ศาลปกครองกลาง นัดอ่านคำสั่งศาลปกครองสูงสุด 2 คดีดัง

14 ม.ค.2565 - ผู้สื่อข่าวรายงานว่างานศาลปกครองขอแจ้งกำหนดนัดพิจารณาคดีที่น่าสนใจของศาลปกครอง ระหว่างวันที่ 17-21 มกราคม 2565 ดังนี้

1. วันที่ 17 มกราคม 2565 เวลา 10.00 น. ศาลปกครองกลางนัดอ่านคำสั่งศาลปกครองสูงสุด ในคดีหมายเลขดำที่ 252/2563 คดีหมายเลขแดงที่ 300/2563 ระหว่าง สมาคมองค์การพิทักษ์รัฐธรรมนูญไทย ที่ 1 กับพวกรวม 28 คน (ผู้ฟ้องคดี) กับ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ที่ 1 กับพวกรวม 2 คน (ผู้ถูกฟ้องคดี) คดีพิพาทเกี่ยวกับการที่หน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐกระทำการโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย

(สมาคมองค์การพิทักษ์รัฐธรรมนูญไทย ที่ 1 กับพวกรวม 28 คน ฟ้องว่า รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ที่ 1 กับพวกรวม 2 คน กระทำการโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย กรณี ผู้ถูกฟ้องคดีใช้อำนาจโดยพลการออกประกาศกระทรวงสาธารณสุข เรื่อง หลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขเกี่ยวกับหีบห่อผลิตภัณฑ์ยาสูบประเภทยาเส้นหรือยาเส้นปรุง พ.ศ. 2562 โดยมิได้รับฟังความเห็นจากผู้ที่เกี่ยวข้องตามที่รัฐธรรมนูญกำหนด เป็นเหตุให้ผู้ฟ้องคดีที่เป็นเจ้าของกิจการดังกล่าวได้รับความเดือดร้อนเสียหาย)

ศาลปกครองชั้นต้นมีคำสั่งไม่รับคำฟ้องนี้ไว้พิจารณาและให้จำหน่ายคดีออกจากสารบบความ เนื่องจากผู้ฟ้องคดีทั้งยี่สิบแปดฟ้องว่า สืบเนื่องจากได้มีการตรา พ.ร.บ.ควบคุมผลิตภัณฑ์ยาสูบ พ.ศ. 2560 มีผลใช้บังคับเมื่อพ้นกำหนดเก้าสิบวันนับแต่วันที่ประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป โดยให้ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 รักษาการตาม พ.ร.บ.ดังกล่าว ซึ่งผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 ได้ใช้อำนาจในการออกประกาศกระทรวงสาธารณสุข เรื่อง หลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขเกี่ยวกับหีบห่อผลิตภัณฑ์ยาสูบประเภทยาเส้นหรือยาเส้นปรุง พ.ศ. 2562 มีผลใช้บังคับเมื่อพ้นกำหนดสองร้อยเจ็ดสิบวันนับแต่วันถัดจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไปนั้น

การที่ผู้ฟ้องคดีที่ 2 ถึงผู้ฟ้องคดีที่ 28 โดยผู้ฟ้องคดีที่ 1 ยื่นฟ้องคดีต่อศาลเมื่อวันที่ 12 ก.พ. 2563 จึงเป็นการยื่นฟ้องเมื่อพ้นกำหนดเก้าสิบวันนับแต่วันที่รู้หรือควรรู้ถึงเหตุแห่งการฟ้องคดี ตามมาตรา 49 แห่ง พ.ร.บ.จัดตั้งศาลปกครองฯ พ.ศ. 2542 เมื่อการฟ้องคดีนี้มิใช่คดีปกครองเกี่ยวกับการคุ้มครองประโยชน์สาธารณะหรือสถานะของบุคคลที่จะยื่นฟ้องคดีเมื่อใดก็ได้ ตามมาตรา 52 วรรคหนึ่ง แห่ง พ.ร.บ.ดังกล่าว และเมื่อได้ความว่า ผู้ฟ้องคดีที่ 2 และผู้ฟ้องคดีที่ 4 ในฐานะตัวแทนผู้ประกอบอุตสาหกรรมยาเส้นเคยมีหนังสือ ลว. 10 ก.ค. 2562 ขอให้ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 ทบทวนและยกเลิกการออกประกาศฉบับพิพาท กรณีจึงไม่มีเหตุจำเป็นอื่นใดอันเป็นอุปสรรคขัดขวางจนทำให้ผู้ฟ้องคดีที่ 2 ถึงผู้ฟ้องคดีที่ 28 ไม่อาจยื่นฟ้องภายในกำหนดระยะเวลาการฟ้องคดีนี้ได้ ศาลจึงไม่อาจใช้ดุลพินิจรับคำฟ้องของผู้ฟ้องคดีที่ 2 ถึงผู้ฟ้องคดีที่ 28 โดยผู้ฟ้องคดีที่ 1 ไว้พิจารณาได้ ตามมาตรา 52 วรรคสอง แห่ง พ.ร.บ.จัดตั้งศาลปกครองฯ พ.ศ. 2542 ประกอบข้อ 30 วรรคสอง แห่งระเบียบของที่ประชุมใหญ่ตุลาการในศาลปกครองสูงสุดว่าด้วยวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. 2543 ณ ห้องพิจารณาคดี 11 ชั้น 3 อาคารศาลปกครอง ถนนแจ้งวัฒนะ กรุงเทพมหานคร

2. วันที่ 21 มกราคม 2565 เวลา 13.00 น. ศาลปกครองกลางนัดอ่านคำสั่งศาลปกครองสูงสุด ในคดีหมายเลขดำที่ บ. 473/2563 คดีหมายเลขแดงที่ บ. 222/2564 ระหว่าง พลตำรวจเอก วิระชัย ทรงเมตตา (ผู้ฟ้องคดี) กับ ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ กับพวกรวม 4 คน (ผู้ถูกฟ้องคดี) คดีพิพาทเกี่ยวกับการที่เจ้าหน้าที่ของรัฐออกคำสั่งโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย (คำร้องอุทธรณ์คำสั่งเกี่ยวกับวิธีการชั่วคราวก่อนการพิพากษา)

(คดีนี้ผู้ฟ้องคดี ฟ้องว่า ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ กับพวกรวม 4 คน กระทำการโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย กรณีผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 โดยผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ มีคำสั่งสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ที่ 387/2563 ลว. 29 ก.ค. 2563 ให้ผู้ฟ้องคดีสำรองราชการสำนักงานตำรวจแห่งชาติ โดยอ้างว่าผู้ฟ้องคดีถูกกล่าวหาว่ากระทำผิดวินัยอย่างร้ายแรงจนถูกตั้งกรรมการสอบสวน และสำนักนายกรัฐมนตรีมีประกาศ ลว. 31 ส.ค.2563 ให้ผู้ฟ้องคดีพ้นจากตำแหน่งรองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ซึ่งผู้ฟ้องคดีได้ยื่นหนังสือร้องทุกข์ต่อผู้ถูกฟ้องคดีที่ 3 แล้ว แต่ได้รับแจ้งผลการพิจารณาตามหนังสือ ลว. 4 ธ.ค. 2563 ยกคำร้องทุกข์ จึงนำคดีมาฟ้อง)

คดีนี้ศาลปกครองชั้นต้นมีคำสั่งทุเลาการบังคับตามคำสั่งทางปกครองของผู้ถูกฟ้องคดี 1 ตามคำสั่งสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ที่ 387/2563 ลว. 29 ก.ค. 2563 ที่สั่งให้ผู้ฟ้องคดีสำรองราชการ และประกาศของผู้ถูกฟ้องคดีที่ 4 ตามประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี ลว. 31 ส.ค. 2563 ที่ให้ผู้ฟ้องคดีพ้นจากตำแหน่งรองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ไว้เป็นการชั่วคราวจนกว่าศาลจะมีคำพิพากษาหรือคำสั่งเป็นอย่างอื่น เนื่องจากศาลเห็นว่าเงื่อนไขแห่งการที่ศาลปกครองจะมีอำนาจออกคำสั่งทุเลาการบังคับตามกฎหรือคำสั่งทางปกครองที่เป็นเหตุแห่งการฟ้องคดีมีอยู่สามประการประกอบกันคือ ประการแรก กฎหรือคำสั่งทางปกครองนั้น น่าจะไม่ชอบด้วยกฎหมาย ประการที่สอง การให้กฎหรือคำสั่งทางปกครองนั้นมีผลใช้บังคับต่อไปในระหว่าง การพิจารณาคดีจะทำให้เกิดความเสียหายอย่างร้ายแรงแก่ผู้ฟ้องคดีจนยากแก่การแก้ไขเยียวยาในภายหลัง และประการที่สาม การทุเลาการบังคับตามกฎหรือคำสั่งทางปกครองนั้น หรืออีกนัยหนึ่งการชะลอหรือการระงับ การบังคับตามผลของกฎหรือคำสั่งทางปกครองนั้นไว้เป็นการชั่วคราวในระหว่างการพิจารณาคดีไม่เป็นอุปสรรค แก่การบริหารงานของรัฐหรือแก่บริการสาธารณะ

ซึ่งตามเงื่อนไขประการแรกพฤติการณ์หรือการกระทำของผู้ซึ่งดำรงตำแหน่งของผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 ถึงแม้จะมิใช่ความไม่เป็นกลางโดยสภาพภายนอกตามมาตรา 13 แห่งพระราชบัญญัติวิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง พ.ศ. 2539 ก็ตาม แต่เห็นว่าพฤติการณ์ของผู้ซึ่งดำรงตำแหน่งของผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 มีส่วนเกี่ยวข้องโดยตรงกับเรื่องดังกล่าวข้างต้น จึงถือว่าผู้ซึ่งดำรงตำแหน่งของผู้ถูกฟ้องคดี ที่ 1 มีสภาพร้ายแรงอันอาจทำให้การพิจารณาทางปกครองไม่เป็นกลางโดยสภาพภายใน ตามมาตรา 16 แห่งพระราชบัญญัติเดียวกัน ซึ่งการที่ผู้ซึ่งดำรงตำแหน่งของผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 ออกคำสั่งให้ผู้ฟ้องคดีสำรองราชการ ตามคำสั่งสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ที่ 387/2563 ลว. 29 ก.ค. 2563 จึงน่าจะไม่ชอบด้วยกฎหมาย คำขอของ ผู้ฟ้องคดีจึงเป็นไปตามเงื่อนไขประการแรก เงื่อนไขประการที่สองเห็นว่าหากภายหลังศาลมีคำพิพากษาว่าคำสั่งของผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 ที่สั่งให้ผู้ฟ้องคดีสำรองราชการและประกาศของผู้ถูกฟ้องคดีที่ 4 ที่ให้ผู้ฟ้องคดีพ้นจากตำแหน่งรองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติไม่ชอบด้วยกฎหมายและสั่งเพิกถอนคำสั่งของผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 และประกาศของผู้ถูกฟ้องคดีที่ 4 ดังกล่าว ผู้ฟ้องคดีย่อมไม่อาจกลับไปปฏิบัติหน้าที่ราชการในตำแหน่งรองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติในช่วงที่ผ่านมาได้ย่อมเป็นกรณีที่ยากแก่การเยียวยาแก้ไขความเสียหายให้แก่ ผู้ฟ้องคดีได้ในภายหลัง คำขอของผู้ฟ้องคดี จึงเป็นไปตามเงื่อนไขประการที่สอง

เงื่อนไขประการที่สาม คำสั่งทุเลามีผลเพียงให้ผู้ฟ้องคดีกลับคืนสู่ตำแหน่งรองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติไว้เป็นการชั่วคราวจนกว่าศาลจะมีคำพิพากษาหรือคำสั่งเป็นอย่างอื่น ซึ่งการกลับคืนสู่ตำแหน่งเดิม คือ ตำแหน่งรองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาตินั้น ตำแหน่งดังกล่าวแม้เป็นตำแหน่งผู้บังคับบัญชาระดับสูงของผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒ ก็ตาม แต่การปฏิบัติหน้าที่ของผู้ฟ้องคดีว่าจะปฏิบัติหน้าที่ราชการในเรื่องใดนั้นจะต้องเป็นไปตามที่ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 กำหนดหรือได้รับมอบหมายจากผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 อีกครั้งตามนัยมาตรา 12 แห่งพระราชบัญญัติตำรวจแห่งชาติ พ.ศ. 2547

ดังนั้น การให้ผู้ฟ้องคดีกลับคืนสู่ตำแหน่งรองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติไว้เป็นการชั่วคราวจนกว่าศาลจะมีคำพิพากษาหรือคำสั่งเป็นอย่างอื่นจึงไม่เป็นอุปสรรคแก่การบริหารงานของรัฐหรือแก่บริการสาธารณะแต่อย่างใด คำขอของผู้ฟ้องคดีจึงเป็นไปตามเงื่อนไขประการที่สาม เมื่อคำขอของผู้ฟ้องคดีเป็นไปตามเงื่อนไขทั้งสามประการข้างต้น กรณีจึงมีเหตุอันสมควรที่จะทุเลาการบังคับตามคำสั่งทางปกครองตามคำขอของผู้ฟ้องคดี

ซึ่งผู้ถูกฟ้องคดีได้ยื่นอุทธรณ์คำสั่งวิธีการชั่วคราวก่อนการพิพากษาของศาลปกครองชั้นต้น ต่อศาลปกครองสูงสุด ณ ห้องพิจารณาคดี 5 ชั้น 3 อาคารศาลปกครอง ถนนแจ้งวัฒนะ กรุงเทพมหานคร

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ศาลปกครองสูงสุด ไม่รับคำขอพิจารณาคดีใหม่ของนิติบุคคล 'แอชตัน อโศก' ชี้ไม่ใช่ผู้มีส่วนได้เสีย

ศาลปกครองสูงสุดมีคำสั่งยืนตามคำสั่งของศาลปกครองกลางไม่รับคำขอให้พิจารณาคดีใหม่ของนิติบุคคลอาคารชุด แอชตัน อโศก ไว้พิจารณา

ศาลปกครองสูงสุด กลับคำพิพากษาให้ชาวบางสะพานชนะคดีนายทุนฮุบป่าพรุแม่รำพึง

ที่ศาลปกครองสูงสุด ถนนแจ้งวัฒนะ นายศรีสุวรรณ จรรยา นายกสมาคมต่อต้านสภาวะโลกร้อน เปิดเผยว่า ศาลปกครองสูงสุดได้มีคำ

ศาลปกครองสูงสุดกลับคำสั่งศาลชั้นต้นให้รับฟ้องเพิกถอนควบรวม ทรู-ดีแทค

ศาลปกครองสูงสุด กลับคำสั่งของศาลปกครองชั้นต้น โดยให้รับคำฟ้องของผู้บริโภค 5 รายในคดีขอให้เพิกถอนมติคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม (กสทช.) กรณีรับทราบ