“มินามาตะภาพถ่ายโลกตะลึง” แผลเก่าย้ำเตือนปัญหาสารพิษ

การติดตามตรวจสอบสิ่งแวดล้อมในโลกใบนี้ ไม่ได้จำกัดเป็นเพียงหน้าที่หรือความรับผิดชอบของประเทศใดประเทศหนึ่งอีกต่อไป โดยเฉพาะความใส่ใจต่อปัญหาสารปรอทในสิ่งแวดล้อม องค์การสหประชาชาติถึงกับกำหนดประเด็นนี้เป็นหัวข้อสำคัญ ซึ่งกำลังจะมีการจัดประชุมรัฐภาคีอนุสัญญามินามาตะว่าด้วยปรอท สมัยที่ 4 ในเดือนมีนาคม ศกหน้า

เพื่อกระตุ้นเตือนให้ตื่นรู้ถึงประเด็นผลกระทบจากสารพิษอย่างสารปรอทในสิ่งแวดล้อม สำนักสนับสนุนการควบคุมปัจจัยเสี่ยงทางสุขภาพ (สสส.) ร่วมกับมูลนิธิบูรณะนิเวศ  ได้จัดเสวนาและเปิดรับชมภาพยนตร์ตีแผ่ผลกระทบปรอทจากการลักลอบปล่อยน้ำเสียอุตสาหกรรม เรื่อง “มินามาตะภาพถ่ายโลกตะลึง” เมื่อเร็วๆ นี้ ณ โรงภาพยนตร์ SFX เดอะมอลล์ งามวงศ์วาน

แม้เหตุการณ์ที่ทำให้โลกต้องหันกลับมามองปัญหาการปล่อยน้ำเสียของโรงงานอุตสาหกรรมเคมีที่ปนเปื้อนปรอทโดยไม่ผ่านการบำบัดที่อ่าวมินามาตะ ในจังหวัดคุมาโมโต ประเทศญี่ปุ่น จะผ่านเลยมากว่ากึ่งศตวรรษ แต่ดูเหมือนบาดแผลที่เกิดขึ้นกับชาวเมืองแห่งนี้ยังตกทอดมาสู่ลูกหลานในวันนี้

โรคมินามาตะ หรือโรคสารพิษจากปรอทที่ปนเปื้อนอยู่ในน้ำเสียซึ่งโรงงานอุตสาหกรรมปล่อยออกมา ส่งผลให้ชุมชนชาวประมงที่เมืองมินามาตะ เมืองชายฝั่งทะเลเมืองเล็กๆ ทางตอนใต้ของเกาะคิวชู ถูกทำลายด้วยพิษของสารปรอทที่มาจากความประมาทเลินเล่อทางอุตสาหกรรม จุดเริ่มต้นของความหายนะที่มาจากความมักง่ายของโรงงานอุตสาหกรรมที่ได้ปล่อยน้ำเสียปนเปื้อนสารปรอทสู่แหล่งน้ำที่ชาวบ้านใช้อุปโภคบริโภค เกิดความผิดปกติกับประชาชนที่อยู่อาศัยเป็นแสนๆ คนในเมืองมินามาตะ

สารปรอทที่ปนเปื้อนอยู่ในน้ำเสียทำลายเนื้อเยื่อสมองและระบบประสาทส่วนกลาง คนในชุมชนเริ่มป่วย มีอาการชาที่มือและเท้า ลามไปถึงแขน ขา ริมฝีปาก ม่านตาเริ่มหรี่เล็กลง จิตใจกระวนกระวาย พูดช้าไม่เป็นภาษา สื่อสารไม่ได้ หูเริ่มไม่ได้ยิน การใช้มือ เท้า กล้ามเนื้อส่วนต่างๆ สัมพันธ์กัน ถึงขั้นช่วยเหลือตัวเองไม่ได้ กล้ามเนื้อเริ่มอ่อนแรง ชักกระตุก บางคนไม่สามารถคุมสติไว้ได้ บางรายถึงขั้นเสียชีวิต      

นายอรรถพล เจริญชันษา อธิบดีกรมควบคุมมลพิษ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) ในฐานะประธานเปิดงานจัดเสวนาและเปิดรับชมภาพยนตร์รอบพิเศษ “มินามาตะ” กล่าวว่า ภาพยนตร์เรื่องมินามาตะสะท้อนภาพหดหู่ การสร้างพลังของนักต่อสู้ปลุกความรู้สึกในการให้ความสำคัญต่อสิ่งแวดล้อม จากการทำงานร่วมกับมูลนิธิบูรณะนิเวศ  ผลกระทบมลพิษที่มีการเรียกร้องค่าเสียหาย 1,300 ล้านบาท เพื่อความเป็นธรรมในหลายพื้นที่ อาทิ ฉะเชิงเทรา

ทั้งนี้ จะต้องให้ความสำคัญกับการสร้างความเข้มแข็งของชุมชน ประเทศไทยก้าวสู่ภาคีสมาชิกอนุสัญญามินามาตะ 2560 ควบคุมสารปรอท เป็นประเทศที่ 60 จากกว่า 100 ประเทศทั่วโลก ประกาศใช้ตั้งแต่เดือน ก.ย.2560 ตั้งคณะอนุกรรมการสิ่งแวดล้อม ซึ่งรัฐบาลให้ความสำคัญควบคุมการใช้สารปรอท 100% การผลิตปิโตรเคมีในโรงกลั่นน้ำมัน อุตสาหกรรมอาหารและยา ไม่ให้มีสารปรอทปนเปื้อน สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ประกาศสารปรอทเป็นสารต้องห้าม บางครั้งมีการลักลอบใช้กับเครื่องสำอางเพื่อทำให้ผิวขาว มีการดำเนินคดีกันอยู่ การใช้แบตเตอรี่ หลอดฟลูออเรสเซนต์ เทอร์โมมิเตอร์ ควบคุมการผลิตไม่ให้มีการรั่วไหล รัฐบาลออกระเบียบข้อกำหนดควบคุมให้มีความปลอดภัย 

นายอรรถพล เจริญชันษา กล่าวด้วยว่า ประเทศไทยให้ความสำคัญในเรื่องการเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมเป็นยุทธศาสตร์ชาติ อยู่ในลำดับต้นๆ ของกลุ่มประเทศในภูมิภาคอาเซียน โดยเฉพาะกระบวนการผลิตน้ำมันต้องไม่มีสารปรอท 100% ลดปริมาณซัลเฟอร์ที่จะส่งผลต่อมาตรฐานพีเอ็ม 2.5 ตั้งแต่ 1 ม.ค.2567 กำหนดมาตรฐานกำมะถันในน้ำมันยูโร 5 ให้เหมือนกันทั้งประเทศ

 

นายชาติวุฒิ วังวล ผู้อำนวยการสำนักสนับสนุนการควบคุมปัจจัยเสี่ยงทางสุขภาพ  สสส. (รับผิดชอบงานมลพิษทางอากาศ สุขภาพจิต เพศ ยารักษาโรค) กล่าวว่า บทบาท สสส.ดูแลพื้นที่โรงงานอุตสาหกรรมที่มีผลกระทบต่อชุมชน การสร้าง Active Citizen สร้างพลเมืองตื่นรู้ในการจัดการสิ่งแวดล้อมในชุมชน การจัดชุดความรู้เพื่อป้องกันตนเองให้เกิดความปลอดภัยมากที่สุด การสร้างเครือข่ายทำงานทั้งภาควิชาการ สร้างกลุ่ม Active Club ศึกษาสภาพน้ำ อากาศ สิ่งแวดล้อมที่ส่งผลกระทบ สารเคมีที่เป็นอันตรายลงสู่แม่น้ำ เพราะสิ่งเหล่านี้จะเข้าไปถึงห่วงโซ่อาหารที่ทุกคนบริโภค จะส่งผลต่อสุขภาพ ขณะนี้พื้นที่โรงงานกระจายตัวอยู่ทั่วประเทศ ประเทศไทยมีกฎหมายเป็นจำนวนมาก แต่การบังคับใช้กฎหมายยังหย่อนยาน

“ภาพยนตร์เรื่องมินามาตะจะช่วยสร้างแรงบันดาลใจในการกระตุ้นเตือน  คาดหวังจะเป็นจุดเริ่มต้นที่ดีให้รู้ว่าสารพิษที่เป็นอันตรายต่อสิ่งแวดล้อม จะต้องเรียนรู้วิธีการต่อสู้ที่ร่วมมือกันมาแล้ว 50 ปี จะได้เป็นบทเรียนเป็นเครื่องเตือนใจว่า ลมใต้ปีกนั้นอันตรายจริงๆ เราต้องช่วยกันจัดการสิ่งแวดล้อมเพื่อให้ลูกหลานของเราอยู่กันอย่างปลอดภัยด้วย”

นายชาติวุฒิกล่าวว่า ขณะนี้พื้นที่อุตสาหกรรมใน จ.สมุทรสาคร การสร้างพื้นที่ต้นแบบด้านสิ่งแวดล้อม พื้นที่อิสเทิร์นซีบอร์ด EEC ระยอง ขับเคลื่อนเศรษฐกิจ เพื่อเมืองไทยจะได้ไม่เป็นมินามาตะ 2 ถ้าเรามีการบังคับใช้ กม.อย่างมีประสิทธิภาพ เสริมพลังชุมชนให้เข้มแข็งอย่างเป็นรูปธรรม

นางสาวเพ็ญโฉม แซ่ตั้ง ผู้อำนวยการมูลนิธิบูรณะนิเวศ มีประสบการณ์เคยได้รับทุน NIPPON ไปทำงานภายใต้โครงการปัญญาชนสาธารณะแห่งเอเชียในปี 2549 ครบรอบ 50 ปี ที่มีโรคมินามาตะเกิดขึ้นในประเทศญี่ปุ่นครั้งแรกเมื่อปี 2499 และได้เข้าร่วมงานรำลึกครบรอบ 50 ปีของโรคมินามาตะ เข้าไปอยู่ในหมู่บ้านนี้เป็นเวลา 3 เดือน เพื่อเก็บข้อมูลงานวิจัย บทบาทกระบวนการต่อสู้ในประเทศญี่ปุ่นเป็นประสบการณ์ล้ำค่าที่ได้เห็นปัญหามลพิษในประเทศญี่ปุ่น

ภาพต่อภาพเปรียบเทียบความแตกต่างที่บันทึกโดยดารุณี ไพศาลพานิชกุล ทั้งนี้ เพ็ญโฉมนำเสนอให้ผู้เข้าร่วมงานเสวนาและชมภาพยนตร์มินามาตะรอบพิเศษนี้ นับตั้งแต่ภาพมุมสูงของเมืองมินามาตะ เมืองท่องเที่ยวที่สงบ สวยงาม มีแม่น้ำ ทะเล ภูเขา การปล่อยน้ำเสียที่ปนเปื้อนสารปรอท การต่อสู้ของชาวบ้านในหมู่บ้านที่ป่วยด้วยโรคมินามาตะ  ภาพนายแพทย์ฮาราดะ มาซาซูมิ สำรวจอาการเจ็บป่วยของชาวบ้าน 2 แสนคนที่ได้รับสารพิษ เด็กอายุ 5 ขวบเมื่อได้รับสารพิษมีชีวิตอยู่ได้ถึง 8 ขวบ

ผู้จัดงานฉายภาพยนตร์ในไทยหรือมูลนิธิบูรณะนิเวศยังได้เผยว่า แม้มินามาตะจะเปิดต้อนรับผู้คนและนักท่องเที่ยวแล้ว แต่ปัจจุบันคนญี่ปุ่นด้วยกันเองจากพื้นที่อื่นๆ ยังไม่กล้าที่จะไปเยือนมินามาตะ หรือไม่กล้าที่จะแต่งงานกับคนมินามาตะ เพราะกลัวว่าสารปรอทนั้นยังคงหลงเหลืออยู่ในกรรมพันธุ์ของพวกเขา และยังมีคนที่เป็นโรคมินามาตะหลงเหลืออยู่ พวกเขาไม่สามารถมีคู่ได้ เนื่องจากความผิดปกติที่ทำร้ายเขาตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน

"เราหวังว่าจะไม่เกิดมินามาตะในเมืองไทย แต่อยากให้รัฐบาลและภาครัฐได้ตระหนักด้วยว่าพื้นที่อุตสาหกรรมเข้มข้น มีชุมชนหลายแห่งอยู่ในบริเวณเดียวกับโรงงานอุตสาหกรรม อุตสาหกรรมมาบตาพุด ระยอง บ้านค่าย หลายพื้นที่เป็นแหล่งมลพิษขนาดใหญ่ของประเทศไทย เมื่อมีเสียงสะท้อนจากชาวบ้านก็ไม่ควรละเลยปัญหา" นางสาวเพ็ญโฉมกล่าวสรุป.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

สสส. ปลื้ม ครบรอบ 4 ปี ThaiHealth Academy พัฒนานวัตกรรมหลักสูตรสุขภาวะ 82 หลักสูตร

เมื่อวันที่ 26 เม.ย. 2567 ที่โรงแรมโนโวเทล กรุงเทพ แพลทินัม ประตูน้ำ นพ.พงศ์เทพ วงศ์วัชรไพบูลย์ ผู้จัดการกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) กล่าวว่า สถาบันการเรียนรู้การสร้างเสริมสุขภาพ หรือ ThaiHealth Academy

"ออมสุขภาพ” รับวัยเกษียณ เตรียมพร้อมสู่สังคมผู้สูงวัย

สังคมไทยเดินเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุอย่างสมบูรณ์แบบแล้ว ขณะนี้มีผู้มีอายุ 60 ปีขึ้นไป จำนวน 12 ล้านคน จากจำนวนคนไทย 66 ล้านคน และในอนาคตคืออีก 60 ปีข้างหน้า

เด็กไทย 1 ใน 10 น้ำหนัก/ส่วนสูงหลุดเกณฑ์ กระทบสมอง เสี่ยงปัญหาสุขภาพจิต ป่วย NCDs

นางเบญจมาภรณ์ ลิมปิษเฐียร รองผู้จัดการกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) กล่าวว่า จากข้อมูลพัฒนาการเด็กปฐมวัยของไทย ปี 2566 โดยกรมอนามัย

วิจัยพบสังคมไทยเหลื่อมล้ำทุกมิติ สื่อสารในครอบครัวลดช่องว่างได้

ผลสำรวจเด็กและเยาวชนไทยปลอดภัยจากความรุนแรงออนไลน์ รั้งท้ายโลกเป็นอันดับที่ 29 เหนือกว่าอุรุกวัยเพียงประเทศเดียวเท่านั้น เมื่อเปรียบเทียบ 30 ประเทศทั่วโลกเมื่อปี 2022

กทม.เนรมิตเมือง 15 นาทีเป็นจริง สร้างพื้นที่สีเขียวอิ่มเอมใจทั่วกรุง

กทม.ทวีความรุนแรง เมืองจมฝุ่น การจราจรติดขัด ขาดแหล่งอาหาร สำรวจคนกรุงเผชิญรถติดเฉลี่ยวันละ 2 ชั่วโมง หรือใน 1 ปีชีวิตติดหนึบอยู่บนรถเท่ากับ

'สนธิสัญญาพลาสติกโลก' ไทยลงเหวมลพิษพลาสติก

ระหว่างที่ร่างสนธิสัญญาแก้ปัญหามลพิษจากพลาสติก ซึ่งสมาชิก 175 ประเทศลงนามร่วมกันให้จัดทำมาตรการทางกฎหมายเพื่อเป็นแนวทางการจัดการพลาสติกที่ครอบคลุมและตลอดวงจรชีวิตพลาสติก ลดการผลิตพลาสติก  เลิกผลิต เลิกใช้ ควบคุม พลาสติกบางประเภท และการขยายความรับผิดชอบของผู้ผลิต (EPR)