สว.ลับมีด! รอชำแหละนโยบาย 'ครม.เศรษฐา' ซักหนักกว่ารัฐบาลบิ๊กตู่

‘วันชัย’ เชื่อ สว. คงไม่ปล่อยให้ ‘ครม.เศรษฐา’ แถลงนโยบายแล้วกลับไปเฉยๆ คาดใช้เวลาซักมากกว่ารัฐบาลประยุทธ์ จ่อเค้น ‘เงินดิจิทัล-ปรองดอง-แก้รธน.’ พร้อมขอคำมั่นทำได้จริงหรือไม่

4 ก.ย. 2566 – ที่รัฐสภา นายวันชัย สอนศิริ สมาชิกวุฒิสภา (สว.) ให้สัมภาษณ์ถึงการแถลงนโยบายรัฐบาลของนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี ว่า ภาพรวมขณะนี้ สว. ไม่ได้ตกลงในรายละเอียดว่าจะแถลงอย่างไร แต่วันที่ 6 ก.ย. จะมีประชุมวิปวุฒิสภา คงจะมีการหารือและตกลงในหลักการและมอบหมายให้ผู้แทนของคณะกรรมการประสานงาน (วิป) วุฒิสภา หารือเรื่องเวลากับวิป 3 ฝ่าย ที่จะประชุม 7 ก.ย. จากนั้นแนวปฏิบัติที่ทำมาในครั้งก่อน คือ เมื่อได้นโยบายมาแล้วจะมาแยกแยะแจกแจงเพื่อให้ สว. แจ้งความประสงค์ว่าใครจะพูดเรื่องอะไร ในประเด็นอะไรในระยะเวลาเท่าไร

ทั้งนี้เชื่อว่าการอภิปรายครั้งนี้ เท่าที่แลกเปลี่ยนพูดคุยกันในแต่ละกรรมาธิการ (กมธ.) โดยเฉพาะนโยบายใหม่ๆ ของรัฐบาล ไม่ว่าจะเป็นเงินดิจิทัล 10,000 บาท ต้องซักถามกันมาก รวมถึงนโยบายปรองดอง การทหาร และทุกนโยบาย เชื่อว่า สว. ซึ่งเป็นการทำหน้าที่เป็นวาระสุดท้ายในสภา มีความกระตือรือร้นในการอภิปราย โดยเฉพาะ สว. ต่างจังหวัด ที่เขาได้รับการร้องเรียนปัญหาด้านเศรษฐกิจ ปัญหาพืชผลการเกษตร เขาอยากดูว่าในระยะเวลาที่รัฐบาลมาบริหารช่วงแรก 3-6 เดือน จะสร้างความเปลี่ยนแปลงและความหวังให้กับประชาชนตามหาเสียงได้หรือไม่

“ประเด็นเหล่านี้ ผมเชื่อว่าสว. คงจะไม่ปล่อยให้รัฐบาลแถลงนโยบาย แล้วกลับไปเฉยๆ จะต้องหาคำมั่นหาคำยืนยันให้ชัดเจน ว่าสิ่งที่พูดไว้แต่ละเรื่องนโยบายทำได้จริงหรือไม่ ไม่ว่าจะเป็นการลดค่าไฟ ค่าครองชีพ และนโยบายพักหนี้ต่างๆ เมื่อไรทำได้ ไม่ใช่เหมือนพรรคการเมืองอื่นๆ หรือรัฐบาลอื่นๆ ที่แถลงนโยบายเสร็จเรียบร้อย ทำได้หรือไม่ ก็ไม่รับผิดชอบ คณะรัฐบาลของนายเศรษฐา จะต้องถูก สว. จี้ และขอคำมั่นอย่างชัดเจนในแต่ละนโยบายต่างๆ” นายวันชัย ระบุ

นายวันชัย กล่าวด้วยว่า ส่วนนโยบายการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ที่พรรคเพื่อไทยประกาศให้เป็นวาระแห่งชาตินั้น แม้รัฐบาลจะแถลงแล้ว แต่เป็นการแถลงนอกสภาฯ ในสภาฯ เราจะขอคำมั่นว่า การที่จะแก้ไขรัฐธรรมนูญหมวดพระมหากษัตริย์จะแตะหรือไม่อย่างไร รวมถึงประเด็นที่แก้ไขต่างๆ ในส่วนรัฐบาลมีประเด็นอะไรบ้าง ที่สำคัญ คือการมีสภาร่างรัฐธรรมนูญ (ส.ส.ร.) จะมาจากไหน จะมาจากการเลือกตั้งทั้งหมด หรือมาจากส่วนใด สิ่งเหล่านี้เป็นประเด็นสำคัญเพราะคนที่มาร่างรัฐธรรมนูญ เราดูว่าหากมาจากการเลือกตั้งทั้งหมด จะเกิดอิทธิพลครอบงำจากพรรคการเมือง ทำให้รัฐธรรมนูญ ไม่ได้เป็นรัฐธรรมนูญที่มาจากความต้องการของประชาชนจริง อาจจะเป็นความต้องการของพรรคการเมือง ดังนั้นสิ่งเหล่านี้ต้องหาความพอดีและความชัดเจนว่า คนที่จะมาร่างควรมีภาคส่วนใดบ้าง นักวิชาการควรมาอย่างไร สาขาอาชีพต่างๆ ควรมาอย่างไร การเลือกตั้งควรมีสัดส่วนอย่างไร สิ่งเหล่านี้จะฟังความชัดเจนจากรัฐบาล

เมื่อถามว่า สว. ติดขัดเรื่องคุณสมบัติรัฐมนตรีที่จะมาทำเรื่องนโยบาย เช่น เอาตำรวจคุมกระทรวงศึกษา นายวันชัย กล่าวว่า ข้อจำกัดทางการเมืองของเขารวมทั้งสถานการณ์ทางการเมืองบางคนอาจจะมีข้อตำหนิ ไม่เหมาะสมแต่โดยส่วนตัว ตนถือว่า จัด ครม. ในสถานการณ์อย่างนี้ได้ขนาดนี้ดีแล้ว แต่ลำพังแค่หน้าตาของรัฐมนตรีคงไม่พอ ตนคิดว่าผลงานจะเป็นเรื่องสำคัญ ที่จะลบข้อครหาของคนที่เป็นรัฐมนตรีไปได้ ถ้าทำงานแล้ว 3-6 เดือน หรือ 1 ปี มีผลงานดีจะลบข้อตำหนิได้หมด แต่หากไม่มีผลงานยิ่งกว่าถูกตำหนิ เหมือนเป็นการซ้ำเติมหน้าตาของรัฐมนตรีคนนั้น

“ดังนั้นการที่จะรัฐบาลอยู่ได้หรือไม่ได้ อยู่ยาวหรือไม่ ผมมองว่ามาจากเหตุ 3 ประการ คือ 1.เป็นแล้วมีผลงานหรือไม่ ซึ่งถือว่าสำคัญที่สุด เพราะคนรอผลงาน รอความหวัง หากเป็นแล้วไม่สามารถสร้างความหวังให้เขาได้ไม่มีผลงาน กระแสจะถูกตีกลับ 2.พรรคร่วมรัฐบาลขัดแย้งหรือไม่ จะทำให้รัฐบาลอยู่สั้นก็ได้หากทะเลาะกัน ในสถานการณ์นี้หากผนึกกำลังกันได้เข้มแข็งและมีผลงาน จะทำให้รัฐบาลอยู่ได้ยาว และ 3.ผลงานที่ปรากฎในระยะสั้น ระยะกลาง และระยะยาวจะเป็นตัวกำกับสำคัญ โดยเฉพาะไม่โกง หรือทุจริตคอร์รัปชัน หากเป็นรัฐบาลแล้วทำมาหากิจเอื้อประโยชน์ให้พรรค หรือพรรคพวกของตนเอง รวมถึงประโยชน์ของบริษัท บริวารของพรรคพวกตัวเอง เท่ากับว่าเป็นรัฐบาลฆ่าตัวตาย สิ่งเหล่านี้มีบทเรียน และประสบการณ์ต่างๆ ของคนที่เป็นรัฐมนตรีและมาจากการเลือกตั้ง ดังนั้นบทเรียนที่ผ่านมาจะเป็นบทเรียนให้รัฐบาลนี้แก้ไขสิ่งที่ผิดพลาด” สว. ผู้นี้ ระบุ

เมื่อถามถึงความเหมาะสมของว่าระยะเวลาการแถลงนโยบายต่อรัฐสภา นายวันชัย กล่าวว่า ระยะเวลาอภิปราย 2 วัน มีความเหมาะสม และเชื่อว่าการอภิปรายนั้นจะใช้เวลาที่ยาวนานกว่าการแถลงนโยบายสมัยรัฐบาลของพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา อดีตนายกฯ ที่เวลารวม 30 ชั่วโมง ขณะเดียวกันการอภิปรายของ สว. ครั้งนี้ เชื่อว่าจะขอเวลามากกวาครั้งก่อนอยู่มาก เพราะมีหลายประเด็นที่ต้องการซักถามรายละเอียด อย่างไรก็ดีหลังจากที่ ได้กรอบเวลาหลังการประชุมวิป 3 ฝ่าย ในวันที่ 7 กันยายน แล้ววุฒิสภาจะจัดสัมมนา โดยหารือในประเด็นรายละเอียดของนโยบาย ซึ่งตนเชื่อว่าจะเห็นรายละเอียดล่วงหน้า พร้อมกับหนังสือนัดประชุมรัฐภา จากนั้นจะมอบหมายให้ กมธ.ของวุฒิสภานำประเด็นไปศึกษารายละเอียดก่อนกำหนดตัวบุคคลที่จะอภิปราย.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ในหลวง พระราชทานพระบรมราชวโรกาสให้นายกฯ นำ ครม.ชุดใหม่ เฝ้าฯ ถวายสัตย์

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้า ฯ พระบรมราชินี เสด็จออก ณ พระที่นั่งอัมพรสถาน พระราชวังดุสิต พระราชทานพระบรมราชวโรกาสให้ นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีนำคณะรัฐมนตรี