'จตุพร' ยกวาทะ 'โจรเมื่อปล้นจะสามัคคีกัน แต่จะแตกแยกกันตอนแบ่งสมบัติ' เปรียบตั้งรัฐบาล

26 พ.ค.2566 - นายจตุพร พรหมพันธุ์ วิทยากรคณะหลอมรวมประชาชน เฟซบุ๊กไลฟ์ประเทศไทยต้องมาก่อน ตอน "พังก่อน?" โดยนายจตุพร กล่าวว่า การตั้งรัฐบาล 8 พรรคมีค่าเท่ากับศูนย์ ส่อแนวโน้มจะพังก่อนได้เป็นรัฐบาล เริ่มจากข้อตกลงเอ็มโอยูยังไม่มีอะไรสะท้อนถึงความเป็นจริงได้ ยิ่งตำแหน่งนายกฯ กับรัฐมนตรี ขณะนี้ล้วนเป็นตำแหน่งทิพย์ ยังจับต้องไม่ได้ เพราะมีเสียงรวมกันเพียง 312 เสียง แต่ยังไปไม่ถึง 376 เสียง

ดังนั้น "ตำแหน่งประธานสภาผู้แทนราษฎร" ซึ่งเป็นตำแหน่งเดียวที่เป็นจริงเท่านั้น ในทางการเมืองพรรคก้าวไกลกับพรรคเพื่อไทย จึงมารุมแย่งชิงครอบครองตำแหน่งประธานสภาฯ โดยพรรคเพื่อไทยยกเหตุผลทั้งตามประเพณีร่วมเป็นรัฐบาล กล่าวหากินรวบไม่กินแบ่ง ด้อยค่าพรรคไร้คนมีประสบการณ์ สิ่งเหล่านี้เป็นแค่เหตุผลประกอบเพื่อสร้างคาวมชอบธรรมจะเอาในสิ่งที่เป็นจริงมาให้ได้ก่อน

นายจตุพร ย้ำว่า นักการเมืองเป็นมนุษย์พันธุ์พิเศษ จะไปหาสาระไม่ได้ ยิ่งกรณีการลงนามเอ็มโอยูนั้น เป็นก้าวที่ผิดพลาดที่สุดของพรรคก้าวไกล ซึ่งเป็นพรรคแกนนำตั้งรัฐบาล ประกอบกับสิ่งบรรจุในเอ็มโอยูเป็นเนื้อหาการเข้าไปบริหารประเทศ เสมือนเป็นนโยบายแถลงต่อที่ประชุมรัฐสภา ดังนั้น เมื่อนำกระดุมเม็ดสุดท้ายมาติดก่อน จึงเป็นจุดเริ่มต้นของความผิดพลาดและสร้างปัญหาตั้งแต่เริ่มจับมือร่วมตั้งรัฐบาลกัน

อีกทั้ง เห็นว่า ในความจริงแล้ว เรื่องแรกควรเป็นเพียงการจับมือร่วมกันจะดำเนินการจัดตั้งรัฐบาลให้สำเร็จ ไม่ควรคุยในเรื่องนโยบายของพรรคร่วม และไม่ควรแบ่งตำแหน่งอะไรให้ใครและพรรคใดทั้งสิ้น เพียงรับรู้ เห็นชอบอย่างเดียวว่าใครจะเป็นนายกฯ เท่านั้น หากเดินตามแนวทางนี้ ตำแหน่งประธานสภาฯ และแบ่งรัฐมนตรีจะไม่มีปัญหาเกิดขึ้น ส่วนนโยบายจะไม่หน้าแตกยับ ดังนั้น การเมืองเป็นสิ่งที่ต้องรู้อย่างแน่ชัดในการทำอะไรก่อนและหลัง

นายจตุพร กล่าวว่า พรรคร่วม 8 พรรค โดยเฉพาะพรรคก้าวไกลกับเพื่อไทย ล้วนมาจากการแข่งขันชิงฐานเสียงฝ่ายเดียวกัน หลังเลือกตั้งพรรคเพื่อไทยยังมีอาการอารมณ์ค้าง เกิดหมางใจจากการพ่ายแพ้ย่อยยับ แล้วยังต้องฝืนยิ้มจับมือตั้งรัฐบาลร่วมกัน ด้วยเหตุกระแสสังคมอ้างความเป็นฝ่ายประชาธิปไตยจึงต้องอยู่ด้วยกันมากดดันสำทับอีก

ไม่เพียงเท่านั้น อาการอารมณ์ค้างยังไม่หมอดดับสนิทจากใจที่พังแพ้ของพรรคเพื่อไทย เมื่อถูกโรยเกลือด้วยคำพูดลงบนแผลสด พรรคเพื่อไทยจึงหลุดอารมณ์ทะลุกลางปล้องกันหลายคู่ โดยเปิดฉากด้วยคู่สำคัญระหว่าง น.ต.ศิธา ทิวารี เลขาธิการพรรคไทยสร้างไทย กับ นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว หัวหน้าพรรคเพื่อไทย ดูเหมือนปะฉะดะกันหนักหน่วงและต่อเนื่อง แล้วฟาดกลับขยายผลไม่มีทีท่าจะยุติได้ง่ายๆ

นายจตุพร ระบุว่า นพ.ชลน่าน แม้ส่วนตัวเป็นคนดี แต่เมื่อมาเป็นหัวหน้าพรรคเพื่อไทยแล้ว ต้องยอมรับความจริงว่า ตำแหน่งหัวหน้าพรรคที่ผ่านมาตั้งแต่ยุคไทยรักไทย พลังประชาชน และเพื่อไทย ล้วนไม่มีใครได้มีอำนาจอยู่จริง เพราะคนมีอำนาจจริงคือ ทักษิณ ชินวัตร คนเดียวเท่านั้น ที่เหลือเป็นหัวหน้าพรรคที่ถูกสมมุติขึ้นทั้งสิ้น

"จึงอย่าสำคัญตนผิดว่า เป็นหัวหน้าพรรค แม้แต่นายสมัคร สุนทรเวช อดีตนายกฯ มาเป็นหัวหน้าพรรคพลังประชาชน ทั้งที่มีประสบการณ์มามาก ยังต้องถูกจัดการ ทำลายกันกลางสภาอย่างยับเยินมาแล้ว ดังนั้น นพ.ชลน่าน เมื่อได้มาทำหน้าที่หัวหน้าพรรค กลับไม่มีอำนาจอยู่จริงในพรรค จึงอยู่ท่ามกลางความกดดันอย่างยิ่ง ซึ่งเข้าใจกันได้"

ส่วน น.ต.ศิธา นายจตุพร กล่าวว่า มีความใกล้ชิดและไปมาหาสู่กันกับทักษิณ มากกว่า นพ.ชลน่าน แม้ในวงดีเบตช่วงหาเสียงนั้น เพื่อไทยถูกกดดันไม่ไปจับมือกับพรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) จน นพ.ชลน่าน ประกาศเอาตำแหน่งหัวหน้าพรรคเป็นเดิมพันกับคำประกาศไม่จับมือกับ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ มาแล้ว

ดังนั้น ในช่วงประกาศลงนามเอ็มโอยู อารมณ์สะสมไม่พอใจ น.ต.ศิธา ซึ่งยังค้างคามาตั้งแต่การดีเบตหาเสียง เมื่อถูกถามถึงลงนามเอ็มโอยูไม่ทิ้งกัน ไปไหนไปกัน จึงทำให้ นพ.ชลน่าน ระเบิดคำพูดแบบทิ้งมารยาทว่า ถ้าชกได้ ก็ชกไปแล้ว และยังตามทยอยปลดปล่อยอารมณ์สะสมอีกเป็นระยะในวันถัดๆ มา

อย่างไรก็ตาม นายจตุพร เห็นว่า ในทางการเมืองล้วนรู้ว่า หากพรรคเพื่อไทยได้เป็นแกนนำตั้งรัฐบาล คงไม่มีวันจะเอาพรรคไทยสร้างไทยมาอยู่ร่วมด้วย เนื่องจากแกนนำเพื่อไทยมีอาการเป็นปฏิปักษ์กับคุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ หัวหน้าพรรคไทยสร้างไทยชัดเจน

"มีเรื่องเก่าที่ น.ต.ศิธา เคยพูดไว้ว่า โจรเมื่อเข้าปล้นจะสามัคคีกัน แต่จะมีปัญหาแตกแยกความสามัคคีกันตอนแบ่งสมบัติ ยิ่งในช่วงหาเสียง น.ต.ศิธา ได้รับความนิยมมากมายจากประชาชนในเวทีร่วมดีเบต เมื่อมาหารือเอ็มโอยู แล้วลงมาทำหน้าที่เป็นสื่อชักถามไม่ให้ 8 พรรคท้องกันอีก จึงทำให้ นพ.ชลน่าน อึดอัดทันที"

นายจตุพร กล่าวถึงพรรคก้าวไกลและนายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ ร่วมหารือแนวทางเศรษฐกิจกับสภาอุตสาหกรรมว่า เรื่องนี้ เมื่อยังไม่ได้เป็นนายกฯ และยังไม่มีเสียงอีก 64 เสียงจาก ส.ว.มาเติมให้ผ่าน 376 เสียงแล้ว การไปหารือจึงไม่มีเนื้อหาที่เป็นจริงใดๆ ทั้งสิ้น ดังนั้น ไม่ควรต้องเร่งรีบไปเจรจา หารือในแนวทางที่เป็นทิพย์ๆ

นอกจากนี้ นายจตุพร กล่าวถึงนายอดิศร เพียงเกษ กับนายปิยบุตร แสงกนกกุล แกนนำมูลนิธิก้าวหน้า และนายรังสิมันต์ โรม พรรคก้าวไกล กรณีตำแหน่งประธานสภาฯ ว่า ทั้งเพื่อไทยและก้าวไกลไม่สามารถตกลงกันได้ในทางสาธาณะว่าพรรคใดจะได้ครอบครอง จึงมีการประกาศเสนอตัดบทให้ไปโหวตเลือกกันในสภา

อีกทั้ง เชื่อว่า ในตำแหน่งชิงประธานสภาฯ นั้น หากเพื่อไทยเสนอคนหนึ่ง และก้าวไกลก็เสนออีกคนหนึ่ง เป็นอันว่า พรรคร่วมตั้งรัฐบาลแย่งชิงตำแหน่งประธานสภาฯ กันเอง ดังนั้น ผลออกมาย่อมชัดเจนว่า เพื่อไทยจะชนะโหวตแน่นอน เพราะเสียงจากฝ่ายพรรคเสียงข้างน้อยจะออกมาเทเสียงให้ ดังนั้น เกมลงมติในสภา พรรคก้าวไกลย่อมแพ้ราบคาบในตำแหน่งประธานสภาฯ

"การแย่งชิงตำแหน่งประธานสภาฯ ราวกับเป็นจุดแบ่งเกิดความแตกแยกของ 8 พรรคร่วม และคงเป็นทางเลี้ยวตีจากของพรรคเพื่อไทยได้ย้ายขั้ว สลับข้างอย่างคลากสิกที่สุด กับการไปถึงจุดนัดหมาย พร้อมจัดการกับฝ่ายพรรคประชาธิปไตยหรือเสรีนิยมได้อย่างเบ็ดเสร็จสิ้นเชิงในการหาเหตุทะเลาะกันแล้วตัดสินด้วยการเลือกประธานสภาฯ"

นายจตุพร กล่าวว่า เนื้อหาการพูดคุยในฝ่ายพรรคเพื่อไทยเริ่มมีเสียงดังกับการจัดตั้งรัฐบาลแข่งกันมากเป็นลำดับ โดยอาจกลับมายังจุดนัดหมายที่ประชาชนสงสัยมาตั้งแต่ต้น คือ หวนมาจับมือกับ พล.อ.ประวิตร และ พปชร. กับพรรคอื่นๆ ในซีกเสียงข้างน้อยให้เแปลงร่างเป็นฝ่ายพรรคเสียงข้างมากขึ้นมาแทนที่

รวมทั้ง กล่าวว่า การเมืองจึงเป็นเรื่องอำมหิต เพราะในกระดานการตั้งรัฐบาลแข่งกับพรรคก้าวไกลนั้น ทักษิณ ก็เข้ามาร่วมวงเล่นด้วยเช่นกัน เนื่องจากในวงลึกรู้กันดีหากปล่อยพรรคก้าวไกลได้ตั้งรัฐบาล มีนายพิธา เป็นนายกฯ ก็จะมาแทนที่พรรคเพื่อไทยทุกอย่าง และเพื่อไทยจะไม่เหลืออะไรเลย

อีกอย่าง ถ้าก้าวไกลได้เป็นรัฐบาลแล้ว นโยบายและการบริหารงานจะแตกต่างกว่าทุกพรรคแบบเก่าๆ ไม่ว่าจะทำได้หรือไม่ก็ตาม แต่สิ่งที่โดดเด่นคือ การนำเสนอเนื้อหาไปอธิบายต่อสาธารณะทางโชเชียลให้เชื่อถือ เข้าใจ ตรงไปตรงมาได้เหนือกว่าทุกพรรค

นายจตุพร กล่าวถึงกรณีการถือหุ้นสื่อมวลชนของนายพิธาว่า เป็นรุมระดมมือเท้าเข้าใส่กันจากหลายคน โดยมีคนเดินงาน และต่อจิกซอที่สำคัญ ซึ่งนายเรืองไกร ลีกิจวัฒนะ พปชร. รู้ดีที่สุด ถึงที่สุดแล้ว การเมืองรอบนี้จึงเป็นเรื่องที่ไว้ใจกันไม่ได้ ยิ่งตอนนี้มีตำแหน่งประธานสภาฯ เพียงตำแหน่งเดียวเป็นของจริง แต่พรรคร่วมด้วยกันยังแย่งชิงเอามาครอบครองให้ได้

"ถ้าคิดเป็นและไม่ตั้งหลักกันใหม่แล้ว จะพังกันไปหมด เมื่อไปถึงจุดทางเลี้ยว และเพื่อไทยได้ตำแหน่งประธานสภาฯ ถัดมาย้ายฟากไปจับมือกับบางพรรคในซีก 188 เสียง ด้อมส้มจะออกมาเต็มบ้านเมือง ซึ่งเพื่อไทยกล้าปราบหรือไม่" นายจตุพร เตือนสติ 8 พรรคร่วม

พร้อมระบุย้ำว่า “พรรคเพื่อไทยคิดได้และทำได้กับการย้ายข้างไปอยู่กับบางพรรคฝ่าย 188 เสียงแล้วมี พปชร.ร่วมเป็นรัฐบาล แต่จะปกครองได้หรือไม่ และอับอายหรือไม่กับคำประกาศในช่วงหาเสียงว่า ไม่จับมือกับ พปชร.-รทสช.”

อีกทั้ง มั่นใจว่า การเมืองไม่มีอะไรซับซ้อน เห็นๆกันอยู่ว่า พรรคเพื่อไทยกำลังจะซิงหนีกัน ด้วยการหาสาเหตุตบตี แย่งชิง ประธานสภาฯ แล้วทะลวงไปเอาตำแหน่งนายกฯ ด้วย ดังนั้น “เมื่อพรรคเพื่อไทยต้องการประธานสภาฯ จึงเป็นเหตุที่หามาเพื่อเป็นการอ้างแยกตัวหนีจากพรรคก้าวไกล แล้วไปตั้งรัฐบาลแข่งขัน"

นายจตุพร กล่าวว่า หลังจากพรรคเพื่อไทยถูกกล่าวหาว่า ทรยศเพื่อนแล้ว ก็ไปจัดตั้งรัฐบาล “จึงขอให้ฟังหูไว้หู เมื่อก้าวไกลกับเพื่อไทยแตกหักกันแน่ชัดแล้ว จากนั้นการยุบพรรคก็มาถึง แล้วพรรคเพื่อไทยจะเหลืออะไรกับประชาชน”

"กระดานการเมืองมันเห็นได้ชัด เขาจะทำให้วันที่คุณเสื่อมศรัทธาด้วยความโลภ ไม่ซื่อสัตย์ และทรยศต่อพรรคร่วม 312 เสียง แต่เชื่อว่า วันนี้ตำแหน่งประธานสภาฯ ที่ทั้งสองพรรคแย่งชิงกันจะไม่ได้แล้ว ถ้าจะอยู่ร่วมกันต้องเอาคนอื่นมาแล้ว อาจเป็นนายวันนอร์ มะทา (หัวหน้าพรรคประชาชาติ ซึ่งเคยเป็นประธานสภาฯ มาแล้ว) ก็ได้"

นายจตุพร เห็นว่า สิ่งที่มากกว่าการเมืองและการจัดสรรตำแหน่งต่างๆนั้น มาจากความคับแค้น จึงต้องหาทางผลักพรรคก้าวไกลให้เป็นฝ่ายค้าน แม้เชื่อว่าเลือกตั้งใหม่ก้าวไกลจะมาโดดเด่นอีก แต่ต้องการจัดการปัญหาเฉพาะก่อน

อย่างไรก็ตาม เชื่อว่า การเมืองไม่ว่าสูตรไหนก็ตาม ทุกอย่างออกมาก็พังหมด เมื่อพรรคเพื่อไทยตั้งใจจะทะเลาะกันทุกเรื่อง เพื่อหาเหตุเลิกจากกัน จะเห็นได้ชัดเจนว่า มันเป็นเกมจัดการพรรคก้าวไกล และคุณสมบัติของนายพิธา ที่หลายฝ่ายลงมือทอดผ้าป่า ร่วมมือกันจัดการชัดเจน แต่ไม่ได้หมายความว่า หลังจากนั้นพวกร่วมจัดการด้วยจะมีทางสะดวกหรือไม่

"ฝ่ายอนุรักษ์นิยมกำลังนั่งรอให้ฝ่ายประชาธิปไตยแตกความสามัคคีกัน เพราะขณะนี้ฝ่ายนี้กำลังถูกล้อมทั้ง ส.ว. 250 เสียง กกต. และองค์กรอิสระ แล้วยังมาแย่งชิงทะเลาะกันในตำแหน่งประธานสภาฯ ดังนั้น ฝ่ายประชาธิปไตยเมื่อเปรียบกับคำพูด น.ต.ศิธา ก็จะโจรแตกความสามัคคีในการแบ่งสมบัติ จึงไม่มีสัจจะในฝ่ายประชาธิปไตยเช่นกับในหมู่โจร"

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ความเป็นมาของรัฐธรรมนูญฉบับที่ 4 รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2490 (ตอนที่ 28)

รัฐธรรมนูญฉบับที่ 4 รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2490 ประกาศใช้เมื่อวันที่ 9 พฤศจิกายน พ.ศ. 2490

สรุปผลเลือกตั้งซ่อม สส.พิษณุโลกเขต 1 'พท.' คว้าชัย ทิ้งห่าง 'ปชน.’ 6 พันคะแนน

ผลการเลือกตั้งซ่อม สส.พิษณุโลก เขต 1 อย่างไม่เป็นทางการ ภายหลังปิดหีบเลือกตั้งในเวลา 17:00 น. โดยการเลือกตั้งครั้งนี้ มีผู้สมัคร 2 ราย

พท.เฮลั่น! ‘บู้-จเด็ศ’ ชนะซ่อม สส. พิษณุโลก เขต1 ชูนายกฯอิ๊งค์ปัจจัยสำคัญ

'บู้ จเด็ศ' ผู้ชนะ 'เลือกตั้งซ่อมพิษณุโลกเขต 1' ขอบคุณประชาชนที่ให้โอกาส เผย 'แพทองธาร' โทรมายินดี ด้าน 'สมศักดิ์' ลั่นรอคอยเขตนี้มา 20 ปี 'เพื่อไทย' พาน้องเข้าสภาฯ ได้สำเร็จ