ออกพรรษาลาเหล้า ปลุก'ชุมชน'สู้-รู้ทันกลยุทธ์น้ำเมา

หลังจากวันที่ 1 พ.ย. ไทยเริ่มเปิดประเทศ  ศบค.ประกาศให้พื้นที่สีฟ้า 4 จังหวัด ได้แก่ กรุงเทพ กระบี่ พังงา ภูเก็ต เป็นพื้นที่นำร่องท่องเที่ยวสามารถขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ได้แล้ว โดยให้ลูกค้านั่งดื่มในร้านได้จนถึงเวลา 21.00 น. นอกจากนี้ ยังมีงานออกพรรษาที่จัดขึ้นในท้องถิ่นต่างๆ เสี่ยงต่อการรวมกลุ่มตั้งวงดื่มเหล้า หากประมาทการ์ดตกอาจเกิดคลัสเตอร์โควิดใหม่ได้  

เพื่อกระตุ้นให้คนไทยใช้ชีวิตอย่างระมัดระวังและเปลี่ยนพฤติกรรมลด ละ เลิก น้ำเมา สร้างสุขภาวะที่ดี  ส่วนคนที่งดเหล้าเข้าพรรษาได้แล้ว ให้ใช้โอกาสออกพรรษาลาขาดจากแอลกอฮออล์ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ร่วมกับเครือข่ายองค์กรงดเหล้า จัดเสวนาออนไลน์ “ออกพรรษาลาเหล้า..เข้าสู่ชีวิตใหม่”   เมื่อวานนี้ ซึ่งตลอดปี 2564 ที่ผ่านมา ขับเคลื่อนรณรงค์งดเหล้าเข้าพรรษาเข้มข้น ลุยสร้างชุมชนคนสู้เหล้าไม่หยุดใน 9 ภูมิภาค ด้วยโมเดล 3 ช. คือ ชวน ช่วย เชียร์  ผ่านนักรณรงค์ในพื้นที่ และสร้างความร่วมมือต่างๆ กับภาคีเครือข่าย

นายธีระ วัชรปราณี ผู้จัดการสำนักงานเครือข่ายองค์กรงดเหล้า (สคล.) กล่าวว่า เครือข่ายงดเหล้าและ สสส. ทำงานในพื้นที่ 2 กลุ่ม คือ กลุ่มสถานศึกษา และกลุ่มชุมชน ภายใต้แนวคิด “สื่อรักให้พักเหล้า” มีสถานศึกษาเข้าร่วมโครงการ 2,000 แห่ง   และในชุมชนกว่า 513 แห่ง เป็นระดับหมู่บ้าน ทำงานร่วมกับนายอำเภอ ผู้ว่าราชการจังหวัด หน่วยงานภาครัฐ องค์กรภาคธุรกิจ โรงงานอุตสาหกรรม  รัฐวิสาหกิจ เช่น  ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์ (ธ.ก.ส.) องค์การส่งเสริมกิจการโคนมแห่งประเทศไทยหรือ (อสค.) อย่างต่อเนื่อง

“ เข้าพรรษามีคนปฏิญญาณตนร่วมงดเหล้าครบ 3 เดือน จำนวน 16,651 คน ประหยัดเงินได้ 56 ล้านบาท ถ้าทำทั้งประเทศประหยัดได้ 3 หมื่นล้าน  เราอยากขยายแกนนำชมรมคนหัวใจเพชร คนหัวใจหิน คนหัวใจเหล็ก ให้มากขึ้น ผลลัพธ์มากกว่าจำนวนคน ตัวเงิน  แต่คือ ความสุขของครอบครัวและความปลอดภัยจากโควิด ในช่วงโรคระบาดยังปรับแผนนอกจากชวนงดเหล้าแล้ว สร้างความรู้ความเข้าใจโควิด รวมถึงวิธีเบื้องต้นในการดูแลผู้ป่วยโควิดที่กักตัวบ้าน  รวมทั้งส่งเสริมอาชีพ ทำเกษตรให้พึ่งพาตนเองได้  ส่วนผลสำรวจความสำเร็จภาพรวมระดับประเทศโครงการงดเหล้าเข้าพรรษา ปี 64 จากศูนย์วิจัยปัญหาสุรา (ศวส.) กำลังรวบรวมข้อมูลและสรุปสถิติ คาดว่า เดือน ก.พ.ปีหน้า จะแล้วเสร็จ เข้าพรรษาเปลี่ยนแปลงชีวิตของคน ออกพรรษาแล้วจะมาลาเหล้าเข้าสู่ชีวิตใหม่กัน “ นายธีระให้ภาพชัดเจน

ด้าน นายวิเชษฐ์ พิชัยรัตน์ กรรมการกำกับทิศทางแผนงานรณรงค์เพื่อควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ สสส. กล่าวว่า สถานการณ์โควิด-19 สังคมต้องปรับการดำเนินชีวิตรูปแบบใหม่ สสส. เปิดกว้างและส่งเสริมความเข้มแข็งของชุมชนให้เป็นพื้นที่ปฏิบัติการ  เน้นพัฒนาศักยภาพชุมชน และขยายผลการทำงานลดปัจจัยเสี่ยงจากเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ผ่านโครงการ “ชุมชนคนสู้เหล้า” จนเกิดเป็นรูปธรรม ต่อยอดเป็นกลุ่มชมรมคนหัวใจเพชรที่เลิกดื่มเหล้าสำเร็จมาช่วยรณรงค์ต่อในชุมชนได้ ในสถานการณ์โควิดชุมชนปลอดเหล้ามีส่วนแบ่งเบาภาระบุคลากรทางการแพทย์ เพราะไม่มีความเสี่ยงติดเชื้อจากการตั้งวงดื่มหรือดื่มแก้วเดียวกัน ขณะที่ธุรกิจแอลกอฮอล์ก็ปรับตัว ยอดขายแต่ละค่ายยังดี ช่วงที่มีมาตรการห้ามดื่มในร้าน ผับ บาร์ ธุรกิจหันไปเจาะลูกค้าผ่านระบบออนไลน์ ดื่มที่บ้าน

“ ธุรกิจน้ำเมากลยุทธ์เน้นร้านค้าปลีกในหมู่บ้านและท้องถิ่น รวมถึงนำเทคโนโลยีดิจิทัลเพิ่มประสิทธิภาพการขาย แต่รัฐออกกฎห้ามค้าขายแอลกอฮอล์ผ่านออนไลน์ ปรับตัวขยายเครื่องดื่มสุขภาพมากขึ้น ซึ่งตอกย้ำแบรนด์สินค้าได้ดี ทั้งยังเสริมความแข็งแกร่งทีมงานพร้อมรับ New Normal และ Next Normal ฉะนั้น เครือข่ายงดเหล้าและชุมชนต้องถอดบทเรียน เพิ่มความเข้มแข็ง และรู้เท่าทันกลยุทธ์ เพื่อเกิดประโยชน์กับการทำงานในพื้นที่    ทำให้ผู้ที่ร่วมโครงการงดเหล้าเข้าพรรษามากขึ้น  ชุมชนปลอดเหล้าเพิ่มขึ้น และดึงร้านค้าชุมชนร่วมขับเคลื่อน อีกทั้งจำเป็นต้องเพิ่มเทคโนโลยีดิจิทัลในการทำงานรณรงค์มากขึ้นกับแกนนำในทำงานชุมชนสู้เหล้า เพื่อให้การทำงานตลอดปีเข้มแข็งยิ่งขึ้น   “ กรรมการกำกับทิศทางฯ แนะแนวทางสู้ศึกธุรกิจแอลกอฮอล์  

เวทีออนไลน์ครั้งนี้ชวน”คนหัวใจหิน”แชร์ประสบการณ์เลิกเหล้าเด็ดขาดตลอด 3 เดือนที่ผ่านมา หลังออกพรรษาแล้วเขาและเธอยังไม่ขอข้องเกี่ยวกับแอลกอฮอล์ เพราะเข้าใจแล้ว ยิ่งดื่มยิ่งจน ยิ่งดื่มสุขภาพยิ่งทรุดโทรม ชีวิตมืดมนไร้หนทางถ้าหลงในวังวนเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ 

นายผจญ แก้วเพชร วัย  45 ปี เครือข่ายนักบิดจิตอาสา จ.สงขลา เล่าว่า ดื่มครั้งแรกอายุ 16 ปี เพราะอยากได้รับการยอมรับจากรุ่นพี่ แต่กลับเกิดผลเสียในครอบครัวมากกว่า พ่อก็เสียชีวิตเพราะเมาสุรา ต้องเสียเพื่อนเพราะเมาเหล้า เกือบ 30 ปีที่เมาหัวราน้ำ แต่รอดชีวิตมาได้ มองย้อนกลับไปใช้ชีวิตอย่างประมาท ตัดสินใจหยุดดื่มตั้งแต่มีโควิดระบาด และทำสิ่งที่เกิดประโยชน์กับตัวเอง   ตนใช้เวลาว่างขับขี่มอเตอร์ไซค์ท่องเที่ยว และมีโอกาสรู้จักกับเครือข่ายองค์กรงดเหล้าภาคใต้ตอนล่าง และ สสส. เรียนรู้โครงการงดเหล้าเข้าพรรษา รับรู้กรณีเหยื่อเมาแล้วขับ   ตนไม่อยากมีส่วนในการทำลายอนาคตของใคร จากหยุดตั้งเป้าจะเลิกเหล้าให้ได้  เพราะนอกจากสุขภาพดี ยังมีเงินเหลือใช้จ่ายในครอบครัว

ด้านนางสาวศิริลักษณ์ ภูลิ้นลาย ชาวกาฬสินธุ์ วัย 34 ปี อดีตสาวนักดื่มเข้าสังคม ตัดสินใจหันหลังให้ขวดเหล้าแม้ดื่มมา 20 ปีแล้ว บอกว่า  สุขภาพร่างกายได้รับผลกระทบจากการดื่ม   ครอบครัวไม่มีความสุข  เงินก็ไม่มี ทะเลาะกันบ่อย เพราะสามีดื่มเหล้าเหมือนกันแต่คนละวง ลูกก็ขอให้พ่อแม่เลิก  สามีเลิกเหล้าก่อนและชวนให้ตนเลิกก็ตัดสินใจใช้โอกาสช่วงงดเหล้าเข้าพรรษาเข้าร่วมกับเครือข่ายองค์กรงดเหล้า จะมีคนมาเยี่ยม ให้กำลังใจ ให้เมล็ดพันธุ์ผักมาให้ปลูกเพื่อสร้างกิจกรรมในครอบครัวช่วงเข้าพรรษา  ชีวิตหลังงดดื่มเหล้าเปลี่ยนแปลงดีขึ้น ไม่เจ็บป่วย เงินพอใช้ แทนที่จะไปซื้อเหล้าก็เก็บไว้ให้ลูก  ลูกภูมิใจที่แม่เลิกเหล้าได้ สำหรับนักดื่มอยากให้คิดถึงสุขภาพและ คิดย้อนไปเงินค่าเหล้าก็เป็นค่าบ้าน ค่าเล่าเรียนได้

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

เครื่องฆ่าเชื้อโรค-กลิ่นอับหมวกกันน็อก นวัตกรรมสุขภาพขับเคลื่อนสู่การใช้จริง

เครื่องฆ่าเชื้อโรคในหมวกนิรภัยเสริมสร้างสุขภาวะของผู้ขับขี่จักรยานยนต์และผู้โดยสาร ของทีมเยาวชนจากวิทยาลัยการอาชีพนวมินทราชูทิศ

สสส.ร่วมกับภาคีเครือข่าย จัดกิจกรรม ‘พัก กะ Park’ เปลี่ยนสวนสาธารณะให้เป็นพื้นที่สุขภาวะ

กองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ร่วมกับ กรุงเทพมหานคร (กทม.), กลุ่ม we!park และภาคีเครือข่ายพัฒนาเมืองสุขภาวะและชุมชนสุขภาวะ (Healthy Space Alliance)

ส่องสุขภาพ'มอเตอร์ไซด์รับจ้าง'ใน กทม.

“มอเตอร์ไซด์รับจ้าง” เป็นอาชีพที่ใกล้ชิดกับชาวกรุงเทพฯ ทั้งรับส่งผู้โดยสารและเอกสาร ผลจากปัญหาจราจรและความเร่งรีบในการเดินทางของคนเมือง  แม้จะเป็นอาชีพที่เสี่ยงอันตรายบนท้องถนนกรุงเทพฯ แต่พวกเขาก็ไม่บอกลางานอิสระนี้ เพราะประกอบอาชีพได้ง่าย

สสส. สานพลังเทศบาลเมืองน่าน UDC ม.แม้โจ้ หนุน 'จ.น่าน' เป็นจังหวัดแรก ส่งเสริมสุขภาพผู้สูงอายุ ภายใต้นโยบาย 'เมืองสุขภาพดี' หรือ blue zone ของกระทรวงสาธารณสุข ชู 'ชุมชนน้ำล้อม เทศบาลเมืองน่าน' ต้นแบบเมืองที่เป็นมิตรเพื่อผู้สูงอายุและทุกคน จัดทีมช่างชุมชนออกแบบ ปรับปรุงบ้านคนสูงอายุ คนพิการ ที่อยู่เพียงลำพัง

นพ.พงศ์เทพ วงศ์วัชรไพบูลย์ผู้จัดการกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) พร้อมด้วยนางภรณี ภู่ประเสริฐ ผู้ช่วยผู้จัดการกองทุน สสส. และรักษาการผู้อำนวยการสำนักสนับสนุนสุขภาวะประชากรกลุ่มเฉพาะ และผศ.ดร.วุฒิกานต์ ปุระพรหม หัวหน้าศูนย์ออกแบบสภาพแวดล้อมเพื่อทุกคน (UDC) มหาวิทยาลัยแม่โจ้ ลงพื้นที่แลกเปลี่ยนเรียนรู้การออกแบบและปรับปรุงบ้านพักของผู้สูงอายุตามแนวคิดการออกแบบเพื่อทุกคน ในพื้นที่ที่เป็นมิตรกับผู้สูงอายุและทุกคน

'หมอชลน่าน' ยกระดับน่าน Kick off เมืองท่องเที่ยวเชิงสุขภาพเพื่อคนทั้งมวล ด้าน สสส. เดินหน้าผลักดัน 'น่านโมเดล' 1 ใน 10 เมืองต้นแบบสุขภาพ ที่มีอารยสถาปัตย์ สภาพแวดล้อมและสิ่งอำนวยความสะดวก รองรับ ผู้สูงวัย คนพิการ ตามแนวคิด Universal Design : UD

นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เป็นประธานเปิดงาน ทัวร์อารยสถาปัตย์ แหล่งท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมจังหวัดน่าน “เปิดเมืองอารยสถาปัตย์ เมืองท่องเที่ยวเชิงสุขภาพเพื่อคนทั้งมวล จังหวัดน่าน” พร้อมด้วย นพ.พงศ์เทพ วงศ์วัชรไพบูลย์ ผู้จัดการกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) นายกฤษณะ ละไล ประธานมูลนิธิอารยสถาปัตย์เพื่อคนทั้งมวล