'ค้ามนุษย์' ร้อน! ย้อนวิสัยทัศน์ 'ธนาธร' เป็นรัฐบาลจะโอบรับ 'โรฮิงญา' ขับเคลื่อน ศก.-ปชต. ไทย

20 ก.พ.2565 - 'ค้ามนุษย์' กลับมาเป็นประเด็นร้อนอีกครั้ง หลังนายรังสิมันต์ โรม ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล อภิปรายในสภาฯ ระบุถึงกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐ รายงานสถานการณ์การค้ามนุษย์ประจำปี 2021 ลดระดับการค้ามนุษย์ของประเทศไทยลงไปในระดับกลุ่มที่เกือบแย่ที่สุด

และกรณีการค้ามนุษย์ยังเป็นเหตุให้ พล.ต.ต.ปวีณ พงศ์สิรินทร์ อดีตรองผู้บัญชาการตำรวจภูธรภาค 8 เป็น หัวหน้าชุดทำคดีโรฮิงญาในช่วงปี 2558 เปิดใจผ่าน พรรคก้าวไกล อ้างว่าถูกผู้มีอำนาจข่มขู่ คุกคาม จนต้องลาออกจากราชการและหนีออกนอกประเทศขอลี้ภัยในประเทศออสเตรเลีย

นายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ ประธานคณะก้าวหน้า เคยแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับ "โรฮิงญา" ไว้เมื่อเดือนเมษายนปี 2561 ก่อนก่อตั้ง "พรรคอนาคตใหม่" ในเดือนถัดมา โดยเผยแพร่ไว้ในเฟซบุ๊ก Thanathorn Juangroongruangkit -ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ มีเนื้อหาดังนี้

"ผู้ลี้ภัยทางการเมือง – สิทธิมนุษยชน – และไทยในเวทีโลก"

"ผมมีประสบการณ์ตรงเกี่ยวกับผู้ลี้ภัยทางการเมือง เมื่อเกือบ 20 ปีที่แล้ว ผมมีโอกาสเยี่ยมค่ายผู้อพยพชาวภูฏานที่ประเทศเนปาล ชาวภูฏานกลุ่มนี้มีชาติพันธุ์และความเชื่อที่ต่างจากคนส่วนใหญ่ของภูฏาน เมื่อความหลากหลายไม่ได้ถูกยอมรับในกระบวนการสร้างชาติ ผลที่เกิดขึ้นคือการทำลายความแตกต่างอย่างเป็นระบบ ทั้งด้วยกฏหมายและด้วยความรุนแรง ผู้อพยพชาวภูฏานในประเทศเนปาลที่ผมพบคือผลของกระบวนการเหล่านี้

ในค่ายผู้อพยพชาวภูฏานที่ผมมีโอกาสสัมผัส มีผู้อพยพอยู่หลายหมื่นคน ครอบครัวแต่ละครอบครัวได้รับปันส่วนพื้นที่เล็กน้อยให้สร้างเป็นเพิงพักจากไม้ไผ่ พื้นที่ไม่เกิน 20 ตารางเมตร เป็น “บ้าน” สำหรับครอบครัวครอบครัวหนึ่ง ซึ่งใช้พื้นที่นั้นเป็นทั้งห้องนอน, ห้องครัว, ห้องนั่งเล่น อาหารการกินไม่เคยพอและถูกหลักสุขอนามัย การศึกษาทำผ่านอาคารเรียนขนาดเล็กซึ่งอัตคัดทั้งครูและอุปกรณ์การเรียนการสอน และที่สำคัญ ผู้อพยพเหล่านั้นไม่เคยมีสิทธิและเสรีภาพ จำนวนน้อยมากในพวกเขาเหล่านั้น ได้รับอนุญาตให้ไปหางานทำนอกค่ายผู้อพยพได้ ส่วนใหญ่จึงอยู่ได้ด้วยการบรรเทาทุกข์ขององค์กรระหว่างประเทศ พวกเขาไม่มีอนาคต โอกาสเดินทางกลับบ้านเป็นศูนย์ ลูกๆ ของพวกเขาเติบโตในค่ายผู้อพยพ หมดโอกาสได้เข้าถึงการเรียนรู้, เห็นโลกกว้าง และมีโอกาสไล่ตามความฝันอย่างที่เด็กๆ ควรจะได้รับ

สถานการณ์ของชาวโรฮิงญามีลักษณะคล้ายกัน องค์กรระดับโลกหลายองค์กรได้ยืนยันถึงการเกิดขึ้นจริงของการฆ่าล้างเผ่าพันธ์ุที่เกิดขึ้นกับชาวโรฮิงญาโดยกองทัพเมียนมา การใช้ความรุนแรงต่อโรฮิงญามีลักษณะตั้งแต่ข่มขู่คุกคาม, จำกัดสิทธิเสรีภาพ ไปจนถึงการข่มขืนและการทำลายชีวิต

เมื่อตั้งพรรคการเมือง หลายคนถามผมว่า หากพรรคเราได้เป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาล ประเทศไทยจะอยู่ตรงไหนในเวทีโลก? คำตอบของผมคือเราต้องเป็นผู้นำในกลุ่มประเทศอาเซียนทั้งทางการเมืองและทางเศรษฐกิจ สร้างอาเซียนให้มีอำนาจต่อรองในเวทีโลกและเป็นต้นแบบการพัฒนาที่ยั่งยืน

ไทยสามารถเป็นส่วนหนึ่งของการสร้างประชาธิปไตยในอาเซียน เพื่อนำคนอีกหลายล้านคนที่ขาดเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น, สิทธิทางการเมือง, ที่ใช้ชีวิตอยู่อย่างหวาดกลัว และที่ตกอยู่ในวังวนแห่งความยากจน ให้มาสู่สังคมที่ดีกว่าได้หากผู้นำของประเทศกล้าที่จะทำ

เรามีทั้งศักยภาพและพลังทางเศรษฐกิจเพียงพอที่จะสร้างให้ไทยเป็นแรงบันดาลใจให้กับประเทศที่กำลังพัฒนาอื่นๆ เราสามารถนำประเทศในอาเซียนได้ถ้าเราหันกลับมายึดมั่นในระบอบประชาธิปไตยและหลักสิทธิมนุษยชนสากล เราสามารถแสดงให้ประเทศเพื่อนบ้านและประเทศกำลังพัฒนาอื่นๆ เห็นได้ว่าการพัฒนาประเทศด้วยประชาธิปไตยและการยอมรับในความหลากหลายเป็นไปได้และควรจะเป็น

การผลักไสผู้อพยพโรฮิงญาเป็นการหาทางออกที่ง่ายแต่ขัดต่อหลักมนุษยธรรม และเป็นการแก้ปัญหาที่ไม่ยั่งยืน การเผชิญหน้ากับปัญหาและกล้าที่จะพูดเรื่องที่อาจไม่เป็นที่นิยมแต่ถูกต้องตามหลักจริยธรรมทางการเมืองกับประชาชนเป็นเรื่องสำคัญ

ถ้าพรรคเรามีโอกาสเป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาล เราจะยื่นมือของคนไทยไปให้พวกเขา และจะมีส่วนร่วมในการแก้ไขปัญหาอย่างกระฉับกระเฉงด้วยการเปิดการพูดคุยกับรัฐบาลเมียนมาอย่างมียุทธศาสตร์ ใช้เวทีอาเซียนเป็นตัวกลางแก้ปัญหานี้ร่วมกัน เหมือนที่มาเลเซียและอินโดนีเซีย กำลังทำอยู่ และได้ช่วยรับผู้ลี้ภัยจำนวนหนึ่งไปแล้วด้วย โดยเฉพาะมาเลเซียที่อนุญาตให้ผู้ลี้ภัยโรฮิงญาทำงานได้ กลายเป็นฟันเฟืองขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ เลี้ยงตนเองและครอบครัว ไม่ใช่ภาระเรื้อรังของประเทศอื่นๆ อย่างที่หลายคนเข้าใจ

เราจะไม่ปล่อยให้พวกเขาล่องลอยอย่างเดียวดายในทะเล ถูกผลักไสอย่างไม่มีที่สิ้นสุด

เราจะทำให้คนไทยภูมิใจที่ได้มีโอกาสช่วยเหลือเพื่อนมนุษย์ในยามที่พวกเขาต้องการความช่วยเหลืออย่างที่สุด"

 

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

'รังสิมันต์'แนะ 3แนวทางแก้ปัญหาเมียนมา!

กมธ.ความมั่นคงเชิญหน่วยงานเกี่ยวข้องถกสถานการณ์เมียนมา 'โรม' ชี้ปัญหาในเมียนมาก็เป็นปัญหาของไทย เหตุคนหนีอพยพข้ามแดน ลั่นไทยอยู่ในฐานะที่น่าไว้วางใจที่สุด ควรเป็นตัวกลางในการเจรจา

'ชัยธวัช'ลุ้นศาลรัฐธรรมนูญขยายเวลาสู้คดียุบพรรคเพิ่มอีกรอบ!

'ชัยธวัช' ลุ้นศาล รธน.ขยายเวลาสู้คดียุบพรรค มองเป็นข้อกล่าวหาที่ร้ายแรงต้องหาพยาน-หลักฐาน สู้อย่างเต็มที่ เชื่อปรากฎการณ์งูเห่าน้อยกว่า 'อนาคตใหม่' เหตุสถานการณ์ต่างกัน

'ก้าวไกล' หนุนแก้กฎหมายสกัดรัฐประหาร ลั่นกองทัพต้องอยู่ใต้รัฐบาลพลเรือน

นายพริษฐ์ วัชรสินธุ สส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล กล่าวถึงกรณีที่นายสุทิน คลังแสง รมว.กลาโหม มีข้อเสนอให้สภากลาโหมเห็นชอบร่างแก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติ(พ.ร.บ.) จัดระเบียบราชการกระทรวงกลาโหม (ฉบับที่…)

'ทบ.' เปิดแผนรับมือ สถานการณ์สู้รบชายแดนไทย-เมียนมา

รายงานข่าวจากศูนย์ปฏิบัติการกองทัพบก เปิดเผยแนวทางการปฏิบัติในการรองรับสถานการณ์ความไม่สงบด้านเมียนมา กรณีการปะทะระหว่างทหารเมียนมากับกองกำลังชนกลุ่มน้อย

'ดร.อานนท์' ชงสูตรการเมืองทำลาย 'ก้าวไกล-ธนาธร' เชื่อยอมเจ็บเถิด จะได้จบ

ผศ.ดร.อานนท์ ศักดิ์วรวิชญ์ อาจารย์ประจำคณะสถิติประยุกต์ สถาบันบัณฑิตพัฒน บริหารศาสตร์ (NIDA) โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กระบุว่า