มีส่วนผสมของกัญชาได้อย่างมีประสิทธิผล นอกจากนี้จากการเฝ้าระวังและติดตามสถานการณ์การใช้กัญชา ปรากฏรายงานผลกระทบจากการใช้กัญชาของประชาชน รวมถึงเด็กและเยาวชนผ่านทางสื่อต่าง ๆ อย่างต่อเนื่อง อันสะท้อนให้เห็นถึงการขาดความรู้ความเข้าใจและการได้รับทราบข้อมูลที่ถูกต้องเพียงพอต่อการใช้กัญชาอย่างปลอดภัยด้วย

ดังนั้น เพื่อให้ประชาชนได้รับการคุ้มครองสิทธิในการมีสุขภาพที่ดีและหลีกเลี่ยงผลกระทบจากการใช้กัญชาที่ไม่ปลอดภัย กสม. จึงเห็นควรมีข้อเสนอแนะในการส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิมนุษยชน รวมทั้งข้อเสนอแนะในการจัดทำกฎหมายกรณีดังกล่าวต่อรัฐสภา คณะรัฐมนตรี สรุปได้ดังนี้ 1. ข้อเสนอแนะในการส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิมนุษยชน คณะรัฐมนตรีควรมอบหมายให้กระทรวงสาธารณสุข และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง พิจารณาดำเนินการบังคับใช้มาตรการคุ้มครองสุขภาพตามประกาศต่าง ๆ ให้เกิดประสิทธิผล เช่น การปกป้องคุ้มครองเด็กเยาวชน สตรีตั้งครรภ์หรืออยู่ระหว่างให้นมบุตร และบุคคลที่มีความเปราะบางด้านสุขภาพ การควบคุมการผลิตและจำหน่ายหรือใช้กัญชา กัญชงที่ไม่ใช่ทางการแพทย์อย่างเคร่งครัด ทั้งปริมาณกัญชา กัญชงที่ใช้ในอาหาร เครื่องดื่ม และผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ การควบคุมลักษณะบรรจุภัณฑ์และฉลากต้องไม่มีลักษณะจูงใจเด็กและเยาวชนในการบริโภค ผลิตภัณฑ์ต้องให้ข้อมูลส่วนผสมของกัญชา กัญชง โดยละเอียด เป็นต้น

นอกจากนี้ ควรมีการพัฒนาองค์ความรู้ เครื่องมือ และสร้างความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับการใช้กัญชา กัญชงเพื่อลดผลกระทบต่อสุขภาพ กำหนดมาตรการส่งเสริมและควบคุมคุณภาพการปลูกกัญชา กัญชงเพื่อความปลอดภัย รวมทั้งพัฒนากลไกการเฝ้าระวังและติดตามสถานการณ์การใช้กัญชา กัญชงและผลกระทบในด้านสุขภาพทั้งในสถานพยาบาล สถานศึกษาและชุมชน รวมทั้งเชื่อมโยงฐานข้อมูลระหว่างหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อประเมินสถานการณ์การใช้กัญชา กัญชงเป็นระยะ โดยสนับสนุนให้ท้องถิ่นมีส่วนร่วมในการควบคุมการปลูกและการใช้ประโยชน์จากกัญชา

2. ข้อเสนอแนะในการจัดทำกฎหมายรัฐสภาควรพิจารณาให้มีกฎหมายระดับพระราชบัญญัติที่รวบรวมมาตรการเกี่ยวกับการใช้กัญชา กัญชงให้อยู่ในฉบับเดียวกัน เพื่อให้ประชาชนที่ต้องการใช้กัญชา กัญชงและเจ้าหน้าที่ของรัฐซึ่งต้องบังคับใช้กฎหมายเข้าถึงมาตรการที่กำหนดได้โดยง่าย และควรพิจารณาให้มีมาตรการในการคุ้มครองด้านสุขภาพและควบคุมการใช้กัญชา กัญชงในกฎหมาย เช่น การควบคุมผลิตภัณฑ์กัญชา กัญชงหรือสารสกัดที่ไม่ใช่เพื่อวัตถุประสงค์ทางการแพทย์ให้มีสาร THC ในปริมาณที่เหมาะสม การควบคุมบรรจุภัณฑ์และฉลากผลิตภัณฑ์ ซึ่งต้องมีการให้ข้อมูลและคำเตือนด้านสุขภาพ การกำหนดห้ามโฆษณาเพื่อขาย/วางจำหน่าย การกำหนดพื้นที่ห้ามสูบกัญชาและบทกำหนดโทษ

นอกจากนี้คณะรัฐมนตรีควรมอบหมายให้กระทรวงสาธารณสุข และกระทรวงคมนาคมปรับปรุงกฎหมายเพื่อป้องกันอุบัติเหตุจากการใช้กัญชา กัญชง เช่น กำหนดระดับของการสูบหรือบริโภคกัญชาที่ห้ามขับขี่ยานพาหนะและการห้ามทำงานกับเครื่องจักร ทำงานในที่สูง หรือทำงานในลักษณะอื่นที่อาจก่อให้เกิดอุบัติเหตุ การกำหนดให้มีการตรวจจับระดับการสูบ/บริโภคกัญชาขณะขับขี่ยานพาหนะเช่นเดียวกับการตรวจจับแอลกอฮอล์ รวมทั้งพัฒนากฎหมายห้ามการขับขี่ยานพาหนะ และการทำงานกับเครื่องจักรในลักษณะอื่นที่อาจก่อให้เกิดอุบัติเหตุในขณะที่บริโภคกัญชา กัญชงไว้เป็นการเฉพาะ

 

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

กสม. บุกชั้น 14 รพ.ตำรวจ 30 พ.ค.นี้ ตรวจสอบปม 'วนรัชต์' จำเลยคดีทุจริตหุ้นสตาร์คเข้าพักรักษา

สำนักงานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ หรือ กสม. ทำหนังสือถึงนายแพทย์ใหญ่โรงพยาบาลตำรวจ เพื่อขอเข้าพบสอบถามข้อเท็จจริง กรณีนายวนรัชต์ ตั้งคารวคุณ อดีตผู้บริหารและผู้ถือหุ้นรายใหญ่ของบริษัท สตาร์ค คอร์เปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) ซึ่งเป็นจำเลยในคดีทุจริตและฉ้อโกงหุ้น ได้รับการดูแลรักษาดีกว่าผู้ต้องขังรายอื่น

ชี้สายการบินแห่งชาติไม่รับผู้ติดเชื้อ HIV เข้าทำงานโดยไม่มีเหตุจำเป็นถือว่าละเมิดสิทธิ!

กสม.เผยกรณีบริษัทสายการบินแห่งชาติปฏิเสธไม่รับผู้ติดเชื้อเอชไอวีเข้าทำงานโดยไม่มีเหตุผลอันจำเป็น เป็นการละเมิดสิทธิ แนะกระทรวงการคลังกำกับดูแลให้เป็นไปตามหลักสากล

กสม.ชี้ 'กอ.รมน.' ละเมิดเสรีภาพทางวิชาการ!กรณีขอความร่วมมือไม่ให้แพร่งานวิจัย ศ.พวงทอง

กสม.ชี้กรณี กอ.รมน.ขอความร่วมมือมิให้เผยแพร่งานวิจัยเรื่อง 'ในนามของความมั่นคงภายใน การแทรกซึมสังคมของกองทัพไทย' เป็นการละเมิดเสรีภาพทางวิชาการ แนะยุติการแทรกแซง

กสม.ประณาม โจรใต้โหดร้าย ฆ่าเด็ก-ผู้พิการ

กรรมการสิทธิฯ ออกแถลงการณ์ประณามการกระทำอันโหดร้ายของโจรใต้ ที่จงใจฆ่าเด็ก ผู้หญิง คนชรา และผู้พิการ เรียกร้องให้ผู้ไม่หวังดียุติปฏิบัติการอันโหดร้าย

กสม. ออกแถลงการณ์ ประณามการก่อเหตุรุนแรงต่อประชาชนกลุ่มเปราะบาง 

คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม. ) ออกแถลงการณ์ตามที่ปรากฏเหตุรุนแรงในพื้นที่จังหวัดนราธิวาส เมื่อวันที่ 2 พ.ค. 2568    ทั้งกรณีที่คนร้ายใช้อาวุธปืนกราดยิงเข้าไปบริเวณบ้านหลังหนึ่งในอำเภอตากใบ 

บีอาร์เอ็นคอนเนคชั่น สะดุ้ง! 'กสม.' ประณามเหตุรุนแรงในสามจังหวัดชายแดนใต้ ช่วงเดือนรอมฎอน

คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.)​ ออกแถลงการณ์ เรื่อง ขอประณามการก่อเหตุรุนแรงในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ โดยระบุว่าตั้ง