นักวิชาการธรรมศาสตร์ เผย แม่อายุ 34 ทำคลิปอนาจารลูกเข้าข่ายความผิด “ค้ามนุษย์” ถึงแม้ลูกเต็มใจแต่ส่วนใหญ่อายุยังไม่ถึง 18 จึงมีความผิด ระบุพฤติกรรมเช่นนี้เพิ่มมากขึ้นในหลายประเทศ หวั่นไทยจะเกิดเหตุซ้ำอีก จี้รัฐเร่งประสานเจ้าของแพลตฟอร์มโซเชียลมีเดีย-ประเทศต้นทาง-ตำรวจสากล สกัดกั้นคลิป พร้อมยกตัวอย่างสหรัฐ เข้มกฎหมาย ล่วงละเมิดเด็กจำคุกตลอดชีวิต
16 พฤษภาคม 2568 - รศ. ดร.อัจฉรา ชลายนนาวิน คณบดีคณะสังคมสงเคราะห์ศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (มธ.) เปิดเผยว่า พฤติกรรมของมารดาวัย 34 ปี มีบุตร 9 คน ทำคลิปอนาจารขายในกลุ่มลับนั้น เข้าข่ายความผิดฐานค้ามนุษย์และการกระทำลามกอนาจารเพื่อหาผลประโยชน์ทางเพศ แม้ว่าบุตรซึ่งเป็นเด็กจะทำด้วยความสมัครใจ แต่เกือบทั้งหมดมีอายุไม่ถึง 18 ปี นั่นจึงถือว่ามีความผิดตามกฎหมาย
รศ. ดร.อัจฉรา กล่าวว่า ในต่างประเทศมีพฤติกรรมในลักษณะเดียวกันนี้เพิ่มมากขึ้น ส่วนหนึ่งเป็นเพราะภาวะเศรษฐกิจที่ย่ำแย่ หลายบริษัทเลิกจ้างพนักงาน ประชาชนขาดรายได้ ยากจน ไม่มีทางเลือก ผู้ปกครองจึงเริ่มหันมารายได้ด้วยแนวทางเหล่านี้ เนื่องจากได้เงินง่ายและรวดเร็ว ส่วนตัวกังวลว่าในประเทศไทยเองก็อาจจะมีเหตุการณ์แบบเดียวกันนี้เกิดขึ้นอีก
รศ. ดร.อัจฉรา กล่าวต่อไปว่า ในหลายประเทศทำงานเชิงรุกและมีกฎหมายที่รุนแรงเพื่อป้องกันปัญหาล่วงละเมิดทางเพศเด็ก เช่น สหรัฐอเมริกามีการขึ้นทะเบียนผู้กระทำผิดทางเพศ โดยบุคคลนั้นจะต้องไปรายงานตัวต่อรัฐตลอดชีวิต มีการจัดทำฐานข้อมูลสาธารณะที่ประชาชนสามารถเข้าถึง และมีการกำหนดโทษจำคุกตลอดชีวิตแก่ผู้ที่ผลิต ครอบครอง หรือจำหน่ายสื่อลามกเด็ก หรือหากมีการใช้กำลังบังคับข่มขู่เหยื่อที่เป็นเด็ก โทษอาจถึงจำคุกตลอดชีวิตและในบางกรณีไม่มีสิทธิ์ลดหย่อนหรือขอทัณฑ์บน
“ความผิดเกี่ยวกับสื่อลามกอนาจารเด็กในประเทศอเมริกา มีการกำหนดโทษทางกฎหมายให้จำคุกตลอดชีวิต ขณะที่ประเทศไทยยังไม่มี เว้นแต่เป็นความผิดฐานค้ามนุษย์ที่ร่วมสมคบกันกระทำเป็นเครือข่าย จำนวนเกินกว่า 3 คนขึ้นไป และมีการดำเนินการอย่างเป็นระบบที่ถือเป็นองค์กรอาชญากรรม จึงจะเข้าข่ายการลงโทษจำคุกตลอดชีวิต ฉะนั้นกรณีที่เกิดขึ้นใน จ.เพชรบูรณ์ คงต้องขึ้นอยู่กับการทำสำนวนของเจ้าหน้าที่ และการตีความของศาลว่ามีลักษณะของการสมคบกันเกินกว่า 3 คนหรือไม่” รศ. ดร.อัจฉรา กล่าว
นักวิชาการธรรมศาสตร์ กล่าวว่า จนถึงปัจจุบันประเทศไทยยังขาดการสร้างกลไกความร่วมมือระหว่างประเทศกับประเทศต้นทางของแพลตฟอร์มโซเชียลมีเดียหรือเว็บไซต์ต่างๆ ซึ่งมีคลิปลามกอนาจารเด็กจำนวนมากเผยแพร่อยู่ ฉะนั้นภาครัฐควรเร่งสร้างกลไกป้องกันเชิงรุกในการจัดการปัญหาสื่อลามกเด็ก การทำอนาจารและล่วงละเมิดทางเพศเด็ก ด้วยการประสานความร่วมมือไปยังหน่วยงานระหว่างประเทศต่างๆ รวมถึงเจ้าของแพลตฟอร์มโซเชียลมีเดีย องค์กรตำรวจสากล หรือกระทั่งใช้เทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ (AI) เพื่อตรวจจับคลิปที่มีการล่วงละเมิดทางเพศเด็ก
นอกจากนี้ ในแง่ของกฎหมายพบว่ายังไม่สามารถบังคับใช้ได้อย่างเท่าทันต่อสถานการณ์ ยกตัวอย่างในกรณีของประเทศอเมริกา หากนักสังคมสงเคราะห์พิจารณาแล้วเห็นว่าเด็กกำลังอยู่ในสภาพแวดล้อมที่ไม่เหมาะสม หรือสุ่มเสี่ยงที่จะเป็นอันตรายต่อร่างกายและจิตใจ ก็สามารถที่จะแยกเด็กออกมาจากผู้ปกครองได้ทันที แต่บริบทของประเทศไทยยังต้องรอขั้นตอนให้ศาลมีคำสั่งอนุมัติเสียก่อน ซึ่งอาจส่งผลให้เกิดความล่าช้า และไม่ทันการณ์ต่อการเร่งนำเด็กออกจากภาวะอันตราย
“ทุกวันนี้สังคมมีการล่วงละเมิดสิทธิเด็กโดยไม่รู้ตัว เช่น ครูที่ถ่ายคลิปเด็กนักเรียน หรือพ่อแม่ผู้ปกครองที่ถ่ายรูปบุตรหลานขณะที่ยังแก้ผ้าลงสื่อโซเชียล ซึ่งจากประสบการณ์ที่ได้ทำงานวิจัยเกี่ยวกับการค้ามนุษย์จะพบว่าภาพหรือคลิปเหล่านี้ มกจะถูกคนที่มีความชอบทางเพศในเด็กนำไปใช้ หรือนำไปส่งและขายต่อในกลุ่มที่มีพฤติกรรมเดียวกัน ที่สำคัญคือมันจะไปกระตุ้นให้เกิดพฤติกรรมอันอาจนำไปสู่การกระทำความผิด จึงอยากให้ประชาชนช่วยกันระมัดระวังและให้ความสำคัญในเรื่องนี้ด้วย” นักวิชาการธรรมศาสตร์ กล่าว
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
นักวิชาการ มธ. ห่วงทักษิณขู่จัดการว้าแดง เสี่ยงละเมิดอธิปไตยเมียนมา
นักวิชาการธรรมศาสตร์ กังวลและไม่เห็นด้วยกับท่าที “ทักษิณ” หลังประกาศจะจัดการว้าแดงเอง หากผู้นำเมียนมาไม่ดำเนินการขจัดยาเสพติด หวั่นอาจถูกตีความว่าไทย
วงถก 'ธรรมศาสตร์' ตีแผ่สถานการณ์ 'ตายลำพัง-The Long Goodbye' ระดมสรรพกำลังดูแล 'สังคมสูงวัย'
“ธรรมศาสตร์” เปิดวงถกสถานการณ์ปัญหาสังคมสูงวัย นักวิชาการสะท้อนสังคมไทยประสบปัญหา คนแก่เยอะ แก่เร็ว
ตร.ภาค 8 ก้นร้อน สั่งสอบข้อเท็จจริง ผู้นำท้องถิ่นตั้งกองกำลังซ่องสุมค้ามนุษย์โรฮิงญา
ตำรวจภาค 8 ก้นร้อนสั่งตั้งคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริง หลังปรากฎข่าวทางสื่อ ขบวนการค้ามนุษย์ ทำผิดกฎหมาย มีผู้นำท้องถิ่น กองกำลังติดอาวุธ แคมป์โรฮิงญา แนวชายแดนไทย-เมียนมา พื้นที่ชุมพร-ระนอง
หนุน อส. ใช้ระบบ E-Ticket แก้ทุจริต แนะติดตั้ง ‘ระบบสแกนใบหน้า’ ช่วย ป้องกัน นทท. สวมสิทธิอัตราคนไทย
นักวิชาการธรรมศาสตร์ หนุน อส. นำระบบ E-Ticket มาใช้กับอุทยานแห่งชาติ 1 ต.ค. 68 นี้ แนะให้ใช้ระบบสแกนใบหน้า ป้องกันนักท่องเที่ยวสวมสิทธิ ช่วยบริหารเงินงบประมาณ 2,200 ล้านโปร่งใส
แนะบรรจุวิชาบังคับ 'ความรู้การเงิน' ป.1- ป.ตรี แก้ 'หนี้ครัวเรือน-NPL' ยั่งยืน
นักวิชาการธรรมศาสตร์ เผยไทยต้องผลักดัน ‘ความรู้ทางการเงิน’ เป็นวาระแห่งชาติ แก้ปัญหาหนี้ครัวเรือนพุ่ง-ตัวเลขการออมคนไทยต่ำ รัฐต้องแบกรับภาระงบอุดหนุน-ช่วยเหลือ แนะเร่งจัดทำหลักสูตรความรู้การเงิน ตั้ง ป.1 – ป.ตรี ทันที ไม่ต้องรอรัฐบาลใหม่!
นี่คือสถานการณ์ฉุกเฉินทางเศรษฐกิจ รบ.ต้องยกหูเจรจา 'ทรัมป์' ภายในคืนนี้! นักวิชาการ มธ. ระบุ 'ยิ่งช้ายิ่งเจ็บ'
นักวิชาการธรรมศาสตร์ ชี้การตั้งกำแพงภาษีของทรัมป์ คือสถานการณ์วิกฤตทางเศรษฐกิจ รัฐบาลต้องเร่งเจรจาอย่างช้าที่สุดภายในคืนนี้