นายกฯ หารือ USABC เสนอ 3 แนวทางเดินหน้าพัฒนา ศก.

28 พ.ย.2565-ที่ตึกภักดีบดินทร์ ทำเนียบรัฐบาล คณะนักธุรกิจจากสภาธุรกิจสหรัฐฯ-อาเซียน (U.S. – ASEAN Business Council: USABC) เข้าเยี่ยมคารวะ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรมว.กลาโหม มีนายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรีและรมว.พลังงาน นายดิสทัต โหตระกิตย์ เลขาธิการนายกรัฐมนตรี และปลัดกระทรวงการต่างประเทศ สำหรับนักธุรกิจสหรัฐฯ ได้แก่ H.E. Mr. Robert Godec (นายโรเบิร์ต โกเดค) เอกอัครราชทูตสหรัฐฯ ประจำประเทศไทย นาย Ted Osius ประธาน USABC และผู้แทนบริษัทสมาชิก จำนวน 43 บริษัทจากกลุ่มอุตสาหกรรมสาขาต่าง ๆ อาทิ พลังงาน อาหารและการเกษตร สาธารณสุข เทคโนโลยีสารสนเทศ และบริการทางการเงิน

นายอนุชา บูรพชัยศรี รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมือง ปฏิบัติหน้าที่โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยสาระสำคัญของการหารือว่า นายกฯได้พบ USABC และภาคเอกชนสหรัฐฯ ถือเป็นมิตรและหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจที่สำคัญของไทยมายาวนาน และมีบทบาทสนับสนุนการเติบโตของไทยมาโดยตลอด โดยการพูดคุยในวันนี้จะเป็นโอกาสดีที่จะสานต่อการหารือถึงพัฒนาการสำคัญในช่วงเวลาที่ผ่านมา โดยเฉพาะภายหลังจากที่ไทยได้เป็นเจ้าภาพการประชุมผู้นำเขตเศรษฐกิจเอเปก พร้อมย้ำว่ารัฐบาลไทยให้ความสำคัญกับความร่วมมือ และการหารือแลกเปลี่ยนความเห็นกับภาคเอกชน ซึ่งต้องได้รับความร่วมมือจากทุกภาคส่วน

“นายกฯเน้นย้ำไทยมีพัฒนาการที่ดีทั้งในด้านเศรษฐกิจและสังคมภายหลังรับผลกระทบจากสถานการณ์โควิด-19 ในช่วง 1 ปีที่ผ่านมา อีกทั้งความสัมพันธ์ระหว่างไทย-สหรัฐฯ มีพลวัตเพิ่มขึ้นและคืบหน้าอย่างต่อเนื่อง ซึ่งในการประชุมผู้นำเขตเศรษฐกิจเอเปก ไทยได้ผลักดันผลสำเร็จที่เป็นรูปธรรมหลายประการ ทั้งการทบทวนการหารือเรื่องเขตการค้าเสรีเอเชีย แปซิฟิก (FTAAP) ในบริบทหลังโควิด-19 การฟื้นฟูความเชื่อมโยง โดยเฉพาะการเดินทางและการท่องเที่ยว รวมทั้งการส่งเสริมการเจริญเติบโตที่ยั่งยืนและครอบคลุม โดยการนำเสนอเป้าหมายกรุงเทพฯ ว่าด้วยเศรษฐกิจชีวภาพ เศรษฐกิจหมุนเวียน เศรษฐกิจ สีเขียว (Bangkok Goals on BCG) รวมทั้งกรอบความร่วมมือทางเศรษฐกิจอินโดแปซิฟิก (IPEF) ที่ไทยเข้าร่วมตั้งแต่ต้น และถือเป็นเวทีความร่วมมือรูปแบบใหม่ที่ช่วยเสริมสร้างโอกาสทางการค้าและการลงทุนในภูมิภาค และส่งเสริมความร่วมมือเพื่อรับมือกับประเด็นท้าทายใหม่ ๆ”

นอกจากนี้ ไทยพร้อมเปิดรับโอกาสใหม่ๆ ทางเศรษฐกิจ การค้า และการลงทุน ซึ่งคาดว่าเศรษฐกิจไทยในปีนี้จะเติบโตระหว่างร้อยละ 2.7-3.2 ซึ่งไทยพร้อมร่วมมือกับภาคเอกชนสหรัฐฯ เพื่อมุ่งส่งเสริมความเข้มแข็งและการเติบโตของเศรษฐกิจอย่างสมดุลและครอบคลุม และให้ภาคธุรกิจ โดยเฉพาะ SMEs ใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีและนวัตกรรม บนพื้นฐานโมเดลเศรษฐกิจ BCG เพื่อพัฒนาไทยไปสู่การเป็นศูนย์กลางด้านการลงทุนของภูมิภาค ในด้านเทคโนโลยีและนวัตกรรม ด้าน BCG ด้านผู้มีศักยภาพจากทั่วโลก ด้านโลจิสติกส์เพื่อเชื่อมโยงภูมิภาค และด้านอุตสาหกรรมสร้างสรรค์

ทั้งนี้ นายกรัฐมนตรีได้เสนอวิสัยทัศน์ และแนวทางการเดินหน้าพัฒนาเศรษฐกิจไทยในยุค Next Normal 3 ประการ ได้แก่ 1.ด้านการส่งเสริมเศรษฐกิจที่มีความสมดุล ไทยให้ความสำคัญกับสภาพภูมิอากาศและการพัฒนาเทคโนโลยีสีเขียว โดยเป็นเรื่องที่สอดคล้องกับวิสัยทัศน์ของสหรัฐฯ และมุ่งเข้าสู่การเป็นสังคมปลอดคาร์บอน โดยรัฐบาลได้เร่งผลักดันการเปลี่ยนผ่านทางพลังงานและการเติบโตทางเศรษฐกิจที่เป็นสีเขียว โดยประสงค์จะได้รับการสนับสนุนจากภาคเอกชน เพื่อยกระดับไทยไปสู่การผลิต EV สำหรับภูมิภาค พัฒนาองค์ความรู้ ความเชี่ยวชาญ และเทคโนโลยีเพื่อลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกและยกระดับประสิทธิภาพการใช้พลังงาน โดยเฉพาะเทคโนโลยีดักจับ ใช้ประโยชน์ และกักเก็บ คาร์บอน

2.ด้านการส่งเสริมเศรษฐกิจที่มีขีดความสามารถในการแข่งขัน ไทยพร้อมสร้างโอกาสทางการค้า มุ่งพัฒนาขีดความสามารถในการแข่งขัน เพื่อเสริมสร้างความเข้มแข็งของห่วงโซ่อุปทาน โดยรัฐบาลได้เร่งเสริมสร้างสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อการดำเนินธุรกิจตามข้อเสนอ Ten for Thailand เพื่อพัฒนาไทยไปสู่ศูนย์กลางของภูมิภาคสำหรับธุรกิจ การค้า และการลงทุน และ

3.ด้านการส่งเสริมเศรษฐกิจด้วยนวัตกรรม ไทยมุ่งผลักดันและสนับสนุนการเปลี่ยนผ่านสู่เศรษฐกิจดิจิทัล เร่งพัฒนาวิสาหกิจดิจิทัลเริ่มต้น และส่งเสริมการลงทุนในอุตสาหกรรมดิจิทัล

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง