เปิดโมเดล”ชุมชนดีมีรอยยิ้มยางตลาด” พัฒนาผ้าทอครบวงจร เงินสะพัดชุมชน

ใครว่ามีแต่คนรุ่นใหม่ๆ ที่ทำงานเก่ง เพราะมีตัวอย่างชาวบ้านที่บ้านโนนชาด ต.หนองอิเฒ่า อ.ยางตลาด จ.กาฬสินธุ์ โดยเฉพาะสตรีสูงวัยก็พัฒนาชุมชนเก่งไม่แพ้กัน ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการปลูกหม่อนเลี้ยงไหม การทอผ้า การผลิตสินค้าโดดเด่น  หรือจะเป็นการขายสินค้าชุมชนผ่านช่องทางออนไลน์ พร้อมปรับตัวและเปิดรับคำแนะนำดีๆ ที่เกิดประโยชน์ต่อชุมชนให้สามารถลุยทุกปัญหา ทำให้เกิดธุรกิจชุมชน สร้างงาน สร้างรายได้ เงินสะพัดในพื้นที่  ที่สำคัญปลุกพลังในการสืบสานงานทอผ้ามรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมของไทยไม่ให้สูญหายไป

เส้นทางการพัฒนาชุมชนแห่งนี้จนประสบผลสำเร็จ ขับเคลื่อนผ่านโครงการชุมชนดีมีรอยยิ้ม ภายใต้โครงการพัฒนาชุมชน บริษัท ไทยเบฟเวอเรจ จำกัด (มหาชน) ที่เข้ามาดำเนินงานร่วมกับกลุ่มปลูกหม่อนเลี้ยงไหมบ้านโนนชาด จ.กาฬสินธุ์  เมื่อปี 2561 จนถึงทุกวันนี้ ช่วยถ่ายทอดองค์ความรู้และระดมสมองวางแผนงาน เพื่อให้การพัฒนาครบเครื่องมากกว่าเดิม ปัจจุบันนางบัวลา ภูหลักถิ่น เป็นประธานกลุ่ม  มีสมาชิก 22 คน ทำงานเป็นเครือข่ายผ้าทอและแปรรูปจากผ้าตั้งแต่ต้นน้ำ กลางน้ำ สู่ปลายน้ำ ชีวิตชาวบ้านสบายขึ้นเยอะ

สำหรับผลิตภัณฑ์ชุมชนดีมีรอยยิ้มยางตลาดที่มัดใจคนที่หลงใหลในผ้าไทยและสีสันจากธรรมชาติ มีสินค้ามากมายให้เลือกสรร   ไม่ว่าจะเป็นผ้าพันคอ ผ้าคลุมไหล่ใส่แล้วสวยเก๋ ไปจนถึงสินค้าใหม่ผ้าพื้นสำหรับนำไปตัดชุดแฟชั่นผ้าไทย อินเทรนด์ผ้าไทยใส่สนุก  ซึ่งผลิตภัณฑ์ชุมชนได้รับเสียงตอบรับที่ดี ช่วยกระตุ้นแรงใจในการพัฒนาชุมชนทอผ้าแห่งนี้ไม่ให้หยุดนิ่งอีกต่อไป

นางสาวธิตาภรณ์ ภูโอบ เจ้าหน้าที่พัฒนาธุรกิจชุมชนอาวุโส โครงการชุมชนดีมีรอยยิ้มยางตลาด  กล่าวว่า เดิมกลุ่มทำกิจกรรมทอผ้าไหมพื้นบ้านและผ้าฝ้ายเป็นหลัก  เช่น ผ้าถุง ผ้าสไบ ผ้าแถบ ผ้าไหมัดหมี่ ผ้าโสร่ง ฯลฯ ยังไม่มีเอกลักษณ์โดดเด่น ทอเพื่อใช้เอง และขายบ้างในชุมชน ไม่รู้จักการตลาด การคิดคำนวณต้นทุน กลุ่มมีความต้องการจะพัฒนาตนเอง เพื่อให้สามารถสร้างรายได้ให้เกิดได้จริง จึงร่วมกับชุมชนดีมีรอยยิ้มเมื่อ 4 ปีก่อน  มีการทำงานและกิจกรรมร่วมกับกลุ่มจนถึงปัจจุบัน

จากการลงพื้นที่วิเคราะห์ข้อมูลกลุ่มชุมชน พบข้อมูลที่น่าสนใจและเกิดประโยชน์ในการวางแผนพัฒนากลุ่มร่วมกันระหว่างชุมชนดีมีรอยยิ้มและชุมชน  นางสาวธิตาภรณ์  กล่าวว่า จุดแข็งเป็นกลุ่มผู้สูงอายุที่หัวไว ใจสู้  อดทน และพร้อมเรียนรู้เพื่อปรับแก้ไขให้ดีขึ้น  จุดอ่อนผลิตภัณฑ์ชุมชนไม่มีคุณภาพและไม่มีมาตรฐานผลิตภัณฑ์ ไม่ว่าจะเป็นมาตรฐานผลิตภัณฑ์ชุมชน (มผช.)  ตรานกยูงทองพระราชทาน เครื่องหมายรับรองคุณภาพผลิตภัณฑ์ผ้าไหมไทย  และการคัดสรรสุดยอดหนึ่งตำบล หนึ่งผลิตภัณฑ์ (OTOP) นอกจากนี้ ชุมชนจำหน่ายราคาสูงเกินไป

“ การพัฒนากลุ่มใช้วิธีพาสมาชิกไปเรียนรู้ตลาดนอกพื้นที่  ได้เห็นของจริง ผลิตภัณฑ์ของกลุ่มอื่นๆ หลากหลายกว่าและสวยกว่า ผ่านการรับรองมาตรฐาน รวมถึงฝึกการออกร้าน มีส่วนร่วมกิจกรรมต่างๆ เมื่อมีโอกาส  ฝึกการเป็นนักการตลาด คิดคำนวณต้นทุน มีการแลกเปลี่ยนเรียนรู้กับเครือข่ายชุมชนผู้ผลิต OTOP   นำมาสู่การบริหารจัดการกลุ่ม เกิดผลิตภัณฑ์หลากหลาย  มีการจัดทำราคาปลีกส่ง เพื่อให้เป็นธุรกิจชุมชนของกลุ่มเอง และขายสินค้าได้ต่อเนื่องตลอดทั้งปี รวมถึงพัฒนาผลิตภัณฑ์และแพจเก็จต่อเนื่องที่จะช่วยเพิ่มมูลค่าให้มากขึ้น ปัจจุบันชุมชนมีมาตรฐานผลิตภัณฑ์ “ นางสาวธิตาภรณ์ ให้ภาพการทำงานร่วมกับชุมชน

การพัฒนาทักษะด้านงานทอผ้าเป็นอีกมิติที่น่าสนใจ เจ้าหน้าที่พัฒนาธุรกิจชุมชนอาวุโส บอกว่า เน้นสร้างการเชื่อมโยงการทำงานระหว่างกลุ่มทอผ้าเป็นเครือข่ายทอผ้า เพื่อแลกเปลี่ยนเรียนรู้องค์ความรู้ ทักษะงานทอ  รวมถึงสร้างความร่วมมือระหว่างกลุ่มงานผ้าและกลุ่มแปรรูปผ้าในพื้นที่ จนตอนนี้เป็นวิสาหกิจชุมชนกลุ่มปลูกหม่อนเลี้ยงไหมบ้านโนนชาด ภายใต้ชุมชนดีมีรอยยิ้ม ที่ทำงานเป็นเครือข่ายตั้งแต่ต้นน้ำสู่ปลายน้ำ สามารถสร้างรายได้ให้คนในชุมชนได้อย่างยั่งยืน ตลอดจนมีโอกาสเข้าถึงงบประมาณโครงการจากหน่วยงานในพื้นที่ ขณะนี้ของบประมาณสนับสนุนจากกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ในการจัดตั้งศูนย์รวมผลิตภัณฑ์ชุมชน เพื่อให้การบริหารจัดการครบวงจรยิ่งขึ้น

ด้านความคิดสร้างสรรค์ก็ไม่ต้องเป็นห่วง  ชุมชนดีมีรอยยิ้มยางตลาดพร้อมเติมเต็มไอเดียและความสนุกในการทำงานผ้าไทยทุกวันให้มีสีสัน ไม่จำเจ นางสาวธิตาภรณ์  กล่าวว่า ปี 2564 โครงการ Creative Young Designers ร่วมกับโครงการ Education Institue Support Activity มหาวิทยาลัยศิลปากร และวิสาหกิจชุมชนกลุ่มปลูกหม่อนเลี้ยงไหมบ้านโนนชาด ซึ่งมีเป้าหมายนำความรู้ความสามารถด้านการออกแบบการแปรรูปให้กับชุมชนจากไอเดียใหม่ๆ ทั้งการดีไซน์ ลายผ้า จากการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ระหว่างนักศึกษาม.ศิลปากรและชุมชน ชุมชนได้รับลายผ้าใบชาดที่มีอัตลักษณ์ชุมชน แพทเทิร์นการออกแบบ   ชาวบ้านที่นี่ไม่หยุด นำไปใช้พัฒนาต่อยอด จนเกิดสินค้าใหม่ อาจารย์และนักศึกษาต้องกลับมาเรียนรู้และทดลองกับชุมชนโนนชาดอีกครั้ง อนาคตมหาวิทยาลัยจะปรับแผนให้มีการเรียนกับชุมชนจริงด้วย

สำหรับชุมชนดีมีรอยยิ้มยางตลาด ถือเป็นโมเดลต้นแบบการพัฒนาชุมชนที่สามารถนำไปประยุกต์และขยายผลในพื้นที่อื่นๆ โดยนางบัวลา ภูหลักถิน ประธานกลุ่มปลูกหม่อนเลี้ยงไหมบ้านโนนชาด กล่าวว่า รู้สึกดีใจที่โครงการพัฒนาชุมชนของไทยเบฟเข้ามาช่วยพัฒนาผลิตภัณฑ์ผ้าทอมือของกลุ่มชุมชน การที่มีเจ้าหน้าที่ลงมาทำงานในพื้นที่ก็เปรียบเสมือนการมีที่ปรึกษาที่เป็นลูกหลานในบ้านเกิดมาช่วยกันพัฒนาอย่างเต็มกำลัง ทำให้ชุมชนมีสร้างรายได้ที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง และผลิตภัณฑ์กลุ่มชุมชนมีการพัฒนาต่อยอดผลิตภัณฑ์ที่หลากหลายขึ้น เกิดการเชื่อมโยงการทำงานร่วมกับกลุ่มอื่นๆ นอกพื้นที่ เกิดผลงานชิ้นใหม่และองค์ความรู้แลกเปลี่ยนกันระหว่างสมาชิกกลุ่มกับเครือข่ายเพิ่มมากขึ้น ก่อให้เกิดการพัฒนาผ้าทอและชุมชนอย่างต่อเนื่องจากรุ่นสู่รุ่น 

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

'ชีวิตนี้ชะตาลิขิต'บันทึก 7 รอบนักษัตร'สุเมธ ตันติเวชกุล'

ครั้งแรกของการบอกเล่าเรื่องราวชีวิตของ ดร. สุเมธ ตันติเวชกุล กรรมการและเลขาธิการมูลนิธิชัยพัฒนา ผู้รับใช้ใต้เบื้องพระยุคลบาทพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร  รวบรวมไว้ในหนังสือ “ชีวิตนี้ชะตาลิขิต ดร.สุเมธ ตันติเวชกุล ”

ผลงาน 15 ศิลปินอาเซียนในเวนิส เบียนนาเล่

ศิลปินอาเซียนจะได้เข้าร่วมในมหกรรมศิลปะนานาชาติ เวนิส  เบียนนาเล่ หรือ International Art Exhibition La Biennale di Venizia ครั้งที่ 60 แสดงศักยภาพผ่านนิทรรศการ The Spirits of Maritime Crossing : วิญญาณข้ามมหาสมุทร และจะมีการฉายภาพยนตร์สั้นเรื่องใหม่

นายกฯ ลั่นปัญหาน้ำท่วม-น้ำแล้ง ต้องดีขึ้นกว่านี้ ประกาศขจัดยาเสพติดให้หมดภายใน 4 ปี

นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรมว.คลัง รับฟังการบริหารจัดการน้ำเพื่อเป็นแหล่งกักเก็บน้ำและใช้สำหรับการอุปโภค โดยนายกฯสวมเสื้อภูไทผ้าฝ้ายสีกรมท่า นายกฯยังได้เดินทักทายประชาชน

นายกฯ ลงพื้นที่กาฬสินธุ์ ติดตามแก้ปัญหาน้ำท่วม-แล้ง ลั่นต้องไม่ให้ปชช.เดือดร้อน

ที่จังหวัดกาฬสินธุ์ นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรมว.คลัง ตรวจติดตามการแก้ไขปัญหาน้ำท่วม น้ำแล้ง ณ สถานีสูบน้ำด้วยไฟฟ้า

'Young Designer' พัฒนาดินเผาบ้านเชียง

เปิดพื้นที่ให้คนรุ่นใหม่ร่วมออกแบบและนำเสนอนวัตกรรมใหม่ๆ มาผลิตของที่ระลึกโดยไม่ลืมอัตลักษณ์โดดเด่นของชุมชน เพื่อยกระดับภาพลักษณ์ของผลิตภัณฑ์ชุนชนบ้านเชียงให้ทันสมัยและตอบโจทย์คนรุ่นใหม่ที่มีสไตล์