“สมศักดิ์” นำภาคีเครือข่ายเปิดตัวและประกาศเจตนารมณ์ขับเคลื่อนโครงการ “คนไทย 7.2 ล้าน รู้ค่าความเสี่ยงโรคไต” เพื่อเฉลิมพระเกียรติ สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้าฯ เนื่องในโอกาสทรงเจริญพระชนมายุ 72 พรรษา พร้อมเชิญชวนประชาชนเข้ารับการคัดกรอง ที่โรงพยาบาล หรือสถานบริการใกล้บ้าน เชื่อมั่นบรรลุตามเป้าหมายภายในปีงบประมาณ 2568
17 มีนาคม 2568 - ที่โรงแรมทีเค พาเลซ แอนด์ คอนเวนชั่น กทม. นายสมศักดิ์ เทพสุทิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เป็นประธานเปิดตัวและประกาศเจตนารมณ์ขับเคลื่อนโครงการ “คนไทย 7.2 ล้านคน รู้ค่าความเสี่ยงโรคไต” ภายใต้โครงการป้องกันโรคไต อันเนื่องมาจากพระราชดำริ โดยมี นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข นพ.จเด็จ ธรรมธัชอารี เลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ(สปสช.) นพ.พงศ์เทพ วงศ์วัชรไพบูลย์ ผู้จัดการกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ(สสส.) ศ.คลินิก นพ.สุพัฒน์ วาณิชย์การ เลขาธิการมูลนิธิโรคไตแห่งประเทศไทย นพ.ชาตรี บานชื่น ประธานฝ่ายป้องกันสถาบันโรคไตภูมิราชนครินทร์ นพ.ภาณุมาศ ญาณเวทย์สกุล อธิบดีกรมควบคุมโรค และภาคีเครือข่าย เข้าร่วม
โดยนายสมศักดิ์ กล่าวว่า เพื่อเป็นการเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เนื่องในโอกาสทรงเจริญพระชนมายุ 72 พรรษา ในปี พ.ศ. 2570 กระทรวงสาธารณสุข และหน่วยงานภาคีเครือข่าย ได้จัดให้มีโครงการคนไทย 7.2 ล้านคน รู้ค่าความเสี่ยงโรคไต ภายใต้โครงการป้องกันโรคไต อันเนื่องมาจากพระราชดำริ โดยโครงการนี้ มีเป้าหมายสำคัญเพื่อให้คนไทย 7.2 ล้านคน ได้รับการตรวจคัดกรองความเสี่ยงโรคไต และการวินิจฉัยโรคไตตั้งแต่ระยะเริ่มต้น อย่างทั่วถึง และเท่าเทียม ซึ่งจะช่วยป้องกันให้คนไทยห่างไกลจากโรคไต ชะลอภาวะไตเสื่อม ลดความเสี่ยงต่อโรคไตเรื้อรัง และลดค่าใช้จ่าย ด้านการรักษาพยาบาลในระยะยาว โดยในปีนี้ "วันไตโลก" จะรณรงค์ให้ประชาชน "หมั่นดูแลไต ใส่ใจคัดกรอง ป้องกันโรคไต" ซึ่งจะช่วยย้ำเตือนให้ประชาชน เห็นความสำคัญของการหมั่นดูแลสุขภาพตนเอง และเข้าร่วมการตรวจคัดกรอง เพื่อการมีคุณภาพชีวิตที่ดี และห่างไกลจากโรคไต
นายสมศักดิ์ กล่าวอีกว่า กระทรวงสาธารณสุข ขอประกาศเจตนารมณ์ ในการดำเนินงานขับเคลื่อน "โครงการคนไทย 7.2 ล้านคน รู้ค่าความเสี่ยงโรคไต" เพื่อเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพ รัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เนื่องในโอกาสทรงเจริญพระชนมายุ 72 พรรษา ในปี พ.ศ. 2570 มุ่งเน้นให้คนไทย ได้รับการตรวจคัดกรองความเสี่ยงโรคไต ด้วย 4 มาตรการหลัก ได้แก่ 1. ส่งเสริมความรอบรู้สุขภาพ ด้วยการพัฒนาสื่อ เครื่องมือ และนวัตกรรม ในการเผยแพร่ความรู้ ที่ช่วยป้องกันโรคไตเรื้อรัง 2. พัฒนาความเข้มแข็งของชุมชน และจัดการปัจจัยสภาพแวดล้อมพร้อมทั้งพัฒนากลไกนโยบายสาธารณะ และกฎหมายที่เกี่ยวข้อง 3. เพิ่มประสิทธิภาพระบบบริการ คัดกรองโรคไตเรื้อรัง ในกลุ่มผู้ป่วยเบาหวาน และความดันโลหิตสูง รวมถึงพัฒนาบุคลากรทางการแพทย์ และ อสม. 4. เพิ่มประสิทธิภาพระบบบริหารจัดการข้อมูล และพัฒนานวัตกรรมในการชะลอการเกิดโรคไต กระทรวงสาธารณสุข ขอเชิญชวนประชาชน เข้ารับการตรวจคัดกรองโรคไต โดยเฉพาะผู้ป่วยโรคเบาหวาน โรคความดันโลหิตสูง และผู้สูงอายุได้ที่โรงพยาบาล หรือสถานบริการใกล้บ้าน
ด้าน นพ.โอภาส กล่าวว่า โรคไตเรื้อรัง เป็นหนึ่งในโรคไม่ติดต่อที่เป็นปัญหาสำคัญของประเทศไทยและมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นทุกปี ข้อมูลล่าสุดปี 2567 พบผู้ป่วยโรคไตเรื้อรังถึง 1.12 ล้านคน เป็นผู้ป่วยโรคไตระยะที่ 3 จำนวน 5 แสนคน ระยะที่ 4 กว่า 1.2 แสนคน และระยะที่ 5 อีก 7.5 หมื่นคน ซึ่งค่าใช้จ่ายในการบำบัดทดแทนไตสูงกว่างบประมาณที่ตั้งไว้และมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นทุกปี โดยปี 2567 คาดการณ์การใช้จ่ายอยู่ที่ 16,000 ล้านบาท สะท้อนถึงความเสี่ยงด้านภาระทางการคลังของภาครัฐในการจัดบริการดังกล่าว กระทรวงสาธารณสุข จึงร่วมกับภาคีเครือข่าย ขับเคลื่อนแผนทศวรรษการป้องกันและชะลอไตเสื่อม ปี พ.ศ. 2565 – 2574 เพื่อลดอุบัติการณ์การเกิดโรคไตเรื้อรังรายใหม่ระยะ 3 ขึ้นไป และลดอุบัติการณ์การเกิดโรคไตระยะสุดท้าย ซึ่งปีที่ผ่านมา มูลนิธิไรคไตแห่งประเทศไทย ได้นำความกราบบังคมทูล สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงทราบฝ่าละอองพระบาท และได้พระราชทานพระราชานุญาตให้เป็นโครงการภายใต้ “โครงการป้องกันโรคไต อันเนื่องมาจากพระราชดำริ”
นพ.จเด็จ กล่าวว่า บอร์ด สปสช. มีมติให้ “ผู้มีสิทธิบัตรทองเลือกฟอกไตในแบบที่ใช่” เพื่อเปิดทางเลือกให้ผู้ป่วยที่ไม่ประสงค์ล้างไตทางหน้าท้องแต่ต้องการบำบัดทดแทนไตด้วยวิธีการฟอกเลือด สามารถตัดสินใจเลือกวิธีการล้างไตร่วมกับแพทย์ได้ เป็นการเคารพสิทธิการตัดสินใจของผู้ป่วย และลดภาระค่ารักษาให้กับผู้ป่วยและครอบครัว ซึ่งปัจจุบันระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติดูแลผู้ป่วยไตวายเรื้อรังระยะสุดท้ายทั้งที่ล้างไตผ่านช่องท้อง ฟอกเลือดด้วยเครื่องไตเทียม และฟอกเลือดด้วยเครื่องไตเทียมที่รับเฉพาะยา EPO ซึ่งแต่ละปีจะมีผู้ป่วยไตวายเรื้อรังเพิ่มขึ้น สปสช. จึงต้องจัดสรรงบประมาณหลักประกันสุขภาพแห่งชาติกว่า 1 หมื่นล้านบาท เพื่อให้ผู้ป่วยไตวายเรื้อรังฯ เข้าถึงการรักษาอย่างครอบคลุมและทั่วถึง
ศ.คลินิก นพ.สุพัฒน์ กล่าวว่า ปัจจุบัน ผู้ป่วยไตวายแทรกซ้อนจากโรคระบาดมีจำนวนลดลง แต่ผู้ป่วยไตวายจากสาเหตุอื่นมีจำนวนเพิ่มขึ้น และมีผู้ป่วยที่ต้องการรักษาด้วยเครื่องไตเทียมจำนวนมาก แต่พยาบาลที่ชำนาญการใช้เครื่องไตเทียมมีไม่เพียงพอ จึงต้องมีการฝึกอบรมพยาบาลไตเทียมเพิ่มเพื่อที่จะให้บริการผู้ป่วยได้อย่างทั่วถึง ร่วมกับการรณรงค์ให้ความรู้แก่ประชาชนเรื่องอาหารและโภชนาการ ตลอดจนวิธีปฏิบัติตนให้ปลอดจากโรคไต ซึ่งจะช่วยลดจำนวนผู้ป่วยโรคไตได้อีกทางหนึ่ง
นายแพทย์ชาตรี กล่าวว่า ปีนี้ สถาบันฯ ได้ร่วมกับกรมควบคุมโรค ดำเนินงานเชิงรุกเพื่อป้องกันโรคไตในชุมชน พัฒนาความเข้มแข็งของชุมชนและการจัดการปัจจัยสภาพแวดล้อมที่เสี่ยงต่อการเกิดโรคไตเรื้อรัง ภายใต้ CKD โมเดลในชุมชน โดยใช้กลไกความร่วมมือของ พชอ. องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และชุมชนต่าง ในการจัดการป้องกันโรคไตเรื้อรัง เน้นการจัดการความเสี่ยงต่าง ๆ ที่เป็นความเสี่ยงร่วมของโรคเรื้อรังทั้งหลาย ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งในการสนับสนุนการดำเนินงาน “ทศวรรษการป้องกันและชะลอไตเสื่อม”
ดร.นพ. ไพโรจน์ กล่าวว่า อีกหนึ่งปัจจัยที่ส่งผลต่อสุขภาพไต คือ การใช้ยาอย่างไม่ถูกต้อง โดยเฉพาะยากลุ่มแก้อักเสบ (NSAIDs) เช่น ยาแก้ปวดข้อ ยาไมเกรน และยาแก้ปวดประจำเดือน ซึ่งหากใช้ติดต่อกันเป็นเวลานานโดยไม่มีการตรวจติดตาม อาจทำให้ไตเสื่อมและไตวายได้ รวมถึงการใช้ยาชุด ยาแก้ปวด และยาสมุนไพรบางชนิด ก็อาจเป็นอันตรายต่อการทำงานของไตเช่นกัน ซึ่งเราสามารถช่วยกันผลักดันการลดโซเดียมและสร้างสุขภาพไตที่ดีให้กับประชาชนได้ผ่านพฤติกรรมของเราเอง รวมถึงการสนับสนุนมาตรการของภาครัฐ
ภายหลังนายสมศักดิ์ ให้สัมภาษณ์เพิ่มเติมว่า ด้วยพระบารมีฯ ทำให้พวกเราได้รวมตัวกันเพื่อดำเนินการโครงการนี้ เชื่อมั่นว่าจะสามารถทำให้ครบถ้วน 7.2 ล้านคน ได้ในเร็ววัน โดยเฉพาะในปีงบประมาณนี้ที่จะเหลืออีกประมาณ 6 เดือนก็เชื่อว่าจะบรรลุตามเป้าหมาย โดยการกระทรวงสาธารณสุขรับเป็นภารกิจหลักจะดำเนินการให้เรียบร้อยโดยเร็ว
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
‘สมศักดิ์’ เปิดโครงการเสริมพลัง อสม.นนทบุรี ลั่นเดินหน้า พ.ร.บ.อสม. หวังยกระดับสิทธิ-สุขภาพไทยห่างไกล NCDs
รมว.สาธารณสุข “สมศักดิ์ เทพสุทิน” เปิดโครงการเสริมพลัง อสม.สู่ผู้เชี่ยวชาญ ที่ จ.นนทบุรี ขอบคุณช่วยนับคาร์บทะลุ 26 ล้านคน ประกาศเตรียมเพิ่มสิทธิค่าตรวจสุขภาพฟรีหากถึงเป้า พร้อมดัน พ.ร.บ.อสม. เข้าสภาฯ หวังสร้างความมั่นคงให้ อสม. และสาธารณสุขไทยเข้มแข็ง
สธ.เปิดศูนย์ EOC ช่วงสงกรานต์ ทั้งส่วนกลางและจังหวัด สแตนด์บาย 24 ชม.
“สมศักดิ์” นำทีมสธ. แถลงข่าวขับขี่ปลอดภัยเทศกาลสงกรานต์ เปิดศูนย์ EOC ทั้งส่วนกลางและจังหวัด สแตนด์บาย 24 ชม. จัดชุดปฏิบัติการฉุกเฉินช่วยผู้ป่วยในจุดเกิดเหตุ บูรณาการทำงานร่วมกับหน่วยงานอื่น
'สมศักดิ์' ยันไม่รู้จัก 3 ผู้ต้องหาแก๊งตบทรัพย์ แอบอ้างชื่อ รมว.สธ. หลอกเงิน 8.2 ล้าน
นายสมศักดิ์ เทพสุทิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข กล่าวถึงกรณีถูกแอบอ้างชื่อไปเรียกรับผลประโยชน์ 8.2 ล้านบาท เพื่อช่วยปล่อยผู้ต้องขังออกจากเรือนจำว่า จากกรณีผู้ต้องหา 3 ราย อ้างว่า สนิทกับตนนั้น ขอยืนยันว่า
‘สมศักดิ์’ ชี้การพัฒนาระบบยา จะช่วยสร้างความมั่นคงและขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทย
“สมศักดิ์” ปาฐกถาการพัฒนาระบบยาประเทศไทย ชี้ จะช่วยสร้างความมั่นคงและขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทย ตามนโยบายเศรษฐกิจสุขภาพ สู่ Medical and Wellness Hub ที่สร้างมูลค่ากว่า 6.9 แสนล้านบาท พร้อมมุ่งสู่ศูนย์กลางด้านการแพทย์ มูลค่าถึง 4.19 แสนล้านบาท คาดว่าปี 2573 จะเติบโตถึง 1.25 ล้านล้านบาท
รมว.สธ. เผยหลังแผ่นดินไหว รพ.ยังมีอาคารปิดบางส่วน 6 แห่ง
“สมศักดิ์” เผยหลังเหตุแผ่นดินไหว พบว่าในโรงพยาบาลยังมีอาคารที่ถูกปิดใช้งานอยู่ถึง 6 แห่ง กำชับตรวจละเอียดก่อนเปิดบริการประชาชน แนะหากวิตกกังวล สามารถปรึกษาสายด่วน 1323 พร้อมสั่งศูนย์ปฏิบัติการฉุกเฉินด้านการแพทย์ฯ ติดตามสถานการณ์ใกล้ชิด ส่งทีมเฝ้าระวังตึกอพยพคน
รบ.แนะ 8 วิธีแก้อาการ ‘โรคสมองเมาแผ่นดินไหว’ ชี้ 1 สัปดาห์ไม่หายรีบพบแพทย์
สาธารณสุข แนะวิธีแก้ปัญหาอาการโรคทางการแพทย์ที่เรียกว่า โรคสมองเมาแผ่นดินไหว ขอคำปรึกษาผ่าน http://here2healproject.com หรือโทรสายด่วน 1323