โอนแล้วเงินน้ำท่วม! มหาดไทยจ่ายเยียวยาล็อตแรก 30,000 กว่าครัวเรือน

แฟ้มภาพ

รองโฆษกรบ.” เผยมหาดไทยโอนเงินช่วยเหลือน้ำท่วมล็อตแรกแล้ว 3.8 หมื่นครัวเรือนแล้ว ด้านนายกฯ กำชับทุกหน่วยงานต้องช่วยเหลือเยียวยาให้รวดเร็วถูกต้อง  วอนผู้ลงทะเบียนรับเงินช่วยเหลือรีบตรวจสอบด่วน

22 ม.ค.2566 – น.ส.ทิพานัน ศิริชนะ รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ตามที่พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ได้ติดตามการแก้ไขสถานการณ์น้ำท่วมในหลายจังหวัดและได้เร่งรัด กำชับให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เร่งบรรเทาทุกข์ ช่วยเหลือเยียวยาประชาชนที่ได้รับผลกระทบอย่างเต็มที่ รวดเร็วและถูกต้องที่สุดนั้น กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยหรือปภ. กระทรวงมหาดไทย   โดย พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ได้เริ่มโอนเงินช่วยเหลือผู้ประสบภัยครั้งที่ 1 แล้ว เมื่อวันที่ 20 มกราคม 2566 ที่ผ่านมา ตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 29 พฤศจิกายนจำนวน 38,408 ครัวเรือน

น.ส.ทิพานัน กล่าวว่า ทั้งนี้ เมื่อวันที่ 29 พฤศจิกายน 2565  ได้เห็นชอบหลักเกณฑ์และเงื่อนไขวิธีการจ่ายเงินช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัยในช่วงฤดูฝน ปี 2565 เพื่อให้การช่วยเหลือเยียวยาเบื้องต้นแก่ครอบครัวผู้ประสบอุทกภัยเป็นกรณีพิเศษ พร้อมทั้งอนุมัติกรอบวงเงิน 6,258.54 ล้านบาท เพื่อช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัย จำนวนใน 66 จังหวัด ตามหลักเกณฑ์และเงื่อนไขการจ่ายเงินช่วยเหลือ มีอัตราตั้งแต่ 5,000-9,000 บาท ได้แก่

-กรณีที่อยู่อาศัยประจำอยู่ในพื้นที่น้ำท่วมขัง ติดต่อกันตั้งแต่ 1 วัน แต่ไม่เกิน 7 วัน และทรัพย์สินได้รับความเสียหาย หรือถูกน้ำท่วมขังเกินกว่า 7 วัน แต่ไม่เกิน 30 วัน ได้รับเงินช่วยเหลือ 5,000 บาท

-กรณีที่พักอาศัยอยู่ในพื้นที่น้ำท่วมขัง ติดต่อกันเกินกว่า 30 วัน แต่ไม่เกิน 60 วัน ได้รับเงินช่วยเหลือ 7,000 บาท

-กรณีที่พักอาศัยอยู่ในพื้นที่น้ำท่วมขังติดต่อกันเกิน 60 วัน ขึ้นไปให้ความช่วยเหลือครัวเรือนละ 9,000 บาท

รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ปภ. ได้ดำเนินการบันทึกข้อมูลเข้าระบบตั้งแต่วันที่ 21 ธันวาคม 2565 – 20 มกราคม 2566 แล้ว รวมจำนวนทั้งสิ้น 562,212 ครัวเรือน จาก 66 จังหวัดที่ประสบอุทกภัยและกรุงเทพมหานคร ซึ่งมี 5 จังหวัด ได้แก่ จังหวัดกระบี่ ชุมพร ตราด นราธิวาส และจังหวัดอำนาจเจริญ และรายงานว่าไม่มีครัวเรือนที่เข้าหลักเกณฑ์การช่วยเหลือ ทั้งนี้ในส่วนของจังหวัดพระนครศรีอยุธยาและจังหวัดปทุมธานีจัดส่งข้อมูลบัญชีรายชื่อครัวเรือนผู้ประสบอุทกภัย ปี 2565 ชุดแรกให้ ปภ.จำนวน 39,425 ครัวเรือน จำนวนเงินทั้งสิ้น 311,838,000 บาท โดย ปภ.ได้ส่งกรมการปกครองตรวจสอบความถูกต้องของเลขประจำตัวประชาชน และส่งข้อมูลครัวเรือนผู้ประสบภัยให้ธนาคารออมสินเรียบร้อยแล้ว จำนวน 39,414 ครัวเรือน ส่วนผู้ประสบภัยอีก 11 รายพบว่าข้อมูลไม่ถูกต้องจึงได้ส่งให้จังหวัดดำเนินการตรวจสอบอีกครั้ง

น.ส.ทิพานัน กล่าวอีกว่า ล่าสุด เมื่อวันที่ 20 มกราคม 2566 ที่ผ่านมา ปภ.ได้ส่งข้อมูลให้ธนาคารออมสินและธนาคารออมสินได้โอนเงินช่วยเหลือ ครั้งที่ 1 เข้าบัญชีผู้ประสบอุทกภัยจำนวน 38,408 ราย ผ่านระบบพร้อมเพย์ (PromptPay) แบ่งเป็น ธนาคารออมสิน 5,645 ราย และธนาคารอื่น 32,763 ราย  อย่างไรก็ตาม มีผู้ประสบอุทกภัยจำนวน 1,006 ราย ไม่สามารถโอนเงินผ่านระบบพร้อมเพย์ได้เนื่องจากไม่ได้ผูกบัญชีพร้อมเพย์กับเลขบัตรประชาชน ซึ่งปภ.ได้แจ้งให้จังหวัดประสานผู้ประสบภัยมาดำเนินการผูกบัญชีพร้อมเพย์เพื่อรับเงินช่วยเหลือต่อไป

น.ส.ทิพานัน กล่าวด้วยว่า ขณะเดียวกันมีจังหวัดที่ได้จัดส่งข้อมูลครัวเรือนผู้ประสบอุทกภัยมาให้ ปภ. เพิ่มเติมแล้วอีก 4 จังหวัด ได้แก่ ลพบุรี พระนครศรีอยุธยา ขอนแก่น และสุพรรณบุรี รวม 75,841 ครัวเรือน จำนวนเงิน 547,805,000 บาท ซึ่งจะได้รวบรวมส่งให้ธนาคารออมสินเพื่อดำเนินการโอนเงินเข้าบัญชีต่อไป สำหรับจังหวัดอื่น ๆ หลายจังหวัดได้มีกำหนดการประชุม ก.ช.ภ.จ. เพื่อตรวจสอบและจัดส่งข้อมูลเพิ่มเติมให้ ปภ. เพื่อให้สามารถจ่ายเงินช่วยเหลือแก่ผู้ประสบภัยได้ครบถ้วนตามระยะเวลาที่กำหนด

น.ส.ทิพานัน กล่าวว่า สำหรับประชาชนที่ได้ยื่นคำร้องขอรับเงินช่วยเหลือเรียบร้อยแล้ว สามารถติดตามสถานะการดำเนินการของตนเองได้ที่ https://flood65.disaster.go.th หรือติดต่อสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ กองช่วยเหลือผู้ประสบภัย กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย หมายเลขโทรศัพท์ 0-2637-3511

“พล.อ.ประยุทธ์ ได้เน้นย้ำให้ทุกหน่วยงานดำเนินการช่วยเหลือเยียวยาประชาชนให้รวดเร็ว ครอบคลุมและทั่วถึง ควบคู่ไปกับการฟื้นฟูในทุกมิติ ไม่ว่าจะเป็นในที่อยู่อาศัย เครื่องมือทำมาหากิน  ด้านเศรษฐกิจ สร้างอาชีพสร้างรายได้ ด้านสุขภาพพลานามัย  ด้านจิตใจ เป็นต้น  รวมทั้งเตรียมแผนรับมือปัญหาในระยะยาว”น.ส.ทิพานัน กล่าว.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ข่าวดี! จัดกิจกรรม 'รับสมัครงาน' พันตำแหน่ง เริ่ม 30 มี.ค. - 7 เม.ย.

รัฐบาลเชิญชวน ปชช. ร่วมสัปดาห์การให้บริการประชาชน 'เพื่อคนหางาน' มีตำแหน่งว่างรองรับกว่า 1,000 อัตรา ตั้งแต่วันที่ 30 มี.ค. - 7 เม.ย 67 ที่กระทรวงแรงงาน บริการฟรี ไม่มีค่าใช้จ่าย

รัฐบาลช่วย SME ไทย เข้าถึงแหล่งเงินทุน ผ่านมหกรรมทรัพย์หลักประกันทางธุรกิจ

รัฐบาลบูรณาการความร่วมมือภาครัฐ-เอกชน ส่งเสริมการเข้าถึงแหล่งเงินทุนให้กับ SME ไทย ผ่านการจัดงานมหกรรมทรัพย์หลักประกันทางธุรกิจ

‘นันทิวัฒน์’ สะกิดรัฐบาล เตรียมรับมือภาวะสงคราม หลังกลิ่นไอสู้รบยูเครนรุนแรง

กลิ่นไอการสู้รบในยูเครนเพิ่มความรุนแรง เมื่อมีข่าวลือว่าชาติพันธมิตรนาโตบางชาติ ได้ส่งทหารเข้าไปร่วมรบในยูเครน ปฏิกิริยาจากฝ่ายรัสเซียประกาศชัดเจน

มงคลกิตติ์ จี้ ‘มท.หนู’ เด้ง ‘ผู้ว่าฯ-นอภ.’ เซ่นบ่อนบางใหญ่เหมือนตำรวจ อย่าเลือกปฎิบัติ

เต้-มงคลกิตติ์ จี้ อนุทิน เด้ง ผู้ว่าฯ-นอภ. สังเวยจับบ่อนบางใหญ่ จ.นนทบุรี เหมือนตำรวจ อย่าเลือกปฏิบัติ

“พิพัฒน์” ห่วงใยแรงงาน ส่งหน่วยงานในสังกัดเข้าช่วยลูกจ้างน้ำท่วมศรีราชา ขอความร่วมมือนายจ้างไม่ถือเป็นวันลา ได้ค่าจ้างปกติ

วันที่ 21 มีนาคม 2567 นายพิพัฒน์ รัชกิจประการ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน เปิดเผยถึงกรณี สถานการณ์น้ำท่วมในพื้นที่ อ.ศรีราชา จ.ชลบุรีว่า ตามที่ได้เกิดฝนตกหนักในเขตพื้นที่ อ.ศรีราชา

'ดร.เสรี' ชี้น้ำท่วมใหญ่ของจริงยังไม่มา ยกเหตุชลบุรีจมบาดาล อนาคตจะรุนแรงมากกว่านี้

รศ.ดร.เสรี ศุภราทิตย์ รองประธานกรรมการมูลนิธิสภาเตือนภัยพิบัติแห่งชาติ โพสต์ข้อความบนเฟซบุ๊กว่า #น้ำท่วมใหญ่ของจริงยังไม่มา ภัยคุกคามจากการเปลี่ยนแปลง