'หมอสมอง' เตือน! 'บิด เอียง สะบัดหมุน ดัดคอ' เสี่ยงอัมพฤกษ์

14 ต.ค. 2567 – ศ.นพ.ธีระวัฒน์ เหมะจุฑา ศาสตราจารย์เชี่ยวชาญทางอายุรกรรมและสมอง และที่ปรึกษาวิทยาลัยการแพทย์ตะวันออก มหาวิทยาลัยรังสิต โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กว่า บิด เอียง สะบัดหมุน ดัดคอ…แล้วก็เสี่ยงอัมพฤกษ์

กระบวนการในการนวดคลายเมื่อย ดัดเส้น รวมทั้งเป็นกรรมวิธีในการบำบัดทางกายภาพและจัดกระดูก ซึ่งถ้าไม่ระวังจะ เพิ่มความเสี่ยงอันตรายต่อการที่ผนังเส้นเลือดที่ไปเลี้ยงสมอง โดยเฉพาะคู่หลังเกิดการฉีกขาดและทำให้เกิดเนื้อสมองตายเป็นอัมพฤกษ์ อัมพาตได้

ความจริงเรื่องเกี่ยวกับ “คอ” เป็นที่สังเกตระวังกันมานานกว่า 30 ปีแล้ว จากการสำรวจข้อมูลจากหมอทางสมองในสหรัฐอเมริกาว่าในช่วงเวลา 2 ปีที่ผ่านมา เคยประสบพบคนไข้ที่มีอาการอัมพฤกษ์จากเส้นเลือดสมองตีบภายในระยะเวลา 24 ชั่วโมง หลังจากที่คนไข้ผ่านกรรมวิธีจับ ดัด ปรับกระดูกคอหรือไม่

หมอสมอง 177 คน รายงานว่าเคยเจอผู้ป่วย 55 รายเข้าข่ายกรณีดังกล่าว ทั้งนี้ โดยที่คนไข้มีอายุระหว่าง 21 ถึง 60 ปี หลังจากมีการบิดดัดคอ และเป็นผลต่อเส้นเลือดสมองโดยเฉพาะคู่หลัง เกิดตันตีบ ซึ่งตัวหมอเองก็มีคนไข้ที่หมุนคอเป็นประจำวันละ 3 เวลา ครั้งละ 30 รอบเป็นปี นัยว่าทำให้กล้ามเนื้อคอแข็งแรง ฝึกการทรงตัว วันหนึ่งเกิดเรื่องขณะยืนข้างถนน หันหน้าจะไปเรียกรถแท็กซี่ปรากฏเป็นอัมพาตซีกซ้าย อีกสักพักค่อยๆ ดีขึ้น พอมีแรงลุกขึ้น หันหน้าไปอีกด้าน มีอ่อนแรงซีกขวา ต้องนอนอยู่โรงพยาบาลเป็นเดือน และการตรวจเส้นเลือดด้วยการฉีดสี ยืนยันมีผนังเส้นเลือดฉีกขาดจริงและเลือดไหลเซาะเข้าในผนังเส้นเลือด ทำให้รูเส้นเลือดตัน อีกทั้งยังทำให้ผนังเส้นเลือดขรุขระ เกิดการเกาะของตะกอนเลือด ซึ่งหลุดลอยไปอุดเส้นเลือดได้อีกต่อ

สมองของเรามีเส้นเลือดไปเลี้ยง 2 คู่ คู่หน้าสามารถคลำได้ตุบๆ ที่คอด้านหน้า ซึ่งไปเลี้ยงสมองหน้าผากขมับ 2 ข้าง รวมทั้งสมองส่วนลึกลงไปทางด้านใน เส้นเลือดคู่หลังร้อยผ่านกระดูกก้านคอ และเลื้อยผ่านเข้าไปหล่อเลี้ยงสมองท้ายทอยซึ่งเป็นจอรับภาพ สมองน้อยด้านหลัง คุมการทรงตัว ก้านสมองซึ่งควบคุมประสาทสมองรวมการเคลื่อนไหวลูกตา คุมการรับรู้สึกตัว การเคลื่อนไหวแขนขา การสะบัดคอแรงๆ การหมุนคอบิด บริหารประจำอาจทำให้เกิดผลร้าย

อันตรายที่เกิดขึ้นจะแปรตามความรวดเร็ว รุนแรงของการบิดสะบัดเคลื่อนไหวคอและแม้หมุน สะบัดไม่รวดเร็ว แต่การทำซ้ำกันบ่อยๆเป็นระยะเวลานานก็เกิดเรื่องได้ ไม่เฉพาะแต่เส้นประสาทที่คอ ยังเกิดกับเส้นเลือด โดยเฉพาะผู้ที่เกิดมาขาดทุนคือมีเส้นเลือดคู่หลังเพียงเส้นเดียว และในคนที่มีเส้นเลือดตีบอยู่แล้วจากมีโรคประจำตัว คือ อ้วน ความดันสูง ไขมันเพียบ หรือมีกระดูกงอกที่คอที่พร้อมที่จะกดเบียดเส้นเลือดอยู่แล้วหรือคนที่มีโรคของผนังเส้นเลือดผิดปกติแต่กำเนิด (ซึ่งพบได้น้อยมาก)

ข้อควรระวัง และกลไกในการเกิดอัมพฤกษ์จากการเคลื่อนของคอ อันเป็นผลจากการจับ ดัด เอียง สะบัด มีรายงานเป็นทางการจากสมาคมโรคหัวใจและโรคอัมพฤกษ์จากเส้นเลือดผิดปกติของสหรัฐอเมริกา ซึ่งรายงานข้อสรุปได้รับการสนับสนุนและรองรับโดยสมาคมศัลยแพทย์และคองเกรสทางระบบประสาทของสหรัฐ ตีพิมพ์ในวารสาร Stroke ฉบับเดือนตุลาคม 2014 ทั้งนี้ การนวดกดจุดก็น่าจะต้องระวังเช่นกัน เนื่องจากเส้นเลือดคู่หลังจะวิ่งเข้าสมองโดยผ่านรู 2 ข้างที่ฐานกะโหลกศีรษะ ซึ่งจากการนวด อาจจะมีวิธี “ปิด–เปิดประตู”

ทั้งนี้ การเปิดปิดประตูคือการกดจุดที่รู 2 ข้าง ซึ่งจะตัดการไหลเวียนของเลือดเข้าสมองท้ายทอยซึ่งเป็นจอรับภาพในสมอง ทำให้ตามืดไปชั่วขณะ และเมื่อปล่อยการกดจุด เลือดจะไหลมาดังเดิมทำให้ตาสว่าง ซึ่งในคนที่เส้นเลือดผิดปกติอยู่แล้ว ตาอาจมืดไปเลยได้ กลายเป็นบอดทั้ง 2 ข้าง

สำหรับคนเมื่อยคอ วิธีแก้เมื่อย รวมทั้งยังสามารถทำกายภาพบำบัดด้วยตัวเองได้คือคอตรง หน้าตรง ดันศีรษะสู้กับฝ่ามือตนเอง 4 ทิศ ซ้ายขวา หน้าหลังเท่ากับ 1 รอบ ดันแรง ดันนานๆ ทำวันละ 10-20 รอบ ตอนไหนก็ได้ ยังช่วยเรื่องกระดูกกดทับเส้นประสาท ปรับโครงสร้างกระดูก เส้นเอ็นให้เข้าที่ ทำให้กล้ามเนื้อคอแข็งแรง ไม่ต้องไปดึงคอที่โรงพยาบาลเสียเวลารถติด ข้อสำคัญไม่ต้องกินยาแก้ปวด ซึ่งเป็นการแก้ปลายเหตุ กระเพาะทะลุ ไตพัง และยาแก้ปวดยังทำให้เส้นเลือดหัวใจตันได้.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ม.รังสิต มอบรางวัลวิศวกรรมชีวการแพทย์ และวิศวกรชีวการแพทย์ดีเด่น ประจำปี 2567 มุ่งส่งเสริมงานวิศวกรรมชีวการแพทย์ของประเทศไทย

มหาวิทยาลัยรังสิต มอบรางวัลวิศวกรรมชีวการแพทย์ และวิศวกรชีวการแพทย์ดีเด่น ประจำปี 2567 มุ่งชี้นำและส่งเสริมงานวิศวกรรมชีวการแพทย์ของประเทศไทย

บิดสะบัดคอระวังอัมพฤกษ์! ‘หมอธีระวัฒน์’ แนะวิธีแก้เมื่อยคอด้วยตัวเองที่ถูกต้อง

เรื่องใกล้ตัวที่เป็นท่าบริหารประจำหรือที่ทำ เวลาเมื่อย หรือเป็นกระบวนการในการนวดคลายเมื่อย ดัดเส้น รวมทั้ง เป็นกรรมวิธีในการบำบัดทางกายภาพและจัดกระดูก

10 อาชีพการแพทย์ยอดนิยม ปี 2568 - หางานสายสุขภาพ

ในยุคโลกดิจิทัลที่เทคโนโลยีทางการแพทย์ก้าวหน้า และการดูแลสุขภาพร่างกายต่างได้รับความสำคัญมากยิ่งขึ้นอย่างต่อเนื่อง สายงานอาชีพในการแพทย์ไม่เพียงแต่จะมีบทบาทสำคัญในสังคม แต่ยังมีแนวโน้มที่จะเติบโตอย่างรวดเร็วในอนาคต โดยเฉพาะในปี 2568