'สหเวชศาสตร์ มธ.' รุกสร้างสุขภาพประชาชน

คณบดีคณะสหเวชศาสตร์ มธ. ตอกย้ำความสำคัญการดูแลสุขภาพในชุมชน ลดการพึ่งพิงสถานพยาบาล ชู “ศูนย์บริการสุขภาพคณะสหเวชศาสตร์” พื้นที่บูรณาการศาสตร์เทคนิคการแพทย์-กายภาพบำบัด-วิทยาศาสตร์การกีฬา-รังสีเทคนิค ให้บริการสร้างเสริมสุขภาพ-ป้องกันโรคแก่คนในชุมชน พร้อมเป็นพื้นที่ฝึกฝนนักศึกษาเรียนรู้การทำงานแบบสหสาขาวิชาชีพ ควบคู่การทำงานเพื่อประชาชน

24 พ.ย.2565 - รศ.ดร.ไพลวรรณ สัทธานนท์ คณบดีคณะสหเวชศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (มธ.) เปิดเผยว่า ปัญหาการกระจายบุคลากรและจำนวนบุคลากรด้านสาธารณสุขที่ไม่สอดคล้องกับปริมาณความต้องการทางสุขภาพ ทำให้เป็นเรื่องยากหากจะพึ่งพาสถานพยาบาลเพียงอย่างเดียว ฉะนั้นการดูแลรักษาที่บ้านหรือในชุมชนจึงเป็นสิ่งที่ดีและเป็นทางออกของประเทศ ซึ่งแน่นอนว่าการ “สร้างนำซ่อม” หรือการดูแลประชาชนเพื่อไม่ให้เจ็บป่วยจะมีต้นทุนที่ต่ำกว่าการตามไปรักษาเมื่อเกิดความเจ็บป่วยแล้ว และถือเป็นหัวใจสำคัญของการสร้างความมั่นคงทางสุขภาพของประชาชน ซึ่งจะนำไปสู่การสร้างความมั่งคั่งให้ประเทศ

รศ.ดร.ไพลวรรณ กล่าวว่า ประเทศไทยมีอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) ซึ่งถือเป็นโมเดลที่ดีในการทำงานด้านสุขภาพด้วยความใกล้ชิดกับประชาชน มีความเข้าใจบริบทชุมชน บนพื้นฐานของการทำงานแบบจิตสาธารณะ ซึ่งหลักการนี้เองสอดคล้องกับปณิธานของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และคณะสหเวชเวชศาสตร์ที่มุ่งหวังที่จะผลิตบัณฑิตออกไปดูแลประชาชน ผ่านการเรียนการสอนหลากหลายสาขาวิชาชีพด้านวิทยาศาสตร์สุขภาพ เช่น เทคนิคการแพทย์ กายภาพบําบัด วิทยาศาสตร์การกีฬา และรังสีเทคนิค

“สหวิชาชีพด้านวิทยาศาสตร์สุขภาพ” จะมีส่วนสำคัญในการดูแลสุขภาพของประชาชนในระดับชุมชนทุกช่วงวัยให้มีสุขภาพที่ดี โดยเฉพาะการสร้างเสริมสุขภาพและป้องกันโรค (P&P) รวมถึงการฟื้นฟูสมรรถภาพของร่างกาย ซึ่งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์สนับสนุนให้บุคลากรและนักศึกษาได้มีส่วนลงไปปฏิบัติงานในสายวิชาชีพของตนเพื่อร่วมดูแลคนในชุมชน ในแต่ละหลักสูตรของคณะฯ ของเรา มีข้อกำหนดให้นักศึกษามีการฝึกปฏิบัติทางวิชาชีพ มีการส่งนักศึกษาฝึกปฏิบัติงานในโรงพยาบาล ทุกระดับทั้งขนาดขนาดใหญ่ และเล็กระดับชุมชน ” รศ.ดร.ไพลวรรณ กล่าว

นอกจากนี้แล้ว ทางคณะฯ ยังได้มี “ศูนย์บริการสุขภาพคณะสหเวชศาสตร์ มธ.” ซึ่งเปิดให้บริการประชาชนทั่วไปมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2557 โดยดำเนินการใน 3 หน่วยย่อย คือ 1. หน่วยวิจัยและบริการทางเทคนิคการแพทย์ 2. หน่วยกายภาพบำบัดและธาราบำบัด 3. หน่วยวิทยาศาสตร์การกีฬาและการฟื้นฟูทางการกีฬา ทั้งหมดนี้ครอบคลุมและสนับสนุนการเรียนการสอนทุกหลักสูตร ซึ่งศูนย์บริการสุขภาพฯ แห่งนี้นับเป็นอีกหนึ่งโอกาสสำคัญของการพัฒนาศักยภาพ เพื่อให้นักศึกษาและบุคลากรได้เข้ามาร่วมดูแลสุขภาพให้กับคนในชุมชนท้องถิ่นได้เป็นอย่างดี

ด้าน ผศ.ผุสดี โตบันลือภพ ผู้อำนวยการศูนย์บริการสุขภาพคณะสหเวชศาสตร์ กล่าวว่า โดยพื้นฐานการให้บริการของศูนย์บริการสุขภาพฯ จะแบ่งการดำเนินงานเป็น 2 ส่วน คือส่วนที่เป็น “Business Unit” ซึ่งจัดหารายได้จากค่าบริการเข้ามาเป็นงบประมาณสนับสนุนการดำเนินงานของทางคณะฯ เพื่อให้คณะฯ สามารถพึ่งพาตนเองได้ โดยมีทั้งการเปิดให้บริการประชาชนทั่วไปในลักษณะวอล์คอินที่ศูนย์บริการสุขภาพฯ รวมไปถึงการให้บริการออกหน่วยตรวจในลักษณะ Mobile Unit ให้กับทางสถานประกอบการทั้งเอกชนและภาครัฐ

ในขณะที่อีกส่วนคือ “Corporate Social Responsibility” หรือ CSR ที่เป็นส่วนบริการแบบไม่หวังรายได้ จุดประสงค์เพื่อช่วยเหลือชุมชนและสังคม โดยที่ผ่านมาได้มีการลงนามความร่วมมือกับหน่วยงานท้องถิ่น เทศบาลต่าง ๆ บริเวณโดยรอบมหาวิทยาลัย เพื่อเข้าไปให้บริการออกหน่วยตรวจแก่คนในชุมชน รวมถึงการเข้าไปให้ความรู้ คำปรึกษา และข้อแนะนำต่าง ๆ ในการดูแลส่งเสริมสุขภาพ ป้องกันโรค ที่ช่วยตอบโจทย์ความต้องการและแก้ไขปัญหาให้กับคนในชุมชน

ผศ.ผุสดี กล่าวว่า สำหรับศักยภาพในแต่ละหน่วยของศูนย์บริการสุขภาพฯ ประกอบด้วย หน่วยวิจัยและบริการทางเทคนิคการแพทย์ สามารถให้บริการทั้งโปรแกรมการตรวจสุขภาพทั่วไป ไม่ว่าจะเป็น ตรวจสุขภาพประจำปี ผู้สูงอายุ หญิงตั้งครรภ์ โรคไม่ติดต่อเรื้อรัง คัดกรองมะเร็ง และในช่วงสถานการณ์โควิด-19 ที่ผ่านมา ทางหน่วยฯ ยังได้ทำการเปิดให้บริการตรวจวิเคราะห์ระดับโมเลกุลที่ใช้หลักการ Real time RT-PCR ที่จะช่วยในการวินิจฉัยได้ทั้งโรคโควิด-19 รวมทั้งสามารถรองรับโรคอุบัติใหม่ที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต

ในส่วนของ หน่วยกายภาพบำบัดและธาราบำบัด สามารถให้บริการกับผู้ที่ต้องการรักษา ฟื้นฟู และดูแลสุขภาพ ไม่ว่าจะเป็นระบบกระดูกและกล้ามเนื้อ ระบบประสาท ผู้ป่วยสมองพิการ รวมทั้งการฟื้นฟูสมรรถภาพของนักกีฬา ควบคู่กับการมีสระธาราบำบัด ที่ช่วยฟื้นฟูและรักษาทางกายภาพโดยใช้น้ำเป็นตัวช่วย นอกจากนี้ยังได้มีการโครงการพัฒนาทักษะวิชาชีพ ซึ่งเป็นโครงการฝึกอบรมระยะสั้น (Short Course) เพื่อให้ความรู้เกี่ยวกับศาสตร์กายภาพบำบัดผ่านช่องทางออนไลน์ ให้แก่ประชาชนทั่วไป

ขณะที่ หน่วยวิทยาศาสตร์การกีฬาและการฟื้นฟูทางการกีฬา จะให้บริการทั้งฟิตเนส การทดสอบสมรรถภาพทางกาย การออกกำลังกายแบบกลุ่มเช่น โยคะ และการเต้นในรูปแบบต่าง ๆ พร้อมทั้งเครื่องมือวิเคราะห์การเคลื่อนไหวแบบ 3 มิติ ที่ช่วยวิเคราะห์การเคลื่อนไหวเพื่อพัฒนาทักษาทางกีฬาให้มีประสิทธิภาพ นอกจากนี้ล่าสุดยังได้มีการเพิ่มการให้บริการใหม่ของภาควิชารังสีเทคนิค ที่จะเข้ามาเสริมการให้บริการ เช่น การเอกซเรย์ปอด เพื่อตรวจสอบรอยโรคเกี่ยวกับปอด ช่วยตอบโจทย์ในโรคโควิด-19 ที่เท่าทันกับยุคปัจจุบัน

“ศูนย์บริการสุขภาพฯ ของคณะฯ มีนโยบายที่ชัดเจนที่ตอบโจทย์นโยบายของประเทศ ของมหาวิทยาลัย และของคณะฯ ในเรื่องของการสร้างเสริมสุขภาพและป้องกันโรค หรือ P&P ให้กับประชาชนอย่างมีคุณภาพและครบวงจร ภายใต้การทำงานที่เป็นทีม และบูรณาการ่วมกันของสหสาขาวิชาในคณะฯ ไม่ว่าจะเป็น เทคนิคการแพทย์ กายภาพบําบัด วิทยาศาสตร์การกีฬา รังสีเทคนิค นิติวิทยาศาสตร์ ฯลฯ ซึ่งศูนย์บริการสุขภาพฯ รวมถึงการให้บริการชุมชนในส่วนนี้ จะเป็นเวทีให้นักศึกษาได้มีส่วนร่วมในการดูแลสุขภาพของประชาชน เพิ่มคุณภาพชีวิตให้กับประชาชนในชุมชนได้อย่างยั่งยืน” ผศ.ผุสดี กล่าว

รศ.ดร.ไพลวรรณ สัทธานนท์
ผศ.ผุสดี โตบันลือภพ

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

'บ่อน้ำ' ในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ของอาจารย์ปริญญา

อาจารย์ปริญญา จบกฎหมายมหาชน จากเยอรมัน จึงน่าจะเป็นเหตุผล ที่ทำให้ อาจารย์ มักแสดงท่าทีไม่เห็นด้วยกับกฎหมายของประเทศไทย อยู่หลายๆครั้ง ทำเหมือนไม่รู้ว่า “เมื่อเป็นคนไทยทำผิด ก็

มธ.จัดงาน 'วันสัญญา ธรรมศักดิ์' เปิดวงเสวนายกเคส ชั้น 14 สะเทือนกระบวนการยุติธรรม

มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ จัด “งานวันสัญญา ธรรมศักดิ์ ประจำปี 2567” มอบรางวัลนักศึกษากฎหมาย-เรียนดี สืบสานปณิธานปูชนียบุคคลด้านนิติศาสตร์ พร้อมจัดวงเสวนา “กระบวนการยุติธรรม ขั้นตอนบังคับคดีอาญา” ยกเคสตัวอย่าง “คดีชั้น 14 รพ.ตำรวจ” บนขั้นตอนที่ผิดเพี้ยน สั่นคลอนความเชื่อมั่นต่อระบบยุติธรรม-กฎหมายไทย