เปิดคำวินิจฉัยส่วนตน ประธานศาลรธน. 1 ใน 4 ตุลาการ : ความเป็นรมต.ของ 'เศรษฐา' ไม่สิ้นสุดลง

12 ก.ย.2567 - สืบเนื่องจาก ศาลรัฐธรรมนูญมีมติ 5 ต่อ 4 วินิจฉัยว่า ความเป็นรัฐมนตรีของนายเศรษฐา ทวีสิน สิ้นสุดลงเฉพาะตัวตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 170 (4) เนื่องจากไม่มีความซื่อสัตย์สุจริตเป็นที่ประจักษ์ ขาดคุณสมบัติตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 160 (4) และมีพฤติกรรมอันเป็นการฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานจริยธรรมอย่างร้ายแรง อันมีลักษณะต้องห้ามตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 160 (5) กรณีแต่งตั้งนายพิชิต ชื่นบาน เป็นรัฐมนตรี

โดยตุลาการเสียงข้างมากที่เห็นว่าความเป็นรัฐมนตรีของนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีสิ้นสุดลง ประกอบด้วย 1.นายปัญญา อุดชาชน 2.นายอุดม สิทธิวิรัชธรรม 3.นายวิรุฬห์ แสงเทียน 4.นายจิรนิติ หะวานนท์ 5.นายบรรจงศักดิ์ วงศ์ปราชญ์

ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญเสียงข้างน้อยที่เห็นว่าความเป็นรัฐมนตรีของนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีไม่สิ้นสุดลง ประกอบด้วย 1.นายนครินทร์ เมฆไตรรัตน์ ประธานศาลรัฐธรรมนูญ 2.นายนภดล เทพพิทักษ์ 3.นายอุดม รัฐอมฤต 4.นายสุเมธ รอยกุลเจริญ

โดยล่าสุดสำนักงานศาลรัฐธรรมนูญ ได้เผยแพร่คำวินิจฉัยส่วนตน โดยมีความเห็นส่วนตนของ นายนครินทร์ เมฆไตรรัตน์ ประธานศาลรัฐธรรมนูญ ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญเสียงข้างน้อยที่เห็นว่าความเป็นรัฐมนตรีของ นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีไม่สิ้นสุดลง

ประเด็นวินิจฉัย

ความเป็นรัฐมนตรีของผู้ถูกร้องที่ ๑ นายกรัฐมนตรี สิ้นสุดลงเฉพาะตัวตามรัฐธรรมนูญ มาตรา ๑๗๐ วรรคหนึ่ง (๔) ประกอบมาตรา ๑๖๐ (๔) และ (๕) หรือไม่

ความเห็น

รัฐธรรมนูญ มาตรา ๑๖๐ และมาตรา ๑๗๐ เป็นบทบัญญัติในหมวด ๘ คณะรัฐมนตรีโดยมาตรา ๑๖๐ บัญญัติว่า "รัฐมนตรีต้อง ... (๔) มีความชื่อสัตย์สุจริตเป็นที่ประจักษ์(๕) ไม่มีพฤติกรรมอันเป็นการฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานทางจริยธรรมอย่างร้ายแรง ..." และมาตรา ๑๗๐ วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า "ความเป็นรัฐมนตรีสิ้นสุดลงเฉพาะตัวเมื่อ ..(๔)ขาดคุณสมบัติหรือมีลักษณะต้องห้ามตามมาตรา ๑๖๐.. "

ข้อเท็จจริงปรากฏว่า เมื่อวันที่ ๒๑ พฤษภาคม ๒๕๖๗ ผู้ถูกร้องที่ ๒ รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรีได้ขอลาออกจากตำแหน่งดังกล่าว การนี้จึงทำให้ความเป็นรัฐมนตรีของผู้ถูกร้องที่สิ้นสุดลงเฉพาะตัวตามรัฐธรรมนูญ มาตรา ๑๗๐ วรรคหนึ่ง (๒) กรณีจึงไม่มีเหตุที่จะต้องวินิจฉัยคดีในส่วนของผู้ถูกร้องที่ ๒ ต่อไปตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยวิธีพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญ พ.ศ. ๒๕๖๑ มาตรา ๕๑ กรณีไม่เป็นไปตามรัฐธธรรมนูญ มาตรา ๑๗๐ วรรคสามประกอบมาตรา ๘๒ วรรคหนึ่ง ศาลรัฐธธรรมนูญจึงมีคำสั่งไม่รับคำร้องกรณีของผู้ถูกร้องที่ ๒

พิจารณาแล้วเห็นว่า รัฐธรรมนูญ มาตรา ๓ กำหนดให้อำนาจอธิปไตยเป็นของปวงชนชาวไทยพระมหากษัตริย์ทรงใช้อำนาจนั้นผ่านทางรัฐสภา คณะรัฐมนตรี และศาลตามบทบัญญัติแห่งรัฐธธรรมนูญโดยรัฐสภาเป็นองค์กรที่ใช้อำนาจนิติบัญญัติในการตรากฎหมายอันเป็นกฎเกณฑ์ที่ใช้บังคับในสังคมส่วนคณะรัฐมนตรีจะใช้อำนาจบริหารในการบริหารราชการแผ่นดิน ดำเนินนโยบาย รวมถึงการบริหารงบประมาณรายจ่ายของแผ่นดินเพื่อให้เกิดเสถียรภาพและประโยชน์สูงสุดแก่ประชาชนในประเทศ และศาลซึ่งเป็นองค์กรที่ใช้อำนาจตุลาการในการวินิจฉัยชี้ขาดข้อขัดแย้งที่เกิดขึ้นตามเขตอำนาจที่กฎหมายกำหนดให้มีเขตอำนาจเหนือคดีนั้น สำหรับคณะรัฐมนตรี รัฐธรรมนูญ มาตรา ๑๕๘ วรรคหนึ่งกำหนดให้พระมหากษัตริย์ทรงแต่งตั้งนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีอื่นอีกไม่เกินสามสิบห้าคนมีหน้าที่บริหารราชการแผ่นดินตามหลักความรับผิดชอบร่วมกัน โดยคณะรัฐมนตรีประกอบไปด้วยนายกรัฐมนตรีเป็นหัวหน้าคณะรัฐมนตรีในฐานะผู้นำฝ่ายบริหารและรัฐมนตรีประจำกระทรวงต่าง ๆ ที่แบ่งส่วนราชการโดยแยกตามภารกิจ รัฐธรรมนูญได้กำหนดหน้าที่ของคณะรัฐมนตรีไว้ในมาตรา ๑๖๔ โดยบัญญัติให้คณะรัฐมนตรีต้องดำเนินการตามบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญ กฎหมาย และนโยบายที่ได้แถลงไว้ต่อรัฐสภา รวมถึงต้องปฏิบัติหน้าที่และใช้อำนาจด้วยความชื่อสัตย์ สุจริต เสียสละ เปิดเผยมีความรอบคอบและระมัดระวังในการดำเนินกิจการต่าง ๆ เพื่อประโยชน์สูงสุดของประเทศและประชาชนส่วนรวม รักษาวินัยในกิจการที่เกี่ยวกับเงินแผ่นดินตามกฎหมายว่าด้วยวินัยการเงินการคลังของรัฐอย่างเคร่งครัด ยึดถือและปฏิบัติตามหลักการบริหารกิจการบ้านเมืองที่ดี สร้างเสริมให้ทุกภาคส่วนในสังคมอยู่ร่วมกันอย่างเป็นธรรม ผาสุก และสามัคคีปรองดองกัน ด้วยเหตุที่คณะรัฐมนตรีใช้อำนาจบริหารราชการแผ่นดินตามที่รัฐธรรมนูญมอบให้ซึ่งถือเป็นองค์กรที่ใช้อำนาจอธิบไตยทางหนึ่ง การกำหนดที่มา คุณสมบัติและลักษณะต้องห้ามของบุคคลที่ได้รับการแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรี รวมถึงเหตุแห่งการสิ้นสุดของตำแหน่งรัฐมนตรีไว้ในรัฐธรรมนูญนั้นจึงเป็นข้อสำคัญ เพื่อเป็นหลักประกันว่าจะได้บุคคลที่มีคุณสมบัติและไม่มีลักษณะต้องห้ามก่อนที่จะเข้าสู่ตำแหน่งและคงสถานะนั้นไว้ในขณะดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรี

ข้อที่ผู้ร้องกล่าวอ้างว่า การที่ผู้ถูกร้องที่ ๑ นายกรัฐมนตรีได้นำความกราบบังคมทูล เพื่อโปรดเกล้าฯแต่งตั้งผู้ถูกร้องที่ ๒ ให้ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี โดยรู้อยู่แล้วว่าผู้ถูกร้องที่ ๒ขาดคุณสมบัติหรือมีลักษณะต้องห้าม เนื่องจากผู้ถูกร้องที่ ๒ เคยต้องโทษตามคำสั่งศาลฎีกาให้จำคุกเป็นเวลา๖ เดือน ฐานละเมิดอำนาจศาล การดังกล่าวทำให้ผู้ถูกร้องที่ ๒ เป็นบุคคลที่ไม่มีความชื่อสัตย์สุจริตและมีพฤติกรรมอันเป็นการฝ้าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานทางจริยธรรมอย่างร้ายแรงตามรัฐธธรรมนูญมาตรา ๑๖๐ (๔) และ (๕) กรณีจึงเป็นเหตุให้ความเป็นรัฐมนตรีของผู้ถูกร้องที่ ๑ นายกรัฐมนตรีสิ้นสุดลงเฉพาะตัวตามรัฐธรรมนูญ มาตรา ๑๗๐ วรรคหนึ่ง (๔) ประกอบมาตรา ๑๖๐ (๔)และ (๕)

เห็นว่า รัฐธรรมนูญ มาตรา ๑๖๐ ได้บัญญัติคุณสมบัติและลักษณะต้องห้ามรัฐมนตรีไว้โดยบัญญัติว่า "รัฐมนตรีต้อง ... (๔) มีความซื่อสัตย์สุจริตเป็นที่ประจักษ์ (๕) ไม่มีพฤติกรรมอัมอันเป็นการฝ้าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานทางจริยธรรมอย่างร้ายแรง ..." กรณีตามคำร้องการพิจารณาว่าบุคคลใดมีคุณสมบัติหรือลักษณะต้องห้ามในการได้รับการแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีหรือไม่นั้นต้องพิจารณาถึงคุณสมบัติหรือไม่มีลักษณะต้องห้ามตามมาตรา ๑๖๐ (๔) และ (๕) เป็นสำคัญ และแม้ว่าผู้นั้นจะดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีอยู่ก็ตาม รัฐมนตรีผู้นั้นย่อมต้องคงสถานะของตนให้มีคุณสมบัติหรือไม่มีลักษณะต้องห้ามตามมาตรา ๑๖๐ (๔) และ (๕) อยู่ตลอดขณะดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีด้วยโดยหากเกิดกรณีที่ไม่เป็นไปตามมาตรา ๑๖๐ (๔) และ (๕) เสียแล้ว จะส่งผลให้ความเป็นรัฐมนตรีของผู้นั้นสิ้นสุดลงเฉพาะตัวตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา ๑๗๐ โดยวรรคหนึ่ง บัญญัติว่า "ความเป็นรัฐมนตรีสิ้นสุดลงเฉพาะตัว เมื่อ ... (๔) ขาดคุณสมบัติหรือมีลักษณะต้องห้ามตามมาตรา ๑๖๐ ..." เนื่องด้วยรัฐธรรมนูญมีความมุ่งหมายที่จะให้รัฐมนตรีเป็นบุคคลที่มีความซื่อสัตย์สุจริตเป็นที่ประจักษ์ในที่นี้คงต้องหมายถึงความชื่อสัตย์สุจริตที่รับรู้เป็นการทั่วไปว่ารัฐมนตรีผู้นั้นมิได้มีมลทินมัวหมองที่ทำให้ประชาชนทั่วไปเกิดความเคลือบแคลงสงสัย รวมไปถึงต้องเป็นบุคคลที่ไม่มีพฤติกรรมอันเป็นการฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานทางจริยธรรมอย่างร้ายแรงที่อาจจะส่งผลกระทบต่อการปฏิบัติหน้าที่รัฐมนตรีหรือใช้อำนาจหน้าที่ของตนโดยมิชอบอันอาจส่งผลเสียหายแก่รัฐหรือประโยชน์สาธารณะหรือแก่ประชาชนทั่วไป

เมื่อพิจารณาจากความมุ่งหมายของบทบัญญัติมาตรา ๑๖๐ (๔) และ (๕) ที่ให้บุคคลที่ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีต้องครองตนให้มีความชื่อสัตย์สุจริตเป็นที่ประจักษ์และไม่มีพฤติกรรมที่ฝ้าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานทางจริยธรรมอย่างร้ายแรงอยู่ตลอดระยะเวลาที่ดำรงตำแหน่ง ประกอบกับกับอำนาจหน้าที่ของนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีที่รัฐธรรมนูญบัญญัติให้มีหน้าที่ในการบริหารราชการแผ่นดินซึ่งประกอบไปด้วยส่วนราชการต่าง ๆ ตามหลักความรับผิดชอบร่วมกัน ในการดำเนินนโยบาย รวมถึงการใช้งบประมาณของแผ่นดินเพื่อบริหารจัดการกิจการของรัฐให้เกิดประโยชน์สูงสุดแก่ประชาชนในสังคมความชื่อสัตย์สุจริตเป็นที่ประจักษ์และไม่มีพฤติกรรมที่ฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานทางจริยธรรมอย่างร้ายแรงนั้นย่อมถือเป็นข้อปฏิบัติที่สำคัญอย่างยิ่งที่รัฐมนตรีต้องยึดถือปฏิบัติอย่างเคร่งครัด

ตำแหน่งนายกรัฐมนตรีในฐานะหัวหน้าฝ่ายบริหารและถือเป็นตำแหน่งสูงสุดในคณะรัฐมนตรีย่อมมีดุลยพินิจในการเลือกบุคคลที่จะเข้ามาดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีประจำกระทรวงให้มีจำนานวนครบถ้วนตามที่รัฐธรรมนูญกำหนดไว้ ซึ่งถือเป็นดุลยพินิจของนายกรัฐมนตรีในฐานะหัวหน้าฝ่ายบริหาร ที่จะตัดสินใจอย่างอิสระในการเลือกบุคคลที่มีความรู้ ความเชี่ยวชาญโดยตรงกับสายการปฏิบัติงานให้มีความเหมาะสมกับภารกิจของกระทรวงนั้น ๆ อันถือเป็นการตัดสินใจทางการเมืองร่วมกันกับพรรคการเมืองที่เข้ามาร่วมรัฐบาลภายใต้หลักความไว้วางใจระหว่างนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีที่มาจากพรรคการเมืองดังกล่าว เนื่องด้วยรัฐมนตรีแต่ละคนเมื่อประกอบกันเป็นคณะรัฐมนตรีแล้วต้องบริหารราชการแผ่นดินตามหลักความรับผิดชอบร่วมกัน หากไม่เปิดโอกาสให้นายกรัฐมนตรีได้มีดุลยพินิจในการเลือกรัฐมนตรีด้วยตนเองแล้ว อาจจะส่งผลกระทบต่อเสถียรภาพของรัฐบาลในการบริหารประเทศอย่างเป็นเอกภาพได้

การนี้จึงต่างจากกรณีการตรวจสอบความถูกต้องของคุณสมบัติและลักษณะต้องห้ามของบุคคลที่จะเข้ามาดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีตามที่กฎหมายกำหนดอันเป็นกระบวนการตรวจสอบทางกฎหมายซึ่งเป็นหลักเกณฑ์ทั่วไปที่กำหนดมาตรฐานของบุคคลที่จะได้รับการแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรี โดยกระบวนการตรวจสอบดังกล่าวนั้นย่อมสามารถถูกตรวจสอบได้โดยองค์กรอื่นหรือแม้กระทั่งการตรวจสอบโดยประชาชนโดยการยื่นคำร้องผ่านองค์กรที่มีอำนาจหน้าที่ตามที่กฎหมายกำหนด

สำหรับรายละเอียดเกี่ยวกับกระบวนการในการตรวจสอบคุณสมบัติและลักษณะต้องห้ามของบุคคลที่ได้รับการเสนอชื่อให้ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีนั้น เป็นกระบวนการปฏิบัติงานภายในของสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีหลังจากที่ได้รับมอบหมายจากนายกรัฐมนตรีให้ทำหน้าที่เป็นผู้ตรวจสอบคุณสมบัติและลักษณะต้องห้ามของบุคคลผู้ได้รับการเสนอชื่อให้ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีเพื่อใช้เป็นข้อมูลเบื้องต้นและยังเป็นหน่วยงานที่จัดทำเอกสารที่เกี่ยวข้องกับการแต่งตั้งรัฐมนตรีเพื่อดำเนินกระบวนการโปรดเกล้าฯแต่งตั้งรัฐมนตรี และการขอพระราชทานพระบรมราชวโรกาสนำคณะรัฐมนตรีเข้าเฝ้าทูลละอองธุลีพระบาทเพื่อถวายสัตย์ปฏิญาณก่อนเข้ารับหน้าที่ โดยกระบวนการในการตรวจสอบคุณสมบัติและลักษณะต้องห้ามของผู้ได้รับการเสนอชื่อนั้น จะดำเนินการตรวจสอบจากแบบแสดงประวัติและแบบแสดงคุณสมบัติและลักษณะต้องห้ามที่ผู้ได้รับการเสนอชื่อให้ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีเป็นผู้จัดทำเอกสารและรับรองตนเองว่าตนมีคุณสมบัติและไม่มีลักษณะต้องห้ามตามที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ หลังจากนั้นสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีจะประสานงานสอบถามไปยังหน่วยงานต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องรวมไปถึงหน่วยงานที่ครอบครองข้อมูลข่าวสารเพื่อตรวจสอบรายละเอียดประวัติของผู้ได้รับการเสนอชื่อต่อไป อาทิ ตรวจสอบการเป็นบุคคลล้มละลาย ตรวจสอบข้อมูลคดีแพ่งและคดีอาญา รวมถึงเชิญบุคคลดังกล่าวมาชี้แจงกรณีข้อเท็จจริงไม่ครบถ้วน

เมื่อข้อเท็จจริงปรากฏว่าสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีได้ดำเนินการตรวจสอบประวัติและตรวจสอบคุณสมบัติและลักษณะต้องห้ามผู้ถูกร้องที่ ๒ ตามขั้นตอนกระบวนการแล้วอย่างครบถ้วนก่อนที่เสนอชื่อบุคคลดังกล่าวเพื่อนำความกราบบังคมทูลขอพระราชทานพระมหากรุณาธิคุณเพื่อทรงแต่งตั้งรัฐมนตรี ประกอบกับแบบแสดงประวัติและแบบแสดงคุณสมบัติและลักษณะต้องห้ามที่ผู้ถูกร้องที่ ๒ เป็นผู้จัดทำข้อมูลและรับรองว่าตนเป็นผู้มีคุณสมบัติและไม่มีลักษณะต้องห้ามตามรัฐธรรมนูญบัญญัติไว้นั้นเป็นข้อเท็จจริงที่อยู่ในความรับรู้ของผู้ถูกร้องที่ ๒ เอง ซึ่งในกระบวนการจัดทำเอกสารข้อมูลแบบแสดงประวัติและแบบแสดงคุณสมบัติ รวมถึงกระบวนการในการตรวจสอบข้อมูลหรือสอบถามข้อมูลนั้นอาจเกิดข้อบกพร่องในการตรวจสอบคุณสมบัติและลักษณะต้องห้ามตามที่รัฐธรรมนูญกำหนดไว้ขึ้นได้โดยข้อเท็จจริงตามคำร้องนี้คงต้องถือว่าเป็นข้อบกพร่องที่ไม่ร้ายแรงถึงขนาดจะทำให้เห็นว่าผู้ถูกร้องที่ ๑ รู้หรือควรรู้อยู่แล้วว่าผู้ถูกร้องที่ ๒ ขาดคุณสมบัติหรือมีลักษณะต้องห้ามตามมาตรา ๑๖๐ (๔)และ (๕) แต่จงใจที่จะเสนอชื่อผู้ถูกร้องที่ ๒ ให้ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรี อันจะทำให้ผู้ถูกร้องที่ ๑ ไม่มีความซื่อสัตย์สุจริตเป็นที่ประจักษ์หรือมีพฤติกรรมอันเป็นการผ้าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานทางจริยธรรมอย่างร้ายแรงตามรัฐธรรมนูญ มาตรา ๑๖๐ (๔) และ (๕) แต่อย่างใด

กรณีการตีความปัญหาที่ว่าผู้ถูกร้องที่ ๒ มีคุณสมบัติและลักษณะต้องห้ามตามที่รัฐธรรมนูญมาตรา ๑๖๐ บัญญัติไว้ หรือไม่ รัฐธรรมนูญได้กำหนดให้เป็นอำนาจหน้าที่ของององค์กรอื่น อันได้แก่ศาลรัฐธรรมนูญตามรัฐธรรมนูญ มาตรา ๑๗๐ วรรคสาม ประกอบมาตรา ๘๒ หรือศาลฎีกาตามรัฐธรรมนูญ มาตรา ๒๓๔ วรรคหนึ่ง (๑) ประกอบมาตรา ๒๓๕ วรรคหนึ่ง (๑) แล้วแต่กรณีซึ่งไม่ใช่อำนาจหน้าที่โดยตรงของผู้ถูกร้องที่ ๑ ในฐานะนายกรัฐมนตรีแต่อย่างใด

ทั้งนี้ เมื่อยังไม่ปรากฏว่าศาลรัฐธรรมนูญหรือศาลฎีกาวินิจฉัยชี้ขาดว่าผู้ถูกร้องที่ ๒ เป็นบุคคลผู้ไม่มีคุณสมบัติหรือมีลักษณะต้องห้ามตามรัฐธรรมนูญ มาตรา ๑๖๐ (๔) และ (๕) กรณีที่จะถือว่าผู้ถูกร้องที่ ๒ ตกเป็นบุคคคลที่ต้องห้ามมีให้ได้รับการแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีนั้นย่อมก่อให้เกิดความไม่เป็นธรรรมต่อผู้ถูกร้องที่ ๒ และในการนี้จะถือว่าผู้ถูกร้องที่ ๑ รู้หรือควรรู้อยู่แล้วว่าผู้ถูกร้องที่ ๒ ขาดคุณสมบัติหรือมีลักษณะต้องห้ามตามมาตรา ๑๖๐ (๔) และ (๕) มิได้ เพราะเป็นเรื่องการใช้ดุลยพินิจหรือความเข้าใจแห่งตนพิจารณาประกอบข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นเป็นกรณีไป

ดังนั้น การที่ผู้ถูกร้องที่ ๑ นายกรัฐมนตรีได้นำความกราบบังคมทูล เพื่อโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งผู้ถูกร้องที่ ๒ ให้ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี โดยที่ผู้ถูกร้องที่ ๒ เคยต้องคำสั่งศาลฎีกาให้จำคุกเป็นเวลา ๖ เดือน ฐานละเมิดอำนาจศาล การดังกล่าวไม่ถือว่าผู้ถูกร้องที่ ๑ เป็นบุคคลไม่มีความชื่อสัตย์สุจริตหรือมีพฤติกรรมอันเป็นการฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานทางจริยธรรมอย่างร้ายแรงตามรัฐธรรมนูญ มาตรา ๑๖๐ (๔) และ (๕) แต่อย่างใด ดังนั้น ความเป็นรัฐมนตรีของผู้ถูกร้องที่ ๑ จึงไม่สิ้นสุดลงตามรัฐธรรมนูญ มาตรา ๑๗๐ วรรคหนึ่ง (๔) ประกอบมาตรา ๑๖๐ (๔) และ (๕)

อาศัยเหตุผลดังกล่าวข้างต้น จึงเห็นว่า ความเป็นรัฐมนตรีของผู้ถูกร้องที่ ๑ นายกรัฐมนตรีไม่สิ้นสุดลงเฉพาะตัวตามรัฐธรรมนูญ มาตรา ๑๙๐ วรรคหนึ่ง (๔) ประกอบมาตรา ๑๖๐ (๔) และ (๕) อ่านต้นฉบับ

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

คำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญ พรรคเพื่อไทยปากกล้าขาสั่น!

นายเทพไท เสนพงศ์ อดีตสส.นครศรีธรรมราช โพสต์เฟซบุ๊กเรื่อง "คำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญพรรคเพื่อไทย ปากกล้าขาสั่น" ระบุว่า กรณีนายธีรยุทธ สุวรรณเกษร ยื่นคำร้องขอศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยวิ

ละเอียดยิบ ‘ดร.ณัฏฐ์-นักกม.มหาชน’ ชี้คำร้อง 6 ประเด็นของ ‘ทนายธีรยุทธ’ วืดเป้า!

ดร.ณัฐวุฒิ วงศ์เนียม นักกฎหมายมหาชน กล่าวว่า ประเด็นที่ นายธีรยุทธ สุวรรณเกษร ยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญเพื่อ

'ไทยภักดี' ปลุก ปชช. หนุนเปิดโปง 6 ข้อหาร้ายแรง 'ทักษิณ-พท.'

ดร.กรรญดา ณ หนองคาย หัวหน้าพรรคไทยภักดี โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กว่า ถึงเวลาประชาชนลุกขึ้นปกป้องชาติจากภัยคุกคาม: เปิดโปง 6 ข้อกล่าวหาร้ายแรงต่อทักษิณและพรรคเพื่อไทย

'มือกม.เพื่อไทย' ไม่ให้ราคา 'ธีรยุทธ' ข้อหาเกินจริง ซัด 'พปชร.' อยู่เบื้องหลัง

'ชูศักดิ์​' ไม่ให้ค่า 'ธีร​ยุทธ​' ฟ้องข้อหาล้มล้างปกครอง ไกลกว่าเหตุไปมาก เนื้อหาคำร้องชี้ชัด พปชร. อยู่เบื้องหลัง พร้อมเป็นหัวหน้าทีมแจงศาล

พท. โต้กลับ! ลุยคุ้ยเส้นทางเงิน 'ธีรยุทธ' บี้ ปปช. สอบ 'บิ๊กป้อม' บินหรูอยู่สบาย

'พร้อมพงศ์' ร้อง ป.ป.ช. สอบ 'บิ๊กป้อม' ปมบินนอกหรูอยู่สบาย โวมีหลักฐานช็อกโลกแน่ จ่อโต้กลับ 'ธีรยุทธ' สอบเส้นทางการเงิน ขู่ 'ไพบูลย์' เตรียมหาพรรคใหม่ ลุยร้องต่ออีก 2 ซีรีส์

'วิสุทธิ์' ไม่ให้ค่าคำร้อง 'ทักษิณ-เพื่อไทย' ล้มล้างการปกครอง

'วิสุทธิ์' งง 'ทักษิณ' จะครอบงำ พท.-ล้มล้างการปกครองได้อย่างไร บอก 'รัฐบาล' ไม่ได้ให้ความสำคัญคำร้อง กังวลแต่ปัญหาประชาชน มองลือแบ่งเก้าอี้นายกฯ 2 ปี คนที่คิดได้ มีจินตนาการเกินมนุษย์