จิตแพทย์ แนะ ครอบครัว เป็นส่วนสำคัญในการดูแลจิตใจและความรู้สึก สังเกตได้จากพฤติกรรมของเด็ก หลังลูกน้อยได้รับเหตุกระทบกระเทือนจิตใจ ก่อนส่งผลระยะยาวทางสุขภาพจิตเสี่ยงต่อการป่วยเป็นโรค PTSD หรือ ความผิดปกติที่เกิดหลังจากได้รับความเครียดสะเทือนใจ ส่งผลให้เด็กมีความหวาดกลัว หวาดระแวง มีพฤติกรรมแปลกแยกมีพัฒนาการต่างจากเด็กในวัยเดียวกัน และเมื่อเติบโตขึ้นเด็กเหล่านี้เพิ่มความเสี่ยงต่อการป่วยเป็น “โรคซึมเศร้า” ปัจจุบันประเทศไทยมีผู้ป่วยจิตเวชประมาณ 7 ล้านราย
8 ต.ค. 2567 – พญ.ปรานี ปวีณชนา จิตแพทย์เด็กและวัยรุ่น โรงพยาบาลพระรามเก้า ให้ข้อมูลว่า ปัจจุบันคนไทยป่วยเป็นโรคจิตเวชประมาณ 7 ล้านคน ซึ่งผู้ป่วยจิตเวชมีทุกเพศทุกวัย อาการและพฤติกรรมของคนไข้ แต่ละกลุ่มโรคมีความแตกต่างกัน คนไข้ที่ป่วยบางรายไม่รู้เลยว่าตัวเองป่วยเป็นจิตเวช ดังนั้นสิ่งที่สำคัญมาก คือ “ความรัก การเอาใจใส่ ดูแลความรู้สึก หมั่นสังเกตพฤติกรรม ของคนในครอบครัว” โดยเฉพาะเด็ก ๆ ที่เป็นกลุ่มเปราะบาง หากเกิดเหตุการณ์ร้ายหรือเหตุการณ์รุนแรงมากระทบจิตใจ และเด็กไม่ได้รับการดูแลเอาใจใส่หรือบำบัดสภาพจิตใจอย่างถูกต้อง จะส่งผลระยะยาวจนกลายเป็น โรค PTSD
ทั้งนี้ โรค PTSD (Posttraumatic Stress Disorder: PTSD) คือ อาการทางจิตเวชชนิดหนึ่งที่เกิดจาก ภาวะผิดปกติทางจิตใจที่เกิดภายหลังจากการพบเหตุการณ์รุนแรง สะเทือนใจ เช่น การถูกทำร้ายร่างกาย ประสบอุบัติเหตุ การรอดชีวิตจากภัยพิบัติ หรือถูกบูลลี่จากเพื่อนๆ ส่งผลให้เด็กมีสภาพจิตใจที่ย่ำแย่ หวาดกลัว หวาดระแวง รู้สึกแปลกแยก ไม่สดใสร่าเริง เมื่อเด็กป่วยเป็นโรค “PTSD” จะส่งผลระยะยาวในการดำเนินชีวิตในอนาคต สำหรับอาการของโรค PTSD จะเกิดขึ้นภายหลังได้รับการกระทบกระเทือนต่อจิตใจอย่างรุนแรง ซึ่งควรมีการดูแลสภาพจิตใจเด็กอย่างต่อเนื่อง เพราะอาการทางจิตเวชอาจไม่ได้เกิดขึ้นทันที ควรติดตามอาการเป็นระยะ ๆ 1 เดือน 3 เดือน 6 เดือน และหลังจากนั้น แม้จะผ่านเหตุการณ์นั้น ๆ ไปแล้ว 5-10 ปี เด็กก็อาจจะมีอาการ PTSD เกิดขึ้นในภายหลังได้
โดยภาวะหลังประสบเหตุการณ์รุนแรงจะมีอาการตามมาได้ 3 กลุ่ม
กลุ่มอาการหลอน (Re-experience) นึกถึงภาพบาดแผลเรื่องราวกระทบกระเทือนจิตใจซ้ำ ๆ ห้ามไม่ได้ เกิดฝันร้ายต่าง ๆ รู้สึกเหมือนตัวเองถูกดึงกลับไปในเหตุการณ์นั้นอีก (Flashback)
กลุ่มอาการเร้า (Hyperarousal) กลุ่มอาการที่เรารับรู้ภัยคุกคามต่อชีวิต ทำให้เรามีปฏิกิริยาทางร่างกายที่จะหลบหนี มีอาการกระสับกระส่าย มีความคิด ความจำไม่ดี สติแตก นอนไม่หลับ ลุกลี้ลุกลน ระแวง
กลุ่มอาการหลบ (Avoidance) เมื่อเจออะไรก็ตามที่เหมือนกับเหตุการณ์ที่เคยเกิดขึ้น จะหลีกเลี่ยงจากสิ่งที่ทำให้เสมือนเขากลับไปอยู่ในเหตุการณ์นั้นอีก
พญ.ปรานี ให้ข้อมูลต่อว่า เมื่อเด็กหรือคนในครอบครัวได้รับการกระทบกระเทือนด้านจิตใจอย่างรุนแรง พ่อแม่และคนในครอบครัวมีส่วนสำคัญมากในการดูแลรักษาสภาพจิตใจของผู้ประสบเหตุให้กลับมาสู่ภาวะปกติได้ โดยมีวิธีที่ทุกคนสามารถช่วยเหลือดูแลสภาพจิตใจ ดังต่อไปนี้
รับฟังปัญหาและให้กำลังใจ รับฟังเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น โดยไม่บังคับ ในเด็กเล็กจะไม่สามารถสื่อสารบอกความรู้สึกโดยตรงได้ แนะนำให้ใช้วิธีการเล่นวาดรูป ระบายสี เพื่ออธิบายความรู้สึก รับฟังและคอยให้กำลังใจ ให้ความมั่นใจว่าเหตุการณ์ร้ายเหล่านั้นจะไม่เกิดขึ้นอีก
ให้ลูกใช้ชีวิตประจำวันตามปกติ พยายามให้ลูกได้ใช้ชีวิตประจำวันตามปกติ ทั้งการเรียนและการทำกิจกรรมต่าง ๆ อย่างที่เคยทำก่อนที่จะเกิดเหตุการณ์นั้น แม้จะเป็นเรื่องที่ค่อนข้างยากในช่วงแรก และต้องใช้เวลาปรับตัวสักพัก ทั้งนี้ คุณพ่อคุณแม่อาจต้องขอความร่วมมือจากคุณครู ผู้รับเลี้ยงเด็ก และบุคคลอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องในชีวิตของเด็ก และควรพูดคุยปรึกษาส่งต่อข้อมูลเกี่ยวกับอาการของเด็กอยู่เสมอ
หาวิธีสร้างความมั่นใจให้กับลูก สนับสนุนให้ลูกได้ลองตัดสินใจด้วยตนเอง เพื่อสร้างความมั่นใจให้กับลูก นอกจากนี้ คุณพ่อคุณแม่ไม่ควรตำหนิลูก หากลูกมีพฤติกรรมบางอย่างที่บ่งบอกถึงพัฒนาการที่ถดถอย เช่น ฝันร้าย หวาดระแวง พูดน้อยลง เก็บตัวไม่สุงสิงกับใคร เพราะการฟื้นฟูสภาพจิตใจ เป็นเรื่องที่ต้องใช้เวลา เราไม่สามารถกำหนดได้เลยว่า อาการเหล่านั้นจะหายไปเมื่อไหร่ บางรายอาจหายเป็นปกติ แต่บางรายฝังใจ มีอาการต่อเนื่องจนถึงวัยผู้ใหญ่ หรือตลอดชีวิต
เข้ารับความช่วยเหลือจากแพทย์หรือผู้เชี่ยวชาญ การบำบัดด้วยวิธีต่าง ๆ ตามคำแนะนำของแพทย์หรือผู้เชี่ยวชาญจะช่วยฟื้นฟูสภาพจิตใจของเด็กที่มีอาการของโรค PTSD ให้ดีขึ้นได้ โดยแพทย์อาจแนะนำให้เข้ารับการบำบัดความคิดและพฤติกรรม CBT หรือ Cognitive Behavioral Therapy จะช่วยให้เด็กเข้าใจความคิดและความรู้สึกของตัวเองและปรับทัศนคติที่มีต่อสิ่งต่าง ๆ ให้ดียิ่งขึ้น
พญ.ปรานี กล่าวปิดท้ายว่า ปัจจุบันมีคนไทยที่ป่วยด้วยโรคจิตเวชจำนวนมาก ผู้ป่วยส่วนใหญ่จะไม่รู้ตัวว่าป่วย บางรายรู้แต่ไม่ยอมรับว่าตัวเองป่วย และที่สำคัญผู้ป่วยบางรายยังสับสนในอาการป่วยทางจิตเวชบางโรคและเข้าใจผิดคิดว่าตนเองป่วยเป็นโรคทั่วไป โรคจิตเวช คือกลุ่มอาการทางจิตใจหรือพฤติกรรมที่ทำให้ผู้ป่วยมีความบกพร่องในกิจวัตรต่าง ๆ หรือเกิดความทุกข์ทรมาน ซึ่งหลายคนไม่รู้ว่าตัวเองป่วย หรือบางคนรู้แต่ไม่มาพบแพทย์ ทำให้อาการหนักขึ้นเรื่อย ๆ จนนำไปสู่ภาวะแทรกซ้อนที่อันตรายถึงชีวิต ตัวอย่างโรคจิตเวชที่พบบ่อยในปัจจุบัน เช่น
1. โรคซึมเศร้า (Depressive Disorder) เป็นโรคที่พบได้บ่อย ผู้ป่วยจะมีอารมณ์เศร้า หดหู่ ท้อแท้ เบื่อหน่ายเป็นต่อเนื่องกันนานเกิน 2 สัปดาห์ ไม่อยากทำกิจกรรมที่เคยชอบทำคิดว่าตัวเองไร้ค่าเป็นภาระ มีพฤติกรรมการกินการนอนเปลี่ยนไป เหนื่อยเพลีย ไม่อยากทำอะไร ไม่มีสมาธิในการทำงาน บางรายอาจมีความคิดไม่อยากมีชีวิตอยู่ บางรายอาจไม่รู้สึกเศร้าแต่จะเบื่อหน่ายทุกอย่างรอบตัว ทำอะไรก็ไม่มีความสุขและไม่รู้จะอยู่ต่อไปเพื่ออะไร ความสำคัญของโรคนี้คือผู้ป่วยที่ไม่ได้รับการรักษาจะมีอาการของความรุนแรงขึ้นจนถึงขั้นอยากตาย พยายามฆ่าตัวตาย
2. โรคสมาธิสั้น (Attention-Deficit/Hyperactivity Disorder; ADHD) เกิดจากการทำงานของสมองที่ผิดปกติ มีอาการ 3 แบบ คือ ขาดสมาธิ (Inattention), ซน ไม่นิ่ง (Hyperactivity) และใจร้อน (impatiently) โดยอาการมักเป็นในหลายสถานการณ์ เช่น ที่บ้าน ที่โรงเรียน เป็นต้น สาเหตุของโรคส่วนหนึ่งมาจากพันธุกรรม ถ้ามีคนในครอบครัวเป็นโรค เด็กจะมีโอกาสมากขึ้น 4-5 เท่า และปัจจัยทางสิ่งแวดล้อม เช่น มารดามีภาวะแทรกซ้อนขณะตั้งครรภ์ ได้รับสารตะกั่ว สูบบุหรี่ หรือดื่มสุรา การรักษา ต้องใช้หลายวิธีร่วมกัน เช่น การกินยา การปรับพฤติกรรมและสิ่งแวดล้อมให้ความรู้ผู้ปกครองและครูเพื่อให้การช่วยเหลือเด็ก และมารับการรักษาต่อเนื่อง
แม้ “โรคจิตเวช” เป็นโรคที่มาจากการทำงานของสมองที่ผิดปกติ มีสารสื่อประสาททำงานไม่อยู่ในสมดุล คนไข้หรือคนรอบข้างต้องหมั่นสังเกตอาการ เช่น อารมณ์ เศร้า หงุดหงิด เบื่อหน่าย ท้อแท้ โกรธง่าย หรือหดหู่มากกว่าปกติ แนะนำให้พบจิตแพทย์ เพื่อรับการประเมินและทำการรักษา เนื่องจากแต่ละคนจะมีภูมิคุ้มกันทางใจที่แตกต่างกัน ซึ่งการสังเกตคนที่ดูอารมณ์ดี ยิ้มแย้มสดใสตลอดเวลา ก็ไม่ได้หมายความว่าคน ๆ นั้นจะต้องสุขภาพจิตดีเสมอไป เราจะต้องเข้าใจให้ลึกถึงความรู้สึก ความคิด และพฤติกรรมอื่น ๆ ร่วมด้วย เพื่อประเมินว่าคนไหนมีสุขภาพจิตที่ดีหรือไม่ดี
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
‘สมัชชาสุขภาพ ครั้งที่ 17’ ปิดฉากชื่นมื่น บรรลุ 2 นโยบายฯ สร้างเศรษฐกิจยุคใหม่
สมัชชาสุขภาพแห่งชาติ ครั้งที่ 17 ปิดฉากลงอย่างชื่นมื่น สมาชิกกว่า 3,000 ชีวิต ให้การรับรอง 2 ระเบียบวาระ “พลิกโฉมกำลังคนเพื่อสังคมสุขภาวะ - การท่องเที่ยวแนวใหม่ สู่สุขภาวะและเศรษฐกิจ