ตุรกีกริ้ว 'ไบเดน'ยอมรับออตโตมันฆ่าล้างเผ่าพันธุ์อาร์เมเนีย


เพิ่มเพื่อน    

โจ ไบเดน เป็นประธานาธิบดีสหรัฐคนแรกที่ประกาศยอมรับว่าเหตุการณ์ที่จักรวรรดิออตโตมันฆ่าชาวอาร์เมเนียจำนวนมากเมื่อปี 2458 เป็น "การฆ่าล้างเผ่าพันธุ์" รัฐบาลตุรกีกริ้วเรียกทูตสหรัฐมาประท้วง 

แฟ้มภาพ ประธาาธิบดีโจ ไบเดน 

    ก่อนหน้าที่จะประกาศการยอมรับดังกล่าวเมื่อวันเสาร์ที่ 24 เมษายน 2564 ประธานาธิบดีไบเดนได้โทรศัพท์แจ้งให้ประธานาธิบดีเรเจป ทายยิป แอร์โดอัน ของตุรกี ได้ทราบล่วงหน้าเกี่ยวกับการตัดสินใจของเขา เพื่อทุเลาความโกรธเคืองของตุรกี ซึ่งเป็นชาติพันธมิตรร่วมองค์การนาโต 

    "เราจดจำชีวิตของทุกคนที่เสียชีวิตในการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ชาวอาร์เมเนียในยุคออตโตมัน และให้คำมั่นกับตนเองอีกครั้งที่จะป้องกันไม่ให้ความโหดร้ายเช่นนั้นเกิดขึ้นซ้ำอีก" ไบเดนกล่าวในแถลงการณ์วันเดียวกับที่ชาวอาร์เมเนียรำลึกครบรอบการสังหารหมู่ปีที่ 106 "เรายืนยันประวัติศาสตร์ เราไม่ได้ทำเพื่อกล่าวโทษใคร แต่ทำเพื่อให้แน่ใจว่าสิ่งที่เกิดไปแล้วจะไม่เกิดซ้ำ"

    สภาคองเกรสของสหรัฐเคยลงมติอย่างท่วมท้นเมื่อปี 2562 ยอมรับว่าเหตุการณ์คราวนั้นเป็นการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ชาวอาร์เมเนีย แต่รัฐบาลของประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ประกาศชัดเจนว่า จุดยืนอย่างเป็นทางการของรัฐบาลสหรัฐยังไม่เปลี่ยนแปลง คำแถลงของไบเดนทำให้เขาเป็นประธานาธิบดีสหรัฐคนแรกที่ประกาศยอมรับเรื่องนี้อย่างเป็นทางการ

    แถลงการณ์ของผู้นำสหรัฐเป็นชัยชนะครั้งใหญ่สำหรับอาร์เมเนียและผู้พลัดถิ่นจำนวนมากมาย ซึ่งเริ่มต้นด้วยอุรุกวัย ที่ยอมรับว่าเหตุการณ์ครั้งนั้นเป็นการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์เมื่อปี 2508 ต่อมามีอีกหลายประเทศที่มีจุดยืนแบบเดียวกัน รวมถึงฝรั่งเศส, เยอรมนี, แคนาดา และรัสเซีย 

    ด้านประธานาธิบดีแอร์โดอัน ยังคงยืนกรานว่า การโต้เถียงเรื่องนี้ควรปล่อยให้เป็นหน้าที่ของนักประวัติศาสตร์ และไม่ควรถูกทำให้เป็นเรื่องการเมืองโดยบุคคลที่ 3 

    เมฟลุต คาวูโซลู รัฐมนตรีต่างประเทศของตุรกี ทวีตว่า ถ้อยคำไม่สามารถเปลี่ยนแปลงหรือเขียนประวัติศาสตร์ขึ้นใหม่ ต่อมากระทรวงการต่างประเทศตุรกีเรียกเอกอัครราชทูต เดวิด แซตเทอร์ฟีลด์ ของสหรัฐเข้าพบ เพื่อแสดงความไม่พอใจ พร้อมกับชี้ว่า การตัดสินใจของไบเดนสร้างบาดแผลในความสัมพันธ์อันยากที่จะซ่อมแซม 

    รายงานเอเอฟพีกล่าวว่า ประเมินกันว่ามีชาวอาร์เมเนียโดนฆ่าตายราว 1.5 ล้านคน ระหว่างปี 2458-2460 ซึ่งเป็นช่วงปลายจักรวรรดิออตโตมัน เนื่องจากชนกลุ่มน้อยชาวคริสเตียนเหล่านี้ต้องสงสัยว่าสมคบคิดกับรัสเซีย ที่เป็นศัตรูของออตโตมันสมัยสงครามโลกครั้งที่ 1 

    คำกล่าวจากนักการทูตต่างชาติในช่วงเวลานั้น ระบุว่า ประชากรชาวอาร์เมเนียถูกไล่ต้อนแล้วเนรเทศไปยังทะเลทรายในซีเรียบนขบวนแห่งความตาย ที่จำนวนมากโดนยิง, วางยาพิษ หรือล้มตายเพราะโรคติดต่อ

    ตุรกี ซึ่งเปลี่ยนมาเป็นระบอบสาธารณรัฐทางโลกย์หลังออตโตมันล่มสลาย ยอมรับว่ามีชาวอาร์เมเนีย 300,000 คนล้มตาย แต่ปฏิเสธอย่างหนักแน่นว่าไม่ใช่จากการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ โดยอ้างว่าชาวอาร์เมเนียล้มตายในการต่อสู้และความอดอยากที่คร่าชีวิตชาวเติร์กจำนวนมากด้วยเช่นกัน. 


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"