ครบ 9 ปี 'บิลลี่' ถูกอุ้มหาย นักกฎหมายชี้กรมอุทยานฯ 2 มาตรฐาน ชงนายกฯแก้บางกลอย

ครบ 9 ปี “บิลลี่” ถูกอุ้มหาย “มึนอ” เผยยังหวังความเป็นธรรม นักกฎหมายชี้กรมอุทยานฯ 2 มาตรฐาน กก.อิสระเสนอ “บิ๊กตู่” แก้ปัญหาชาวบ้านบางกลอย-ให้ชาวบ้านที่ต้องการกลับป่าใหญ่ได้คืนถิ่น

13 เม.ย.2566 - น.ส.พิณนภา พฤกษาพรรณ หรือ “มึนอ” อดีตภรรยานายพอละจี รักจงเจริญ หรือ “บิลลี่” ชาวบางกลอยที่ถูกฆาตกรรม ให้สัมภาษณ์การร้องเรียนหาความเป็นธรรมซึ่งในวันที่ 17 เมษายนปีนี้จะครบรอบ 9 ปีที่บิลลี่ถูกอุ้มหายตัวไป ว่าตลอด 9 ปีที่รู้สึกว่ายังไม่ได้รับความเป็นธรรมอะไรเลย เพราะทุกสิ่งทุกอย่างโดยเฉพาะเรื่องสิทธิในที่ดินทำกินของชาวบางกลอยที่บิลลี่พยายามเรียกร้องแก้ไขก็ยังไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลง ทุกอย่างยังคงเหมือนเดิม จึงรู้สึกว่ายังไม่ได้รับความเป็นธรรม ขณะที่เรื่องสิทธิความเท่าเทียม พวกเรายังถูกมองว่าเป็นแค่คนกะเหรี่ยง เป็นกลุ่มชาติพันธุ์ บางคนก็เรียกเพี้ยนๆเป็นคนกะหร่าง ทำให้รู้สึกว่าเราถูกดูถูก มีคนทำสารคดีเรียกเราว่า “กะหร่างบางกลอย” ตนฟังแล้วรู้สึกไม่ดี

ผู้สื่อข่าวถามว่ารู้สึกอย่างไรที่อัยการส่งฟ้องคดีบิลลี่แล้วหลังจากรอมาหลายปี มึนอกล่าวว่ารู้สึกมีความหวังขึ้นมาบ้าง แต่ยังไม่สิ้นสุดคดีความเลยจึงไม่หวังอะไรมาก เพราะเก็บไว้เผื่อผิดหวังในตอนหลัง

“ส่วนตัวรู้สึกว่าคนที่ทำดีเหมือนไม่มีที่ยืน แต่คนทำไม่ดีที่ยืนมีเยอะ เวลาเราไปเรียกร้องอะไร กลับมาดูข่าว เห็นแต่เขาได้ยศ ได้ตำแหน่งเพิ่มยิ่งเป็นการกดดันให้พวกเราชาวบ้านตัวเล็กลงๆ เรื่อยๆ และกลัวจนไม่กล้าทำอะไร รู้สึกว่าบนโลกใบนี้จะหาความยุติธรรมได้ที่ใดบ้าง” น.ส.พิณนภา กล่าว

มึนอกล่าวว่า พวกตนต้องการความเป็นธรรม ที่สำคัญขอให้พี่น้องบางกลอย ได้มีสิทธิในที่ดินทำกินของตนเอง เพื่อที่จะได้ไม่ต้องลำบากอีกต่อไป แต่เวลาที่ผู้เกี่ยวข้องออกสื่อมักพูดว่าชาวบ้านบางกลอยมีความเป็นอยู่สุขสบายแล้ว ทั้งๆ ที่มีแค่บางครอบครัวเท่านั้น แต่ชาวบ้านส่วนใหญ่ยังไม่มีที่ดินทำกินจึงอยู่อย่างลำบาก

“เรายังหวังให้ผู้ที่กระทำความผิดได้รับโทษตามกฎหมายตามเท่าที่ควรจะได้รับ แต่เราจะหวังเต็มร้อยคงไม่ได้ เพราะดูแล้วยังยาก” มึนอ กล่าว

เมื่อถามว่าตลอด 9 ปีในการต่อสู้เรียกร้องความเป็นธรรมได้รับบทเรียนอะไรบ้าง น.ส.พิณนภากล่าวว่า ได้ทำงานร่วมกับเครือข่าย จากที่สมัยก่อนไม่รู้จักสังคมภายนอกเลย แต่นับจากวันที่บิลลี่หายไป อะไรที่ไม่เคยทำก็ต้องทำ ที่ไหนที่ไม่เคยไปก็ต้องไป ได้เจอคนทุกรูปแบบ

“บางคนชี้หน้าเรา หาว่าไปเรียกร้องให้แฟนตัวเอง ไม่กลัวหายไปเหมือนบิลลี่หรือ เราไม่ชอบคนที่ชี้หน้า เลยตอบเขาไปว่าสู้มาจนป่านนี้แล้ว ไม่มีอะไรที่น่ากลัวอีกแล้ว บางคนก็เห็นว่าเราหัวรุนแรง เป็นพวกเอ็นจีโอ หนูก็บอกเขาไปว่าเป็นแค่ชาวบ้านธรรมดาคนหนึ่ง บางคนไม่อยากให้เราไปเรียกร้องให้บิลลี่เพราะเขารู้สึกสิ้นหวัง แม้แต่ญาติพี่น้อง บางคนก็มาเตือนถ้าไปเรียกร้องเรื่องสิทธิในที่ดิน อย่าไปนะ เขากลัวหนูจะหายไปเหมือนบิลลี่” มึนอ กล่าว

นายสุรพงษ์ กองจันทึก ประธานมูลนิธิผสานวัฒนธรรม กล่าวว่า บิลลี่หายไปอย่างไร ตั้งแต่ 17 เมษายน 2557 คนที่พบคนสุดท้ายคือนายชัยวัฒน์ ลิ้มลิขิตอักษร หัวหน้าอุทยานฯ แก่งกระจานขณะนั้น ซึ่งนายชัยวัฒน์อ้างว่าปล่อยตัวบิลลี่ไปแล้วโดยอ้างนักศึกษาฝึกงาน 2 คนเป็นพยาน แต่เมื่อตำรวจสอบสวนพบว่านักศึกษาให้การว่าตัวเองไม่ได้เห็นว่ามีการปล่อยตัวบิลลี่ไป สุดท้ายกรมสอบสวนคดีพิเศษ หรือดีเอสไอ สามารถหาหลักฐานยืนยันว่าบิลลี่เสียชีวิตแล้ว โดยพบกระดูกที่มีการเผาอยู่ในถังน้ำมันในอ่างเก็บน้ำแก่งกระจานและผลการพิสูจน์ทางวิทยาศาสตร์เชื่อได้ว่าเป็นกระดูกของบิลลี่แน่นอน นำไปสู่การที่ดีเอสไอส่งเรื่องให้อัยการฟ้องนายชัยวัฒน์และพรรคพวกรวม 4 คนในข้อหาร่วมกันฆ่าและข้อหาอื่นๆ

นายสุรพงษ์กล่าวว่า อัยการชั้นต้นได้ตั้งคณะทำงานขึ้นมาและเห็นว่าข้อมูลยังไม่ชัดเจนและจะไม่ฟ้องคดีร่วมกันฆ่า แต่จะฟ้องเพียงข้อหาละเว้นการปฎิบัติหน้าที่ แต่ดีเอสไอยืนยันข้อหาร่วมกันฆ่า ทำให้เรื่องนี้นำไปสู่การพิจารณาของอัยการสูงสุด และสุดท้ายมีคำสั่งให้ฟ้องนายชัยวัฒน์และพรรคพวกทั้ง 4 คน ในข้อหาร่วมกันฆ่า และผู้ต้องหาตกเป็นจำเลย ซึ่งศาลได้รับฟ้องนำไปสู่การสืบพยานทั้ง 2 ฝ่าย โดยสืบพยานครั้งแรกในวันที่ 24 เมษายน 2566 ตนหวังว่าข้อมูลข้อเท็จจริงนำไปสู่การหาผู้ที่ฆ่าบิลลี่ได้

ผู้สื่อข่าวถามว่า กรณีที่เกิดขึ้นกับคดีบิลลี่ นอกจากชาวบ้านยังไม่ได้รับการเยียวยาแล้ว บุคคลที่ชาวบ้านเชื่อว่ามีส่วนรู้เห็นกลับได้ดีขึ้น มองอย่างไร นายสุรพงษ์กล่าวว่า เมื่อเปรียบเทียบกับกรณีที่มีข่าวการจับกุมอดีตอธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติฯ รับเงินโดยมิชอบ และมีการตั้งคณะกรรมการขึ้นมาสอบสวน พร้อมให้ย้ายอธิบดีทันที นอกจากนี้มีคำสั่งให้ออกจากราชการ ทั้งๆ ที่เรื่องยังไม่เข้าสู่ชั้นศาล แต่กรณีบิลลี่ มีหลักฐานชัดเจนและตกเป็นจำเลยแล้ว อัยการเชื่อหลักฐานและศาลรับฟ้องนัดสืบพยาน ทั้งความผิดในคดีนี้ถือว่าเป็นความผิดร้ายแรงมีโทษหนักถึงประหารชีวิต แต่กรมอุทยานฯ กลับยังให้ปฏิบัติหน้าที่ ถือว่าเป็นการเลือกปฎิบัติ เห็นถึงสองมาตรฐานในการดำเนินการของกรมอุทยานฯ ทำให้กรมอุทยานฯ ถูกเพ่งเล็งได้ว่าผู้บังคับบัญชาระดับสูงดำเนินการโดยมิชอบหรือไม่

นายสุรพงษ์กล่าวถึงการเยียวยาให้กับชาวบ้านบางกลอยที่ถูกเผาบ้านเพื่ออพยพมาอยู่ด้านล่างว่า ศาลปกครองสูงสุดพิพากษาว่าชาวบ้านเป็นคนดั้งเดิมและให้เยียวยา โดยมีการเผาบ้านไปร้อยกว่าหลัง ซึ่งศาลบังคับให้จ่าย 6 หลังตามที่ฟ้อง แต่ที่เหลือหน่วยราชการยังไม่ได้เยียวยาเลย ทั้งๆ ที่เป็นพฤติกรรมเดียวกัน ประกอบกับเป็นพื้นที่ชุมชนท้องถิ่นดั้งเดิม ควรให้ชาวบ้านกลับไปอยู่ในพื้นที่เดิม และพรบ.อุทยานแห่งชาติ พ.ศ.2562 ในม.64 เขียนชัดเจนชาวบ้านในพื้นที่ป่า ให้กรมอุทยานฯ ต้องสำรวจครบ แต่อุทยานฯ กลับไม่สำรวจชาวบ้านกลุ่มนี้ ซึ่งอาจจะทำให้เจ้าหน้าที่ทำหน้าที่ไม่ครบถ้วนหรือละเว้นการปฎิบัติหน้าที่ได้

เมื่อถามอีกว่า มองอย่างไรที่ผ่านมารัฐบาลได้มีการแต่งตั้งคณะกรรมการหลายชุดเพื่อแก้ไขปัญหาชุมชนบางกลอย แต่จนถึงขณะนี้กลับยังไม่มีความคืบหน้าเป็นรูปธรรมให้เห็น นายสุรพงษ์กล่าวว่า เรื่องนี้ก็น่าห่วง โดยเฉพาะความเข้าใจของหน่วยงานบางหน่วยยังคลาดเคลื่อน เพราะคิดว่ามีการอพยพชาวบ้านมาและจะจัดที่ทำกินให้ในปี 2539 แต่ข้อเท็จจริงทางกฎหมายคือ ขณะนั้นชาวบ้านได้มีการตั้งหมู่บ้านอยู่แล้ว คือ หมู่ 7 อ.ท่ายาง พวกเขามีเลขที่บ้านชัดเจนและเป็นหมู่บ้านถูกต้องตามกฎหมาย ชาวบ้านอยู่กันมาเนิ่นนานซึ่งเจ้าหน้าที่รัฐไม่มีอำนาจย้ายพวกเขา การที่บังคับย้ายชาวบ้านให้ลงมาอยู่บางกลอยล่างโดยรับปากจะจัดที่ดินทำกินให้ครอบครัวละ 7 ไร่ เป็นการกระทำผิดกฎหมายเพราะเจ้าหน้าที่อุทยานไม่มีอำนาจจัดที่ดินทำกินให้ชาวบ้านได้เลยในเขตอุทยานฯ ดังนั้นการโยกย้ายชาวบ้านเมื่อปี 2539 จึงเป็นเรื่องผิดกฎหมายจึงควรตรวจสอบเจ้าหน้าที่ที่ทำผิดกฎหมายและให้ชาวบ้านกลับคืนไปอยู่พื้นที่เดิม

“เมื่อข้อมูลผิดพลาดตั้งแต่ต้น การดำเนินการผิดพลาดไปด้วยเพราะไปเชื่ออย่างผิดๆ ว่าเจ้าหน้าที่อุทยานฯ มีอำนาจ จึงไปเยียวยาชาวบ้านบางกลอยล่าง มีโครงการต่างๆเข้าไปมากมาย แต่กลับไม่ได้ผลเลย ทั้งๆ ที่ลงทุนไปเป็นเงินมหาศาล แต่ชาวบางกลอยยังมีชีวิตที่ย่ำแย่เหมือนเดิมเพราะเป็นการดำเนินงานที่หลงทิศหลงทาง จริงๆ แล้วไม่ต้องทำอะไรมาก แค่ให้ชาวบ้านได้กลับไปอยู่ในพื้นที่เหมือนเดิม เหมือนกับที่บรรพบุรุษเขาอยู่กันมาหลายร้อยปีก็พอ” นายสุรพงษ์ กล่าว

นายอนุชา นาคาศัย รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ในฐานะประธานคณะกรรมการอิสระเพื่อตรวจสอบข้อเท็จจริงและแก้ปัญหาชุมชนกะเหรี่ยงบางกลอย กล่าวว่าเราได้ทำในกรอบอำนาจและให้ความเป็นธรรมกับประชาชนมีผลเป็นรูปธรรมขึ้นเรื่อยๆ กรณีการแก้ปัญหาชาวบ้านบางกลอยเราทำไปได้เยอะ เริ่มเห็นแสงสว่าง ซึ่งกก.มีทั้งนักวิชาการ นักสิทธิมนุษยชน และหน่วยงานต่างๆ ตอนนี้ปัญหาลดทะเลาไปเยอะมาก บางเรื่องที่ติดข้อกฎหมาย เราก็ตัดสินใจในระดับนโยบายอย่างเดียวไม่ได้

ผู้สื่อข่าวว่าข้อสรุปและมาตรการรูปธรรมจะทันกับรัฐบาลรักษาการชุดนี้หรือไม่ นายอนุชากล่าวว่า น่าจะทัน เพราะหารือไปได้เยอะแล้ว ตนพยายามคลี่ปมและอธิบายให้หลายคนเข้าใจ ซึ่งกรมอุทยานฯ ก็ยอมไปเยอะแล้ว

นายอภินันท์ ธรรมเสนา ผู้แทนศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร(องค์การมหาชน) กรรมการและเลขานุการคณะกรรมการอิสระเพื่อตรวจสอบข้อเท็จจริงและแก้ปัญหาชุมชนกะเหรี่ยงบยางกลอย กล่าวว่า คณะกรรมการฯได้ข้อสรุปและทำหนังสือถึงนายกรัฐมนตรี เพื่อพิจารณาขอความเห็นชอบโดยมีเนื้อหาสำคัญว่าคณะกรรมการอิสระฯ ได้มีการประชุมจำนวน 3 ครั้ง เพื่อพิจารณาข้อเท็จจริงที่เกี่ยวข้องกับชุมชนชาวกะเหรี่ยงในพื้นที่บ้านบางกลอย และพิจารณาแนวทางการแก้ไขปัญหาด้านที่เกี่ยวข้องกับคดีปกครอง คดีอาญาและคดีแพ่งที่เกี่ยวข้องกับชุมชนชาวกะเหรี่ยงในพื้นที่บ้านบางกลอย ให้เป็นไปตามกฎหมาย ระเบียบ และมติคณะรัฐมนตรีที่เกี่ยวข้อง

ผู้แทนศูนย์มานุษฯ กล่าวว่า ข้อเสนอแนวทางการแก้ไขปัญหามี 2 ประเด็นคือ แนวทางการแก้ไขปัญหาและการพัฒนาคุณภาพชีวิตชาวกะเหรี่ยงบ้านบางกลอย ซึ่งเป็นไปตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญฯ มาตรา 70 และพระราชบัญญัติอุทยานแห่งชาติ พ.ศ. 2562 มาตรา 64 และมาตรา 65 รวมทั้งเป็นไปตามมติคณะรัฐมนตรี 3 สิงหาคม 2553 ว่าด้วยเรื่องแนวนโยบายและหลักปฏิบัติในการฟื้นฟูวิถีชีวิตขาวกะเหรี่ยง 2 แนวทาง คือกรณีกลุ่มชาติพันธุ์กะเหรี่ยงบ้านบางกลอยที่ประสงค์จะอยู่อาศัยในพื้นที่ชุมชนบ้านบางกลอย หมู่ 1 (บริเวณพื้นที่ตั้งชุมชนปัจจุบัน) จำนวนประชากร 732 คน ใช้แนวทางการพัฒนาคุณภาพชีวิตและการส่งเสริมอาชีพโดยพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานที่เอื้อต่อการดำรงชีวิตที่มีคุณภาพ และให้การเยียวยากลุ่มราษฎรที่ได้รับผลกระทบ จากการโยกย้ายชุมชน

นายอภินันท์กล่าวว่า กรณีกลุ่มชาติพันธุ์ชาวกะเหรี่ยงบ้านบางกลอยที่ประสงค์จะกลับไปดำรงวิถีชีวิตด้วยระบบเกษตรแบบไร่หมุนเวียนในพื้นที่บางกลอยบน (พื้นที่เดิมของชุมชนก่อนถูกโยกย้าย) จำนวน 150 คน ใช้แนวทางพัฒนาพื้นที่ต้นแบบส่งเสริมระบบเกษตรแบบไร่หมุนเวียน ตามหลักการคุ้มครองสิทธิทางวัฒนธรรมของกลุ่มชาติพันธุ์ ตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญฯมาตรา 70 และมติคณะรัฐมนตรี 3 สิงหาคม 2553 โดยดำเนินการผ่านการจัดโครงการศึกษาเชิงทดลองแบบมีส่วนร่วม โดยมอบหมายให้ ทส. แต่งตั้งคณะทำงานร่วม 3 ฝ่าย ประกอบด้วย ผู้แทนกลุ่มชาติพันธุ์ ชาวกะเหรี่ยงบ้านบางกลอยประสงค์จะกลับไปดำรงวิถีชีวิตด้วยระบบเกษตรแบบไร่หมุนเวียน คณะกรรมการอิสระ และ ทส.ดำเนินการสำรวจการใช้ประโยชน์พื้นที่ตามวิถีวัฒนธรรมของชาวกะเหรี่ยงบ้านบางกลอย และจัดทำแผนที่ระบุขอบเขตการใช้ประโยชน์ทีดินตามมาตรา 64 และจัดทำแผนบริหารจัดการพื้นที่พร้อมกำหนดมาตรการกำกับดูแลการใช้ประโยชน์พื้นที่อย่างสมดุลและยั่งยืน โดยขอสนับสนุนภาพถ่ายทางอากาศบริเวณพื้นที่บางกลอยบน จากกรมแผนที่ทหาร และขอความอนุเคราะห์กรมสอบสวนคดีพิเศษ (DSI) อ่านวิเคราะห์ภาพถ่ายทางอากาศ พิสูจน์ร่องรอยการตั้งถิ่นฐานและการทำเกษตรแบบไร่หมุนเวียน

อนึ่ง ในวันที่ 23 เมษายน 2566 ตั้งแต่เวลา 18.00 น. ณ หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร จะมีการจัดงาน “จะขอเป็นนกพิราบขาว” เพื่อสนับสนุนการเรียกร้องความเป็นธรรมให้กับชาวบ้านบางกลอย โดยมีคอนเสิร์ตและเวทีเสวนา ซึ่งรายได้จะร่วมสมทบทุนให้ชาวบ้านบางกลอย

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

'โอ-มา-กะ-เสพ' แลนด์มาร์กศิลปะใหม่ในป่า

เปิดให้สัมผัสแล้วเทศกาล โอ-มา-กะ-เสพ เนรมิตรพื้นที่ Camping Market  ตลาดกางเต้นท์แก่งกระจาน ชวนมาเสพผลงานศิลปะและวัฒนธรรมเมืองเพชรบุรี ผ่านกิจกรรมไฮไลท์ทั้ง 5 เสาร์ ตลอดเดือนธันวาคม 2566 นี้

ศาลสั่งจำคุก 'ชัยวัฒน์' 3 ปี ไม่รอลงอาญา ผิด ม.157 คดีบิลลี่ ยกฟ้องร่วมกันฆ่า

ศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบกลาง ถนนเลียบทางรถไฟตลิ่งชัน ศาลนัดฟังคำพิพากษา คดีหมายเลขดำ อท.166/2565 ที่อัยการโจทก์ ยื่นฟ้อง นายชัยวัฒน์ ลิ้มลิขิตอักษร ผู้อำนวยการสำนักอุทยานแห่งชาติ กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่าและพันธุ์พืช)และพวกรวม 4 คน ฐานปฏิบัติหน้าที่มิชอบฯ กรณีการหายตัวไปของนายบิลลี่

ยังจำกันได้ไหม กรมอุทยานฯ อัปเดต 'น้องขวัญ' ลูกเสือโคร่งของกลาง ตัวโตแล้ว

กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช เผยแพร่ภาพเสือโคร่ง อัปเดตการดูแลเสือโคร่ง "ขวัญ ขิง ข้าว โขง" ล่าสุดตัวโตแล้ว ...(ชมคลิปในคอมเมนต์) ยังจำกันได้ไหมเอ๋ย “ลูกเสือโคร่งของกลาง”

'กลุ่มคนเพชรเพื่อมนุษยธรรม' หนุน 'ชาวบ้านบางกลอย' กลับไปดำรงวิถีชีวิตในพื้นที่ดั้งเดิม

'กลุ่มคนเพชรเพื่อมนุษยธรรม' หนุนกลุ่ม'ชาวบ้านบางกลอย'กลับไปดำรงวิถีชีวิตในพื้นที่ดั้งเดิมผ่านกลไกจากตัวแทน 3 ฝ้าย ข้องใจเสียชีวิตของ 'กิ๊ป ต้นน้ำเพชร ' ในรพ.เป็นไปตามมาตรฐานด้านสาธารณสุขหรือไม่