ธนาคารน้ำใต้ดิน ทางเลือกการออมน้ำ สร้างสรรค์คุณค่า สร้างรอยยิ้มชุมชน

ตลอดระยะเวลาในการทำงานของโครงการพัฒนาชุมชน บริษัทไทยเบฟเวอเรจ จำกัด (มหาชน) ภายใต้โครงการ ไทยเบฟ..ร่วมสร้างชุมชนดีมีรอยยิ้ม ให้ความสำคัญกับการสร้างความสัมพันธ์ที่ยั่งยืนกับชุมชน มีเป้าหมายสำคัญที่จะมุ่งมั่นพัฒนาเศรษฐกิจชุมชน สร้างความสุขและจัดการตนเองได้ ลักษณะการทำงานนั้นจะเน้นในทุกมิติของชุมชน ไม่ว่าจะเป็นด้านเศรษฐกิจครัวเรือน  ความสัมพันธ์ทางสังคม การจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม การศึกษาและการสร้างเยาวชนคนรุ่นใหม่

ประเด็นที่น่าสนใจคือการจัดการทรัพยากรธรรมชาติ ไม่ว่าจะเรื่อง ดิน น้ำ ป่า ล้วนแล้วอยู่ในภารกิจที่ต้องดำเนินงานพัฒนาร่วมกับชุมชน แต่สิ่งที่ให้ความสำคัญเป็นอย่างยิ่งคือ การจัดการน้ำโดยชุมชน เพราะจากการที่ลงพื้นที่ทำงาน พบว่า หลายๆชุมชนนั้น ประสบปัญหาหรือขาดแคลนน้ำในภาคการเกษตรเป็นอย่างมาก เพราะว่าน้ำนั้น ถือว่า เป็นปัจจัยสำคัญที่มาเป็นอันดับหนึ่ง ในการทำเกษตรทุกรูปแบบ ทุกๆการผลิต ไม่ว่าจะเป็น ข้าว หรือ พืชผักสวนครัว ดังนั้น การหาองค์ความรู้เพิ่มเติมในเรื่องการจัดการน้ำ จึงเป็นสิ่งที่ชุมชนดีมีรอยยิ้ม ตระหนักรู้และขวนขวายหาข้อมูลอยู่เสมอ เพื่อที่จะนำมาถ่ายทอด แลกเปลี่ยนให้ความรู้สู่ชุมชน ให้มีแนวทางที่จะแก้ปัญหาเรื่องน้ำ นำไปเป็นการจัดการน้ำโดยชุมชนได้

หากเส้นทางการพัฒนาไม่เคยตีบตันฉันใด การแก้ปัญหาเรื่องน้ำย่อมมีทางออกฉันนั้น การค้นคว้าหาข้อมูลจึงเริ่มต้น การระดมสมอง สรรพกำลัง งัดวิชาความรู้เรื่องการจัดการน้ำมาทุกสารทิศ จนกระทั่งมาเจอเรื่องๆหนึ่ง นั่นคือ  ธนาคารน้ำใต้ดิน  ทำให้เกิดการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ และต้องการที่จะทดลองทำ เพื่อพิสูจน์ดูว่า จะได้ผลจริงหรือไม่ จะเป็นทางเลือกของการออมน้ำให้ชุมชนได้ไหม ที่สำคัญ ชุมชนต้องทำได้จริง ไม่ยากจนเกินไป และใช้งบประมาณอย่างคุ้มค่า

ทำความรู้จัก...ธนาคารน้ำใต้ดิน

คือการนำน้ำไปเก็บไว้ที่ชั้นใต้ดินในชั้นหินอุ้มน้ำ เป็นวิธีการจัดการน้ำอีกรูปแบบหนึ่ง เรียกว่า เทคนิคการออมน้ำ คล้ายๆกับการออมเงินหรือฝากเงินไว้กับธนาคาร วันไหนเดือดร้อนเรื่องเงิน จึงนำเงินที่เก็บออมออกมาใช้ได้ เหมือนกับธนาคารน้ำใต้ดิน เมื่อต้องการใช้น้ำจึงค่อยสูบขึ้นมาใช้ ในช่วงฤดูฝนที่มีน้ำมากจะช่วยดูดซับและเก็บกักไว้ที่ชั้นหินอุ้มน้ำ โดยอาศัยหลักการเคลื่อนของน้ำที่ไหลจากที่สูงไปที่ต่ำ จากทิศเหนือไปทิศใต้ จากทิศตะวันตกไปทิศตะวันออก ตามแนวเคลื่อนที่ของเปลือกโลก ทำให้น้ำใต้ดินไหลลงไปรวมกันและเก็บไว้กลายเป็นน้ำใต้ดินหรือน้ำบาดาล (groundwater)

ธนาคารน้ำใต้ดินนั้นจะมี 2 รูปแบบคือ ระบบเปิดและระบบปิด ถ้าจะให้มีประสิทธิภาพมากที่สุดควรทำทั้ง 2 ระบบ ทั้งนี้ต้องขึ้นอยู่กับความเหมาะสมของสภาพพื้นที่ด้วย ระบบปิดนั้นจะทำการขุดหลุมเป็นบ่อเพื่อส่งน้ำไปเก็บไว้ที่ชั้นน้ำบาดาล ขนาดและความลึกของบ่อขึ้นอยู่กับสภาพและชั้นดินของแต่ละพื้นที่ ส่วนระบบเปิด จะเป็นการเปิดผิวดินเพื่อที่จะใช้น้ำในระดับผิวดินได้เลย โดยจะมีการขุดบ่อขนาดใหญ่ แต่จะขนาดเท่าไรนั้น ขึ้นอยู่กับความต้องการของแต่ละพื้นที่เช่นกัน และมีอีกแบบคือ ระบบรางน้ำ

การทำธนาคารน้ำใต้ดินมีทั้งข้อดีมากมาย เช่น  แก้ปัญหาน้ำท่วมขัง พื้นที่ประสบภัยแล้ง ปัญหาน้ำเค็ม โดยส่งน้ำจากผิวดินไปกดทับน้ำเค็ม เพราะมวลน้ำเค็มมีน้ำหนักมากกว่าน้ำจืด น้ำเค็มจึงอยู่ด้านล่าง เพิ่มระดับน้ำใต้ดิน เพิ่มความชุ่มชื้นให้ผิวดินทำให้ต้นไม้โดยรอบ เติบโตงอกงาม ลดปริมาณน้ำเสียทั้งระดับครัวเรือนและชุมชน ช่วยลดการเกิดโรคระบาดจากแมลงวัน ยุง  เพราะเปลี่ยนจากน้ำสกปรกเป็นน้ำสะอาด ช่วยรักษาสิ่งแวดล้อม ส่วนข้อจำกัดที่เด่นชัดคือ ไม่สามารถทำในเขตอุตสาหกรรมได้และไม่สามารถทำลายล้างสารเคมีได้โดยตรง

จิตอาสา พาทำน้ำใต้ดิน

ด้วยหลักคิด หลักการและวิธีการทำงานของชุมชนดีมีรอยยิ้ม ในการทำงานพัฒนาชุมชน พร้อมศึกษาข้อมูลของการทำธนาคารน้ำใต้ดิน จึงได้มีแนวทางที่จะนำองค์ความรู้นี้ไปใช้ร่วมกับชุมชน โดยได้เลือกทำธนาคารน้ำใต้ดิน ทั้ง 2 ระบบ โดยดูจากความเหมาะสม ข้อจำกัดด้านงบประมาณ และกำลังคน ที่สำคัญต้องการที่สร้างต้นแบบการจัดการน้ำโดยชุมชน เพื่อนำไปต่อยอด ขยายผลให้กับชุมชนอื่นๆได้

แต่การที่จะหากำลังคนในปริมาณมากๆ ที่พร้อมจะดำเนินการในเรื่องนี้ แน่นอนว่า กิจกรรมจิตอาสาพัฒนาชุมชน นั้น ตอบโจทย์นี้ที่สุด จึงได้เริ่มวางแผน จัดกระบวนการทำกิจกรรม พร้อมหาพื้นที่ต้นแบบที่จะนำความรู้นี้ไปใช้ จนในที่สุด ได้เริ่มต้นทำที่ ชุมชนบ้านบุทางรถ อ.หันคา จ.ชัยนาท เนื่องจากเป็นความต้องการของชุมชนที่จะเก็บกักน้ำที่มาจากเขาราวเทียน  ไว้สร้างความชุ่มชื้น ได้ทำไว้ทั้งหมด 4 จุด ขนาดหลุม 2x2 เมตร มีจิตอาสาร่วมกันพัฒนาพื้นที่ประมาณ 50 คน

ต่อจากนั้นไปทำที่ชุมชนบ้านนาสวน อ.ศรีสวัสดิ์ จ.กาญจนบุรี เพื่อแก้ปัญหาน้ำท่วมซ้ำซาก บริเวณพื้นที่แปลงรวม ออมน้ำไว้ใช้ในการทำเกษตร ทำไว้ 3 จุด จากนั้นไปทำระบบรางที่โรงเรียนบ้านนาสวน เพื่อแก้ปัญหาน้ำท่วมขัง 1 จุด และแบบระบบเปิด 1 จุด เป็นบ่อสำหรับตรวจสอบความชื้นของหน้าดิน ขนาด 5x5 เมตร  มีจิตอาสาลงพื้นที่ร่วม 100 คน และอีกแห่งหนึ่งคือ ชุมชนพุน้ำร้อน อ.ด่านช้าง จ.สุพรรณบุรี โดยทำแบบระบบราง เพื่อแก้ปัญหาน้ำเสียบริเวณหลังตลาดประชารัฐ และได้ทำระบบปิดอีก 4 จุด เพื่อแก้ปัญหาน้ำท่วมขังภายในวัดพุน้ำร้อน มีจิตอาสากิจกรรมประมาณ 50 คน

ผลลัพธ์..ความสำเร็จ

ด้วยความมุ่งหวังที่จะสร้างต้นแบบการจัดการน้ำโดยชุมชน โดยใช้ธนาคารน้ำใต้ดินเป็นทางเลือกในการออมน้ำ เก็บกักน้ำ จากวันนั้น ถึงวันนี้ ได้มีการติดตามผลการดำเนินงานอย่างต่อเนื่อง จากการลงพื้นที่เก็บข้อมูล พบปะแลกเปลี่ยนกับชุมชน การไปดูสถานที่จริงหลังทำกิจกรรม ทำให้พบว่า ทั้ง 3 ชุมชน 3 จังหวัดนั้น ประสบผลสำเร็จ เกินความคาดหมาย ได้ผลมากกว่าที่ตั้งใจไว้  ยกตัวอย่าง ชุมชนพุน้ำร้อน จ.สุพรรณบุรี ลดปัญหาน้ำท่วมขังในวัดพุน้ำร้อนได้มาก สร้างภูมิทัศน์ที่ดี ทำให้มีคนไปท่องเที่ยวอย่างต่อเนื่อง ไม่ต้องเจอสภาพน้ำท่วมขังเหมือนแต่ก่อน และบริเวณน้ำเสียหลังตลาดประชารัฐ แก้ปัญหากลิ่นเหม็นได้ ชุมชนร่วมมือกันรักษาสิ่งแวดล้อม สร้างภาพลักษณ์ที่ดีของตลาด  หรือชุมชนบ้านนาสวน อ.ศรีสวัสดิ์ จ.กาญจนบุรี ปรากฎว่า น้ำไม่ไหลเชี่ยวเหมือนแต่ก่อน สามารถเก็บกักน้ำได้จริง ชุมชนมีน้ำไว้ใช้ในการเกษตร  ส่วนที่โรงเรียนบ้านนาสวน สามารถแก้ปัญหาน้ำท่วมขังได้  ชุมชนบุทางรถ อ.หันคา จ.ชัยนาท เกิดประโยชน์จริง จากเดิมที่ต้องปล่อยให้น้ำไหลผ่านไปอย่างไม่มีจุดหมาย วันนี้ชุมชนได้มีสถานที่เก็บน้ำ ต้นไม้โดยรอบพื้นที่มีเติบโตอย่างสมบูรณ์ สามารถปลูกพืชผักสวนครัวได้อีกด้วย เช่น กล้วย ไม้ดอก และในวันข้างหน้าชุมชนจะขยายผลทำแบบระบบเปิด เพื่อสร้างธนาคารน้ำใต้ดินให้กว้างใหญ่ขึ้น  ชุมชนเกิดรอยยิ้มและเห็นคุณค่าการบริหารจัดการน้ำด้วยตนเองได้ เป็นต้นแบบแห่งการศึกษาเรียนรู้ ชุมชนเกิดทักษะความรู้เพิ่มขึ้น เห็นคุณค่าและความสำคัญของน้ำ ที่ต้องอาศัยความร่วมมือของคนในชุมชน ร่วมด้วยช่วยกัน สร้างสรรค์คุณค่า ..สร้างรอยยิ้มให้ชุมชน ได้มีน้ำใช้ตลอดไป

เสียงสะท้อน..ของชุมชน

นายมานัส ม่วงเกิด  ประธานเครือข่ายวิสาหกิจชุมชนป่าชุมชนเขาราวเทียน จ.ชัยนาท  ได้กล่าวอย่างประทับใจไว้ว่า  “ต้องขอบคุณบริษัทไทยเบฟ ที่เข้ามาเริ่มต้นด้วยการปลูกป่า ขยายมาถึงการทำธนาคารน้ำใต้ดิน  มาให้ความรู้ พาวิทยากรมาสอนวิธีการทำ ตอนแรกเรายังไม่เชื่อ เพราะยังไม่เข้าใจ เห็นแต่ภาพที่ทำ แต่ยังไม่เห็นผล พอ 1 ปีผ่านไป จากที่แห้งแล้งกับมาชุ่มชื่น ผลผลิตทางเกษตรก็เพิ่มขึ้น ชุมชนดีใจมากที่ได้รับประโยชน์จากธนาคารน้ำใต้ดินอย่างแท้จริง ร่วมกันต่อยอด ขยายผล เพิ่มขึ้น”

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

สงกรานต์ริมคลองรอบกรุง 'คลองโอ่งอ่าง-สะพานหัน-วัดบพิตรพิมุข'

สงกรานต์นี้เปิดเส้นทาง “คลองโอ่งอ่าง-สะพานหัน- วัดบพิตรพิมุขวรวิหาร” เลาะเลียบคลอง ชมสตรีทอาร์ต เรียนรู้ประวัติศาสตร์พหุวัฒนธรรมให้เย็นฉ่ำชื่นใจ ถือเป็นพื้นที่น้องใหม่งาน Water Festival 2024 พร้อมเชิญร่วมกิจกรรมมงคล ย้อนวันวานตักบาตรริมคลองยามเช้า

'ชีวิตนี้ชะตาลิขิต'บันทึก 7 รอบนักษัตร'สุเมธ ตันติเวชกุล'

ครั้งแรกของการบอกเล่าเรื่องราวชีวิตของ ดร. สุเมธ ตันติเวชกุล กรรมการและเลขาธิการมูลนิธิชัยพัฒนา ผู้รับใช้ใต้เบื้องพระยุคลบาทพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร  รวบรวมไว้ในหนังสือ “ชีวิตนี้ชะตาลิขิต ดร.สุเมธ ตันติเวชกุล ”

ผลงาน 15 ศิลปินอาเซียนในเวนิส เบียนนาเล่

ศิลปินอาเซียนจะได้เข้าร่วมในมหกรรมศิลปะนานาชาติ เวนิส  เบียนนาเล่ หรือ International Art Exhibition La Biennale di Venizia ครั้งที่ 60 แสดงศักยภาพผ่านนิทรรศการ The Spirits of Maritime Crossing : วิญญาณข้ามมหาสมุทร และจะมีการฉายภาพยนตร์สั้นเรื่องใหม่

เฒ่าวัย 79 เหงา ป่วยซึมเศร้า ใช้ปืนลูกโม่ยิงหัวดับ

พ.ต.ต.อนุชา จินดาศรี สารวัตรสอบสวน สภ.หนองขาว รับแจ้งเหตุมีคนถูกยิงได้รับบาดเจ็บสาหัสที่บ้านหลังหนึ่งในซอยเทศบาล 5 เขตเทศบาลตำบลหนองขาว จึงประสานให้ มูลนิธิขุนรัตนาวุธ จุดหนองขาว มาตรวจสอบช่วยเหลือทันที

นายกฯ เฉ่ง ผบช.ภ.7 ทำงานไม่ดีเท่าที่ควร หวั่นยาเสพติดทะลัก ลั่นจะลงพื้นที่เอง

นายกฯ เผยหลังเรียก ผบช.ภ.7 เข้าพบ พูดชัด ยังทำงานไม่ดีเท่าที่ควร สั่งเข้มกวดขันยาเสพติด ของเถื่อน หวั่นทะลักเข้าฝั่งเมืองกาญจน์ ลั่นหากยังทำไม่ดีจะลงพื้นที่เอง

'Young Designer' พัฒนาดินเผาบ้านเชียง

เปิดพื้นที่ให้คนรุ่นใหม่ร่วมออกแบบและนำเสนอนวัตกรรมใหม่ๆ มาผลิตของที่ระลึกโดยไม่ลืมอัตลักษณ์โดดเด่นของชุมชน เพื่อยกระดับภาพลักษณ์ของผลิตภัณฑ์ชุนชนบ้านเชียงให้ทันสมัยและตอบโจทย์คนรุ่นใหม่ที่มีสไตล์