เปิดตำนาน 'พรรคประชาชน' ไม่ใช่ชื่อใหม่ถอดด้าม เคยเป็นรังเก่า 'กลุ่ม 10 มกราฯ' ยุค 'ป๋าเปรม' ศิษย์เก่าดังอื้อ 'วันนอร์-จาตุรนต์-นิกร ' พบ 'ถวิล ไพรสนท์' มือท้องถิ่นพรรคก้าวไกล ก็คืออดีตผู้ร่วมก่อตั้ง กับ 'เฉลิมพันธ์-ไข่มุกดำ วีระ'
9 ส.ค. 2567 - ผู้สื่อข่าวรายงานว่า จากกระแสข่าวที่ออกมาช่วงค่ำวันที่ 8 ส.ค.ที่ผ่านมาว่า พรรคการเมืองจัดตั้งใหม่ที่มาแทนพรรคก้าวไกล จะใช้ชื่อว่า "พรรคประชาชน" ที่จะมีการแถลงเปิดตัวเวลา 12.00 น.วันนี้ 9 สิงหาคม ที่ตึกไทยซัมมิทฯ
จากการตรวจสอบของ ไทยโพสต์ พบว่า ชื่อพรรคประชาชน ไม่ใช่ชื่อพรรคใหม่ทางการเมืองแต่อย่างใด เพราะเคยเป็นพรรคการเมือง ที่เคยส่งคนลงสมัครรับเลือกตั้งและได้ส.ส.มาแล้วในช่วงปี 2531 ซึ่งช่วงนั้น เป็นการเมืองในยุครัฐบาลพลเอกเปรม ติณสูลานนท์ อดีตประธานองคมนตรี
ซึ่งแกนนำพรรค-ผู้ร่วมก่อตั้งพรรคประชาชนเวลานั้น ก็คือนักการเมืองจาก”กลุ่ม 10 มกรา”ที่เป็นกลุ่มการเมืองชื่อดัง จนเป็นตำนานของพรรคประชาธิปัตย์มาถึงทุกวันนี้ โดยกลุ่ม 10 มกรา มีแกนนำคือนายเฉลิมพันธ์ ศรีวิกรม์ ที่เป็นนักธุรกิจ เคยเป็นนายทุนใหญ่ของพรรคประชาธิปัตย์มาก่อน จนขึ้นมาเป็นเลขาธิการพรรคประชาธิปัตย์ ในยุคที่มีนายพิชัย รัตตกุล อดีตประธานรัฐสภา เป็นหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ โดยนายเฉลิมพันธ์ คือบิดาของนางทยา ทีปสุวรรณ อดีตแกนนำกปปส.-อดีตรองผู้ว่าฯกทม. จากพรรคประชาธิปัตย์
โดยตำนานของพรรคประชาชน เกิดขึ้นหลังเกิดปัญหาขัดแย้งทางการเมืองในพรรคประชาธิปัตย์ระหว่างกลุ่มของนายเฉลิมพันธ์ -นายวีระ มุกสิกพงษ์ โดยมีแนวร่วม เช่น กลุ่มวาดะห์ ที่กำลังเริ่มโด่งดังทางการเมือง กับกลุ่มของนายพิชัย รัตตกุล ที่เป็นหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์เวลานั้น ซึ่งกลุ่มของนายพิชัย มีแนวร่วม เช่น นายชวน หลีกภัย -พลตรีสนั่น ขจรประศาสน์ นายบัญญัติ บรรทัดฐาน นายมารุต บุนนาค นายเล็ก นานา
พบว่ากลุ่มนายพิชัย ขัดแย้งกับกลุ่มของนายเฉลิมพันธ์ ในเรื่องโควต้ารัฐมนตรีของพรรคประชาธิปัตย์ และตำแหน่งหัวหน้าพรรคและเลขาธิการพรรคประชาธิปัตย์ในช่วงรัฐบาลพลเอกเปรม ติณสูลานนท์
ทำให้ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ ในปีกของนายเฉลิมพันธ์ ตั้งกลุ่ม 10 มกราฯ ขึ้น เมื่อ 10 มกราคม 2530 ที่โรงแรมเอเชีย โดยมีการงัดข้อทางการเมืองกับกลุ่มนายพิชัย ตลอด จนมาถึงจุดแตกหัก ตอนโหวตร่างพรบ.ลิขสิทธิ์และสิทธิบัตร ที่เป็นร่างกฎหมายสำคัญของรัฐบาลพลเอกเปรมเวลานั้น เพราะทางประเทศมหาอำนาจโดยเฉพาะสหรัฐฯ กดดันให้รัฐบาลพลเอกเปรม รีบออกกฎหมายดังกล่าวเพื่อแก้ปัญหาสินค้าละเมิดลิขสิทธิ์ แต่ก็มีกระแสคัดค้านไม่เห็นด้วยมากมาย
จนเมื่อร่างพรบ.ลิขสิทธิ์ฯ เข้าสภาฯ ทางส.ส.กลุ่ม 10 มกราคม โหวตสวนไม่เห็นชอบร่างพรบ.ลิขสิทธิ์ฯทั้งที่ตัวเองเป็นส.ส.รัฐบาล ทำให้ พลเอกเปรม ตัดสินใจยุบสภาฯ โดยเป็นการยุบสภา ก่อนการเปิดอภิปรายไม่ไว้วางใจของฝ่ายค้านเพียงไม่กี่วัน
และหลังจากนั้น เมื่อเข้าสู่การเลือกตั้ง กลุ่ม 10 มกราคม ก็ย้ายออกจากพรรคประชาธิปัตย์ ไปตั้งพรรคประชาชน ที่เป็นการตั้งพรรคโดยเปลี่ยนชื่อจากพรรคเดิมคือ พรรครักไทย โดยมีนายเฉลิมพันธ์ เป็นหัวหน้าพรรค และมี นายวีระ ที่ปัจจุบันเปลี่ยนชื่อเป็นวีระกานต์ อดีตประธานนปช.เสื้อแดง เป็นเลขาธิการพรรคประชาชน
อย่างไรก็ตาม ผลการเลือกตั้งปี 2531 พรรคประชาชนได้ส.ส.เข้าสภาฯ ไม่มากเท่าใดนัก คือได้ประมาณ 19 คน และหลังเลือกตั้ง พรรคชาติไทย ที่มีพลเอกชาติชาย ชุณหะวัณ เป็นหัวหน้าพรรค ชนะเลือกตั้ง จนพลเอกชาติชาย ขึ้นเป็นนายกฯ หลังพลเอกเปรม ที่เป็นนายกฯคนนอกมาแปดปี ประกาศไม่รับตำแหน่งนายกฯ กับวาทะอมตะ”ผมพอแล้ว”
โดยการตั้งรัฐบาลดังกล่าว ไม่มีพรรคประชาชนร่วมด้วย เพราะพลเอกชาติชาย ตั้งรัฐบาลกับพรรคประชาธิปัตย์ ที่ไม่ถูกกับพรรคประชาชน ทำให้พรรคประชาชนกลายเป็นฝ่ายค้าน ร่วมกับพรรคอื่นๆ เช่น พรรครวมไทย ของนายณรงค์ วงศ์วรรณ -พรรคกิจประชาคม ของนายบุญชู โรจนเสถียร -พรรคก้าวหน้าของนายอุทัย พิมพ์ใจชน
จนต่อมาช่วง เมษายน 2532 ทั้งสี่พรรคฝ่ายค้าน คือ พรรคประชาชน-พรรครวมไทย-พรรคกิจประชาคม-พรรคก้าวหน้า ก็ได้ยุบรวมมาเป็นพรรคเดียวกันชื่อว่า “พรรคเอกภาพ”
จากนั้นช่วงปี 2534 พลเอกชาติชาย ปรับครม.โดยดึงพรรคเอกภาพเข้าร่วมรัฐบาล แล้วปรับพรรคประชาธิปัตย์ออก แต่อยู่ได้ไม่นานก็เกิดรัฐประหาร รสช. เมื่อ 23 ก.พ. 2534 ทำให้ พรรคประชาชน ชื่อก็หายไปจากการเมืองหลายสิบปี พร้อมกับการที่นายเฉลิมพันธ์ วางมือทางการเมือง
โดยพบว่า ส.ส.-นักการเมือง ที่เคยอยู่กับพรรคประชาชน ที่ตอนนี้ยังเป็นส.ส.อยู่ ก็มีเช่น นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานรัฐสภาในปัจจุบัน ที่ตอนนั้นออกจากประชาธิปัตย์มาพร้อมกับกลุ่มวาดะห์ และยังมี นายจาตุรนต์ ฉายแสง ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย ที่เคยอยู่กับกลุ่ม 10 มกราฯมาก่อน ตั้งแต่ยุคเป็นส.ส.ฉะเชิงเทรา สมัยแรก ในสังกัดพรรคประชาธิปัตย์ โดยนายจาตุรนต์ ออกไปร่วมตั้งพรรคประชาชน พร้อมกับบิดา คือนายอนันต์ ฉายแสง อดีตส.ส.ฉะเชิงเทราหลายสมัย
ส่วนอดีตศิษย์เก่า พรรคประชาชน ที่ไม่ได้เป็นส.ส.แต่ยังมีบทบาทการเมืองก็เช่น นายนิกร จำนง ที่เคยเป็นส.ส.สงขลา กลุ่ม 10 มกราคม แต่ตอนที่ลงสมัครส.ส.พรรคประชาชน ไม่ได้รับเลือกตั้ง โดยปัจจุบัน นายนิกร เป็นผอ.พรรคชาติไทยพัฒนามาหลายปี ล่าสุดก็เป็นกรรมาธิการของสภาฯหลายคณะเช่น กรรมาธิการวิสามัญศึกษาการตราพรบ.นิรโทษกรรมฯ เป็นต้น
ขณะที่ คนอื่น ๆ ที่ยังโลดแล่นการเมืองอยู่ก็มีเช่น นายถวิล ไพรสณฑ์ ที่เคยเป็นที่ปรึกษาหัวหน้าพรรคก้าวไกล หลังลาออกจากพรรคประชาธิปัตย์ ตอนช่วงหลังเลือกตั้งปี 2562 ที่มีสมาชิกพรรคลาออกหลายคนที่เรียกกันตอนนั้นว่า ประชาธิปัตย์เลือดไหลไม่หยุด โดยปัจจุบันนายถวิล ช่วยงานพรรคก้าวไกลในเรื่องท้องถิ่นมาหลายปีแล้ว จนน่าจับตาว่า นายถวิล อาจจะมีส่วนในการช่วยคิดชื่อ พรรคประชาชน รวมถึงยังมีศิษย์เก่า พรรคประชาชนอีกหลายคน เช่น นางอัญชลี วานิช เทพบุตร อดีตเลขาธิการนายกฯ (อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ) อดีตนายกอบจ.ภูเก็ต ที่เคยลงสมัครส.ส.พรรคประชาชน เป็นต้น
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
'เท้ง-ไหม' ชำแหละ 'นายกฯอิ๊งค์' เหมือนฝากงานรมต. มากกว่าแถลงผลงานรัฐบาล
นายณัฐพงษ์ เรืองปัญญาวุฒิ สส.บัญชีรายชื่อและหัวหน้าพรรคประชาชน พร้อมด้วย นางสาวศิริกัญญา ตันสกุล สส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาชน กล่าวถึงกรณีนางสาวแพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี แถลงผลงานรัฐบาลครบ 90 วัน เมื่อช่วงเช้าที่ผ่านมา
'เจ๊ไหม' จี้ถามปฏิรูปภาษี-ล้วงทุนสำรอง 'จุลพันธ์' ยก OECD ที่ไทยจะเข้าเป็นสมาชิกเป็นต้นแบบ!
'ศิริกัญญา' จี้ถาม 'ปฏิรูประบบภาษี' บอก ฟังแล้วเหนื่อยไม่มีเป้าหมาย 'จุลพันธ์' แย้งบอกเป็นแนวทางศึกษา ระบุ 'ไม่มีโจทย์ ไม่มีเป้า ไม่มีธง' แค่เดินหน้าไป เหน็บเอาใจยากพอสมควร
'ณัฐวุฒิ' ดับกลางอากาศ! 'เจี๊ยบ-สาวกส้ม' แห่แชร์คลิปตาสว่างหลงเชื่อ 'ไอ้เต้น' มา 20 ปี
นางอมรัตน์ โชคปมิตต์กุล หรือ “เจี๊ยบ” อดีตสส.ก้าวไกล โพสต์คลิปวิดีโอความเห็นของผู้ที่เคยสนับสนุน นายณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ ที่ปรึกษาของนายกฯ
อ้าว! 'อมรัตน์' สมเพช 'นักโต้วาที' เมาตำแหน่งที่ปรึกษาของนายกฯ
นางอมรัตน์ โชคปมิตต์กุล หรือ “เจี๊ยบ” อดีตสส.ก้าวไกล โพสต์เฟซบุ๊ก Amarat Chokepamitkul อมรัตน์ โชคปมิตต์กุล” ถึงนายณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ
ท้านายกฯอิ๊งค์ ถ้าให้เกียรติสภา ควรมาตอบกระทู้สดผู้นำฝ่ายค้าน
'ปธ.วิปค้าน' ลั่น 'หัวหน้าเท้ง' ถามกระทู้สดนายกฯ แน่นอน ข้องใจทำไมต้องแถลงผลงานวันเดียวกัน ทั้งที่รู้ล่วงหน้าแล้ว เหน็บ 'อิ๊งค์' ถ้าเห็นความสำคัญสภา สะดวกตอบสัปดาห์ไหนก็พร้อมเสมอ
พรรคประชาชนได้ที! ย้อนเกล็ดทั่นเต้นหากต้านรัฐประหารยากแล้วหาเสียงไว้ทำไม
'ปกรณ์วุฒิ' ย้อน 'ณัฐวุฒิ' ถาม 'เพื่อไทย' หากต้าน 'รัฐประหาร' ยาก แล้วหาเสียงไว้ทำไม หรือมีอำนาจพรรคอื่นกดไว้ ก็ให้บอกมาตรงๆ โวถ้า 'อดีตก้าวไกล' ไม่เริ่มก็ไม่มีพรรคไหนขยับ