รัฐบาลร่ายยาวผลงานปราบยาเสพติดยุค 'ลุงตู่' ก่อนเปิดศึกอภิปรายมาตรา 152

โฆษกรัฐบาลย้ำรัฐบาลแก้ปัญหายาเสพติดจริงจังตามนโยบายนายกฯ ควบคู่บำบัดรักษาผู้เสพ ให้โอกาสกลับตัวเป็นคนดีหวังขับเคลื่อนประเทศให้มั่นคงปลอดภัยจากยาเสพติดอย่างยั่งยืน

15 ก.พ.2566 - นายอนุชา บูรพชัยศรี รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมือง ปฏิบัติหน้าที่โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยถึงการปฏิบัติการป้องกันปราบปรามและแก้ไขปัญหายาเสพติดอย่างจริงจัง ตามนโยบายรัฐบาลและ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ว่าล่าสุดการดำเนินการระยะเร่งด่วน (1 พ.ย.2565-31 ม.ค.2566) กระทรวงยุติธรรม โดยสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด (สำนักงาน ป.ป.ส.) ได้บูรณาการหน่วยงานต่างๆ ดำเนินการปราบปรามผู้ค้ายาเสพติดในพื้นที่ โดยผลการปฏิบัติเรื่องร้องเรียนยาเสพติดและผลการจับกุมเจ้าหน้าที่รัฐในคดีความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด ระหว่างเดือนตุลาคม-ธันวาคม 2565 มีดังนี้

1. ผลการดำเนินงานเรื่องร้องเรียนยาเสพติด ระหว่างวันที่ 1 ตุลาคม-31 ธันวาคม 2565 โดยร้องเรียนผ่านศูนย์รับเรื่องร้องเรียนยาเสพติด 1386 สำนักงาน ป.ป.ส. จำนวน 4,787 เรื่อง และร้องเรียนผ่านสำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี 1111 จำนวน 7 เรื่อง รวมเรื่องร้องเรียน จำนวน 4,794 เรื่อง (บุคคล 4,470 คน และพื้นที่ 324 เรื่อง) ดำเนินการแล้ว จำนวน 2,142 เรื่อง (บุคคล 2,023 คน และพื้นที่ 119 เรื่อง) คิดเป็นร้อยละ 44.68 และ

2.ผลการดำเนินงานจับกุมผู้ต้องหาที่เป็นเจ้าหน้าที่รัฐในคดีความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด ระหว่างวันที่ 1 ตุลาคม-31 ธันวาคม 2565 สามารถดำเนินการจับกุมผู้ต้องหาที่เป็นเจ้าหน้าที่รัฐในคดีความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดรวม จำนวน 7 ราย จำแนกประเภทเป็น เจ้าหน้าที่ตำรวจ 3 ราย เจ้าหน้าที่รัฐวิสาหกิจ 1 ราย เจ้าหน้าที่สมาชิกสภาองค์กรส่วนท้องถิ่น 1 ราย ลูกจ้างปกครองส่วนท้องถิ่น 2 ราย และจำแนกตามข้อหาคือสมคบกันกระทำความผิดร้ายแรงเกี่ยวกับยาเสพติด 2 ราย และครอบครองเพื่อการค้า 4 ราย และเสพ 1 ราย โดยสามารถยึดทรัพย์รวมมูลค่าประมาณ 4,402,905 บาท

นายอนุชากล่าวย้ำว่า รัฐบาลได้มีมาตรการด้านการป้องกันและปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด ประกอบด้วย 1. การควบคุมสารเคมีที่นำไปใช้ผลิตยาเสพติด เช่น ระงับการส่งออกและชะลอการนำเข้าวัตถุอันตรายบางรายการชั่วคราว ได้แก่ ระงับการอนุญาตให้ส่งออกและชะลอการอนุญาตให้นำเข้าสารโซเดียมไซยาไนด์และสารเบนซิลไซยาไนด์ไว้จนกว่าจะได้ปรับปรุงวิธีพิจารณาอนุญาตการนำเข้าและการส่งออก และจัดทำหลักเกณฑ์การควบคุมแล้วเสร็จ ทั้งนี้ การอนุญาตให้นำเข้าและส่งออกสารเคมีทั้ง 2 ชนิด จะอนุญาตตามปริมาณการใช้จริงเป็นราย ๆ ไปเท่านั้น และการขออนุญาตส่งออกและขออนุญาตนำเข้าสารโซเดียมไซยาไนด์และสารเบนซิลไซยาไนด์ และสารเบนซิลคลอไรด์จะดำเนินการกำหนดหลักเกณฑ์ให้ผู้นำเข้า ผู้ส่งออก และผู้ซื้อ ต้องยืนยันตนโดยการลงทะเบียนเพื่อควบคุมปริมาณและการติดตามการใช้สารเคมีทั้ง 3 ชนิด รวมทั้งยึดและอายัดวัตถุอันตรายที่ใช้ในกระบวนการผลิตยาเสพติด โดยอายัดสารโซเดียมไซยาไนด์ 220 ตัน

2.การทำลายเครือข่ายนักค้ายาเสพติดและยึดอายัดทรัพย์สิน โดยดำเนินการสืบสวน ขยายผล เพื่อทำลายเครือข่ายการค้ายาเสพติด ซึ่งในห้วงเดือนตุลาคม-ธันวาคม 2565 มีการกำหนดเครือข่ายเป้าหมายในการดำเนินการ 242 เครือข่าย และได้จัดทำรายงานข่าวสารยาเสพติดของเครือข่าย 739 ฉบับ รวมทั้งจัดทำรายงานเป้าหมายบุคคลในเครือข่าย 1,098 คน รวมถึงกำหนดเป้าหมายยึด อายัดทรัพย์สินคดียาเสพติด ใบปีงบประมาณ พ.ศ. 2566 มูลค่า 100,000 ล้านบาท ผลการดำเนินงานยึด อายัดทรัพย์สิน รวมมูลค่าทั้งสิ้น 11,280 ล้านบาท (ระหว่างวันที่ 1 ตุลาคม-31 ธันวาคม 2565)

3.การติดตามจับกุมผู้มีหมายจับคดียาเสพติด โดยสำนักงาน ป.ป.ส. กำหนดเป้าหมาย 8,402 หมายจับ สามารถดำเนินการเร่งรัดติดตามจับกุมผู้มีหมายจับคดียาเสพติดได้ 88 หมายจับ (ระหว่างวันที่ 1 ตุลาคม-15 ธันวาคม 2565) ขณะที่กระทรวงกลาโหม ได้เพิ่มความเข้มข้นในการเฝ้าระวังการลักลอบนำเข้าและส่งออกยาเสพติดตามบริเวณแนวชายแดน ดังนี้ 1. สกัดกั้นยาเสพติด ระหว่างวันที่ 1 ตุลาคม-26 ธันวาคม 2565 สามารถจับกุมและสกัดกั้นยาเสพติด ได้แก่ ยาบ้า จำนวน 12.29 ล้านเม็ด เฮโรอีน จำนวน 11 กิโลกรัม ยาไอซ์ จำนวน 586,956.75 กรัม และ ยาอี จำนวน 15,000 เม็ด และ 2. ปราบปรามยาเสพติด โดยมีมาตรการหลัก ได้แก่ การปฏิบัติการข่าวเชิงลึกด้วยการจัดตั้งตัวแทนในพื้นที่พิเศษพื้นที่ชายแดน การรวบรวมข่าวสาร ติดตาม ตรวจสอบความเคลื่อนไหวของกลุ่ม/ขบวนการค้ายาเสพติด การบูรณาการกำลังในการลาดตระเวนและเฝ้าตรวจพื้นที่เพ่งเล็ง และการบูรณาการร่วมกับหน่วยงานความมั่นคง ซึ่งในเดือนพฤศจิกายน 2565 สามารถดำเนินการจับกุม/ตรวจยึดยาเสพติดได้ ดังนี้ ผู้ต้องหา จำนวน 18 คน ยาบ้า จำนวน 11.93 ล้านเม็ด ยาไอซ์ จำนวน 435.1 กิโลกรัม และเคตามีน จำนวน 9.9 กิโลกรัม รวมไปถึงสำนักงานตำรวจแห่งชาติ (ตช.) ดำเนินการเชิงรุกในการปราบปรามและจับกุมผู้ค้ายาเสพติดในพื้นที่ขยายผลและใช้มาตรการทางทรัพย์สิน และกฎหมายปราบปรามการฟอกเงินและร่วมกับภาคีเครือข่ายค้นหาผู้ติดยาเสพติดจัดทำฐานข้อมูล (ระหว่างวันที่ 1 ตุลาคม-15 ธันวาคม 2565 มีการจับกุมผู้กระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดรวม 80,354 คดี ผู้ต้องหา 79,931 ราย

4.การทำงานร่วมกับหน่วยงานอื่นเพื่อค้นหาผู้เสพยาเสพติดทั่วประเทศ ได้แก่ 1.สำนักงาน ป.ป.ส. ร่วมกับ ตช. และ มท. ในการบูรณาการฐานข้อมูลผู้เสพ ผู้ติด ผู้มีอาการทางจิตเวช โดยจัดตั้งฐานข้อมูลด้านยาเสพติดที่ศูนย์ปฏิบัติการสำนักงาน ป.ป.ส. 2. ตช. ดำเนินการ Re X-Ray ผู้ใช้ ผู้เสพ ผู้ติดยาเสพติด และผู้มีอาการทางจิตเวช จำนวน 158,333 ราย มีผู้ใช้ ผู้เสพ เข้าสู่กระบวนการบำบัด 106,937 ราย ผู้ป่วยจิตเวชที่มีสาเหตุจากยาเสพติดเข้าสู่กระบวนการบำบัด 25,586 ราย และไม่ได้มีสาเหตุมาจากยาเสพติด 25,810 ราย (ระหว่างวันที่ 1 ตุลาคม-20 ธันวาคม 2565) และ 3.มท. ดำเนินการ Re X-Ray ผู้เสพ ผู้ติด ผู้ค้า และผู้เกี่ยวข้องกับยาเสพติด พบผู้เสพ/ผู้ติดยาเสพติดทั่วประเทศ จำนวน 119,195 คน ผู้ค้ายาเสพติดทั่วประเทศ จำนวน 18,374 คน (ระหว่างวันที่ 1 ตุลาคม-30 พฤศจิกายน 2565)

5.การศึกษาและทบทวนกรณีผู้เสพเป็นผู้ป่วย โดยกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ได้ดำเนินการทบทวนร่างกฎกระทรวงว่าด้วยการกำหนดปริมาณยาเสพติดให้โทษ ในประเภท 1 ประเภท 2 หรือประเภท 5 หรือวัตถุออกฤทธิ์ ในประเภท 1 หรือประเภท 2 ที่ให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่ามีไว้ในครอบครองเพื่อเสพ พ.ศ. .... (ปัจจุบันอยู่ระหว่างการทำประชาพิจารณ์)

รวมทั้งรัฐบาลมีมาตรการด้านการบำบัดฟื้นฟูผู้ติดยาเสพติด แบ่งเป็น ดังนี้ 1.มาตรการระยะเร่งด่วน เช่น บำบัดรักษาผู้ติดยาเสพติด โดยในไตรมาส 1 ของปีงบประมาณ พ.ศ. 2566 มีผลการบำบัดรักษาผู้ติดยาเสพติด ตามแบบบำบัดรักษาตามประมวลกฎหมายยาเสพติด พ.ศ. 2564 แบ่งเป็น มาตรา 113 จำนวน 9,447 ราย มาตรา 114 จำนวน 7,414 ราย และศาล จำนวน 1,160 ราย มีระบบบูรณาการดูแลผู้ป่วยจิตเวชยาเสพติด (SMI-V Care) ในพื้นที่นำร่อง 30 จังหวัด เร่งรัดสำรวจศูนย์คัดกรองให้ครอบคลุมทุกตำบล และดำเนินการขึ้นทะเบียนศูนย์คัดกรองแล้ว จำนวน 9,473 แห่ง เร่งรัด สนับสนุน และร่วมบูรณาการการดำเนินงานกับหน่วยงานในพื้นที่ CBTx (Community based treatment and rehabilitation) สร้างการมีส่วนร่วมของครอบครัวชุมชน สังคม ดูแลผู้ติดยาเสพติด ดำเนินการแล้ว 659 ชุมชน และจัดตั้งกลุ่มงานจิตเวชและยาเสพติดในโรงพยาบาลชุมชน จำนวน 775 แห่ง ดำเนินการแล้ว จำนวน 439 แห่ง 2.มาตรการระยะกลาง เช่น สนับสนุนการดำเนินงานของสถานฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติดภาคีเครือข่าย จำนวน 146 แห่ง เร่งรัดประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในจังหวัด เพื่อสำรวจ ตรวจสอบและยื่นขึ้นทะเบียนศูนย์ฟื้นฟูสภาพทางสังคมให้ครอบคุลมทุกจังหวัดถึงระดับตำบล โดยได้ดำเนินการศูนย์ฟื้นฟูสภาพทางสังคมขึ้นทะเบียนเว็บไซต์แล้ว จำนวน 912 แห่ง และจัดให้มีบริการหอผู้ป่วยในจิตเวชและยาเสพติดทุกโรงพยาบาลศูนย์และโรงพยาบาลทั่วไป และครอบคลุมทุกจังหวัด และ 3.มาตรการระยะต่อเนื่อง โดยดำเนินการควบคุมกำกับ ติดตาม ศูนย์คัดกรอง สถานพยาบาลยาเสพติด/สถานฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติด ศูนย์ฟื้นฟูสภาพทางสังคมและการใช้ชุมชนเป็นฐานการบำบัดยาเสพติด ให้เป็นไปตามมาตรฐานโดยมีการประเมินจากคณะกรรมการระดับเขตสุขภาพด้วย

“การดำเนินงานที่เกิดผลเป็นรูปธรรมดังกล่าว เป็นนโยบายนายกฯ ที่เน้นย้ำทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เร่งขับเคลื่อนให้เกิดผลเป็นรูปธรรม ทำงานเชิงรุกทั้งการปราบปราม จับกุมผู้ค้ายาเสพติดในพื้นที่ ขยายผลไปสู่การทำลายเครือข่าย จับกุมนายทุนและผู้ที่เกี่ยวข้อง ตลอดจนการปราบปรามเจ้าหน้าที่ของรัฐที่เข้าไปเกี่ยวข้องกับยาเสพติด ควบคู่ประสานความร่วมมือทุกฝ่ายในสังคม นำผู้เสพเข้าสู่การบำบัดรักษา เป็นกำลังใจให้โอกาสกลับตัวเป็นคนดีของสังคม ทั้งนี้ รัฐบาลขอความร่วมมือประชาชนทุกภาคส่วนร่วมกันเป็นหูเป็นตากับภาครัฐ และแจ้งเบาะแสยาเสพติดมาได้ทางสายด่วน 1386 สำนักงาน ป.ป.ส. หรือทางสายด่วน 1111 สำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี เพื่อร่วมกันขับเคลื่อนประเทศไทยให้มีความมั่นคง และเป็นสังคมปลอดภัยยาเสพติด” นายอนุชา กล่าว

 

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

นายกฯ อิ๊งค์ลั่นกลาง ครม.พร้อมลงภาคใต้แต่ไม่รู้เมื่อไหร่!

นายกฯ แจ้งที่ประชุม ครม. พร้อมลงภาคใต้ ขอ ศปช.ส่วนหน้าสรุปแผนแก้ไขน้ำท่วมอย่างเป็นระบบ ทั้งระยะสั้น-ระยะยาว เพื่อแก้ไขปัญหาน้ำท่วมซ้ำซาก

รัฐบาลตีปี๊บแถลงผลงาน 90 วัน 12 ธ.ค. มั่นใจประเทศไทยไปได้สวย

รัฐบาลแถลงผลงาน 90 วัน “2568 โอกาสไทย ทำได้จริง“ พฤหัสนี้ มั่นใจประเทศไทยไปได้สวย หลังพบทุกมิติของประเทศคึกคัก คาดจีดีพีปีหน้าเติบโตสู้ประเทศในอาเซียนได้แน่

กรมราชทัณฑ์ แจงยิบ ปมแก๊ง 'นาย ท.' หลอกรีดเงินร้อยล้าน

กรมราชทัณฑ์ ชี้แจงว่า กระทรวงยุติธรรม ได้รับเรื่องร้องทุกข์ขอความเป็นธรรมจาก นายปัญญา กับกลุ่มผู้เสียหาย เมื่อวันที่ 3 พฤษภาคม 2567 ซึ่งกระทรวงยุติธรรมได้มอบหมายให้กรมราชทัณฑ์ตรวจสอบข้อเท็จจริงว่า มีเจ้าหน้าที่รายใดมีส่วนให้การช่วยเหลือ และรู้เห็นเกี่ยวกับการที่ผู้ต้องขังรายนี้กระทำการหลอก

รัฐบาลชวนชมริ้วขบวนอัญเชิญ 'พระเขี้ยวแก้ว' จากดอนเมืองมาสนามหลวง

รัฐบาล เชิญชวนชมริ้วขบวนอัญเชิญพระเขี้ยวแก้วจากดอนเมือง มาประดิษฐาน มณฑลพิธีท้องสนามหลวง พร้อมเปิดสักการะ 5 ธ.ค.2567 - 14 ก.พ.2568