ข่าวดี! ยาต้านโควิดตัวใหม่ ฉีดครั้งเดียวปราบได้ทุกสายพันธุ์

10 ก.พ. 2566 – ศูนย์จีโนมทางการแพทย์ คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล โพสต์ข้อมูลผ่านเฟซบุ๊กว่า ความหวังยาใหม่ในการรักษาโรคโควิด-19 ผลวิจัยทางคลินิกในสหรัฐพบ “ฉีด” เพียงครั้งเดียว ลดอาการเจ็บป่วยรุนแรงและเสียชีวิตจากการติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ทุกสายพันธุ์ลงได้อย่างมีนัยสำคัญ มีฤทธิ์ยับยั้งไวรัสในวงกว้าง (board spectrum) อาจใช้ต่อสู้กับโรคระบาดทางระบบทางเดินหายใจและระบบทางเดินอาหารอื่นๆ ในอนาคต

ผลงานวิจัยทางคลินิกของทีมวิจัยจากสหรัฐซึ่งรายงานในวารสาร “The New England Journal of Medicine” เมื่อวันที่ 9 ก.พ. 2566 สรุปได้ว่าผู้ป่วยติดเชื้อโควิดที่มีความเสี่ยงสูงที่จะแสดงอาการรุนแรง (ส่วนใหญ่ได้รับวัคซีนมาแล้ว) เมื่อได้รับการฉีด “เพกเลเต็ด อินเตอร์ฟีรอน แลมบ์ดา (pegylated interferon lambda)” เข้าใต้ผิวหนังเพียงครั้งเดียวพบ “มีความเสี่ยงน้อยกว่า” ในการเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลภายใน 28 วัน (หลังได้รับยา) เทียบกับกลุ่มผู้ที่ได้รับยาหลอก (placebo)

เพกเลเต็ด อินเตอร์ฟีรอน เป็นการผสมสารโพลิเอทิลีนไกลคอล (PEG) เข้าไปกับโมเลกุลของอินเตอร์ฟีรอน การเพิ่ม PEG เข้าไปจะช่วยทำให้สามารถปลดปล่อยอินเตอร์ฟีรอนจากบริเวณที่ฉีดเข้าสู่ร่างกายอย่างช้าๆ ได้

อาสาสมัครที่เข้าร่วมในโครงการได้รับการฉีดยา เพกเลเต็ด อินเตอร์ฟีรอน แลมบ์ดา หรือ PEG-แลมบ์ดา (PEG-lambda) ภายใน “หนึ่งสัปดาห์” หลังจากแสดงอาการของโควิด-19

ผู้ที่ได้รับ PEG-แลมบ์ดาแต่เนิ่นๆ คือภายในสามวันแรกของอาการ จะได้รับประโยชน์สูงสุด: พบว่าอาสาสมัครกลุ่มนี้มีความเสี่ยงลดลงที่ต้องเข้ารับการรักษาตัวในโรงพยาบาลในเดือนถัดไป 65% และในบรรดากลุ่มย่อยของอาสาสมัครกลุ่มนี้ที่ไม่ได้รับการฉีดวัคซีน พบความเสี่ยงของการรักษาตัวในโรงพยาบาลลดลงถึง 89% เมื่อเทียบกับยาหลอก (placebo)

ในกรณีของยาต้านไวรัสยาแพกซ์โลวิดช่วยลดความเสี่ยงในการเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลของผู้ที่ไม่ได้รับการฉีดวัคซีนได้ถึง 89% ตามการทดลองขั้นสุดท้ายที่ช่วยให้ยาตัวนี้ได้รับการอนุมัติการใช้เป็นกรณีฉุกเฉิน (EUA) จากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยาในสหรัฐ (FDA) อย่างไรก็ตาม ข้อแตกต่างที่สำคัญประการหนึ่งระหว่าง PEG-แลมบ์ดา และ แพกซ์โลวิด ก็คือ PEG-แลมบ์ดาจะเป็นการฉีดเพียงครั้งเดียว แต่แพกซ์โลวิด ถูกกำหนดให้ผู้ใช้รับประทานยาเม็ดครั้งละ 3 เม็ด 2 ครั้งต่อวันเป็นเวลา 5 วัน รวมทั้งหมด 30 เม็ด

ดังนั้นการให้ยา PEG-แลมบ์ดาจึงเป็นเรื่องง่ายสำหรับผู้ป่วยที่จะปฏิบัติตามได้ 100% (100% compliance) เพราะฉีดเพียงเข็มเดียว

ขณะที่ แพกซ์โลวิด มุ่งเป้าหมายไปที่การยับยั้งไวรัสโคโรนา 2019 แต่ PEG-แลมบ์ดาตามทางทฤษฎีจะเพิ่มการป้องกันปราการด่านแรกของระบบภูมิคุ้มกันต่อเชื้อโรคหลายชนิดแบบไม่จำเพาะ และยังไม่ปรากฎว่าไปกระตุ้นให้ไวรัสเกิดการกลายพันธุ์หรือดื้อยาเหมือนการใช้ยาต้านไวรัสทั่วไป

PEG-แลมบ์ดา ผ่านการพิสูจน์แล้วว่ามีประสิทธิภาพในการยับยั้งการเพิ่มจำนวนของไวรัสโคโรนา 2019 ทุกสายพันธุ์ รวมทั้งโอมิครอน ไม่ว่าโปรตีนหนามจะเปลี่ยนแปลงไปอย่างไรก็ตาม ซึ่งแตกต่างจากการฉีดวัคซีน และการฉีดโมโนโคลนอลแอนติบอดีเพื่อเสริมภูมิคุ้มกันสำเร็จรูป ซึ่งจะด้อยประสิทธิภาพลงเมื่อไวรัสมีการกลายพันธุ์ทำให้โปรตีนส่วนหนามเปลี่ยนไป

PEG-แลมบ์ดา เป็นโปรตีนสังเคราะห์เลียนแบบแลมบ์ดาอินเตอร์ฟีรอน ซึ่งเป็นโปรตีนที่ร่างกายมนุษย์สร้างขึ้นตามธรรมชาติหลั่งออกมาจากเซลล์เม็ดเลือดขาวเมื่อถูกไวรัสรุกราน โปรตีนอินเตอร์ฟีรอนจะเข้าขัดขวางการเพิ่มจำนวนของไวรัสได้แทบทุกชนิดที่รุกล้ำเข้ามาภายในเซลล์ นอกจากนี้โปรตีนอินเตอร์ฟีรอนยังส่งสัญญาณไปยังเซลล์ข้างเคียงว่าไวรัสได้บุกรุกร่างกาย กระตุ้นการตอบสนองทางภูมิคุ้มกันแบบลูกโซ่

อินเตอร์ฟีรอนเป็นยาต้านไวรัสตามธรรมชาติของมนุษย์ที่ยับยั้งการเพิ่มจำนวนของไวรัสในวงกว้าง (board spectrum) เป็นปราการด่านแรกของร่างกายป้องกันภัยคุกคามจากไวรัส โดยไม่คำนึงว่าไวรัสจะกลายพันธุ์ไปอย่างไรก็ตาม การวิจัย PEG-แลมบ์ดา เดิมมุ่งเน้นไปที่การรักษาไวรัสตับอักเสบเป็นหลัก แต่จากการทดลองในห้องปฏิบัติการพบว่ามีศักยภาพในการต่อต้านไวรัสโคโรนา 2019 ร่วมด้วย

อันเป็นที่มาของทดลองทางคลินิกครั้งนี้ ซึ่งอาศัยผู้ป่วยโรคโควิด-19 รายใหม่ เกือบ 2,000 คน ที่เข้ารับการรักษาในสถานพยาบาล 12 แห่งในบราซิล และอีก 5 แห่งในแคนาดา ระหว่างเดือนมิถุนายน พ.ศ. 2564 ถึงกุมภาพันธ์ พ.ศ. 2565

ผลลัพธ์เป็นที่น่าพอใจคือภายในเจ็ดวันหลังจากผู้ติดเชื้อเริ่มมีอาการ ผู้ป่วยจะได้รับการสุ่มให้ได้รับการฉีด PEG-แลมบ์ดา หรือยาหลอกเพียงครั้งเดียว พบว่าผู้ป่วยที่ได้รับ PEG-แลมบ์ดา น้อยกว่า 3% ที่ต้องเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาล เทียบกับเกือบ 6% ของผู้ที่ได้รับยาหลอก นั่นแสดงถึงความเสี่ยงในการเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลที่ลดลง 51% สำหรับผู้ที่ได้รับยา PEG-แลมบ์ดา

ผลลัพธ์ดียิ่งขึ้นไปเมื่อผู้ป่วยได้รับยา PEG-แลมบ์ดา ภายในสามวัน — คือพบผู้ที่ต้องเข้ารักษาตัวในโรงพยาบาลเหลือเพียง 1.9% เทียบกับ 3.1% ในกลุ่มยาหลอก อันหมายถึงสามารถลดความเสี่ยงลง 58%

จากการติดตามผลข้างเคียงจากการใช้ PEG-แลมบ์ดา พบว่ามีน้อยมาก ไม่สามารถแยกได้ว่าอาสาสมัครคนใดได้รับยา PEG-แลมบ์ดา และคนใดได้รับยาหลอก สรุปคือมี “ผลข้างเคียงไม่แตกต่างกัน”

“ความปลอดภัย” เป็นข้อกังวลเมื่อทำการใช้ “ยาอินเตอร์ฟีรอน” เนื่องจากเป็นที่ทราบกันดีว่าอินเตอร์ฟีรอนสามารถกระตุ้นให้เกิดการอักเสบทั่วร่างกาย (cytokine storm) ที่เป็นอันตรายอาจถึงเสียชีวิตได้

ตัวอย่างเช่น อินเตอร์ฟีรอนอัลฟา (alfa-interferon) ซึ่งถูกนำมาใช้ในการรักษาโรคไวรัสตับอักเสบซีและมะเร็ง พบว่าเป็นพิษต่อระบบอวัยวะต่างๆ เนื่องจาก อินเตอร์ฟีรอนอัลฟา สามารถเข้าจับกับเซลล์ได้หลากหลายชนิดในร่างกาย ต่างจาก PEG-แลมบ์ดา ที่จะเข้าจับกับเซลล์เฉพาะในระบบทางเดินหายใจและระบบทางเดินอาหารเท่านั้น ไม่ก่อให้เกิดปฏิกิริยาภูมิคุ้มกันเกินเลยในเนื้อเยื่อประเภทอื่น รวมทั้งเนื้อเยื่อของกล้ามเนื้อหรือเซลล์ภูมิคุ้มกัน

ผลการทดลองของโครงการนี้นอกจากสามารถยืนยันประสิทธิผลของยา PEG-แลมบ์ดา ในการต่อต้านโควิด-19 แล้วยังบ่งชี้ว่ายานี้ยังใช้ได้ผลกับไวรัสไข้หวัดใหญ่หรือ ไวรัส RSV (ไวรัสระบบทางเดินหายใจในระบบทางเดินหายใจหรือไม่) อีกด้วย

ขณะนี้ PEG-แลมบ์ดา ยังอยู่ในขั้นตอนการพิจารณาขององค์การอาหารและยาของสหรัฐ คาดว่าอีกไม่นานคงจะมีให้ใช้กันแพร่หลายในโรงพยาบาล

Early Treatment with Pegylated Interferon Lambda for Covid-19
https://www.nejm.org/doi/full/10.1056/NEJMoa2209760.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

โควิดสงกรานต์พุ่ง! ไทยติดเชื้อรอบสัปดาห์ 849 ราย

กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข รายงานสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 รายสัปดาห์ว่า ระหว่างวันที่ 7 - 13 เมษายน 2567 มีผู้ติดเชื้อรายใหม่ รักษาในโรงพยาบาล (รายสัปดาห์) 849 ราย

โควิดยังพุ่ง! ไทยติดเชื้อรอบสัปดาห์ 728 ราย ผู้สูงอายุดับ 2 คน

กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข รายงานสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 รายสัปดาห์ว่า ระหว่างวันที่ 24 - 30 มีนาคม 2567 มีผู้ติดเชื้อรายใหม่

โควิดพุ่ง! ไทยติดเชื้อใหม่รอบสัปดาห์ 630 ราย ดับเพิ่ม 5 คน

กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข รายงานสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 รายสัปดาห์ว่า ระหว่างวันที่ 17 - 23 มีนาคม 2567 มีผู้ติดเชื้อรายใหม่ รักษาในโรงพยาบาล (รายสัปดาห์) 630 ราย

ไทยติดโควิดใหม่รอบสัปดาห์ 501 ราย ดับเพิ่ม 4 คน

กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข รายงานสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 รายสัปดาห์ว่า ระหว่างวันที่ 10 - 16 มีนาคม 2567 มีผู้ติดเชื้อรายใหม่ รักษาในโรงพยาบาล (รายสัปดาห์) 501 ราย

ไทยติดโควิดใหม่รอบสัปดาห์ 446 ราย ดับเพิ่ม 3 คน

กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข รายงานสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 รายสัปดาห์ว่า ระหว่างวันที่ 2567 มีผู้ติดเชื้อรายใหม่ รักษาในโรงพยาบาล (รายสัปดาห์) 446 ราย