กสม.ชี้ร้านสะดวกซื้อเอาเปรียบพนักงาน ไม่ปฏิบัติตามกฎหมายคุ้มครองแรงงาน

กสม. ตรวจสอบกรณีร้านสะดวกซื้อเอาเปรียบพนักงาน ไม่ปฏิบัติตามกฎหมายคุ้มครองแรงงาน แนะหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกำกับให้เป็นไปตามกฎหมาย

24พ.ค.2567- นางสาวสุภัทรา นาคะผิว กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ เปิดเผยว่า คณะกรรมการสิทธิมนุษชนแห่งชาติ (กสม.) ได้รับเรื่องร้องเรียนจากผู้ร้องรายหนึ่ง เมื่อเดือนสิงหาคม 2566 ระบุว่า ร้านสะดวกซื้อสาขาหนึ่งในจังหวัดฉะเชิงเทรา (ผู้ถูกร้อง) เอาเปรียบผู้ร้องและพนักงานรายอื่น ๆ และไม่ปฏิบัติตามกฎหมายคุ้มครองแรงงาน เช่น อนุญาตให้พักกลางวันน้อยกว่า 1 ชั่วโมง หักหรือปรับเงินในกรณีที่พนักงานมาสายหรือสินค้าสูญหาย และมีกรณีที่พนักงานรายหนึ่งซึ่งถูกหักเงินเข้าประกันสังคมมาโดยตลอด ไม่สามารถใช้สิทธิประกันสังคมได้ จึงขอให้ตรวจสอบ

กสม. ได้พิจารณาข้อเท็จจริงจากทุกฝ่าย หลักกฎหมาย และหลักสิทธิมนุษยชนที่เกี่ยวข้องแล้ว เห็นว่า รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 รับรองเสรีภาพของบุคคลในการประกอบอาชีพ และรัฐมีหน้าที่คุ้มครองผู้ใช้แรงงานให้ได้รับความปลอดภัยและมีสุขอนามัยที่ดีในการทำงาน ได้รับรายได้ สวัสดิการ การประกันสังคม และสิทธิประโยชน์อื่นที่เหมาะสมแก่การดำรงชีพ และพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 รับรองสิทธิของแรงงานในการได้รับค่าจ้างในอัตราเท่ากัน สำหรับการทำงานที่มีลักษณะ คุณภาพและปริมาณเท่ากัน หรืองานที่มีค่าเท่าเทียมกัน สอดคล้องกับกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิทางเศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรม (ICESCR) นโยบายขององค์การแรงงานระหว่างประเทศ (ILO) และหลักการชี้แนะแห่งสหประชาชาติว่าด้วยธุรกิจกับสิทธิมนุษยชน (UNGPs)

จากการตรวจสอบเห็นว่า เรื่องดังกล่าวมีประเด็นที่ต้องพิจารณา 3 ประเด็น ดังนี้ ประเด็นแรก กรณีการลงโทษพนักงานโดยผู้ประกอบการไม่ได้จัดทำและเผยแพร่ข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานในส่วนของวินัยและโทษทางวินัย เห็นว่า ร้านสะดวกซื้อฯ (ผู้ถูกร้อง) มีข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานแต่ใช้วิธีแจ้งหรือบอกกล่าวพนักงานให้ทราบด้วยวาจา ประกอบกับได้ลงโทษพนักงานที่ฝ่าฝืนข้อบังคับดังกล่าวโดยไม่ได้กำหนดโทษสำหรับการกระทำนั้นไว้ ได้แก่ การหักเงินพนักงานที่เข้าทำงานสาย การหักเงินกรณีมีสินค้าสูญหาย อีกทั้งไม่ได้มอบสลิปค่าจ้างซึ่งแสดงเงินรายรับและรายการหักให้พนักงานได้รับทราบ เพียงแต่ให้พนักงานตรวจสอบวัน/เวลาทำงาน ค่าจ้าง และเงินพิเศษอื่น ๆ ก่อนการจ่ายค่าจ้างแต่ละเดือน เป็นเหตุให้พนักงานไม่มีโอกาสตรวจทานรายรับและรายการหักเงินของตนเองอย่างรอบคอบ จึงเป็นการกระทำหรือละเลยการกระทำที่ฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 และกระทบต่อสิทธิแรงงานของพนักงาน จึงเป็นการกระทำและละเลยการกระทำอันเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชน

นอกจากนี้ การที่ร้านสะดวกซื้อฯ ปรับสถานะพนักงานรายเดือนเป็นพนักงานรายวันด้วยเหตุแห่งการลา โดยไม่ได้กำหนดโทษของการลาที่ไม่เป็นไปตามวัตถุประสงค์และโทษของการขาดงานติดต่อกัน
ไว้ในข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงาน รวมทั้งไม่ได้ปิดประกาศเผยแพร่ข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานให้พนักงานทราบ ส่งผลให้พนักงานไม่ได้รับค่าจ้างในวันหยุดและไม่ได้รับสิทธิลาโดยได้รับค่าจ้าง จึงกระทบต่อสิทธิและความมั่นคงในการทำงานของลูกจ้าง อันเป็นการกระทำที่ละเมิดสิทธิมนุษยชน

ประเด็นที่สอง กรณีผู้ถูกร้องไม่นำส่งเงินสมทบเข้ากองทุนประกันสังคมให้แก่พนักงาน จากการตรวจสอบพบว่า ผู้ถูกร้องได้นำส่งเงินสมทบย้อนหลังทันทีที่ทราบว่ายังมิได้นำส่งเงินสมทบเข้ากองทุนฯ จึงเป็นกรณีที่ผู้ถูกร้องมิได้เพิกเฉยต่อความเดือดร้อนของพนักงาน

ประเด็นที่สาม กรณีการให้พนักงานพักระหว่างการทำงานน้อยกว่า 1 ชั่วโมง เห็นว่าพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 บัญญัติให้นายจ้างมีหน้าที่ต้องจัดให้ลูกจ้างมีเวลาพักระหว่างการทำงานไม่น้อยกว่า 1 ชั่วโมงต่อวัน โดยนายจ้างและลูกจ้างอาจตกลงกันล่วงหน้าให้มีเวลาพักครั้งหนึ่งน้อยกว่า 1 ชั่วโมงได้ แต่เมื่อรวมกันแล้ววันหนึ่งต้องไม่น้อยกว่า 1 ชั่วโมง เมื่อพิจารณาลักษณะการประกอบกิจการของผู้ถูกร้อง ที่เปิดให้บริการตลอด 24 ชั่วโมง มีการแบ่งเวลาการทำงานเป็น 3 กะ ร้านได้แบ่งเวลาพักให้แก่พนักงาน 1 ชั่วโมงต่อรอบการทำงาน เว้นแต่กรณีมีเหตุจำเป็นเร่งด่วน ได้ตกลงกันแล้วว่าอาจเรียกพนักงานที่อยู่ระหว่างการพักไปให้บริการลูกค้าก่อนแล้วจึงกลับไปพักต่อ ซึ่งเป็นการบริหารงานภายในร้านเพื่อให้ลูกค้าได้รับความสะดวก กรณีดังกล่าวจึงไม่เป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชน

อย่างไรก็ดี กสม. มีข้อสังเกตว่า แม้บริษัทเจ้าของแบรนด์ร้านสะดวกซื้อฯ จะไม่ได้มีสถานะที่ถือเป็นนายจ้างและไม่ได้มีอำนาจบังคับบัญชาร้านสะดวกซื้อ สาขาดังกล่าว แต่มีการทำธุรกิจร่วมกัน
ในลักษณะพันธมิตรทางธุรกิจในห่วงโซ่คุณค่า โดยคัดเลือกผู้ลงทุนภายนอกเพื่อดำเนินกิจการร้านสะดวกซื้อตามกระบวนการของบริษัท วางระบบการบริหารจัดการร้านและดูแลลูกค้า กำกับดูแล รวมทั้งส่งต่อนโยบายด้านสิทธิมนุษยชนของบริษัทให้ร้านสะดวกซื้อทราบและปฏิบัติตามกฎหมายที่เกี่ยวข้อง บริษัทเจ้าของแบรนด์จึงสามารถยกเลิกสัญญาได้ หากพบการฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามเงื่อนไขดังกล่าว

ด้วยเหตุผลข้างต้น กสม. ในคราวประชุมด้านการคุ้มครองและส่งเสริมสิทธิมนุษยชน เมื่อวันที่
21 พฤษภาคม 2567 จึงมีข้อเสนอแนะไปยังร้านสะดวกซื้อฯ (ผู้ถูกร้อง) และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ดังนี้

(1) ให้ร้านสะดวกซื้อฯ (ผู้ถูกร้อง) จัดทำข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานให้ชัดเจนตามกฎหมายคุ้มครองแรงงาน โดยเฉพาะวินัยและโทษทางวินัย เผยแพร่และปิดประกาศไว้ ณ สถานที่ทำงานของพนักงานโดยเปิดเผย โดยอาจแจ้งผ่านช่องทางอิเล็กทรอนิกส์ให้ลูกจ้างได้ทราบและเข้าถึงได้โดยสะดวก และให้ดำเนินการตรวจสอบการหักเงินพิเศษกับพนักงานที่มาทำงานสายและทำสินค้าในร้านสูญหาย และชดใช้เงินคืนให้แก่พนักงานดังกล่าว เพื่อชดเชยเยียวยาให้แก่พนักงานที่ถูกละเมิดสิทธิมนุษยชนจาก
การลงโทษทางวินัยโดยที่ยังไม่เคยรับทราบข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานที่เป็นลายลักษณ์อักษร

นอกจากนี้ ให้เพิ่มการสื่อสารกับพนักงานเกี่ยวกับหน้าที่ ความรับผิดชอบ กฎระเบียบ บทลงโทษ
ในการทำงาน และรับฟังข้อคิดเห็นจากพนักงานตามความเหมาะสม เพื่อทำความเข้าใจให้ตรงกัน
หากพนักงานกระทำผิดกฎระเบียบให้ตรวจสอบข้อเท็จจริงตามหลักธรรมาภิบาลก่อนใช้มาตรการลงโทษ เพื่อส่งเสริมให้เกิดความเป็นธรรมและสภาพการทำงานที่น่าพึงพอใจตามหลักสิทธิมนุษยชน

(2) ให้สำนักงานสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานจังหวัดฉะเชิงเทรา ตรวจสอบร้านสะดวกซื้อฯ
(ผู้ถูกร้อง) ตามหน้าที่และอำนาจ หากพบการปฏิบัติที่ไม่เป็นไปตามกฎหมาย ให้ดำเนินการตามหน้าที่และอำนาจโดยออกคำสั่งให้ปฏิบัติให้ถูกต้อง และให้คำแนะนำเรื่องการจัดทำข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานให้สอดคล้องตามกฎหมายคุ้มครองแรงงาน รวมทั้งสร้างความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับกฎหมายคุ้มครองแรงงานแก่นายจ้างและลูกจ้างของร้านสะดวกซื้อขณะตรวจสอบสถานประกอบกิจการต่าง ๆ โดยเฉพาะในประเด็นที่ยังมีความเข้าใจไม่ถูกต้อง เช่น การลา การพักระหว่างการทำงาน เป็นต้น

(3) ให้บริษัทเจ้าของแบรนด์ร้านสะดวกซื้อ กำหนดเรื่องสิทธิแรงงานและสภาพความเป็นอยู่ที่ดีของพนักงานเป็นหนึ่งในหัวข้อรายการตรวจสอบที่เจ้าหน้าที่ของบริษัทนำไปใช้ประเมินความเสี่ยงด้านแรงงานและธรรมาภิบาลในร้านสะดวกซื้อที่เกี่ยวข้องทุกสาขา และพัฒนาการเข้าถึงช่องทางการแจ้งเรื่องร้องเรียนให้พนักงานร้านสะดวกซื้อของผู้ลงทุนภายนอก สามารถร้องเรียนต่อบริษัทได้โดยตรง โดยรับประกันว่าการร้องเรียนจะไม่กระทบต่อการทำงานของพนักงาน และประกาศนโยบายดังกล่าวให้พนักงานทราบโดยทั่วกัน

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

'กสม.' เสนอเร่งแก้ไขปัญหาผลกระทบ ต่อผู้หนีภัยการสู้รบในพื้นที่พักพิงชั่วคราว

'กสม.' เสนอเร่งแก้ไขปัญหาผลกระทบด้านสิทธิมนุษยชนต่อผู้หนีภัยการสู้รบในพื้นที่พักพิงชั่วคราว -​การแก้ไขปัญหาในเชิงนโยบาย

'กสม.'เผยผลการตรวจสอบ 'ซีเซียม-137' แนะแนวทางเยียวยา ป้องกันไม่ให้เกิดเหตุซ้ำ

กสม. เผยผลการตรวจสอบกรณีวัตถุกัมมันตรังสีซีเซียม-137 สูญหายใน จ.ปราจีนบุรี แนะแนวทางเยียวยา และป้องกันไม่ให้เกิดเหตุขึ้นอีก

กสม. แนะแก้ปัญหาความเป็นอยู่ผู้ถูกควบคุมตัวของรัฐ ให้สอดคล้องหลักสิทธิมนุษยชน

กสม. เผยผลตรวจเยี่ยมสถานที่ควบคุมตัวของรัฐ แนะหน่วยงานที่เกี่ยวข้องแก้ปัญหาสภาพความเป็นอยู่ของผู้ถูกควบคุมตัวให้สอดคล้องตามหลักสิทธิมนุษยชน

'ทบ.' เปิดแผนรับมือ สถานการณ์สู้รบชายแดนไทย-เมียนมา

รายงานข่าวจากศูนย์ปฏิบัติการกองทัพบก เปิดเผยแนวทางการปฏิบัติในการรองรับสถานการณ์ความไม่สงบด้านเมียนมา กรณีการปะทะระหว่างทหารเมียนมากับกองกำลังชนกลุ่มน้อย

'ศิริกัญญา' กังขาเงื่อนไขแจกเงินดิจิทัล ร้านสะดวกซื้อ เข้าข่ายร้านขนาดเล็กหรือไม่

น.ส.ศิริกัญญา ตันสกุล สส.บัญชีรายชื่อ และรองหัวหน้าพรรคก้าวไกล ให้สัมภาษณ์ภายหลังที่นายกรัฐมนตรีแถลงนโยบายดิจิทัลวอลเล็ตว่า ตอนนี้เข้าใจว่าข้าราชการสำนักงบประมาณไม่มีวันหยุดสงกรานต์ โดยในส่วนงบประมาณปี 67