'หมอธีระวัฒน์' ยกผลวิจัยชี้ชัด คืนสู่ธรรมชาติ ทะนุถนอมสมอง

24 พ.ย. 2566 – ศ.นพ.ธีระวัฒน์ เหมะจุฑา หัวหน้าศูนย์วิทยาศาสตร์สุขภาพโรคอุบัติใหม่ คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กว่า คืนสู่ธรรมชาติ ทะนุถนอมสมอง

เราทุกคน อาจจะเคยรู้สึก หรือเคยสังเกตว่า เวลาที่เราไปเที่ยว ไม่ว่าจะเป็นป่าเขา น้ำตกทะเล จนกระทั่งเข้าไปเยี่ยมเพื่อนหรือญาติมิตร ที่อยู่ต่างจังหวัด ที่ไม่ได้พลุกพล่าน แออัด เต็มไปด้วย ถนนหนทาง ตึกรามบ้านช่อง ห้างสรรพสินค้าประดามี เรากลับรู้สึกสงบ ไม่ร้อนรุ่ม อารมณ์นิ่งขึ้นอย่างประหลาด

ไม่ได้จำเป็นต้องรีบเร่ง กลับเป็น ‘สโลว์ไลฟ์’ ลองจับแตะหัวใจตัวเอง มันไม่ได้เต้นโครมคราม ตึกตัก เร็วเกิน 100 ตลอด สิ่งเหล่านี้ มีอิทธิพลต่อใจ ต่อสมอง และคลายความเครียด

หลักฐานประจักษ์ชัดเจนถึงความเชื่อมโยงสัมพันธ์ไป ถึงสมอง วารสาร Molecular Psychiatry จาก สถาบัน Max Planck Institute for Human Development, Lise Meitner Group for Environmental Neuroscience ของเยอรมัน ทำการศึกษาเจาะจงถึงสมองเฉพาะส่วนที่เรียกว่า Amygdala เมื่อมีการกระตุ้นให้อยู่ในสภาพเครียด สมองส่วนนี้จะถูกกระตุ้นอย่างรุนแรงในคนที่อยู่ในสังคมเมืองเมื่อเทียบกับคนที่อยู่ในชนบท

เดิน 1 ชั่วโมงในถนนที่มีร้าน ช็อปปิ้ง คนพลุกพล่านเต็มไปหมด ในนครเบอร์ลิน และเทียบกับเดินในป่า Grundewald ร่มรื่น ต้นไม้เขียวขจี

ประเมินผลจากการทำ functional MRI โดยมีการดูรูปหน้าของคนที่โกรธเกรี้ยว หรือเฉย ๆ (fearful faces task) และ กระตุ้นให้เกิดความเครียดโดยทำการคิดคำนวณเลข (mental arithmetic task) ในระดับความยากต่างๆ ที่เกินระดับความสามารถปกติ (Montreal Imaging stress test)

ผลการศึกษาพบว่า การกระตุ้นสมองส่วน Amygdala ลดลง หลังจากที่เดินในป่าไป 1 ชั่วโมง และระดับของการทำงานยังอยู่คงที่ เมื่อให้ไปเดินในถนนในเมือง ซึ่งแสดงว่าการอยู่ท่ามกลางธรรมชาติจะส่งผลให้เหมือนกับมีความทนทานต่อความเครียดในช่วงเวลาต่อมาได้

รายงานในปี 2017 พบว่าคนทำงานในเขตเมือง แต่บ้านที่อยู่อาศัยอยู่ใกล้ป่า จะมีสุขภาพและลักษณะการทำงานของสมองส่วนนี้ ในทางสมบูรณ์กว่า

ผู้วิจัยได้ชูประเด็น ถึงการที่ในเมืองต่างๆ ควรต้องเห็นความสำคัญของการมีพื้นที่สีเขียว คนไม่ต่ำกว่าครึ่งโลกในปัจจุบัน อาศัยอยู่ในเขตเมือง ซึ่งเป็นที่ทราบกันดีว่า เต็มไปด้วยสิ่งก่อสร้าง มลภาวะ ที่สร้างความเครียดให้ทับถมไปกับสภาวะการทำงานที่แก่งแย่งและความอัตคัดขัดสนในทุกด้านของปัจจัยสี่

สมองส่วน Amygdala เป็นส่วนสำคัญที่เราทราบกันแล้ว ในการรับและตอบสนองต่อสิ่งเร้าในทางลบ และก่อให้เกิด ตั้งแต่ การแสดงออกทางอารมณ์ ทางสีหน้า ความประพฤติและพฤติกรรมโดยประมวลเข้ากับสมองส่วนอื่นที่จะหยั่งรากลึกและเพิ่มความเสี่ยงของพฤติกรรมก้าวร้าว โดยมีพื้นฐานของความวิตกกังวลและหดหู่ เรื้อรัง.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ไขข้อข้องใจ! ความดันสูงกับ 'ความดันกลางคืน' สำคัญอย่างไร

ศ.นพ.ธีระวัฒน์ เหมะจุฑา ศาสตราจารย์เชี่ยวชาญทางอายุรกรรมและสมอง โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กว่า ความดันสูงและความดันตอนกลางคืนสำคัญอย่างไร

เปิดผลวิจัยอเมริกา 'ออกกำลังกาย' เวลาไหนดีกว่ากัน

ศ.นพ.ธีระวัฒน์ เหมะจุฑา หัวหน้าศูนย์วิทยาศาสตร์สุขภาพโรคอุบัติใหม่ คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กว่า ประเด็นร้อน.. ออกกำลังเช้า หรือบ่าย-เย็น ดีกว่ากัน

'หมอยง' ชวนฟังบรรยาย 20 มิ.ย. รับมือ RSV ฤดูกาลนี้

ศ.นพ.ยง ภู่วรวรรณ หัวหน้าศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านไวรัสวิทยาคลินิก ภาควิชากุมารเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กว่า RSV กำลังจะระบาด

ถอดบทเรียนการแพร่ระบาด 'โควิด' จากตลาดนัดกลางคืน

ศูนย์จีโนมทางการแพทย์ คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กว่า ถอดบทเรียนการแพร่ระบาดโควิด-19 จากตลาดนัดกลางคืน (outdoor night market) ซึ่งไม่มีแสงแดด