รับรองแล้ว 'แก้วโกสินทร์-ไพลินสยาม' ชื่อภาษาไทยดาวเคราะห์นอกระบบสุริยะ

8 มิ.ย.2566 - สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) (สดร.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม (อว.) เผยว่า สหพันธ์ดาราศาสตร์นานาชาติ หรือ IAU (The International Astronomical Union) ได้รับรองชื่อภาษาไทยของดาวฤกษ์แม่ GJ3470 และดาวเคราะห์นอกระบบสุริยะ GJ3470b ว่า “แก้วโกสินทร์” และ “ไพลินสยาม” นับเป็นระบบดาวเคราะห์นอกระบบ ระบบที่ 3 ที่มีชื่อเป็นภาษาไทย

โดยสหพันธ์ดาราศาสตร์นานาชาติ ได้จัดกิจกรรม NameExoWorlds 2022 เพื่อตั้งชื่อดาวเคราะห์นอกระบบสุริยะและดาวฤกษ์แม่จำนวน 20 ระบบ ที่เป็นเป้าหมายหลักของกล้องโทรทรรศน์อวกาศเจมส์ เว็บบ์ โดยเปิดโอกาสให้ทุกประเทศทั่วโลกร่วมเสนอชื่อดาวเคราะห์นอกระบบสุริยะ ทั้งนี้ในกิจกรรม NameExoWorlds 2022 มีชื่อดาวเคราะห์นอกระบบสุริยะที่ถูกเสนอ 603 ชื่อจาก 91 ประเทศทั่วโลก และมีผู้เข้าร่วมกิจกรรมทั่วโลกประมาณ 12 ล้านคน

สำหรับประเทศไทย สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) (สดร.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) ได้จัดกิจกรรม “เสนอชื่อไทยให้ดาวเคราะห์นอกระบบสุริยะ” ชูความเป็นไทยร่วมเป็นหนึ่งในเอกภพ และเฉลิมฉลองครบรอบ 10 ปี หอดูดาวแห่งชาติ เพื่อให้ประชาชนทั่วไปร่วมเสนอชื่อไทยให้กับดาวเคราะห์นอกระบบสุริยะ GJ3470b ซึ่งเป็นดาวเคราะห์นอกระบบสุริยะดวงแรก ที่นักดาราศาสตร์ไทยได้ศึกษาวิจัย และสังเกตการณ์ผ่านกล้องโทรทรรศน์ ขนาดเส้นผ่านศูนย์กลาง 2.4 เมตร ณ หอดูดาวเฉลิมพระเกียรติ 7 รอบ พระชนมพรรษา หรือหอดูดาวแห่งชาติ ตั้งอยู่บนดอยอินทนนท์ อำเภอจอมทอง จังหวัดเชียงใหม่

กิจกรรมดังกล่าว ได้รับความสนใจจากโรงเรียน และประชาชนทั่วไป มีชื่อภาษาไทยของดาวเคราะห์นอกระบบสุริยะ GJ3470b ถูกเสนอมากกว่า 335 ชื่อ ชื่อดังกล่าวได้ถูกคัดเลือกจากคณะกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ และเปิดให้ประชาชนทั่วไปโหวตเลือกชื่อภาษาไทยในรอบตัดสิน ชื่อที่มีผลคะแนนโหวตสูงสุด ได้แก่ “แก้วโกสินทร์” และ “ไพลินสยาม” เสนอโดย นายหัสดินทร์ พัฒนากร และนายเฉลิมวุธ สมณา ชื่อดังกล่าวมีแนวคิดการตั้งชื่อจาก ความเชื่อของคนไทยโบราณที่ว่า ดวงดาวที่ส่องแสงระยิบระยับบนท้องฟ้า
คือแก้วรัตนชาติที่ประดับสรวงสวรรค์ บนสวรรค์มีพระอินทร์เป็นใหญ่ปกครองเหล่าเทวดา พร้อมด้วยแก้ววิเศษ ดาวแม่จึงมีชื่อว่า “แก้วโกสินทร์” อีกนัยยะ คือ รัตนโกสินทร์ คือยุคที่ค้นพบดาวดวงนี้ และมีดาวบริวารเป็นรัตนชาติสีฟ้า คือ “ไพลินสยาม” ที่มีชื่อคล้องจองกันเป็น “แก้วโกสินทร์” และ “ไพลินสยาม”

ทั้งนี้ในวันที่ 7 มิ.ย.ที่ผ่านมา สหพันธ์ดาราศาสตร์นานาชาติได้ประกาศการรับรอง ชื่อภาษาไทยของดาวเคราะห์นอกระบบ GJ3470b “แก้วโกสินทร์” และ “ไพลินสยาม” ร่วมกับชื่อเคราะห์นอกระบบสุริยะและดาวฤกษ์แม่อีก 19 ระบบ ชื่อภาษาไทยของดาวเคราะห์นอกระบบ GJ3470b นับเป็นระบบดาวเคราะห์นอกระบบ ระบบที่ 3 ที่มีชื่อเป็นภาษาไทย ถัดจากระบบดาวเคราะห์นอกระบบ 47 UMa “ชาละวัน-ตะเภาแก้ว-ตะเภาทอง” และ WASP-50 “เจ้าพระยา-แม่ปิง” ที่ได้รับการรับรองชื่อภาษาไทยมาก่อนหน้านี้

ดร.ศุภชัย อาวิพันธ์ รักษาการผู้อำนวยการศูนย์พัฒนาเทคโนโลยีทัศนศาสตร์และโฟโตนิกส์ สดร. เปิดเผยว่า ดาวเคราะห์นอกระบบสุริยะ GJ3470b เป็นวัตถุท้องฟ้าที่มีความผูกพันและสำคัญต่อประวัติศาสตร์ดาราศาสตร์ของไทยจากการที่เป็นดาวเคราะห์นอกระบบสุริยะดวงแรก ที่นักดาราศาสตร์ไทยได้ศึกษาวิจัยและสังเกตการณ์ผ่านกล้องโทรทรรศน์ของไทย การที่ดาวเคราะห์ดวงนี้ได้รับการรับรองชื่อภาษาไทยจึงถือเป็นเรื่องที่น่ายินดีอย่างยิ่ง ในช่วงระยะเวลา 10 ปีที่ผ่านมานับตั้งแต่การสังเกตการณ์ดาวเคราะห์นอกระบบสุริยะ GJ3470b ครั้งแรกด้วยกล้องโทรทรรศน์ของไทย การศึกษาด้านดาวเคราะห์นอกระบบสุริยะประเทศไทยได้มีความก้าวหน้ามากยิ่งขึ้น มีการค้นพบใหม่เกิดขึ้นมากมายทั้งดาวเคราะห์นอกระบบสุริยะดวงใหม่ หรือการค้นพบน้ำในชั้นบรรยากาศของดาวเคราะห์นอกระบบสุริยะ แสดงให้เห็นถึงศักยภาพของนักดาราศาสตร์ไทยในการทำงานวิจัยดาราศาสตร์ในระดับนานาชาติ

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

สดร.เผยภาพดาวหาง ฝีมือคนไทยบันทึกจากยอดดอยอินทนนท์

สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) (สดร.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม (อว.) เปิดเผยภาพดาวหาง 12P/Pons-Brooks ที่เป็นฝีมือคนไทยบันทึกได้ช่วงหัวค่ำวันที่ 11 มีนาคม 2567 จากยอดดอยอินทนนท์ อ. จอมทอง จ. เชียงใหม่

IRPC เยี่ยมชม สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ

คุณอนุชา สมจิตรชอบ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ ศูนย์นวัตกรรม บริษัท ไออาร์พีซี จำกัด (มหาชน) หรือ IRPC พร้อมคณะ เข้าเยี่ยมชม สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ

แห่ชม 'ฝนดาวตก' คึกคัก! มากสุดถึง 120 ดวงต่อชั่วโมง

สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) (สดร.) เผยบรรยากาศและภาพกิจกรรมคืนฝนดาวตกเจมินิดส์ปีนี้มีปริมาณมากสุดถึง 120 ดวงต่อชั่วโมง

ดูฝนดาวตกเจมินิดส์ คืน 14 - รุ่งเช้า 15 ธ.ค.นี้ เฉลี่ย 120-150 ดวง/ชม. เริ่มสังเกตได้ตั้งแต่ 2 ทุ่ม มาถี่หลังเที่ยงคืน

สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ(องค์การมหาชน)แจ้งชวนประชาชนร่วมชมปรากฏการณ์ทางดาราศาสตร์บนท้องฟ้าค่ำคืนเดือนธันวาคมกับ ฝ

ประเดิมรับลมหนาว! หอดูดาว 5 แห่ง จัดชมปรากฏการณ์ดาวพฤหัสบดีใกล้โลกที่สุดในรอบปี 3 พ.ย.นี้

สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ แจ้งว่า 3 พฤศจิกายนนี้ ดาวพฤหัสบดีใกล้โลกที่สุดในรอบปี ชวนคนไทยส่อง #ดาวพฤหัสบดี ผ่านกล้องโทรทรรศน์ ณ หอดูดาวทั้ง 5 แห่งของ NARIT ที่เชียงใหม่ นครราชสีมา ฉะเชิงเทรา สงขลา และขอนแก่น ฟรี! ไม่มีค่าใช้จ่าย