24 มิ.ย. 2565 – เมื่อวันที่ 23 มิถุนายนที่ผ่านมา เว็บไซต์ราชกิจจานุเบกษาเผยแพร่ ข้อกําหนดออกตามความในมาตรา 9 แห่งพระราชกําหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548 (ฉบับที่ 46) โดยมีใจความว่า
ตามที่ได้มีประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินในทุกเขตท้องที่ทั่วราชอาณาจักรตั้งแต่วันที่ 26 มีนาคม พ.ศ.2563 และต่อมาได้ขยายระยะเวลาการบังคับใช้ประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินดังกล่าวออกไป อย่างต่อเนื่องเป็นระยะนั้น
โดยที่สถานการณ์การระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) ปัจจุบันได้คลี่คลาย และมีแนวโน้มในทางที่ดีขึ้น จากการดําเนินมาตรการทางสาธารณสุขอย่างเข้มข้นและต่อเนื่องส่งผลให้จํานวนผู้ป่วยและผู้เสียชีวิตจากโรคดังกล่าวลดลงเป็นลําดับ จนสามารถผ่อนปรนบรรดามาตรการและข้อจํากัดต่างๆ ให้ประชาชนและผู้ประกอบการสามารถดํารงชีวิตและดําเนินกิจกรรมทางเศรษฐกิจแล สังคมได้ใกล้เคียงกับปกติ รวมไปถึงการผ่อนคลายข้อจํากัดเรื่องการเดินทาง โดยเฉพาะการเดินทางระหว่างประเทศจากเดิมที่เคยกําหนดเป็นมาตรการสกัดกั้นเชื้อโรคอย่างเร่งด่วน โดยปรับให้สอดคล้องกับนโยบายเปิดประเทศของรัฐบาล เพื่อรับผู้เดินทางจากทั่วโลก การดําเนินการตามแผนและมาตรการจัดการด้านสาธารณสุขทั้งหลายนี้ เพื่อเตรียมความพร้อมการเปลี่ยนผ่านสู่ระยะ Post-Pandemic ที่จะประกาศให้เป็นโรคติดต่อทั่วไป ในการนี้ รัฐบาลโดยข้อเสนอของฝ่ายสาธารณสุขจึงเห็นสมควรพิจารณาปรับลดระดับพื้นที่สถานการณ์ทั่วราชอาณาจักร ผ่อนคลายมาตรการควบคุมและป้องกันโรค ให้สอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบันและการขับเคลื่อนกิจกรรมทางเศรษฐกิจควบคู่กับการคงดําเนิน มาตรการที่จําเป็นสําหรับป้องกันและควบคุมโรค รวมทั้งเพิ่มมาตรการเฝ้าระวังโรคต่อไปอีกช่วงระยะเวลาหนึ่งเพื่อควบคุมการระบาดของโรคให้เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพสูงสุด
อาศัยอํานาจตามความในมาตรา 9 แห่งพระราชกําหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548 และมาตรา 11 แห่งพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน พ.ศ.2534 นายกรัฐมนตรีจึงออกข้อกําหนดและข้อปฏิบัติแก่ส่วนราชการทั้งหลายตามคําแนะนําของศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด – 19) (ศบค) ดังต่อไปนี้
ข้อ 1 การปรับปรุงเขตพื้นที่จังหวัดตามพื้นที่สถานการณ์และยกเลิกการกําหนดพื้นที่นําร่องด้านการท่องเที่ยว ให้ ศบค. มีคําสั่งปรับปรุงเขตพื้นที่จังหวัดจําแนกตามเขตพื้นที่สถานการณ์ เพื่อให้สอดคล้องกับสถานการณ์การระบาดที่เกิดขึ้นในปัจจุบันและเป็นไปตามแผนการเปิดประเทศเพื่อฟื้นฟู เศรษฐกิจของรัฐบาล โดยให้นํามาตรการควบคุมแบบบูรณาการที่กําหนดไว้สําหรับพื้นที่สถานการณ์ระดับต่าง ๆ ข้อห้าม ข้อยกเว้น และข้อปฏิบัติที่ได้ประกาศไว้แล้วก่อนหน้านี้มาใช้บังคับเท่าที่ไม่ขัด หรือแย้งกับข้อกําหนดนี้
ให้ยกเลิกการกําหนดพื้นที่นําร่องด้านการท่องเที่ยวตามคําสั่งศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาด ของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) ที่ 10/2565 เรื่อง พื้นที่สถานการณ์ที่กําหนด เป็นพื้นที่เฝ้าระวังสูงและพื้นที่นําร่องด้านการท่องเที่ยวตามข้อกําหนดออกตามความในมาตรา ๙ แห่งพระราชกําหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2558 ลงวันที่ 30 พฤษภาคม พ.ศ.2565 และข้อกําหนดที่ได้ประกาศไว้ก่อนหน้านี้
ข้อ 2 การขยายเวลาการบังคับใช้มาตรการควบคุมและป้องกันโรค ให้บรรดามาตรการควบคุม แบบบูรณาการ ข้อห้าม ข้อยกเว้น และข้อปฏิบัติสําหรับพื้นที่สถานการณ์ระดับต่างๆ รวมทั้ง มาตรการเตรียมความพร้อมตามข้อกําหนด (ฉบับที่ 37) ลงวันที่ 30 ตุลาคม พ.ศ.2564 ข้อกําหนด (ฉบับที่ 44) ลงวันที่ 29 เมษายน พ.ศ.2565 เฉพาะการปรับปรุงมาตรการควบคุม แบบบูรณาการและการปรับปรุงการกําหนดผู้เดินทางเข้ามาในราชอาณาจักร และข้อกําหนด (ฉบับที่ 45) ลงวันที่ 30 พฤษภาคม พ.ศ.2565 เฉพาะมาตรการควบคุมและป้องกันโรคสําหรับสถานบริการ หรือสถานที่เสี่ยงต่อการแพร่โรคทั่วราชอาณาจักร รวมถึงบรรดามาตรการ หลักเกณฑ์ หรือแนวปฏิบัติ ที่พนักงานเจ้าหน้าที่หรือหน่วยงานที่รับผิดชอบกําหนดขึ้นภายใต้ข้อกําหนดดังกล่าว ยังคงมีผลใช้บังคับ เท่าที่ไม่ขัดหรือแย้งกับข้อกําหนดนี้
ข้อ 3 การผ่อนคลายข้อปฏิบัติในการสวมหน้ากากอนามัยหรือหน้ากากผ้าทั่วราชอาณาจักร เพื่อให้ประชาชนสามารถดําเนินชีวิตได้ใกล้เคียงกับสภาวะปกติยิ่งขึ้น จึงสมควรผ่อนคลายข้อจํากัด ในเรื่องการสวมหน้ากากอนามัยหรือหน้ากากผ้า โดยยกเลิกความในข้อ 1 แห่งข้อกําหนดออกตาม ความในมาตรา 9 แห่งพระราชกําหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2558 (ฉบับที่ 24) ลงวันที่ 19 มิถุนายน พ.ศ.2564
การสวมหน้ากากอนามัยหรือหน้ากากผ้าให้เป็นการปฏิบัติโดยความสมัครใจ โดยขอให้ประชาชนพิจารณาประโยชน์ตามข้อมูลที่ฝ่ายสาธารณสุขรายงานว่า การสวมหน้ากากอย่างถูกวิธี เป็นประโยชน์ด้านสุขอนามัยในการป้องกันการแพร่เชื้อและการรับเชื้อ ทั้งเชื้อโรคโควิดและโรคติดเชื้อ ทางระบบทางเดินหายใจอื่นๆ รวมทั้งยังสามารถลดความเสี่ยงอื่นที่อาจมีผลกระทบต่อสุขภาพ กระทรวงสาธารณสุข (กรมอนามัย) จึงมีข้อแนะนําให้ประชาชนทั่วไปสวมหน้ากากอนามัยเมื่ออยู่ร่วมกับ บุคคลอื่นในสถานที่หรือในพื้นที่แออัด มีการรวมกลุ่มคนจำนวนมาก ไม่สามารถเว้นระยะห่างได้ หรืออากาศระบายถ่ายเทไม่ดี เพื่อลดความเสี่ยงในการแพร่เชื้อหรือรับเชื้อ
กรณีเป็นผู้เข้าข่ายเสี่ยงที่เมื่อติดเชื้อโควิด-19 จะมีอาการรุนแรงหรือความเสี่ยงสูงต่อการ เสียชีวิต (กลุ่ม 604) หรือผู้ที่มีโรคประจําตัวเกี่ยวกับระบบทางเดินหายใจควรสวมหน้ากากอนามัย อย่างถูกวิธีตลอดเวลาเมื่อต้องอยู่ร่วมกับบุคคลอื่นเพื่อลดความเสี่ยงในการรับเชื้อ และกรณีเป็นผู้ติดเชื้อ โควิด-19 หรือผู้สัมผัสเสี่ยงสูงจากเชื้อโควิด-19 จําเป็นต้องสวมหน้ากากอนามัยอย่างถูกวิธี ตลอดเวลาเมื่ออยู่ร่วมกับบุคคลอื่นเพื่อลดความเสี่ยงและป้องกันการแพร่โรค
ให้กระทรวงสาธารณสุขร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เร่งชี้แจง ประชาสัมพันธ์ สร้างการรับรู้ ความเข้าใจให้ประชาชนทุกภาคส่วนทราบถึงแนวการปฏิบัติตนเพื่อให้เกิดความปลอดภัย สอดคล้องกับ มาตรการสังคม ชุมชน และองค์กร เปลี่ยนผ่านสู่ระยะ Post-Pandemic เฝ้าระวังและกํากับติดตาม สถานการณ์ รวมทั้งจัดทําแผนการบริหารจัดการความเสี่ยงเตรียมพร้อมรองรับสถานการณ์ที่อาจเกิดขึ้น
ข้อ 4 การผ่อนคลายมาตรการสําหรับการเคลื่อนย้ายและการเดินทางของแรงงานต่างด้าว ทั่วราชอาณาจักร เพื่อให้การดําเนินกิจกรรมทางเศรษฐกิจและสังคมได้ใกล้เคียงกับสภาวะปกติมากยิ่งขึ้น ให้ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร โดยความเห็นชอบของคณะกรรมการโรคติดต่อกรุงเทพมหานคร หรือผู้ว่าราชการจังหวัดโดยคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัด แล้วแต่กรณี พิจารณาผ่อนคลายมาตรการเกี่ยวกับการเดินทางและเคลื่อนย้ายแรงงานต่างด้าว ตามความในข้อ 8 แห่งข้อกําหนด (ฉบับที่ 24) ลงวันที่ 19 มิถุนายน พ.ศ.2564 โดยให้การเดินทางและเคลื่อนย้ายแรงงานต่างด้าวเพื่อการทํางาน ข้ามเขตจังหวัด และการเดินทางและเคลื่อนย้ายแรงงานต่างด้าวเพื่อการทํางานภายในเขตจังหวัด สามารถ ดําเนินการภายใต้กฎหมาย กฎ หรือระเบียบที่กําหนดหลักเกณฑ์และเงื่อนไขการดําเนินการได้ตามปกติ
ข้อ 5 แนวปฏิบัติสําหรับการถ่ายทํารายการโทรทัศน์ ภาพยนตร์และวีดิทัศน์ ให้สํานักงาน คณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (สํานักงาน กสทช.) ปรับปรุงแนวปฏิบัติการถ่ายทํารายการโทรทัศน์ ภาพยนตร์และวีดิทัศน์ เพื่อรองรับกับมาตรการผ่อนคลายต่าง ๆ ที่ได้ประกาศไว้ โดยให้ดําเนินการสอดคล้องกับแนวปฏิบัติที่ ศบค. ได้พิจารณาเห็นชอบแล้ว
ข้อ 6 การผ่อนคลายมาตรการควบคุมแบบบูรณาการในพื้นที่เฝ้าระวัง ให้พื้นที่ที่ประกาศเป็นพื้นที่เฝ้าระวัง ดําเนินการตามมาตรการควบคุมแบบบูรณาการเพื่อการเปิดสถานที่ กิจการ หรือ กิจกรรมในพื้นที่สถานการณ์ที่จําแนกเป็นเขตพื้นที่เฝ้าระวัง ตามที่ได้กําหนดไว้ในข้อ 3 แห่งข้อกําหนด (ฉบับที่ 44) ลงวันที่ 24 เมษายน พ.ศ.2565 และข้อ 3 แห่งข้อกําหนด (ฉบับที่ 45) ลงวันที่ 30 พฤษภาคม พ.ศ.2565 โดยให้ปรับมาตรการควบคุมแบบบูรณาการ ดังนี้
(1) ร้านจําหน่ายอาหารหรือเครื่องดื่ม สามารถเปิดให้บริการจําหน่ายและการบริโภคสุราหรือ เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในร้านได้ โดยต้องดําเนินการภายใต้กฎหมาย กฎ หรือระเบียบที่กําหนด หลักเกณฑ์และเงื่อนไขการดําเนินการไว้ และต้องปฏิบัติตามมาตรการป้องกันโรค เงื่อนไขการจัดระเบียบ และระบบต่างๆ และคําแนะนําของทางราชการ
(2) สถานบริการ สถานประกอบการที่มีลักษณะคล้ายสถานบริการ สถานบันเทิง ผับ บาร์ คาราโอเกะ หรือสถานที่อื่นที่มีลักษณะคล้ายกัน สามารถเปิดให้บริการได้ โดยต้องดําเนินการภายใต้ กฎหมาย กฎ หรือระเบียบที่กําหนดหลักเกณฑ์และเงื่อนไขการดําเนินการไว้ และต้องปฏิบัติตาม มาตรการป้องกันโรค เงื่อนไขการจัดระเบียบ และระบบต่างๆ และคําแนะนําของทางราชการ
ข้อ 7 มาตรการเฝ้าระวังเพื่อการควบคุมและป้องกันการระบาดของโรคในพื้นที่เฝ้าระวัง การจัดกิจกรรมรวมกลุ่มของบุคคลจํานวนมากให้สามารถทําได้ตามความเหมาะสมโดยให้ปฏิบัติตามมาตรการด้านสาธารณสุขที่ทางราชการกําหนดอย่างเคร่งครัด ทั้งนี้ กรณีการจัดกิจกรรมซึ่งมีการรวมกลุ่มของบุคคลจํานวนรวมกันมากกว่าสองพันคนให้ผู้รับผิดชอบแจ้งการจัดกิจกรรมต่อคณะกรรมการ โรคติดต่อกรุงเทพมหานคร หรือคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัด แล้วแต่กรณี เพื่อเป็นมาตรการเฝ้าระวัง และกํากับติดตามมิให้เกิดความเสี่ยงต่อการระบาดแบบเป็นกลุ่มก้อน (Cluster)
ทั้งนี้ ตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป ประกาศ ณ วันที่ 23 มิถุนายน พ.ศ.2565 พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี.
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
เรืองไกร ไล่บี้นายกฯทวงหลักฐานการลาออกจากตำแหน่งกรรมการบริษัท
เรืองไกร ทวงข้อมูลหลักฐานการลาออกจากตำแหน่งกรรมการบริษัทต่าง ๆ จากนายกรัฐมนตรี
รัฐบาลลุยขายฝันหนีบ่วงการเมือง แกนนำม็อบขยับจัดทัพเดินหน้าไล่
การแถลงผลงานรัฐบาลในรอบ 3 เดือนของ อุ๊งอิ๊ง-น.ส.แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ภายใต้ชื่อ “2568 โอกาสไทย ทำได้จริง” ที่สตูดิโอ 4 สถานีวิทยุโทรทัศน์แห่งประเทศไทย (NBT)
หัวลำโพงคึกคัก! 'อิ๊งค์' นำทีม พท. สัมมนาหัวหิน ตื่นเต้นขึ้นรถไฟรอบ 20 ปี
’แพทองธาร‘ นำทีม ’เพื่อไทย’ ขึ้นรถไฟขบวนพิเศษ มุ่งหน้าสัมมนาหัวหิน ‘เศรษฐา-โอ๊ค-เอม’ ร่วมด้วย ตื่นเต้นนั่งรถไฟรอบ 20 ปี
จับตา! 'ทักษิณ' สร้างอภินิหารการเมือง คัมแบ็กนายกฯ
นายเทพไท เสนพงศ์ อดีต สส.นครศรีธรรมราช โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กว่า จับสัญญาณ ทักษิณหวนคืนอำนาจรัฐ
นายกฯอิ๊งค์ขายฝันประชานิยมปี 2568 แจกเงินหมื่น-ผ่อนบ้าน 4 พัน-ล้วงเงินหวยส่งเด็กเรียนนอก
'นายกฯอิ๊งค์' ร่ายยาวผลงานรัฐบาล 90 วัน เปิดอนาคตปี 68 ครอบคลุมทุกมิติ มาแน่ปีหน้าเงินหมื่นเฟส 2-3 จัดบ้านเพื่อคนไทยผ่อน 4 พันไม่ต้องดาวน์ ผุดไอเดียดึงงบกองสลากส่งเด็กไทยเรียนเมืองนอก คืนชีพ 1 อำเภอ 1 ทุน
เปิดสภาวันแรกเดือด!ฝ่ายค้านซัดจงใจหนีตอบกระทู้ทั้ง ครม.
สส.เพื่อไทยเดือด ปชน. ตั้งกระทู้ปลาหมอคางดำ หลอกด่านายกฯ เบี้ยวตอบกระทู้ตั้งแต่วันแรกของการประชุมสภาฯ ด้าน 'ปธ.วิปค้าน' ข้องใจเจตนาแถลงผลงานตรงวันเปิดประชุมสภา ฉุนจงใจเบี้ยวตอบกระทู้ทั้ง ครม.