ไม่ไกลเกินเอื้อม! พิชิต 'สมองเสื่อม' ด้วย 'ยาแก้ไอ'

18 ก.ย. 2566 – ศ.นพ.ธีระวัฒน์ เหมะจุฑา หัวหน้าศูนย์วิทยาศาสตร์สุขภาพโรคอุบัติใหม่ คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กว่า พิชิตสมองเสื่อมด้วยยาแก้ไอ

พูดไปแล้ว เป็นเรื่องจริงไม่ใช่เรื่องโกหก อิงนิยาย แต่เกิดขึ้นแล้ว และถือว่าเป็นข่าวดีในปี 2023 นี้ และที่หมอจะนำมาเรียนให้ทราบในอันดับต่อๆ ไป ก็จะมีข่าวดีอีกหลายเรื่อง ในการพิชิตสมองเสื่อม

ทั้งนี้ โดยที่ต้องรู้เร็วตั้งแต่ต้น แม้ตั้งแต่ยังไม่มีอาการ หรือมีอาการเพียงน้อยนิด ก็สามารถป้องกัน ชะลอ และรักษาให้ย้อนกลับมาเป็นปกติหรือเกือบปกติได้

สมองเสื่อมที่ว่านี้เกิดจากโปรตีนพิษบิดเกลียว (misfolded protein) ที่มีชื่อต่างๆ นานา และทำให้เกิดโรคที่เรารู้จักกันดี ตั้งแต่โรคพาร์กินสัน อัลไซเมอร์ และสมองเสื่อม ที่มีชื่อหรือที่หมอเรียกว่ายี่ห้ออื่นอีกมากมายหลายชนิด

ปัจจุบันเราทราบกันดีแล้วว่า วิธีการที่จะป้องกันไม่ให้อาการของสมองเสื่อมโผล่ขึ้น แม้ว่าจะมีโปรตีนพิษเหล่านี้อยู่ในสมองแล้วก็ตาม ซึ่งขณะนี้เราสามารถตรวจจากเลือดได้แล้ว โดยไม่จำเป็นต้องเจาะน้ำไขสันหลัง หรือไปทำคอมพิวเตอร์สนามแม่เหล็กเอ็มอาร์ไอร่วมกับการตรวจทางเวชศาสตร์นิวเคลียร์เพ็ทสแกน

กระบวนการเหล่านี้ได้แก่ การควบคุมอาหาร เข้าใกล้มังสวิรัติ งดแป้ง งดเนื้อสัตว์บก หันมาบริโภคปลาและยังได้โปรตีนเพิ่มจากถั่ว ดังที่หมอได้ย้ำมาตลอดในทุกบท และกิจกรรมทำให้สมองขยันตลอด ซึ่งไม่ใช่เป็นเพียงแต่เล่นเกมซึ่งไม่ได้ช่วยอะไรมาก แต่ต้องเป็นกิจกรรมที่มีการโต้ตอบใช้ความคิด มีการวางแผน ยกตัวอย่างเช่น เล่นไพ่กินเงินหรือเต้นรำกับคู่เต้น ร้องเพลงใหม่ให้ไม่คร่อมจังหวะและเสียงไม่หลง

อีกทั้งแน่นอนคือการออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ ไม่นั่งทอดหุ่ยเนือยนิ่ง รวมทั้งตากแดด ไม่ใช่ไปกินวิตามินดีซึ่งอาจมีส่วนช่วยได้เพียงน้อยนิดเมื่อเทียบกับแดด

กระบวนการเหล่านี้ สามารถปฏิบัติได้โดยไม่เสียเงิน และต่อจากนี้ สามารถควบคู่ได้กับยาพื้นๆ ที่ใช้กันมานานแสนนานแต่โบราณ ที่เราจัดเป็น repurpose drug โดยที่ยาเหล่านี้ใช้ในจุดประสงค์อื่น แต่มีการค้นพบว่าสามารถออกฤทธิ์ในการต่อต้านกลไกของโรคอื่นๆ ได้

ยาตัวที่หมอจะมาเล่าให้ฟังในตอนนี้ เป็นยาละลายเสมหะ ดังนั้นจึงทำให้ระบายเสมหะออกไปได้และไอลดลง

ยาดังกล่าวนี้ ชื่อ Ambroxol ที่มีการใช้มาตั้งแต่ปี 1970 โดยที่มีการประกาศความสำเร็จในการใช้กับโรคสมอง จากการศึกษาตั้งแต่หลอดทดลอง สัตว์ทดลองและการวิจัยในมนุษย์ ตั้งแต่ในระยะที่หนึ่ง และที่สอง และขณะนี้เริ่มการศึกษาในมนุษย์เป็นระยะที่สาม โดยคณะทำงานจาก Queen Square สถาบันทางประสาทวิทยา University College of London นำโดยศาสตราจารย์ Schapira

การศึกษาทางคลินิก ในระยะที่สอง โดยคณะทำงานนี้ มีการตีพิมพ์ในวารสาร สมาคมแพทย์อเมริกัน (JAMA) ตั้งแต่ปี 2020 ในผู้ป่วยโรคพาร์กินสัน

ทั้งนี้ยาแก้ไอดังกล่าวสามารถที่จะซึมผ่านเข้าสมองและเพิ่มปริมาณและการทำงานของโปรตีนที่ชื่อว่า GCase (glu cocerebrosidase) ในสมอง ซึ่งทำงานโดยช่วยให้เซลล์มีการกำจัดขยะโปรตีนทั้งหลายแหล่ออก และในกรณีของโรคพาร์กินสันก็คือกำจัดโปรตีน alpha synuclein ออก

ความที่ยาแก้ไอดังกล่าวนี้ ได้ใช้กันมาเป็นเวลาเนิ่นนานแล้ว และถึงแม้ว่าขนาดของยาที่ใช้จะมีปริมาณสูงมากกว่าที่ใช้ในการละลายเสมหะตามปกติ แต่จากการศึกษาทางคลินิกในระยะที่หนึ่งและระยะที่สอง พบว่ามีความปลอดภัย โดยที่ผลข้างเคียงอาจมีบ้าง ก็คืออาการกวนกระเพาะ คลื่นไส้บ้าง อาจจะมีพะอืดพะอมบ้าง แต่ก็น้อยและหายไปเอง ทั้งนี้โดยที่ปริมาณ และขนาดยามีการปรับระดับเพิ่มขึ้นทุกห้าวัน หลังจากที่ครบ 10 วันแล้วก็จะเป็นขนาดปริมาณคงที่ไปตลอด

การศึกษาในระยะที่สามนี้ ในปี 2023 จะมีผู้ป่วยโรคพาร์กินสัน 330 ราย ในศูนย์ทางคลินิก 12 แห่งในสหราชอาณาจักร โดยที่จะมีการเปรียบเทียบโดยการใช้ยาหลอกด้วยเป็นเวลาสองปี และมีการติดตามอาการของโรคอย่างเข้มงวด

การศึกษาในระยะก่อนหน้านี้ ที่มีการตีพิมพ์ในปี 2020 นั้นเป็นการใช้ Ambroxol ในคนไข้พาร์กินสัน ทั้งที่มีและไม่มีรหัสพันธุกรรมผันแปรไป (mutation) ของยีน glucocerebrosidase, GBA1 (OMIM 606463) ซึ่งเป็นยีนสำคัญที่มีความเสี่ยงของโรคพาร์กินสันเพิ่มขึ้น

การทดสอบกับคนไข้ที่มีและไม่มียีนเฉพาะนี้ และด้วยการใช้ขนาดของยาอย่างที่ได้กล่าวไปแล้วโดยมีการเพิ่มปริมาณจนกระทั่งถึง 1.26 กรัมต่อวัน

การศึกษาเริ่มตั้งแต่วันที่ 11 มกราคม 2017 จนถึงวันที่ 25 เมษายน 2018

ทั้งนี้ ผลของการศึกษาพบว่าตัวยา Ambroxol สามารถผ่านผนังกั้นระหว่างเส้นเลือดกับสมองได้และทำให้สามารถออกฤทธิ์ในสมอง โดยตรวจพบได้ในน้ำไขสันหลังในคนป่วยที่มีและไม่มียีนนี้ และนอกจากนั้น ยาดังกล่าวจะไปจับกับ เอ็นไซม์ เบตา glucocerebrosidase และทำให้มีการเปลี่ยนแปลง ทั้งระดับและการทำงานของโปรตีนนี้ จากการตรวจในน้ำไขสันหลัง รวมทั้งระดับของ alpha synuclein โดยที่ระดับในน้ำไขสันหลังสูงขึ้น ซึ่งแสดงว่ามีการทำงานเพิ่มขึ้นในเซลล์สมองและผลักโปรตีนพิษออกจากสมองเข้าสู่น้ำไขสันหลัง

กลไกการจัดการของยา Ambroxol ต่อโปรตีนพิษ ประกอบไปด้วยหลายกระบวนการ และขั้นตอนด้วยกัน โดยยาไปเพิ่มการทำงานของ GCase ในเซลล์สมอง และแม้แต่ในคนไข้ที่มียีนผิดปกติ ซึ่งต่อต้านการทำงานของระบบนี้ก็ตาม ตัวยาก็ยังสามารถสู้ได้ โดยผ่านทาง transcriptional factor EB pathway

และการกระตุ้น lysosomal exocytosis และสามารถแก้ความผิดปกติของ posttran slational folding ในคนที่มียีนผิดปกติได้ด้วยซ้ำ และทำให้ระบบกู้ภัยคลี่เกลียวของโปรตีนพิษ และการกำจัดขยะโปรตีนพิษเหล่านี้ (ถ้าไม่สามารถกู้ได้) ออกไปทิ้งได้หมดจด

ข้อพิสูจน์อีกอย่างหนึ่งของ Ambroxol ก็คือการสร้างเซลล์จำลองของสมอง (neurosphere) จากสเต็มเซลล์ adipose-derived neural crest ที่พัฒนาจากเซลล์ของคนไข้พาร์กินสันที่มีและไม่มีรหัสพันธุกรรมที่ผิดปกติของ GBA1 สมองจำลองนี้ของคนพาร์กินสัน โดยเฉพาะที่มียีนผิดปกติ พบว่ามีปริมาณและการทำงานของโปรตีน GCase และ cathepsin D ต่ำลง และแน่นอนมีระดับของโปรตีนพิษ Tau และ alpha synuclein สูงขึ้นและยา Ambroxol สามารถที่จะเพิ่มพูนการทำงานของโปรตีนตัวนี้ได้และมีระดับของโปรตีนผิดทั้งสองตัวในเซลล์ประสาทสมองลดลง รายงานในวารสาร Human Molecular Genetics ในปี 2022 โดยคณะทำงานของศาสตราจารย์ Schapira เช่นกัน

กล่าวโดยสรุปขณะนี้ การพิชิตโรคสมองเสื่อมไม่ใช่เป็นเรื่องไกลเกินเอื้อม รวมทั้งมียาตัวอื่นๆ ที่สามารถจับต้องได้

และที่ต้องไม่ลืมก็คือ การที่ต้องกำจัดหรือระงับการอักเสบที่เกิดขึ้นในร่างกาย ทั้งจากที่ได้จะกินอาหาร เนื้อ ไม่กินผัก ผลไม้ กากใยมีการปนเปื้อนสารเคมี และมลพิษต่างๆ รวมทั้งพีเอ็ม 2.5 และจะเข้าไปกระทบสมองอีกต่อ ซึ่งจะไปจุดชนวนให้การอักเสบลุกลามในสมอง รวมทั้งกระพือ การเพิ่มการสร้างของโปรตีนผิดและขัดขวางการกำจัดขยะพิษเหล่านี้.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

'หมอธีระวัฒน์' ประกาศลาออกจาก หัวหน้าศูนย์วิทยาศาสตร์สุขภาพโรคอุบัติใหม่

ศ.นพ.ธีระวัฒน์ เหมะจุฑา หัวหน้าศูนย์วิทยาศาสตร์สุขภาพโรคอุบัติใหม่ คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก

เรื่องใหญ่! 'หมอธีระวัฒน์'แฉนักวิทยาศาสตร์ของ 'โมเดนา' ยอมรับ วัคซีน mRNR มีอันตรายต้องปรับปรุง

ศ.นพ.ธีระวัฒน์ เหมะจุฑา หัวหน้าศูนย์วิทยาศาสตร์สุขภาพโรคอุบัติใหม่ คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ โพสต์ข้อค

รองโฆษกรัฐบาล เผยประชาชนตอบรับโครงการบัตรประชาชนใบเดียวรักษาได้ทุกที่

นายคารม พลพรกลาง เปิดเผยว่า จากนโยบายของรัฐบาลที่มุ่งมั่นลดความเหลือมล้ำ และสนับสนุนประชาชนให้เข้าถึงบริการสาธารณสุข

'หมอนิติเวช' โต้ แท่งย้วยสีขาวในคนตายฉีดวัคซีน mRNA พบได้ในผู้ตายทุกคน

นาวาตรี น.พ. อรรถสิทธิ์ ดุลอำนวย แผนกนิติเวชศาสตร์ รพ.ภูมิพลอดุลยเดช กล่าวถึงรณีที่ ศ.นพ.ธีระวัฒน์ เหมะจุฑา หัวหน้าศูนย์วิทยาศาสตร์สุขภาพโรคอุบัติใหม่ คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ ออกมาระบุว่า ในต่างประเทศพบ ผู้ฉีดวัคซีน mRNA