โควิดเปลี่ยน! ระบาดแบบ 'ซุปสายพันธุ์' WHO จับตาไวรัส 7 ตัว

17 ก.พ. 2566 – รศ.นพ.ธีระ วรธนารัตน์ อาจารย์คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กว่า เมื่อวานทั่วโลกติดเพิ่ม 87,384 คน ตายเพิ่ม 445 คน รวมแล้วติดไป 678,189,735 คน เสียชีวิตรวม 6,786,760 คน

5 อันดับแรกที่ติดเชื้อสูงสุดคือ ญี่ปุ่น ไต้หวัน รัสเซีย เกาหลีใต้ และออสเตรีย เมื่อวานนี้จำนวนติดเชื้อใหม่มีประเทศจากยุโรปและเอเชียครอง 8 ใน 10 อันดับแรก และ 17 ใน 20 อันดับแรกของโลก

จำนวนติดเชื้อใหม่ในแต่ละวันของทั่วโลกตอนนี้ มาจากทวีปเอเชียและยุโรป รวมกันคิดเป็นร้อยละ 93.17 ของทั้งโลก ในขณะที่จำนวนการเสียชีวิตคิดเป็นร้อยละ 86.96

…อัปเดตจาก WHO

องค์การอนามัยโลกเผยแพร่รายงาน WHO Weekly Epidemiological Update เมื่อ 15 กุมภาพันธ์ 2566 ในรอบเดือนที่ผ่านมานั้น Omicron ยังคงเป็นสายพันธ์ที่ครองการระบาดทั่วโลกถึง 99.8%

หากดูตามประเภทสายพันธุ์ย่อยที่มีรายงานในสัปดาห์ที่ผ่านมา จะพบว่า BA.5 ลดลงอย่างต่อเนื่อง เหลือราว 42.7% ในขณะที่ BA.2 พบราว 13% ส่วนสายพันธุ์ผสมแบบ recombinant นั้นมีสัดส่วนเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว สูงถึง 32.7% โดยหากเทียบกับช่วงสัปดาห์ท้ายของปลายปีก่อน จะเพิ่มขึ้นมากถึง 3 เท่า ทั้งนี้ในกลุ่มสายพันธุ์ผสมเหล่านั้น ตัวที่มีสัดส่วนสูงสุดคือ XBB.1.5 (26.1%)

ณ ตอนนี้ มีไวรัสโควิด-19 สายพันธุ์ย่อยที่ WHO ติดตามอย่างใกล้ชิดอยู่ 7 ตัว ได้แก่ BF.7, BQ.1* (รวม BQ.1.1), BA.2.75* (รวม BA.2.75.2), CH.1.1, XBB*, XBB.1.5, และตัวล่าสุดที่เพิ่มเข้ามาคือ XBF

XBF นั้นเป็นลูกผสมระหว่าง BA.5.2.3 กับ CJ.1 โดยมีการเปลี่ยนแปลงพันธุกรรมในตำแหน่งต่างๆ ที่มีข้อมูลว่าทำให้มีสมรรถนะในการแพร่ระบาดได้มากขึ้น และมีการสังเกตพบว่ามีการระบาดเร็วกว่าหลายสายพันธุ์ที่กำลังระบาดในพื้นที่ต่างๆ ทั่วโลก ปัจจุบัน XBF มีการแพร่ไปแล้วราว 46 ประเทศ

…ลักษณะการระบาดแบบซุปสายพันธุ์

ข้อมูลการระบาดในสหราชอาณาจักรนั้น (รูปที่ 1 และ 2: Credit from Justin E, France) หากทำเป็นภาพจะเห็นได้ชัดเจนว่า ลักษณะการระบาดในรอบ 6 เดือนที่ผ่านมานั้นแตกต่างจากในอดีต เพราะมีการติดเชื้อแบบหลากหลายสายพันธุ์ (variant soup) ในขณะที่สมัยก่อนจะมีสายพันธุ์ใดสายพันธุ์หนึ่งที่โดดเด่นครองการระบาดหลัก

ปรากฏการณ์ข้างต้นดูจะเป็นสัจธรรมที่เกิดขึ้น ยามที่เปิดเสรีการใช้ชีวิต มีการเคลื่อนย้ายของคนจากแต่ละประเทศไปยังประเทศต่างๆ มากมายในแต่ละวัน ผลกระทบที่จะเกิดขึ้นได้คือ ความยากลำบากในการรับมือ ทั้งเรื่องการวางแผนหยูกยาและวัคซีน รวมไปถึงหากมีการติดเชื้อแพร่เชื้อมากเพราะประชากรไม่ได้ป้องกันตัวอย่างเพียงพอ การกลายพันธุ์ย่อมมีโอกาสมากขึ้นเป็นเงาตามตัว และมีโอกาสที่จะเกิดตัวแปลกๆ ที่พัฒนาสมรรถนะแหวกแนว มีความรุนแรงของโรคมากขึ้นได้จนนำไปสู่การเจ็บป่วย เสียชีวิต รวมถึงผลกระทบระยะยาวอย่างภาวะ Long COVID ได้เช่นกัน ดังนั้นการป้องกันตัวอย่างสม่ำเสมอจึงยังมีความสำคัญยิ่ง

…การติดเชื้อในหญิงตั้งครรภ์ เกิดภาวะแทรกซ้อนทั้งต่อแม่และลูก

ทีมงานจาก Public Health Scotland รายงานผลการศึกษาใน SSRN (Preprints with the Lancet) เมื่อวันที่ 20 มกราคม 2566 ที่ผ่านมา ศึกษาในหญิงตั้งครรภ์ที่ติดเชื้อโรคโควิด-19 จำนวนถึง 4,074 คน เปรียบเทียบกับหญิงตั้งครรภ์ที่ไม่ติดเชื้อจำนวน 12,222 คน

พบว่า การติดเชื้อจะเพิ่มความเสี่ยงที่จะคลอดก่อนกำหนด 1.36 เท่า, เสี่ยงที่แม่จะต้องป่วยรุนแรงจนต้องเข้าไอซียู และเสียชีวิต 1.72 เท่า, เสี่ยงต่อลิ่มเลือดอุดตันในหลอดเลือดดำ 2.53 เท่า ผลการศึกษานี้ตอกย้ำให้เราเห็นผลกระทบของการติดเชื้อทั้งต่อแม่และลูก

…การป้องกันตัวไม่ให้ติดเชื้อ หรือไม่ติดเชื้อซ้ำ ย่อมดีที่สุด

ไม่ควรเชื่อคำลวงโลก ที่ทำให้รู้สึกลำพองว่าไวรัสอ่อน ติดไปก็ไม่รุนแรง หรือเคยติดมาแล้ว ตัวฉันจะมีภูมิต้านทานแข็งแกร่งไม่ต้องกลัวป่วยรุนแรงจากการติดซ้ำ

เพราะการติดเชื้อแต่ละครั้ง ล้วนทำให้เกิดความเสี่ยงทั้งสิ้น ดังที่เคยนำเสนอข้อมูลวิชาการที่พิสูจน์ให้เห็นชัดเจน รวมถึงประสิทธิภาพของภูมิคุ้มกันไม่ว่าจะจากวัคซีน หรือจากการติดเชื้อมาก่อน ก็จะลดลงตามเวลาที่ผ่านไป ดังนั้นพฤติกรรมป้องกันตัวระหว่างการใช้ชีวิตประจำวันจึงมีความสำคัญ

ลดละเลี่ยงพฤติกรรมเสี่ยง ปรับปรุงสภาพแวดล้อม ที่อยู่ ที่กินดื่ม ที่ทำงาน ที่เรียน ให้มีการระบายอากาศให้ดี ใส่หน้ากากอย่างถูกต้องสม่ำเสมอระหว่างตะลอนนอกบ้าน จะช่วยลดความเสี่ยงทั้งต่อโควิด-19 และ PM2.5 ด้วย

อ้างอิง Lindsay L et al. Baby and Maternal Outcomes Following SARS-CoV-2 Infection and COVID-19 Vaccination During Pregnancy: A National Population-Based Matched Cohort Study. SSRN. 20 January 2023.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

โควิดพุ่ง! ไทยติดเชื้อใหม่รอบสัปดาห์ 630 ราย ดับเพิ่ม 5 คน

กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข รายงานสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 รายสัปดาห์ว่า ระหว่างวันที่ 17 - 23 มีนาคม 2567 มีผู้ติดเชื้อรายใหม่ รักษาในโรงพยาบาล (รายสัปดาห์) 630 ราย

ไทยติดโควิดใหม่รอบสัปดาห์ 501 ราย ดับเพิ่ม 4 คน

กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข รายงานสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 รายสัปดาห์ว่า ระหว่างวันที่ 10 - 16 มีนาคม 2567 มีผู้ติดเชื้อรายใหม่ รักษาในโรงพยาบาล (รายสัปดาห์) 501 ราย

ไทยติดโควิดใหม่รอบสัปดาห์ 446 ราย ดับเพิ่ม 3 คน

กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข รายงานสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 รายสัปดาห์ว่า ระหว่างวันที่ 2567 มีผู้ติดเชื้อรายใหม่ รักษาในโรงพยาบาล (รายสัปดาห์) 446 ราย

ปรบมือรัวๆ ‘หมอธีระ’ วิเคราะห์การระบาด ‘โควิด’ ชี้ตอนนี้ไทยเป็นขาลง

อาจารย์หมอจุฬาฯ ชี้ตอนนี้ไทยเป็นขาลง แต่ขอให้ตระหนักว่าการติดเชื้อในระหว่างใช้ชีวิตประจำวันยังมีกันอยู่ต่อเนื่อง การเจ็บป่วยไม่ใช่เรื่องที่น่าพิสมัย ไม่ประมาท