กสม.ร่วมภาคีฯระดมความเห็นแก้ไขปัญหาฝุ่นควันจากไฟป่า เน้นหลักชุมชนมีส่วนร่วม

กสม. ร่วมภาคีเครือข่ายภาครัฐและประชาชน จ. เชียงใหม่ ระดมความเห็นแก้ไขปัญหาฝุ่นควันจากไฟป่า เตรียมจัดทำข้อเสนอแนะเชิงระบบ เน้นหลักชุมชนมีส่วนร่วมบริหารจัดการพื้นที่

3 มี.ค.2566 - เมื่อวันที่ 2 มีนาคม ที่ผ่านมา สำนักงานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ร่วมกับ สภาลมหายใจภาคเหนือ มูลนิธิเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และสำนักงานกองทุนสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) จัด “ประชุมเชิงปฏิบัติการเพื่อสร้างกรอบตัวชี้วัด มาตรฐาน และแนวทางการดำเนินงาน สิทธิในอากาศสะอาดและการจัดการมลภาวะทางอากาศที่เป็นธรรมในพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่” โดยมีผู้แทนภาคประชาชนในพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่ ผู้แทนองค์กรภาคประชาสังคมด้านทรัพยากรและสิ่งแวดล้อม นักวิชาการ รวมทั้งหน่วยงานภาครัฐส่วนภูมิภาคและส่วนกลางที่เกี่ยวข้อง เข้าร่วมการประชุมประมาณ 60 คน ณ โรงแรม Green Nimman CMU Residence at CMU และผ่านระบบออนไลน์

นางสาวศยามล ไกยูรวงศ์ กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ กล่าวเปิดการประชุมร่วมกับนายชาติวุฒิ วังวล ผู้อำนวยการสำนักสนับสนุนการควบคุมปัจจัยเสี่ยงทางสุขภาพ สสส. อาจารย์ไพสิฐ พาณิชย์กุล ผู้ช่วยอธิการบดีมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ นายบัณรส บัวคลี่ สภาลมหายใจภาคเหนือ และนายวิโรจน์ ติปิน มูลนิธิเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน ว่า เป็นที่ทราบกันดีว่า ปัญหาฝุ่นละอองขนาดไม่เกิน 2.5 ไมครอน หรือ PM 2.5 หมอกควันที่เกิดขึ้นจากไฟป่า และการเปลี่ยนแปลงที่รวดเร็วของสภาพภูมิอากาศ ได้ส่งผลกระทบต่อวิถีชีวิตและสุขภาพของประชาชนมาอย่างต่อเนื่องในช่วงระยะเวลามากกว่า 10 ปีที่ผ่านมา และนำมาสู่แนวทางการแก้ไขปัญหาในระดับนโยบายของรัฐบาลซึ่งได้ประกาศนโยบาย “ซีโรเบิร์นนิง” (zero burning) หรือการห้ามเผา 100% ในช่วงเวลาที่รัฐกำหนดเพื่อหลีกเลี่ยงการเผาพื้นที่เกษตรกรรมปริมาณมากพร้อมกัน และล่าสุด คณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติยังมีมติกำหนดค่ามาตรฐานฝุ่น PM 2.5 จากเดิมไม่เกิน 50 เป็น 37.5 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร ซึ่งจะมีผลบังคับใช้ในวันที่ 1 มิถุนายน 2566 ด้วย

คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) และองค์กรร่วมจัด ได้ตระหนักว่าปัญหามลพิษดังกล่าวเป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องโดยตรงกับสิทธิในอากาศสะอาด สิทธิชุมชนในการได้อาศัยอยู่ในสิ่งแวดล้อมที่ดี ซึ่งเกี่ยวโยงไปถึงสิทธิและความปลอดภัยชีวิตและร่างกายของประชาชนในระยะยาว ดังนั้น เพื่อให้เกิดการแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ที่หลากหลายในการจัดการมลภาวะทางอากาศในพื้นที่ ตลอดจนเพื่อนำไปสู่การจัดทำข้อตกลง กรอบมาตรฐาน/ตัวชี้วัด และแนวทางการดำเนินงานเพื่อจัดการปัญหาอย่างเป็นธรรมร่วมกันของทุกภาคส่วนในพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่ซึ่งเป็นพื้นที่นำร่อง กสม. และภาคีเครือข่ายจึงได้ร่วมกันจัดประชุมในครั้งนี้ขึ้น เพื่อหาแนวทางที่เหมาะสมอันเป็นที่ยอมรับของทุกฝ่ายภายใต้หลักการสำคัญคือการมีส่วนร่วมของทั้งหน่วยงานผู้บังคับใช้กฎหมาย ส่วนท้องถิ่น และชุมชน

ในการนี้ ผู้แทนเครือข่ายพื้นที่ 12 ตำบลจังหวัดเชียงใหม่ โดยนายนิกร เต๋จ๊ะแยง นายกองค์การบริหารส่วนตำบลทาเหนือ อำเภอแม่ออน จังหวัดเชียงใหม่ นายก่อชิ เพชรไพรพนาวัลย์ นายกเทศมนตรีตำบลบ้านหลวง อำเภอจอมทอง จังหวัดเชียงใหม่ นายพฤ โอโดเชา ผู้แทนชุมชนกลุ่มชาติพันธุ์ และนายบุญตัน กาละวิน ผู้แทนผู้ใช้ไฟ ได้มีข้อเสนอต่อคณะกรรมการการกระจายอำนาจให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (ก.ก.ถ.) และจังหวัดเชียงใหม่ ดังนี้

(1) ควรมีการปรับปรุงข้อเสนอคณะกรรมการกระจายอำนาจฯ ให้มีการถ่ายโอนภารกิจด้านการควบคุมไฟป่าในพื้นที่ป่าอนุรักษ์ที่สอดคล้องกับชุมชนท้องถิ่น

(2) เสนอให้คณะกรรมการการกระจายอำนาจฯ และกระทรวงมหาดไทย กรมส่งเสริมการปกครองส่วนท้องถิ่น แก้ไขวิธีงบประมาณ เงินอุดหนุนสำหรับสนับสนุนภารกิจป้องกันและควบคุมไฟป่าขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น

(3) ให้อำนาจองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.)ในการจัดการ สนับสนุนงบประมาณอย่างเต็มที่แก่ อปท. ในการใช้ในการบริหารจัดการเชื้อเพลิงและการจัดการไฟป่า

(4) ให้มีการจัดตั้งศูนย์อำนวยการสั่งการป้องกันแก้ไขปัญหาไฟป่าฝุ่นควัน โดยนำไปสู่การจัดตั้งคณะกรรมการระดับตำบล ที่มีอำนาจในการจัดทำแผนการบริหารจัดการเชื้อเพลิง และมีอำนาจในการอนุมัติคำร้องแผนการจัดการเชื้อเพลิงในพื้นที่ผ่านช่องทางแอปพลิเคชัน FireD

(5) เกณฑ์การอนุมัติแผนการบริหารจัดการเชื้อเพลิงในพื้นที่ของแอพพลิเคชัน FireD มีการอ้างอิงจากข้อมูลดาวเทียม ข้อมูลในพื้นที่ และข้อมูลแบบจำลอง พร้อมทั้งการวัดเกณฑ์จากเครื่องวัดเทคโนโลยีโดยมีการกำหนดค่าฝุ่น PM 2.5 ค่าจุดความร้อน ค่าปริมาณฝน และดัชนีการระบายอากาศ ทั้งนี้หากกำหนดเกณฑ์เครื่องวัดเทคโนโลยีอย่างชัดเจน คณะทำงานจะสามารถทำงานได้อย่างคำนึงถึงผลลัพธ์ที่จะเกิดขึ้นในอนาคต

(6) องค์ความรู้และข้อมูลที่ใช้ในการประกอบการตัดสินใจบริหารจัดการเชื้อเพลิง ควรมีชุดความรู้ที่สนับสนุนให้เกิดแผนการบริหารจัดการเชื้อเพลิงที่เหมาะสมและมีประสิทธิภาพ คือ ให้ไฟที่จำเป็นทั้งหมดเข้ามาอยู่ในแผนแล้วบริหารจัดการ เพื่อตัดสินใจกันในระดับท้องถิ่น

ในการประชุมดังกล่าว ผู้แทนภาคประชาสังคม ผู้แทนชุมชนกลุ่มชาติพันธุ์ที่ทำไร่หมุนเวียน ผู้แทนชุมชนท้องถิ่นในเครือข่ายพื้นที่ 12 ตำบลจังหวัดเชียงใหม่ นายปิ่นสักก์ สุรัสวดี อธิบดีกรมควบคุมมลพิษ ผู้แทนหน่วยงานภาครัฐที่มีหน้าที่เกี่ยวข้องในระดับพื้นที่ของจังหวัดเชียงใหม่ ราชการส่วนกลางและนักวิชาการ ยังมีความเห็นร่วมกันว่า ควรมีการพัฒนาตัวชี้วัดระบบการบริหารจัดการไฟผ่านแอปพลิเคชัน FireD ในด้านข้อมูลนำเข้า คือกิจกรรมที่ทำให้เกิดไฟทุกประเภท ตัวชี้วัดในเชิงกระบวนการทำงานร่วมกันของส่วนราชการร่วมกับภาคชุมชนท้องถิ่น ตัวชี้วัดในการนำองค์ความรู้ของชุมชนและผู้มีส่วนได้เสียมาใช้ในกระบวนการทำงาน ตัวชี้วัดเชิงระบบภูมิสารสนเทศ ตัวชี้วัดในการวางแผนบูรณาการเชิงพื้นที่ของจังหวัด ชุมชน และท้องถิ่น ตัวชี้วัดในการสื่อสารทำความเข้าใจ ตัวชี้วัดปรับปรุงกฎหมาย ตัวชี้วัดระบบงบประมาณ เป็นต้น โดยสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาระบบราชการ (สำนักงาน ก.พ.ร.) เป็นหน่วยงานหลักในการพัฒนาตัวชี้วัด และ จังหวัดเชียงใหม่เป็นหน่วยงานหลักในการสนับสนุนการวางแผนงานเชิงบูรณาการในระดับชุมชนร่วมกับท้องถิ่น

“กสม. จะนำข้อมูลดังกล่าวไปพิจารณาประกอบการจัดทำข้อเสนอแนะเชิงระบบกรณีสิทธิชุมชนและสิทธิในอากาศสะอาดและการบริหารจัดการเชื้อเพลิง เสนอไปยังรัฐบาลเพื่อให้เกิดการคุ้มครองสิทธิของประชาชนทุกกลุ่มทุกฝ่าย ทั้งชุมชนผู้ใช้ทรัพยากรและอาศัยอยู่ในป่า ประชาชนผู้ได้รับผลกระทบจากมลพิษทางอากาศ ตลอดจนหน่วยงานผู้มีหน้าที่บังคับใช้กฎหมาย ให้เกิดความเป็นธรรมต่อไป” นางปรีดา คงแป้น กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ กล่าวปิดท้าย

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

กสม.ชี้ฟาร์มเลี้ยงไก่เนื้อจ.นครปฐม ก่อมลพิษทางกลิ่น จี้อบต. กำกับแก้ไขปัญหา

กสม. ตรวจสอบกรณีฟาร์มเลี้ยงไก่เนื้อจ.นครปฐม ก่อมลพิษทางกลิ่น ส่งผลกระทบต่อสิทธิในสิ่งแวดล้อมที่ดีของประชาชน แนะ อบต. กำกับแก้ไขปัญหา

กระทรวงทรัพย์ฯ สั่งคุมเข้มแก้ฝุ่น PM2.5 ภาคเหนือ ช่วงสงกรานต์

น.ส.เกณิกา อุ่นจิตร์ รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง มีความห่วงใยสุขภาพของประชาชนเกี่ยวกับสถานการณ์ฝุ่น PM2.5 ในพื้นที่ภาคเหนือในช่วงเทศกาลสงกรานต์ที่ประชาชนจะ